วิธีอุทิศส่วนกุศลและทำไมต้องอุทิศส่วนกุศล
ยุคนี้เราเกิดกันโดยธรรมดาวิสัยของมนุษย์ กว่าเราจะเติบใหญ่มานั่งกันอยู่ ณ ที่นี้มีหลายมือเหลือเกิน ที่ยื่นเข้ามาประคับประคองเรา
คนแรกคือ คุณพ่อคุณแม่ของเรา ตั้งแต่รู้ว่าเราเกิดอยู่ในครรภ์ท่านเท่านั้น ดีอกดีใจ น้ำหูน้ำตาไหล แล้วก็อดเปรี้ยวอดหวานประคับประคองเราตั้งแต่อยู่ในครรภ์อย่างดีทีเดียว ครั้นถึงเวลาคลอดออกมาแล้ว ลืมตามาดูโลกแล้ว ก็มีมือปู่ย่า ตาทวด ลุงป้าน้าอา อีกไม่รู้เท่าไร
ต่อมาก็มีมือครูบาอาจารย์ มีมือของผู้บังคับบัญชา มีมือพรรคพวกเพื่อนฝูง ช่วยกันประคับประคองเรามา จนกระทั่งได้ดิบได้ดีกันจนวันนี้คือ รุ่นพ่อรุ่นพี่ รุ่นปู่รุ่นย่าก็ช่วยดึงกันขึ้นมา รุ่นน้องรุ่นหลังก็ช่วยกันดัน รุ่นเดียวกันก็ช่วยกันประคอง แล้วเราก็เติบใหญ่ปีกกล้าขาแข็ง มีคุณธรรม มีความดี มาพร้อมหน้ากันอยู่ที่สภาธรรมกายแห่งนี้
เพราะฉะนั้น ถ้าถามว่า แต่ละท่านที่นั่งอยู่ ณ ที่นี้ ได้รับความเมตตากรุณา ได้รับพระคุณจากใครกันมาบ้าง ก็บอกได้ว่านับไม่ไหว ทั้งท่านที่ละโลกไปแล้วก็มี ที่ยังมีชีวิตอยู่ก็มี
สำหรับท่านที่ยังมีชีวิตอยู่ โอกาสที่ท่านเหล่านั้นจะสร้างคุณงามความดีของท่านต่อไปอีกก็ยังมี และเราเองก็ยังพอมีโอกาสที่จะไปทดแทนพระคุณของท่านในวันหน้า
แต่สำหรับผู้ที่เคยมีพระคุณกับเรามาและล่วงลับไปแล้ว จะเป็นคุณพ่อคุณแม่ คุณปู่คุณย่า คุณตาคุณทวด รวมจนกระทั่งครูบาอาจารย์ ลุงป้าน้าอาของพวกเรา หลายท่านลาโลกไปแล้ว และพระคุณของท่านก็ยังตรึงตาตรึงใจอยู่ในใจของพวกเรา แล้วเราจะทดแทน ตอบแทนพระคุณของท่านอย่างไรดี
เรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน อย่าว่าแต่มนุษย์ธรรมดาอย่างกับพวกเรา แม้เทวดาก็ตอบไม่ได้ว่า จะต้องทดแทนพระคุณกันอย่างไร หากไม่พบพระพุทธศาสนา โชคดีที่ว่าปู่ย่าตาทวดของเรา เก็บรักษาคำสอนของพระพุทธศาสนา ส่งต่อกันมาเป็นทอด ๆ จนกระทั่งถึงพวกเรา จึงได้รู้คำตอบว่า การทดแทนพระคุณหรืออุทิศส่วนกุศลผลบุญให้แก่ผู้มีพระคุณที่ล่วงลับไปแล้ว ไม่ใช่หมดหนทางเสียทีเดียว
หลักการอุทิศส่วนกุศล
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงให้หลักเกณฑ์สั้น ๆ ๓ ข้อ ดังนี้
ประการแรก ผู้ที่จะอุทิศส่วนกุศลต้องมีบุญก่อน ถ้าตัวเองไม่มีบุญ ก็ไม่รู้จะเอาอะไรไปอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วเหล่านั้น เหมือนคนไม่มีเงินแล้วจะเอาเงินที่ไหนไปช่วยคนอื่น แต่ถ้าเราเป็นเศรษฐีมีเงินอยู่ในกระเป๋าก็พร้อมจะควักเงินช่วยคนอื่นได้ ฉะนั้นเมื่อนึกถึงพระคุณใครขึ้นมา สิ่งแรกที่จะต้องทำคือ ตัวของเราเองจะต้องสร้างบุญก่อน เอาบุญตุนใส่กระเป๋า ตุนเอาไว้ในใจก่อน
๑) ซึ่งบุญนั้นมีลักษณะพิเศษอยู่ว่า แม้เกิดทีละน้อยก็ค่อย ๆ สะสมได้ เหมือนน้ำฝนทีละหยดทีละ หยาดก็รวมกันเข้า จนกระทั่งเต็มโอ่งเต็มตุ่มได้ บุญมีฤทธิ์อย่างนี้
๒) บุญนั้นสามารถอุทิศไปให้กับผู้อื่นได้ แม้อยู่กันคนละโลกคนละภพ เหมือนน้ำที่อยู่ไกลๆ บน ยอด เขายอดป่า เมื่อรวมกันแล้วก็ไหลเป็นห้วยหนองคลองบึงลงไปสู่ทะเล แม้ทะเลจะอยู่ ห่างไกล เป็นร้อยเป็นพันไมล์ แต่น้ำจากยอดเขาก็ไหลไปถึงได้ บุญที่คนทำอยู่ในโลกมนุษย์ นี้ ก็สามารถ อุทิศให้กับคนที่ละโลกไปแล้วได้เช่นเดียวกัน
ประการที่ ๒ ผู้ที่ละโลกไปแล้ว จะต้องอยู่ในภาวะที่จะรองรับบุญได้ คือ ผู้ที่เสียชีวิตไปแล้ว จะเป็นลุงป้าน้าอา ปู่ย่าตาทวด หรือครูบาอาจารย์เรา ใครก็ตามที่เรารักเคารพคิดถึง ท่านเหล่านั้นจะต้องไม่ก่อกรรมหนักจนเกินเหตุไป เมื่อเขาละโลกไปแล้ว ถึงแม้จะลำบากอะไรไปบ้าง ก็พอรับบุญได้ทีเดียว ไม่เฉพาะแต่คนที่เสียชีวิตไปแล้ว ขอยกตัวอย่างผู้ที่มีชีวิตอยู่นี่แหละ
สมมุติว่า เราเองไปทำการค้าต่างประเทศได้กำไรมากจึงซื้อรถเก๋งงาม ๆ มา ๓ คัน คันแรกก็ตั้งใจจะเอามาให้พี่ชายคนโต ปรากฏว่าพี่ชายคนโตต่อกรรมหนักไว้ ไปค้าขายเฮโรอีนจึงต้องติดคุกตลอดชีวิต เราจะเอารถมาให้ แต่พี่ชายรับไม่ได้เพราะติดคุก ก็เลยให้พี่สะใภ้และหลาน ๆ เอาไว้ใช้แทน นี่กรณีที่หนึ่ง
กรณีที่สอง ขับรถคันที่สองจะไปให้พี่ชายคนรอง ปรากฏว่ายังป่วยอยู่ เพิ่งจะลุกขึ้นเดินได้ ยังต้องใช้ไม้เท้าพยุงตัวอยู่ ส่งกุญแจรถให้ แต่พี่ชายยังขับรถไม่ได้ หายป่วยแล้วจะขับ
กรณีที่สาม คนที่สามน้องเล็ก แข็งแรงดี ขับรถก็เก่ง พอส่งกุญแจให้ กระโดดขึ้นรถขับไปเลย คนที่สามนี่เอารถไปใช้ได้
ญาติของเราที่ละโลกไปแล้วก็เหมือนกัน ถ้าใครทำกรรมหนักหนาสาหัส ชนิดฆ่าคนมาเป็นร้อยเป็นพันอย่างนั้นล่ะก็ เราจะอุทิศส่วนกุศลไปให้ก็ยากสักหน่อยที่เขาจะได้รับ ต้องรอญาติคนต่อ ๆ ไปนั่นแหละได้รับแทน
แต่ว่าถ้าคนไหนอยู่ในภาวะที่จะรับได้เหมือนพี่ชายคนรองหรือน้องคนเล็ก เขาก็จะรับได้และก็จะมีสุขต่อไป เพราะฉะนั้น ประการที่ ๒ ผู้ที่จะรับบุญที่เราจะอุทิศส่วนกุศลไปให้นั้นต้องอยู่ในภาวะที่จะรับได้ ก็จะได้รับ
ประการที่ ๓ เราเองที่อยู่ในโลกมนุษย์นี้ ต้องทั้งเต็มใจและตั้งใจที่จะให้บุญนี้ด้วย ถึงเราจะสร้างบุญท่วมฟ้า แต่ถ้าเราไม่ตั้งใจไม่เต็มใจให้ เขาก็รับไม่ได้
เหมือนอย่างกับเรามีสมบัติอยู่ในบ้าน จะรวยเท่าไรก็ตาม ถ้าเราไม่เอ่ยปากอนุญาต ใครก็เอาของเราไปไม่ได้ มันผิดกฎหมายเช่นเดียวกับบุญของเรามีมาแต่ยังไม่ได้ตั้งใจอุทิศให้ใคร คนอื่นก็รับไม่ได้ แต่ถ้าเราตั้งใจเต็มใจให้ เขาก็รับได้ นี้เป็นหลักใหญ่ ๆ ในการอุทิศส่วนกุศล ๓ ประการ
ที่มาของการอุทิศส่วนกุศล
การกระทำบุพเปตพลีนี้ได้เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยพุทธกาล ครั้งนั้นพระเจ้าพิมพิสาร กษัตริย์แคว้นมคธ หลังจากได้ฟังพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเทศนาแล้ว บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน จึงได้ยกอุทยานสวนไผ่ให้เป็นวัดแรกในพระพุทธศาสนา แล้วถวายภัตตาหารพระอรหันต์ ๑,๒๕๐ องค์ มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นประธาน
เมื่อได้ถวายภัตตาหารแล้วก็ดีใจ ชื่นใจ แต่ตกกลางคืนเข้า ได้ยินเสียงเปรตร้องก็ตกใจ คิดว่าจะมีเหตุร้ายอะไรเกิดขึ้นกับเราหรือเปล่า รีบเข้าไปกราบพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ตรัสให้ฟังว่า มหาบพิตรอย่าตกใจไปเลย เปรตที่มาร้องกรี๊ดอยู่เต็มวังเสียงลั่นไปหมดนั้นน่ะ ไม่ได้มาทำเหตุร้ายอะไรให้พระองค์หรอก แต่มาขอส่วนบุญ แล้วทำไมไม่ไปขอคนอื่น มาขออะไรกับพระองค์ ที่มาขอกับพระองค์เพราะว่า
๑. พระองค์มีบุญเยอะ
๒. เป็นญาติเก่า ๆ กัน
แล้วพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงเล่าเรื่องหนหลังให้ฟังว่า ย้อนหลังไปเมื่อ ๙๒ กัป มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งบังเกิดขึ้นและพระเจ้าพิมพิสารกษัตริย์แคว้นมคธก็เกิดในชาตินั้น ได้ตั้งใจถวายภัตตาหาร ทำนุบำรุงพระอย่างดี และด้วยความที่รักญาติ อยากจะให้ญาติได้บุญด้วย ก็ไปตามญาติทั้งหมดมาช่วยกันเลี้ยงพระ ใครมีทรัพย์ก็บริจาคทรัพย์ร่วมกัน ใครไม่มีทรัพย์ก็มาช่วยกันหุงข้าว ต้มแกง เลี้ยงพระกัน ทำอย่างนี้อยู่ ๓ ปี แต่ปรากฏว่า ญาติแบ่งออกเป็น ๒ พวก ญาติพวกหนึ่งใจบุญ คนที่มีเงินก็ควักเงินมาร่วมทำบุญด้วย คนที่ไม่มีเงินไม่มีทองก็มาช่วยกันหุงข้าวต้มแกง มาจัดงานเลี้ยงกันเต็มที่ ญาติพวกนี้ละโลกไปแล้ว ไปเป็นเทวดาบ้างก็มี บางคนออกบวชไปเป็นพระอรหันต์ตั้งแต่ชาตินั้นก็มี
แต่มีญาติอีกพวกหนึ่ง นอกจากตระหนี่แล้ว ยังยักยอกเอาทรัพย์เอาข้าวปลาอาหารที่ถวายพระมาเป็นของตัวเสียอีก เข้าทำนองที่เราล้อเลียนกันในปัจจุบันว่า วัดครึ่งหนึ่ง กรรมการครึ่งหนึ่งอะไรทำนองนั้น ผลสุดท้ายญาติพวกนี้ละโลกไปแล้ว ตกนรก พ้นจากนรกแล้วมาเกิดเป็นเปรต
เมื่อมาเกิดเป็นเปรตก็เดือดร้อน ทั้งหิวโหย ทั้งทรมาน หิวอยู่เป็นกัป ๆ ต่อมามีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดขึ้นในกัปหนึ่ง ไปกราบทูลถามพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า “เมื่อไรจึงจะหมดเวร”
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นก็บอกว่า “เจ้าโกงของพระ ยักยอกอาหารของพระอรหันต์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวรของเจ้ามันหนักนัก ไปรอถามพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ข้างหน้าโน่นเถอะ”
เปรตพวกนี้ก็รอน้ำตาตกเชียว กว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะเกิดแต่ละพระองค์ก็แสนยาก ไปถามแต่ละพระองค์ ๆ ก็บอกว่า “ไปถามองค์ข้างหน้าโน่นเถอะเจ้ามันเวรหนักนัก”
เป็นอย่างนี้จนกระทั่งมาพบพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งทรงบอกว่า “อีกไม่กี่กัปต่อจากนี้ จะมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งเกิดขึ้นชื่อว่า พระสมณโคดม แล้วญาติของเจ้าที่เจ้าไปโกงสมบัติเขาเอาไว้ตอนเลี้ยงพระนั่นแหละจะมาเกิดเป็นกษัตริย์ชื่อพิมพิสาร เมื่อถึงตอนนั้น เขาจะทำบุญใหญ่และอุทิศส่วนกุศลให้กับพวกเจ้า ตอนนั้นจะพ้นวาระเป็นเปรตกัน”
เปรตพวกนี้ได้ฟังว่าอีกเป็นกัป ๆ ข้างหน้าจึงจะพ้นเวร แม้กระนั้นก็ยังดีใจเพราะยังมีความหวัง
เวลาผ่านไปเป็นกัป ๆ เรื่อยมา จนกระทั่งมาถึงวันที่พระเจ้าพิมพิสาร ถวายอุทยานเวฬุวันให้เป็นเวฬุวันมหาวิหาร เป็นวัดแรกในพระพุทธศาสนา และถวายภัตตาหารพระอรหันต์ ๑,๒๕๐ องค์ด้วย เปรตพวกนี้ก็มากันเต็มเชียว อดมา ๙๒ กัป คิดว่าวันนี้พระเจ้าพิมพิสารอุทิศส่วนกุศลผลบุญให้จะได้หมดเวรและหายหิวเสียที ปรากฏว่าพระเจ้าพิมพิสารแม้ว่าจะเป็นพระโสดาบันแล้ว แต่เพราะยังไม่ได้เป็นพระอรหันต์ ภูมิธรรมยังเป็นขั้นต้นอยู่ และกรรมของเปรตพวกนี้ก็ยังบังจิตท่านอยู่ด้วย ไม่สามารถระลึกถึงญาติของตัวเองที่เป็นเปรตได้ นึกถึงญาติเหล่านี้ไม่ออก เปรตพวกนี้ก็ปรึกษากันว่าขืนเงียบ ๆ อยู่อย่างนี้ ถ้าพระเจ้าพิมพิสารละโลกไปเสียก่อน เราจะต้องอยู่อย่างนี้ไปอีกกี่กัปกัน ไม่เอาล่ะ คืนนี้ต้องแสดงให้รู้ว่า ญาติของพระองค์อยู่ที่นี่ลำบากกันมาก ตกกลางคืนเปรตพวกนี้ก็เลยร้องลั่นขึ้นมา เพื่อให้พระเจ้าพิมพิสารได้รู้ว่ายังมีญาติที่ตกทุกข์ได้ยากอยู่
เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว พระเจ้าพิมพิสารก็เลยนิมนต์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระอีก ๑,๒๕๐ รูปในวันรุ่งขึ้น แล้วก็ทำบุญถวายภัตตาหารพระเป็นการใหญ่ แล้วพระเจ้าพิมพิสารก็กรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้ เมื่อเปรตพวกนี้อนุโมทนาบุญจากพระเจ้าพิมพิสารก็ไหลเข้าสู่ศูนย์กลางกายของเปรตพวกนี้ พอได้รับบุญเท่านั้น นอกจากจะเป็นสุขขึ้นแล้ว ยังพ้นจากสภาพเปรตไปเป็นเทวดา เป็นนางฟ้าไปได้ทีเดียว ตามกำลังบุญนั้น ๆ มากราบพระเจ้าพิมพิสารกัน
เรื่องนี้เกิดขึ้นในสมัยพุทธกาล วิธีกรวดน้ำและหลักเกณฑ์ต่าง ๆ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงแสดงให้ว่า
๑. ผู้ที่จะอุทิศส่วนกุศลต้องมีบุญมาก ถ้ามีบุญน้อยก็เหมือนกับมีเศษสตางค์นั่นเอง จะแจกใคร ก็ไม่ เต็มที่ จึงต้องทำบุญก่อน
๒. ผู้ที่ละโลกไปแล้วก็อยู่ในสภาพที่พอจะรับบุญได้
๓. ผู้รับบุญได้ตั้งใจอนุโมทนาเมื่อเวลาเจ้าของบุญเขาอุทิศส่วนกุศลให้
เพราะฉะนั้น เมื่อมาถึงวันวิสาขบูชานี้ เราได้รำลึกถึงพระคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงสั่งสอนอบรมให้พวกเรามีบุญมีคุณธรรม รู้จักละชั่ว ทำดี กลั่นใจให้ใสตลอดมาแล้ว เราจึงไม่ควรลืม กว่าที่เราจะมีความรู้ความดีเหล่านี้ เราได้รับการประคบประหงม ประคับประคอง โอบอุ้มค้ำชูมาจากหลาย ๆ มือและเราก็ต้องยอมรับความจริงว่าเจ้าของมือนั้น แม้จะมีพระคุณต่อเราคนละมาก ๆ ก็ตาม แต่บางท่านก็เป็นประเภทที่ใจบุญ บางท่านก็เป็นประเภทบุญปนบาปด้วย ท่านที่เป็นผู้ใจบุญ สร้างบุญของท่านด้วยตนเองมาตลอด ท่านเหล่านั้นก็เอาตัวรอดของท่านได้
แต่ว่ายังมีอีกหลาย ๆ มือ อีกหลาย ๆ ท่านซึ่งก้ำกึ่ง มีทั้งบุญปนบาปอยู่ในตัว หรือบางท่านบาปหนักบุญน้อย บางท่านบุญมากแต่บาปก็พอประมาณทีเดียว ท่านเหล่านี้บางท่านละโลกแล้วก็ไปไม่ดี บางท่านก็ยังก้ำ ๆ กึ่ง ๆ เมื่อเป็นเช่นนี้
ในฐานะที่เราเคยได้รับพระคุณจากบุคคลเหล่านั้นมา และเราก็อยู่ในสภาพที่สามารถจะทดแทนพระคุณท่านเหล่านั้นได้ เราก็น่าที่จะต้องหาทางตอบแทนพระคุณกัน จึงจะได้ชื่อว่า เป็นคนดีจริง ๆ ท่านเหล่านั้นละโลก ตายไปแล้วก็ยังอุตส่าห์คิดถึงกันไม่ทิ้งกัน ทำอย่างนี้จึงจะสมกับที่เราได้เข้าวัดปฏิบัติธรรม
ตัวอย่างการอุทิศส่วนกุศล
หลวงพ่อยังมีอีกเรื่องหนึ่งที่จะเล่าให้ฟัง เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเมื่อประมาณ ๘-๙ เดือนที่ผ่านมา อุบาสกของเราคนหนึ่งซึ่งเข้าถึงพระธรรมกายมานาน และมีคุณแม่ซึ่งอายุมากแล้ว แต่ก็สมกับเป็นแม่ชาววัด คือท่านก็เข้าถึงพระธรรมกายมาเป็นปี ๆ เหมือนกัน วันนั้นคุณแม่ป่วยหนัก ลูกชายก็ไปเยี่ยมที่จังหวัดอ่างทอง
แม่พูดว่า “แปลกนะลูก ลุงป้าน้าอา แม้แต่พ่อของเจ้าที่ตายไปแล้วตั้งหลายปี นั่นน่ะ เขามาอยู่ที่หน้าบ้านเต็มไปหมดเลย”
ลูกชายไม่เห็นก็ถามว่า “แม่ไม่ตาฝาดนะ” แม่ตอบว่า “ไม่ฝาด ก็นั่นไง” ชี้มือไป นั่นลุงเอ็งนั่งตรงนั้น พ่อเอ็งอยู่นี่ แม่ชี้มือ
ลูกก็ถามต่อ “แม่เห็นชัดนะ”
“ชัดสิ”
“เขาทำอะไรกันบ้างล่ะ แม่”
“ก็คนโน้นนั่ง คนนี้ยืน คนนั้นเขาก็มองหน้าแม่เฉย ๆ เขามาทำอะไรกันนะลูก” แม่ถามลูกบ้าง
ลูกชายศึกษาธรรมะมาพอควรทีเดียวก็ตอบแม่ไปว่า “ เขาจะมาทำไม เขารู้ว่าแม่บุญเยอะ เมื่อมีชีวิตอยู่พวกเขาเหล่านั้นน่ะไม่ค่อยได้ทำบุญ ทำกันมาน้อย นิด ๆ หน่อย ๆ เพราะฉะนั้น ตายไปแล้ว บุญไม่พอที่จะขึ้นสวรรค์บ้าง บาปไม่พอจะตกนรกบ้าง พวกเขาอยากจะได้บุญจากแม่นั่นแหละ จะได้ไปสวรรค์บ้าง เขาจะพูด แม่ก็ไม่ได้ยิน ไม่รู้จะทำอย่างไร ก็เลยเก้ ๆ กัง ๆ อยู่นั่น”
“แล้วจะให้แม่ทำไงล่ะ” แม่ถาม
ลูกชายตอบว่า “แม่ก็นึกในใจสิ ไม่ต้องพูดออกมา บอกให้เขานั่งขัดตะหมาด เดี๋ยวจะสอนวิธีเอาบุญให้”
พอนึกในใจเท่านั้น ญาติที่ตายไปแล้วกี่คนกี่คนนั่งกันหมด แม่ก็หันมาบอกว่า “พวกเขานั่งกันหมดแล้วล่ะ แล้วเอ็งจะให้ทำอย่างไรต่อล่ะ”
“แม่ก็บอกให้เขาภาวนาสัมมาอะระหัง แล้วนึกถึงองค์พระอย่างที่แม่ทำสิ ลองบอกเขาซิ เขาทำตามไหม”
“พวกเขาทำแล้วล่ะ”
“เขาทำแล้วเป็นอย่างไรบ้างแม่”
“ตัวเขาสว่างขึ้นเรื่อย ๆ ล่ะ หน้าเขายิ้มกันหมดเลย แล้วเอ็งจะให้แม่ทำไงอีก”
“แม่ก็บอกให้เขาสัมมาอะระหัง นึกถึงองค์พระให้ต่อเนื่อง แล้วก็นึกแบ่งบุญให้เขาไปด้วย ที่แม่ได้ตั้งใจทำความดีมาเท่าไร ๆ และที่จะทำกันต่อไป” พอแม่กระดิกจิตนึกตามไปอย่างนี้ แม่ก็เห็นพวกเขาสว่างโพลนขึ้นมาหมด แล้วหายวับ วับ วับไปเลย
ลูกบอกว่า “พวกเขาไปเป็นเทวดา เป็นนางฟ้ากันหมดแล้ว แม่ดีใจเถอะว่าแม่ได้ทดแทนพระคุณลุง ป้า น้า อา เหล่านั้นได้เต็มที่หมด”
เรื่องที่เกิดขึ้นนี้ยิ่งเป็นการยืนยันว่า ที่เราศึกษามาจากพระไตรปิฎกกับปัจจุบันนี้ตรงกัน ยืนยันกันได้ทั้งปัจจุบันและอดีต ๒,๕๐๐ กว่าปี ว่าหลักธรรมในเรื่องของบุพเปตพลี เรื่องของการทำบุญอุทิศส่วนกุศลนั้นยังเป็นไปได้จริง
และก็ได้ตรวจสอบกับคุณยายแล้ว คุณยายบอกว่า การที่แม่ของอุบาสกในวัดนี้ทำได้อย่างนั้น เพราะแม่ของอุบาสกได้นั่งสมาธิต่อเนื่องมาเป็นปี และตั้งใจอุทิศส่วนกุศลจริง ๆ ใจของเขานี่เพ่งจี๋เลย ทำให้ญาติเหล่านั้นซึ่งละโลกไปแล้วได้รับบุญเต็มที่
พอได้รับบุญเท่านั้นเป็นเทวดาเป็นนางฟ้าปุ๊บเลยเหมือนกัน และพอเขาเป็นเทวดา เป็นนางฟ้าด้วยอำนาจบุญนั้น เนื่องจากญาณทัสสนะของคุณแม่อุบาสกนั้นยังแก่กล้าไม่พอ จึงไม่ทราบว่าเขาหายไปไหน ถ้าได้ฝึกมากอีกสักหน่อยก็จะเห็นชัดว่า เมื่อเป็นเทวดาแล้ว เป็นกายละเอียดยิ่ง ๆ ขึ้นแล้ว เขากราบผู้เฒ่านั่นน่ะอย่างตั้งใจทีเดียว อ้อ! เทวดา ก็กราบมนุษย์เป็นเหมือนกัน ถ้ามนุษย์นั้นมีบุญมากพอ เรื่องก็เป็นอย่างนี้
วันเสาร์ที่ ๑๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๘
Cr. หลวงพ่อทัตตชีโว