คำชมเชย

วันที่ 31 มค. พ.ศ.2560

 

คำชมเชย

 

 

คำชมเชย,ที่นี่มีคำตอบ ฉบับมินิ เล่ม 4 รักนี้สีอะไร,บทความประจำวัน

 

                   ข้าพเจ้าไม่เคยทราบมาก่อนเลยว่า การพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัส จะเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ข้าพเจ้าจึงยินดีพอใจในสิ่งเหล่านี้อยู่เสมอ แล้วก็ต้องทุกข์อยู่เป็นประจํา

 

                  ในวัยเด็ก การเป็นลูกโทนคนเดียวจนอายุถึง ๘ ขวบ ทําให้ใครๆ รักใคร่ตามใจ ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ ญาติๆ รวมทั้งผู้คนที่รู้จักพ่อแม่ของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าเคยชินต่อการเอาใจ ได้รับความสนใจ ได้ของกิน ของใช้ดีๆ จากคนโน้นคนนี้ ชีวิตดูน่ารื่นรมย์ มองไปทางใดไม่เคยพบความทุกข์ เป็นเด็กที่ดูจะเด่นในหมู่เพื่อน เพื่อนๆ ต่างก็พลอยเอาอกเอาใจตามใจไปหมดทุกคน

 

                 ครั้นเมื่อเรียนจบชั้นประถมปีที่ ๔ อันเป็นชั้นสูงสุดของโรงเรียนประชาบาลประจําหมู่บ้าน พ่อบอกกับแม่ว่า

 

               “ลูกของเราเป็นผู้หญิง ต้องให้เรียนหนังสือให้สูงไว้ ในอนาคตจะได้ไม่ลำบาก”

 

                ถึงแม้แม่จะรักและเป็นห่วงข้าพเจ้ามากเพียงไหน แม่ก็เห็นด้วยกับพ่อ เพราะท่านดูจากตัวท่านเอง เป็นครูสตรีคนเดียวคนแรกของโรงเรียนประชาบาลทั้งจังหวัด นับว่าเป็นคนที่มีความรู้มากกว่าผู้หญิงรุ่นเดียวกันทั้งหมด ท่านจึงไม่ต้องทําไร่ไถนาเหมือนเพื่อนๆ

 

               มีแต่ย่าของข้าพเจ้าทักท้วงว่า

 

              “เป็นลูกผู้หญิงทําไมต้องให้เรียนมาก เดี๋ยวมีผัวไปผัวก็หาเลี้ยงเอง ให้ออกจากบ้านไปเรียนที่อื่นลําบากเปล่าๆ เป็นห่วงด้วย” ท่านคัดค้านด้วยความห่วงใยเฉพาะหน้า พร้อมกับกอดข้าพเจ้าร้องไห้เป็นการ ประท้วงพ่อ

 

             พ่อไม่เถียงย่า ใช้วิธีถึงเวลาก็พาข้าพเจ้าไปฝากบ้านญาติที่ในตัวเมือง และให้เข้าเรียนชั้นมัธยมปีที่หนึ่งในโรงเรียนสตรีประจําจังหวัด

 

            ท่านผู้อ่านคงนึกสภาพบ้านนอกของข้าพเจ้าไม่ออก ข้าพเจ้าจะอธิบายพอเป็นสังเขป เวลานั้นกําลังอยู่ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ญี่ปุ่นยกกองทัพขึ้นยึดประเทศของเรา ทําให้ราคาสินค้าทุกชนิดในประเทศขึ้นราคา โดยเฉพาะเสื้อผ้ามีราคาแพงมาก พ่อและแม่ข้าพเจ้าไม่เคยเรียนชั้นมัธยม ท่านเรียนแค่จบจากโรงเรียนประชาบาลในสมัยรัชกาลที่ ๖ ท่านจึงไม่รู้จักเครื่องแบบนักเรียนชั้นมัธยม พ่อซื้อผ้าถุงสีเขียว มันเขียวแจ๋นจริงๆ ที่เรียกกันว่า “เขียวนกกะลิง” ให้ ๒ ตัว เสื้อป่านแขนพองมีอยู่แต่เดิม ๒ ตัว ไม่ต้องซื้อ ส่วนรองเท้า พ่อซื้อรองเท้าผ้าใบสีดําให้

         วันแรกที่ข้าพเจ้าไปโรงเรียน ท่านก็ลองนึกดู เหมือนตัวประหลาด   ข้าพเจ้าหวีผมเปิด      ใช้หวีโค้งสับผมไม่ให้มันตกลงมาปิดหน้า นุ่งผ้าถุงสีเขียวปี๊ด ใส่เสื้อแขนพอง สวมรองเท้าผ้าใบสีดําสลับข้างกัน นักเรียนทั้งชั้นโตมารุมดูกันแน่น ทุกคนยิ้มบ้าง หัวเราะบ้าง ขบขันกันเต็มที่ ก็ทุกคนนุ่งผ้าถุงบ้าง กระโปรงบ้างเป็นสีดําหรือสีกรมท่ากันทั้งนั้น มีคนนุ่งสีเขียวเพียงคนเดียวในจํานวนเด็กหลายร้อยคน จะไม่ดูเป็นตัวประหลาดได้อย่างไร คนที่ทําท่าทางขบขัน ไม่มีใครสักคนบอกให้ข้าพเจ้าทราบว่าข้าพเจ้ามีความผิดตรงไหน หลังจากถูกเดินล้อมหน้าล้อมหลังตามดูกันเกรียวกราวพักใหญ่ มีพี่คนโตนักเรียนชั้นสูงคนหนึ่งมาดึงข้าพเจ้าไปที่หลังพุ่มไม้ไล่คนอื่นๆ ออกไปจนหมด เขาถามว่า

        “ลูกครูเทียนใช่ไหม” ข้าพเจ้าตอบรับ เขาจึงบอกว่าพ่อข้าพเจ้ากับพ่อของเขาเป็นเพื่อนกัน

        “นี่หนู หนูใส่รองเท้ากลับข้างกันจ๊ะ เปลี่ยนข้างกันให้ถูกเสีย”

       เกิดมาข้าพเจ้าเพิ่งใส่รองเท้าเป็นครั้งแรกในชีวิต จึงคิดว่ารองเท้ามันเหมือนกันใส่ข้างไหนก็ได้ พอเปลี่ยนข้างกันก็ยังร้อยเชือกไม่ถูกอยู่ดี ต้องให้คนเตือนทําให้ดู เสร็จแล้วพี่คนเดิมก็บอกว่า

      “เป็นนักเรียนมัธยมนี่ เขาไม่ใช้หวีโค้งสับผมแล้วนะจ๊ะ เค้าใช้กิ๊บจ้ะ”

    หวีโค้งเป็นหวีรูปโค้งงอให้เข้ากับศีรษะใช้สับไว้ที่เส้นผมกันปลิว พูดแล้วพี่คนนั้นก็ถอดกิ๊บจากผมของเธอติดผมให้ข้าพเจ้า ถอดหวีโค้งออกให้ข้าพเจ้าเก็บไว้ พร้อมทั้งอธิบายเรื่องสีผ้าถุงด้วยว่าควรให้ผู้ปกครองย้อมให้เป็นสีดําเสีย

     เล่าความเชยให้ท่านฟัง เรื่องแต่งตัวยังเปิ่นขนาดนี้ เรื่องเรียนจะเป็นถึงขนาดไหน เพื่อนๆ ในห้องเรียน ล้วนแต่เรียนชั้นประถมศึกษามาจากโรงเรียนราษฎร์ เคยเรียนภาษาอังกฤษกันมาแล้วทั้งนั้น มีแต่ ข้าพเจ้าคนเดียวไม่เคยเรียน พอชั่วโมงภาษาอังกฤษจึงนั่งงง จะว่าเป็น “ไก่ตาแตก” ก็คงไม่ผิด กลับบ้านพักก็ไม่ทราบจะถามใคร ญาติที่อยู่ด้วยอ่านหนังสือไม่ออกด้วยซ้ำ ลูกสาวติดสามีของญาติก็เรียนชั้นประถมปีที่สี่ ทั้งที่อายุมากกว่าข้าพเจ้า แถมพอเย็นลงเด็กคนนั้นก็ไปตามเพื่อนๆ มากลุ่มใหญ่ เล่นรําวงกันทุกเย็นจนมืด ข้าพเจ้าก็ต้องเล่นด้วย

    “เอ้าใกล้เข้าไปอีกนิด ชิดเข้าไปอีกหน่อย สวรรค์น้อยๆ”

  การบ้านไม่มีใครพูดถึงเพราะสมุดในสมัยนั้นมีราคาแพงมาก ครูจึงไม่ต้องให้การบ้าน สอบซ้อมครั้งใดข้าพเจ้าจะได้ที่เกินกว่า ๒๐ ทั้งที่มีนักเรียนอยู่ ๓๗ คน

  เรียนมากว่าครึ่งปี ครูไม่เคยเรียกไปคุยหรือถามข้าพเจ้าเลยแม้แต่ครั้งเดียว อยู่บ้านพักก็ไม่มีใครสนใจ ผู้ปกครองเอาแต่รับจ้างเย็บผ้าตั้งแต่เช้าจนดึก มาโรงเรียนครูก็ไม่เคยพูดด้วย ความเหงาความว้าเหว่เกิดขึ้นในใจอยู่ตลอดเวลา เคยมีความอบอุ่นมากมายเมื่ออยู่ที่บ้านนอก มาเรียนในเมืองเหมือนอยู่คนละโลก หลายๆ วัน พ่อหรือย่าจึงจะมาเยี่ยมสักครั้ง แต่แม่ไม่ใคร่ได้มาเพราะท่านคลอดน้องชายข้าพเจ้าแล้ว ต้องเลี้ยงน้องอยู่กับบ้าน

   ในชั้นเรียน ข้าพเจ้าสังเกตเห็นครูประจําชั้นพูดกับเด็ก ๔ คน อยู่เสมอจนติดปาก คนที่หนึ่งเป็นลูกสาวผู้ว่าราชการจังหวัด คนที่สองเป็นลูกสาวคุณพระ ซึ่งครูเช่าบ้านพ่อของเด็กผู้นั้นอยู่ คนที่สามเป็นลูกสาวพ่อค้าใหญ่ในจังหวัด มีของกินแปลกๆ ติดมือมาฝากครูอยู่เป็นนิตย์ ส่วนคนสุดท้ายเป็นนักเรียนที่สอบได้ที่หนึ่งทุกครั้ง

   ข้าพเจ้าอยากให้ครูพูดกับข้าพเจ้าบ้าง ให้พูดถ้อยคําดีๆ เหมือนที่พูดกับเด็กทั้งสี่คนนั้น นี่เพราะไม่รู้โทษของเสียง หลงพอใจในเสียงดีๆ อยากได้คําชมเชยของครู ทําให้ต้องขวนขวายเหนื่อยยากเรื่องการเรียน ต่อมาจนกว่าจะเรียนจบ นับเป็นเวลาอีกถึง ๑๕ ปี

   ข้าพเจ้าไม่ได้เป็นลูกข้าหลวง เป็นลูกพ่อค้า เป็นลูกคุณพระเจ้าของบ้าน เพราะเลือกเกิดไม่ได้ แต่เรื่องการเรียนหนังสือให้เก่งน่าจะเป็นเรื่องควรลองทําดู

   “ดูซิ ถ้าเราเรียนเก่งแล้ว ครูจะพูดดีๆ กะเราเหมือนกับเด็กสี่คนนั้นมั้ย” ข้าพเจ้าคิด

  นับเป็นโชคดี ผู้ปกครองของข้าพเจ้าย้ายครอบครัวไปจังหวัดอื่น พ่อจึงนําข้าพเจ้าไปฝากที่บ้านครูสตรีสาวโสดผู้หนึ่ง ที่นั่นมีนักเรียนหญิงรุ่นพี่อยู่ ๒-๓ คน ขยันเรียนกันทั้งนั้น ข้าพเจ้าได้ตัวอย่างที่ดี ไม่มีใคร ชวนไปเล่นรําวงกันตามประสาเด็กๆ อีกแล้ว พอมืดเข้า พวกรุ่นพี่ก็จะดูหนังสือท่องตํารา ข้าพเจ้าก็เอาอย่างบ้าง

   นี่เป็นหลักคําสอนข้อหนึ่งในมงคล ๓๘ ข้อ คือ การคบคนดี ได้ประโยชน์ดังนี้ และยังตรงกับคําสอนในเรื่องให้อยู่ในปฏิรูปเทศด้วยคือให้เลือกที่อยู่ดีๆ อยู่กับใครก็จะเป็นเหมือนคนนั้น อยู่กับคนขยันจึงต้องขยันตามโดยอัตโนมัติ และเนื่องจากข้าพเจ้าเรียนภาษาอังกฤษไม่รู้เรื่อง ถามพวกรุ่นพี่ เขาบอกว่าเรียนภาษาให้เก่งต้องท่องศัพท์ให้ได้ ข้าพเจ้าจึงตั้งอกตั้งใจท่อง ครั้งแรกท่องให้จําแม่นๆ เพียงคืนละ ๓-๕ ตัว หลายคืนเข้าก็ได้มากขึ้นทุกที จนหมดคําที่ครูสอน เวลาสอบคะแนนจึงเพิ่มขึ้นเป็นอัศจรรย์ จากที่ยี่สิบกว่าพรวดพราดเป็นที่สี่ ครูถึงกับขอดูตัว

 “ใครชื่อถวิล ยืนขึ้นให้ครูดูหน่อย”

  นี่เป็นคําพูดครั้งแรกที่ครูพูดกับข้าพเจ้าโดยตรง เสียงของครูที่ประกาศผลการสอบช่างไพเราะเพราะพริ้งสุดจะบรรยาย ครูให้เพื่อนๆ ตบมือให้ข้าพเจ้าเป็นพิเศษ หัวใจของข้าพเจ้าเต้นแรงเหมือนกระเทือนออก มานอกหน้าอก วันนั้นมีความสุขจริงๆ ตัวเนื้อดูเบาโหวงเหวงตั้งใจว่า นับแต่นี้ต่อไปจะตั้งใจเรียนให้มากขึ้น จะเอาที่หนึ่งให้ได้

   แต่แล้วก็มีเรื่องน่าเสียใจเกิดขึ้น คือ สถานการณ์ของสงครามรุนแรงหนักขึ้น ตัวจังหวัดที่ข้าพเจ้าอาศัยอยู่ ถูกเครื่องบินฝ่ายข้าศึกโจมตีทางอากาศบ่อยมาก เพราะมีสะพานข้ามแม่น้ำเป็นจุดยุทธศาสตร์โรงเรียนทุกแห่งปิด นักเรียนต้องย้ายไปเรียนกันตามโรงเรียนประจําอําเภอที่ไม่มีการถูกทิ้งระเบิด ข้าพเจ้าต้องร่อนเร่ไปเรียนที่อื่นถึง ๒ แห่ง แห่งที่สามจึงเข้าเรียนในกรุงเทพฯ อยู่บ้านญาติที่เป็นนักเลงการพนัน

  สองแห่งแรกที่ข้าพเจ้าย้ายไปเรียนนั้นเป็นอําเภอเล็กๆ ต้องอาศัยญาติผู้ใหญ่ฝ่ายพ่อ ถูกใช้ให้ทํางานหนักเกินวัย ตักน้ำจากบ่อลึกวันละ ๒๐-๓๐ หาบ ตําข้าว หั่นหยวกกล้วยเลี้ยงหมู ไม่ให้ใช้ตะเกียงทําการบ้านในตอนกลางคืน เรื่องดูหนังสือไม่ต้องพูดถึง ไม่มีเวลาเอาเสียเลย เวลาที่บ้านคือเวลาทํางานประกอบอาชีพไปทั้งหมด กลางคืนแม้ไม่มีตะเกียง ยังต้องใช้นิ้วมือล้างละมุดคืนหนึ่งๆ ๒-๓ กระบุงใหญ่ๆ เรียนได้อย่างเก่งคือสอบได้เป็นที่ ๔ เหมือนเดิมเท่านั้น

   หลังจากเข้ามาเรียนในกรุงเทพฯ คราวนี้ไม่ใช่บ้านนอกเข้าเมือง แต่เป็นบ้านนอกเข้ากรุง เรียนชั้นมัธยมปีที่ ๓ สมัยโน้น คือชั้น ม.๑ สมัยนี้ อายุย่างเข้าปีที่ ๑๓ รู้จักอายมากขึ้น โรงเรียนแรกที่เข้าเรียนเป็นโรงเรียนราษฎร์ โรงเรียนหลังจึงเป็นโรงเรียนรัฐบาล เพื่อนในห้องรวมทั้งครูประจําชั้นมักเห็นข้าพเจ้าเป็นตัวตลกเสมอ ไหนจะพูดเสียงเหน่อมาก คงจะพอกับสําเนียงชาวสุพรรณสมัยนี้ ซ้ำยังใช้คําพูดเชยๆ ที่เด็กในกรุง ไม่ใช้กัน เรียกเสียงฮาลั่นห้องเป็นประจํา

   ข้าพเจ้าไม่ชอบเสียงเหล่านี้ รู้สึกอับอายขายหน้า ในใจก็คิดหาวิธีที่เพื่อนๆ จะหัวเราะไม่ออก สิ่งที่นึกได้คือ

  “ต้องเรียนเอาที่หนึ่งให้ได้ คนบ้านนอกนี่แหละจะต้องชนะเด็กในกรุง จะให้ชนะอย่างเฉียบขาด เอาให้ครูนึกไม่ถึงทีเดียว จะทําคะแนนทุกวิชาให้เต็ม ๑๐๐% ดูซิ จะมีใครกล้าหัวเราะเยาะอีกมั้ย”

    เวลานั้นข้าพเจ้าไม่รู้ถึงคําสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา ซึ่งตรัสสอนพระทารุจีริยะไว้ว่า

   “ขอให้เธอพึงศึกษาคําสอนของเรา มีเพียงว่า เมื่อเห็นรูปอะไรก็ตาม ก็ให้สักแต่ว่าเห็น”

     คําสอนนี้หมายความตลอดไปถึง
   “เมื่อได้ยินเสียงอันใด ก็ให้สักแต่ว่า ได้ยิน”
   “เมื่อได้กลิ่นอะไร ก็ให้รู้สึกแต่เพียงสักว่า ได้กลิ่น”
   “เมื่อได้ลิ้มรสอะไร ก็ให้รู้สึกแต่เพียงสักว่า ได้ลิ้มรส”
   “เมื่อได้กระทบสัมผัสถูกต้องสิ่งใด ก็ให้รู้สึกแต่เพียงสักว่า สัมผัส”

    ไม่ให้ใจปรุงแต่งต่อเนื่องไปจนถึงว่า สิ่งนั้นดี พึงใจอยากได้ หรือสิ่งนั้นไม่ดี ไม่ถูกใจ อยากให้หายไปไม่อยากได้ เพราะเมื่อปล่อยให้ใจปรุงแต่งความคิดไปจนถึงอยากได้ ไม่อยากได้แล้ว ย่อมทําให้ทุกข์เกิดได้ง่าย คือเมื่ออยากได้ก็ต้องแสวงหา หาไม่ได้ก็เสียใจ อย่างนี้เป็นต้น

   เมื่อไม่รู้ถึงคําสอนนี้ ข้าพเจ้าได้ยินเสียงเพื่อน เสียงครูหัวเราะเยาะขบขัน ก็เห็นว่าเป็นเสียงไม่ดี ไม่อยากได้ยิน แต่เมื่อห้ามคนเหล่านั้นไม่ได้ ก็จําต้องคิดเปลี่ยนให้เป็นเสียงที่ตนเองเคยชอบใจ คือเสียงชมเชยยกย่อง เสียงตบมือให้เกียรติ

   ความยินดีทําให้อยากได้ ความยินร้ายทําให้ไม่อยากได้ ความยินดียินร้ายนี่เองทำให้ความทุกข์เกิด ข้าพเจ้าอยากได้เสียงชมเชยยกย่องจึงต้องขยันหมั่นเพียรในการเล่าเรียนอย่างหนัก บ้านญาติที่พักอยู่ด้วยมีงานหนักอยู่เพียงเรื่องเดียวคือทำกับข้าว และตักน้ำในเวลา ๖ ทุ่ม น้ำประปาสมัยโน้นบ้านคนจนไม่มีใช้ ต้องไปหาบจากก๊อกน้ำสาธารณะข้างถนน เวลากลางวันคนเข้าคิวกันยาวมาก ถ้าเป็นตอนดึกไม่ใคร่มีคน ข้าพเจ้าจึงมีเวลาดูหนังสือเต็มที่

   เพียงสอบซ้อมครั้งแรก ข้าพเจ้าก็สามารถสอบได้เป็นที่หนึ่งทันที คะแนนนําห่างจากเพื่อนไปมากก็จริง แต่ก็ยังเป็นเพียง ๘๐ กว่าเปอร์เซนต์ เดือนเดียวเท่านั้นเสียงหัวเราะเยาะขบขันหายไปเป็นปลิดทิ้ง ต่อจากนั้นข้าพเจ้าพยายามแข่งกับตัวเอง ครั้งนี้ได้ ๘๐ ต่อไปต้องให้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพียงครั้งที่สามข้าพเจ้าก็สามารถทําได้ ๑๐๐ % ทุกวิชาที่สอบเป็นอัศจรรย์

 เสียงชมเชยของครู เสียงตบมือให้เกียรติจากเพื่อน ตลอดจนการขอพบตัวของครูใหญ่เพื่อกล่าวคําชมเชยยกย่อง เพราะไม่เคยมีเด็กคนใดทําคะแนนยอดเยี่ยมอย่างนี้มาก่อน สิ่งเหล่านี้ทําความสุขใจให้ข้าพเจ้ามากมายในยามนั้น

    หารู้ไม่ว่า ความทุกข์ได้คืบคลานตามติดมาทันที เมื่อสอบได้ที่หนึ่งครั้งหนึ่งแล้ว ความไม่รู้จักพอก็เกิดตามมา คืออยากได้ที่หนึ่งทุกครั้งไป เมื่อมีความอยากนําหน้าใจดังนี้ ก็ต้องทวีความสนใจเรียนให้เพิ่มพูน หนักเข้า ต้องขยันไม่มีเวลาว่างเว้น หายใจเป็นตัวหนังสือที่ต้องท่องต้องจำไปจนหมด เรียกว่าหลับตาลงก็สามารถนึกถ้อยคําในหน้าหนังสือได้ตลอดทั้งเล่ม ความที่เคยเป็นคนขี้เล่น ใจคอเบิกบานเป็นนิตย์ก็หายไป กลายเป็นเคร่งขรึมเอาจริงเอาจัง

     ครั้งใดที่รายงานพ่อว่า

    “พ่อจ๋า คราวนี้หนูสอบได้ที่หนึ่งอีกแล้ว” เท่านั้นเท่านี้เปอร์เซ็นต์

     พ่อจะยิ้มเต็มที่ ดวงตาทอแสงเป็นประกาย

   “เก่งมากลูก” เวลาพ่อกลับไปบอกแม่กับพวกเราทางบ้าน ใครรู้เข้าก็ดีใจกันใหญ่ เท่ากับลูกทําชื่อเสียงให้พ่อแม่และญาติพี่น้องด้วย คุยให้ใครฟังก็ทําให้คนคุยพลอยมีหน้ามีตา ที่มีลูกหลานเรียนเก่ง

  ใบหน้าแสดงความดีใจของพ่อทุกครั้งที่ข้าพเจ้ารายงานผลการสอบว่าเป็นที่หนึ่งนั้น ข้าพเจ้าไม่เคยลืมเลย ทําให้ข้าพเจ้าปรารถนาเห็นรอยยิ้มอย่างนั้นอยู่เรื่อยไป มีอยู่ครั้งหนึ่งข้าพเจ้าสอบได้ที่หนึ่งเหมือนเดิม  แต่เปอร์เซ็นต์ลดลงไปจากเดิมมาก ถามครูประจําชั้นดูว่าข้าพเจ้าตอบสิ่งใดผิด ครูชี้แจงว่า

   “เธอได้คะแนนเต็มหมดทุกวิชานั่นแหละ แต่ว่าครั้งนี้เป็นการสอบซ้อมใหญ่ จะต้องส่งผลการสอบไปรวมกับโรงเรียนอื่นด้วย แต่ไหนแต่ไรมาไม่เคยมีคนได้คะแนนอย่างเธอหรอก เดี๋ยวที่อื่นเขาจะสงสัยเอาครูใหญ่จึงให้เอาคะแนนเธอออกเสียบ้าง”

   ข้าพเจ้าแจ้งคะแนนให้พ่อทราบ แต่ไม่ได้บอกเหตุผลตามที่ครูชี้แจง เพราะเวลานั้นข้าพเจ้าไม่เข้าใจคําชี้แจงของครูจริงๆ พ่อเห็นคะแนนของลูกน้อยไปมาก สีหน้าพ่อเสีย ข้าพเจ้าเห็นหน้าท่านแล้วไม่สบายใจ

  อยากเห็นใบหน้าที่แสดงถึงความดีใจแจ่มใสของพ่อ ไม่อยากเห็นหน้าแสดงความเสียใจผิดหวัง ความอยากได้ในสิ่งที่ชอบใจ ความไม่อยากได้ในสิ่งที่ไม่ชอบใจ ทําความทุกข์ให้ข้าพเจ้ามากมายครั้งแล้วครั้งเล่า กลางดึกต้องผวาตื่น ตื่นแล้วก็รีบอ่านหนังสือ หยุดเทอมปลายต้องซื้อหนังสือเรียนปีใหม่ เพื่อศึกษาก่อนล่วงหน้า (สมัยนั้นยังไม่มีโรงเรียนกวดวิชา) วัยรุ่นที่ควรจะเบิกบานแจ่มใสบ้าง กลายเป็นมีความเครียดแอบแฝงอยู่ตลอดเวลา เหมือนมีหน้าที่แบกภาระหนักๆ เอาไว้ในใจลึกๆ

   ที่เอามาเล่าให้ท่านฟังไว้ในโอกาสนี้ ต้องการสะท้อนความรู้สึกสมัยเมื่อเป็นลูก โดยปกติแล้วลูกที่ดีจะรักพ่อแม่มาก พ่อแม่อยากให้ลูกทำอะไรให้ท่าน ถ้าอยู่ในวิสัยทําได้แล้ว ลูกจะพยายามเต็มที่ที่สุด ยกเว้นลูกที่ไม่ชอบพ่อแม่ของตนเองด้วยเหตุผลบางประการ

   ถ้าท่านเป็นพ่อแม่ที่มีลูกดีๆ ควรเห็นใจลูกของท่านให้มาก ควรปลอบใจให้กําลังใจเวลาลูกผิดหวังด้วย ไม่ใช่คอยชื่นชมเมื่อได้รับผลสําเร็จอย่างเดียว ถ้าลูกพลาดสิ่งใดควรให้กําลังใจ เช่น กรณีลูกเรียนไม่ได้ ดังที่ท่านตั้งความปรารถนาไว้ ควรบอกเขาว่า

  “ไม่เป็นไร ไม่ต้องเสียใจลูก พยายามใหม่ พ่อ (หรือแม่ ) จะเอาใจช่วยเต็มที่ ที่มันพลาดไปแล้วก็แล้วกันลูก ของผ่านไปแล้วแก้ไขอะไรไม่ได้แต่คราวใหม่ยังมาไม่ถึง เรามีโอกาสนะลูก” ปลอบอย่างนี้ ลูกก็จะมีกําลังใจต่อสู้ชีวิต ไม่ใช่แสดงความเสียใจ โกรธเคือง ซ้ำเติม

    การที่ข้าพเจ้าชอบแต่ใบหน้าที่แสดงความยินดีของพ่อ เรียกทางภาษาธรรมก็แปลว่า ข้าพเจ้าพอใจในรูป คือรูปที่แสดงความพอใจยินดี ในความสําเร็จซึ่งปรากฏอยู่บนใบหน้าพ่อ เมื่อข้าพเจ้าชอบรูปอย่างนั้น ก็ต้องพยายามให้เกิดขึ้น ยิ่งต้องการมากเท่าไร ก็ต้องพยายามมากเท่านั้น ถ้าต้องการตลอดไปก็ต้องพยายามตลอดไปไม่มีที่สิ้นสุด ความทุกข์จึงเกิดต่อเนื่องตามมาเป็นสาย ในทํานองเดียวกัน ชอบคําชมเชย ก็เป็นความ พอใจในเสียง เป็นต้นเหตุของความทุกข์ไม่ต่างกัน

    นี่คือความอยากทําให้เกิดทุกข์ จะอยากได้อะไรก็ตาม ต้องเกิดทุกข์ทั้งนั้น ถ้าอยากในสิ่งที่สมควร ความทุกข์ก็พอควร อยากมากก็ทุกข์มาก ไม่อยากเลยก็ไม่ทุกข์เลย เป็นสัจจะ เวลานั้นข้าพเจ้าไม่เคยรู้หลัก ธรรมทางศาสนา ไม่รู้จักคําว่ามัชฌิมา คือการทําอะไรพอสถานปานกลาง ไม่ตึงนักหรือหย่อนนัก จึงค่อนข้างเอาเป็นเอาตายกับความปรารถนาของพ่อแม่

     และด้วยความสํานึกผิดในวัยเยาว์ซึ่งเคยกลั่นแกล้งให้ท่านขาดรายได้ ท่านจะจับปลามาค้าขาย ข้าพเจ้าก็ไม่ยอม (ในจากความทรงจําฉบับรวมเล่ม เล่มที่ ๒) ท่านจะทําน้ำเมา ทําลูกข้าวหมากเมาขาย ข้าพเจ้าก็ไม่ยอม เหมือนแกล้งให้พ่อแม่เป็นคนจน ถ้าข้าพเจ้าปล่อยให้ท่านประกอบอาชีพเหล่านั้นของท่านมาเรื่อยๆ นับเวลาเป็นสิบปี ท่านคงร่ำรวยมากมาย โดยเฉพาะในยุคสงครามโลกครั้งที่สอง ระหว่างประเทศถูกญี่ปุ่นยึดครอง เพียงตามใจลูก เพื่อความพอใจของข้าพเจ้าท่านทั้งสองต้องทนทํามาหากิน มีรายได้เพียงเงินเดือนทางราชการเล็กน้อย

   เมื่อเข้าใจว่าตนเองเป็นต้นเหตุให้พ่อแม่ขาดรายได้ เมื่อท่านมาดีใจ ปลื้มใจเพราะลูกตั้งใจเล่าเรียนดี ข้าพเจ้าก็คิดตามประสาเด็กว่าคงพอชดเชยกันได้บ้าง จึงได้ทุ่มเทในการเล่าเรียน และยังคิดเข้าข้างตนเองว่า เมื่อทําให้พ่อแม่พอใจ สบายใจดังนี้แล้ว น่าจะเป็นการตอบแทนบุญคุณได้อย่างหนึ่ง ถือเป็นการแสดงความกตัญญกตเวทีไปในตัวได้บ้างกระมัง

       มารู้ตัวว่าความคิดดังกล่าวเป็นความคิดถูกต้อง เมื่อข้าพเจ้าได้เป็นแม่คนตั้งแต่อายุ ๒๖ ปี เรื่อยมา เพียงลูกอยู่ในโอวาท ประพฤติดีเท่านั้น เราผู้เป็นพ่อแม่ก็จะรู้สึกเป็นสุขใจนักหนา ลูกไม่ต้องแสวงหาทรัพย์สมบัติอันใดที่เป็นวัตถุสิ่งของมาให้เราเลย ไม่ต้องให้เป็นเงินให้เป็นของกินของใช้ซึ่งเป็นอามิสบูชา เพียงประพฤติตนดีอยู่ในศีลธรรมอยู่ในคุณงามความดี ก็ถือเป็นเครื่องบูชาอันล้ำค่า เสมือนการปฏิบัติตนแทนเครื่องบูชา ไม่ใช่การให้พ่อแม่คอยนั่งหวาดระแวงว่าจะไปดื่มสุรามึนเมา มีเรื่องขึ้นโรงพัก เข้าโรงพยาบาลที่ไหน ยิ่งถ้าเป็นลูกสาวแล้วก็ยิ่งห่วงเรื่องชู้สาวยิ่งขึ้นอีกเป็นทวีคูณ เกรงถูกผู้ชายมาหลอกลวงให้เสียผู้เสียคน เกรงชิงสุกก่อนห่าม เกรงมีลูกไม่มีพ่อ เกรงไปสารพัดจะเกรง คนที่เคยเป็นพ่อแม่เท่านั้นจึงจะรู้หัวอกพ่อแม่ด้วยกันดีที่สุดว่า มีทุกข์เพราะห่วงลูกถึงขนาดใด

   แต่แรกข้าพเจ้าไม่ทราบว่าการเรียนหนังสือเก่งของตนเองทำให้พ่อแม่ปลื้มใจ มารู้เอาเมื่อเวลาปิดเทอมปลายกลับไปพักอยู่ที่บ้าน พบผู้คนที่เป็นเพื่อนบ้าน ไม่ว่าเป็นคนสูงอายุ หรือเป็นคนวัยใกล้เคียงกัน มักจะชอบซักถามเรื่องผลการเล่าเรียนอยู่เสมอ จึงทราบว่าพ่อแม่ภูมิใจ  จนต้องเล่าให้ใครๆ ฟังทั้งหมู่บ้าน

      “เห็นครูผู้หญิงบอกว่าหนูสอบได้ที่หนึ่ง ชนะเด็กกรุงเทพฯ ด้วยหรือ” ป้าคนแก่ๆ ถาม

    “ครูผู้ชายบอกว่าหนูเรียนเก่ง สอบได้คะแนนเต็ม บางครั้งถึง ๕-๖ วิชาเชียวหรือ” ลุงเหมือนซึ่งเป็นเพื่อนรักของพ่อถาม

   “อะไรกันหวิน ครูเขาบอกว่าเธอสอบได้ที่หนึ่งทุกเดือนๆ ไม่น่าเชื่อเลย จริงรึเปล่า” เพื่อนสมัยเรียนประชาบาลด้วยกันสงสัย ต้องเอาสมุดพกประจําตัวยื่นให้อ่านดูเอง จึงหมดความแคลงใจ พร้อมกับบ่นว่า

   “ตอนเรียนอยู่ด้วยกันที่วัด ไม่เห็นเก่งยังงี้เลย เป็นไปได้ยังไงฮึ”

   ไม่อยากตําหนิว่าพ่อเป็นต้นเหตุให้ข้าพเจ้าเรียนหนังสือด้วยความเครียด เพราะพ่อแม่โดยทั่วไปก็เป็นเหมือนพ่อข้าพเจ้าทั้งสิ้น อยากให้ลูกเรียนหนังสือเก่งๆ พอลูกเรียนได้ก็พากันดีอกดีใจ พอไม่ได้ก็บ่นว่า ถ้าเรียนไม่ได้ดีเพราะไม่ตั้งใจเรียน เกียจคร้าน สมควรบ่น แต่บางทีเป็นเพราะสติปัญญาไม่ดี ถูกเคี่ยวเข็ญมากเข้าถึงกับเสียจริตไปเลยก็มี ข้าพเจ้ามีตัวอย่างลูกของเพื่อน ๒ ราย ถึงกับต้องเข้าโรงพยาบาลโรคจิต ออกจากโรงพยาบาลก็ยังไม่หายเป็นปกติจนปัจจุบัน

    แรกๆ เมื่อข้าพเจ้ามีลูกก็เคยตั้งความหวังไว้ในทํานองเดียวกัน มาได้คิดเพราะลูกชายคนโตของตนเอง ตอนนั้นแกมีอายุเพียง ๔ ขวบเศษ เรียนอยู่ชั้นอนุบาลปีที่ ๒ สอบได้ที่ ๑ ของห้องเรียน ลูกรายงานผลการสอบให้ข้าพเจ้าฟังด้วยสีหน้าหม่นหมอง

    “แม่คร้าบ วันนี้ครูบอกว่าหนูสอบได้ที่หนึ่งคร้าบ ครูบอกให้เพื่อนตบมือให้หนูด้วย”

  “ลูกดีใจมั้ยลูก เวลาเพื่อนตบมือให้น่ะจ้ะ” ข้าพเจ้าถาม ใจก็นึกถึงความดีใจของตัวเองในสมัยเด็กเมื่อได้รับเสียงตบมือ

   “หนูไม่ดีใจหรอกคร้าบ...”

    “ทําไมล่ะลูก ทําไมไม่ดีใจ”

    “หนูสงสารสมชายเค้าคร้าบแม่” สมชายเป็นเพื่อนรักของแก ทั้งคู่รักกันมาก

    “อ้าว ทําไมต้องสงสารสมชายล่ะจ๊ะ สมชายเป็นอะไร เค้าสอบตกรึไงลูก”

   “ไม่ได้สอบตกหรอกคร้าบ เค้าสอบได้ที่ ๖ เค้าอยากได้ที่หนึ่งมั่ง”

    ลูกชายตอบแล้วก็นิ่งเงียบไปครู่หนึ่ง แล้วพูดต่อเหมือนขอปรึกษาหารือกับแม่

   “แม่คร้าบ สอบคราวหน้าหนูไม่เอาที่หนึ่งแล้วนะคร้าบ”

    “ทําไมล่ะลูก ไม่อยากให้ครูชม ไม่อยากให้เพื่อนตบมือให้ลูกอีกเหรอ”

    “ไม่อยากแล้วคร้าบ หนูอยากให้สมชายเค้าได้มั่ง         สอบคราวหน้าหนูจะยกที่หนึ่งให้สมชายนะคร้าบ”

   ข้าพเจ้าพูดไม่ออก น้ำใจของลูกที่มีต่อเพื่อนรักของแกช่างเป็นไมตรีจิตที่บริสุทธิ์สะอาด ข้าพเจ้าจะทําลายลงได้อย่างไร ข้าพเจ้าไม่กล้าแม้แต่จะอธิบายให้ลูกเข้าใจว่า การสอบได้ที่หนึ่งไม่ใช่ของยกให้กันได้ ความเมตตาที่เปี่ยมล้นอยู่ในดวงใจเล็กๆ นั้น ผู้ใหญ่อย่างเราควรทะนุถนอมให้เกิดขึ้น คุณธรรมอย่างนี้มีอยู่ในวัยเด็กเล็กๆ อย่างนี้เท่านั้น เป็นความบริสุทธิ์สะอาดที่คนรุ่นผู้ใหญ่อย่างเราๆ ต้องได้อายทีเดียว ข้าพเจ้าถึงกับต้องรําพึงในใจว่า

   “ลูกรัก แม่อายหนูเหลือเกิน ในชีวิตของแม่ที่เล่าเรียนมา แม่ไม่เคยคิดเอื้อเฟื้อกับเพื่อนเหมือนหนูเลย แม่คิดแต่จะเอาชนะเพื่อน ต้องดีกว่า ต้องเด่นกว่า ใครเหนือกว่า แม่จะเกลียดคนนั้นด้วยซ้ำไป ทําให้กลายเป็นคนขี้อิจฉาไปในที่สุด ดีแต่แม่กลับตัวกลับใจทัน มิฉะนั้นคงมีนิสัยเสียจนตาย

    จากวันนั้นมา ข้าพเจ้าไม่เคยแสดงความกระตือรือร้นจนออกนอกหน้า เมื่อลูกสอบได้ที่หนึ่ง คงกระทําแต่เพียงพอเหมาะพอควร ไม่ตึงนัก ไม่หย่อนนัก ลูกๆ ก็สามารถเรียนจบปริญญาได้ทุกคน

      นี่เรียกว่าลูกสอนแม่ เหตุการณ์นี้ผ่านมานานเกือบ ๓๐ ปีแล้ว ข้าพเจ้าจําได้แม่นยําที่สุด เพราะเหมือนลูกใช้น้ำทิพย์วิเศษกวาดล้างความเป็นคนขี้อิจฉาออกจากหัวใจข้าพเจ้าไปจนสิ้นเชิง

     เรื่องแรกที่พิสูจน์ได้คือ ครั้งนั้นมีตําแหน่งราชการชั้นเอกว่าง ๑ ตําแหน่ง ข้าพเจ้าในฐานะเป็นหัวหน้าแผนกมีสิทธิ์มากกว่าลูกน้องคนหนึ่งซึ่งทํางานมานานปีกว่า อายุมากกว่า แต่ผลงานและตําแหน่งต่ำกว่า ทั้งผู้บังคับบัญชาชั้นเหนือขึ้นไปก็พอใจให้ข้าพเจ้าได้รับตําแหน่งนี้ ถ้าเป็นแต่ก่อนข้าพเจ้าจะรีบรับการแต่งตั้งด้วยความภาคภูมิใจ แต่หลังจากเกิดสํานึกจากคําพูดของลูกที่เล่าไว้แล้ว ข้าพเจ้าสามารถตัดความอยากออกจากใจได้ ขอตําแหน่งนั้นให้คนที่เป็นลูกน้องแทน ยอมให้ตนเองเงินเดือนติดขั้นอยู่ถึง ๓ ปี เขาตื้นตันใจมาก เล่าให้คนโน้นคนนี้ฟังว่า ไม่เคยคิดว่าข้าพเจ้าจะมีน้ำใจถึงเพียงนี้ กระทั่งมีผู้ใหญ่บรรดาศักดิ์สูงมาก ท่านหนึ่งขอทําความรู้จักข้าพเจ้า เพราะได้ทราบเรื่องสละตําแหน่งที่เล่านี้

     เมื่อลดความขี้อิจฉาลงไปได้มากเท่าไร หูตาก็สว่างไสวยิ่งขึ้น มองเรื่องทุกเรื่องได้ชัดเจนตามความเป็นจริง เห็นอะไรควรไม่ควร บางครั้งได้พบคนที่มีนิสัยขี้อิจฉาทํานองนี้ ให้รู้สึกเวทนาสงสารเป็นอันมากหลายคนแม้เข้าวัดสนใจการประพฤติปฏิบัติธรรมแล้ว ก็แก้ความรู้สึกอิจฉาไม่สําเร็จ คอยชิงดีชิงเด่น ข่มกันอยู่ในที่ มีการปิดบังซ่อนเร้นคุณความดีของผู้อื่น กลัวจะได้รับคําชมเชยยกย่องมากกว่าตน ถ้าความขี้อิจฉาถูกสั่งสมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ก็จะกลายเป็นคนไม่จริงใจ หน้าไหว้หลังหลอก เข้าทำนองต่อหน้ามะพลับลับหลังตะโก แล้วก็กลายเป็นทําบาปอย่างหนึ่ง เช่น มุสาวาท ปิสุณาวาท อะไรๆ ตามมาโดยง่าย

     ต้นเหตุของความขี้อิจฉา ที่แท้แล้วคือมาจากเรื่องความพอใจในกามคุณ ๕ อยากได้ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ที่ดีงามเหนือคนอื่นๆ โดยเฉพาะเสียงสรรเสริญเยินยอ จะเป็นยกยอจริง หรือแกล้งทำก็ตาม ล้วนแต่ทําให้ผู้คนหลงใหลผูกพัน

      ข้าพเจ้าขอย้อนเล่าเรื่องการหลงรูป หลงเสียงของข้าพเจ้าต่ออีกเล็กน้อย วันหนึ่งครูประจําชั้นซื้อตุ๊กตารูปกระต่ายตัวไม่โตนัก ทาสีบรอนซ์เงิน ผูกโบว์สีชมพูไว้ที่คอ นํามาวางไว้บนโต๊ะแล้วพูดว่า

     “วันนี้ ครูมีของมาให้รางวัลนักเรียนที่สอบได้ที่หนึ่ง สอง และสามด้วย”

    เมื่อครูประกาศผลการสอบ ข้าพเจ้าเป็นคนได้รางวัลกระต่ายผูกโบว์ตัวนั้น ที่โบว์ยังมีกระดาษเขียนป้ายเล็กๆ ติดว่า ขอมอบให้เป็นรางวัลในการสอบได้ที่หนึ่งของเด็กหญิงถวิล บุญทรง ลงชื่อครูละออ...  รางวัลถัดไปเป็นสมุดธรรมดาของโรงเรียน

   กระต่ายผูกโบว์เป็นของขวัญการเรียนเก่งชิ้นแรกในชีวิตของข้าพเจ้า นอกจากนั้นได้รับแต่คําชมเชย คราวนี้ได้เป็นสิ่งของด้วยจึงชื่นชมมากเป็นพิเศษ เพื่อนขอดูก็ยังรู้สึกหวงๆ ให้ดูแล้วต้องรีบเก็บ ใจก็นึกจะต้องเก็บถนอมไว้ให้ดีที่สุด เวลาหยุดเทอมปลายปีจะได้นําไปอวดพ่อกับแม่ให้ท่านดีใจด้วย วันนั้นดีใจอยู่ทั้งวันจนกลับบ้าน

    ข้าพเจ้านํารางวัลวางบนโต๊ะเขียนหนังสือ ชี้แจงให้ญาติที่เป็นผู้ปกครองทราบ ท่านก็แสดงความชื่นชมด้วยใจจริง พร้อมกันนั้นท่านก็หันไปดุเด็กผู้ชายอายุ ๑๑ ขวบ เป็นเด็กที่ขอมาเลี้ยงไว้ตั้งแต่เล็กว่า

    “นี่เจ้าเซียม หัดเอาอย่างพี่มั่งซี เรียนจนได้รางวัล ส่วนแกไม่เอาถ่านเลย ดีแต่สอบตก สอบตก!”

   จากนั้นข้าพเจ้าถูกใช้ให้ไปซื้อกับข้าวที่ตลาด ซึ่งอยู่ไม่ห่างจากบ้านมาก กลับมาก็ยังอดมองดูกระต่ายสีบรอนซ์ที่วางไว้ไม่ได้ คราวนี้ต้องหยุดยืนชะงักจังงัง หัวใจเหมือนถูกกระชากให้หยุดเต้น กระต่ายถูกของมีคมขูดขีดเต็มไปด้วยริ้วรอย กระดาษป้ายลายมือของครูถูกขยํายับเยิน ข้าพเจ้าร้องไห้โฮสุดเสียง ความเสียใจทับถมประดังแน่นขึ้นมาในหัวอก เจ้าเซียมตัวต้นเหตุหายหน้าไปไหนเสียแล้ว ญาติผู้ใหญ่ท่านนั้นทราบเรื่อง รีบไปตามจับตัวเจ้าเซียมมาตี แต่ความเสียใจของข้าพเจ้าไม่หายไปเลย กระต่ายเป็นตําหนิผิวถลอก ไม่ทําความเสียใจให้เท่ากับกระดาษแผ่นนิดเดียวที่เป็นลายมือครู ยืนยันผลการสอบ ข้าพเจ้าเศร้าโศกอยู่หลายวัน พร้อมกับคิดในใจว่า

     “ถ้าต้องเสียใจอย่างนี้ สู้ให้ครูชมเราด้วยปากดีกว่า ไม่ต้องให้เป็นของก็ได้ พอให้เป็นของ เราก็ต้องรักของ เมื่อของมีอันเป็นไป หัวใจเราต้องเจ็บปวดบอบช้ำแสนสาหัส”

    เพราะเคยรู้สึกถึงความเสียใจอย่างหนัก เมื่อมีผู้มาทําผิดในของรักดังที่เล่าแล้วนี้ เวลาพบคําสอนของพระเถระบางรูปท่านสอนว่า

     “ศีลข้อ ๓ ไม่หมายเอาเรื่องชู้สาวทางเพศอย่างเดียว ต้องรวมเอาวัตถุกามทั้ง ๕ เข้าไปด้วย ถ้าถืออย่างนี้ ศีล ๕ ก็จะได้เป็นของทุกเพศทุกวัย เด็กคนไหนทําผิดในของรักของคนอื่น ก็ต้องถือว่าเด็กคนนั้นทำผิดศีลข้อ ๓”

     ข้าพเจ้าฟังคําสอนแล้วเข้าใจซาบซึ้งทันที เด็กทําผิดได้จริงๆ ความรักในข้าวของไม่ว่าจะเป็นของผู้ใหญ่หรือของเด็ก ความรักนั้นไม่แตกต่างกัน ที่จะแตกต่างกันอยู่ตรงสิ่งของ สําหรับผู้ใหญ่ ของรักมากๆ มักจะเป็นคู่ครอง ส่วนเด็กอาจเป็นแค่ของเล็กๆ สักชิ้น เช่น ตุ๊กตา ผ้าเช็ดหน้า สมุด หนังสือ กล่องดินสอ ตัวดินสอ อะไรก็ได้ เมื่อมีใครมาทําผิดในของรัก ความรู้สึกเจ็บช้ำน้ำใจที่เกิดขึ้นไม่แตกต่างไปจากผู้ใหญ่แต่ประการใด

     ของรางวัลที่ข้าพเจ้าหลงชื่นชม ถ้าพูดเป็นภาษาทางธรรม เรียกว่า หลงรูป คําสรรเสริญเยินยอก็ดี เสียงตบมือให้เกียรติก็ดีที่ทำให้รู้สึกชอบใจ เรียกว่าหลงเสียง ไม่ว่าจะเป็นรูปหรือเสียงที่น่ายินดีพอใจเหล่านี้ล้วนแต่เป็นของไม่ยั่งยืน สามารถแปรเปลี่ยนไปเป็นอย่างอื่นอยู่ตลอดเวลา หลักความจริงของสิ่งเหล่านี้คือการเปลี่ยนแปลง แต่เนื่องจากข้าพเจ้าขาดกัลยาณมิตรชี้แนะให้ทราบสัจธรรมดังกล่าว จึงยึดถือผูกพันได้มาแล้วก็ต้องการให้อยู่คงที่ไม่แปรผัน ครั้นเป็นไปตามที่ตนปรารถนาไม่ได้ก็เฝ้าเสียใจเป็นทุกข์

   เพราะไม่รู้ตามหลักความจริงที่ว่า ไม่ว่าสิ่งใดก็ตามที่เกี่ยวข้องอยู่กับตัวเรา จะเป็นด้านทางกายก็ดี ทางใจก็ดี ล้วนแต่ไม่คงที่แน่นอน ต้องเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นอยู่ร่ำไป การเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นหา ได้ยาก มักจะเปลี่ยนไปในทางเสื่อม ทางเลวลง ทําให้เป็นทุกข์ อันเป็นสภาพที่ทนได้ยาก ทั้งสิ่งเหล่านี้ก็ไม่อยู่ในบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น ข้าพเจ้าจึงได้หลงใหลมัวเมาอยู่ในเหตุการณ์ดังนี้ซ้ำแล้วซ้ำอีก ความทุกข์ก็เกิดซ้ำแล้วซ้ำอีกเป็นเงาตามตัว ไม่จบสิ้น

  เช่นตัวอย่าง ตอนเรียนจบประโยคมัธยมศึกษาจากโรงเรียนสตรีประจําจังหวัดโรงเรียนเดิม ข้าพเจ้าสอบได้คะแนนดีเยี่ยมเป็นที่หนึ่งของจังหวัด ในครั้งกระโน้นถือว่าเป็นที่หนึ่งอย่างแท้จริง เพราะทุกโรงเรียนต้องสอบในสนามสอบรวมกัน ใช้ข้อสอบเดียวกัน มีกรรมการตรวจข้อสอบ แล้วนำคะแนนของนักเรียนทุกอำเภอในจังหวัดมาเปรียบเทียบ ตอนเย็นใกล้ค่ำวันรวมคะแนนสอบเสร็จ ครูประจำชั้นแวะมาบอกข้าพเจ้าว่า

    “ครูดีใจด้วยนะ เมื่อกี้อาจารย์ใหญ่บอกครูว่า เธอสอบได้เป็นที่หนึ่งของจังหวัดจ้ะ”

      คืนนั้นข้าพเจ้านอนไม่หลับ พลิกตัวไปมา คิดแต่ว่า

   “พรุ่งนี้เช้าเป็นวันประกาศผล นักเรียนทุกโรงเรียนมาฟังผลสอบ ชื่อของเราคงจะเด่นกว่าใครๆ ทั้งเพื่อนๆ และครูคงจะมาแสดงความดีใจ นักเรียนโรงเรียนอื่นก็คงอยากรู้จักตัว

   ที่คิดดังนี้ เพราะเคยมีประสบการณ์ตอนที่สอบได้เป็นที่หนึ่งของโรงเรียน พอครูประกาศผลการสอบหน้าแถวตอนเช้า ต่อจากเวลานั้นข้าพเจ้าจะเดินไปที่ไหนในโรงเรียน นักเรียนรุ่นน้องมักจะล้อมหน้าล้อมหลังแสดงความรักใคร่เป็นพิเศษ

  พอรุ่งเช้ามาถึงจริง ข้าพเจ้าเดินทางไปยังสถานที่ประกาศผล ได้ยินนักเรียนชายในโรงเรียนอื่นซึ่งมาฟังประกาศผลด้วยเหมือนกันเดินคุยกัน โดยที่พวกเขาไม่รู้จักข้าพเจ้า เสียงคุยของพวกเขา ทําให้ข้าพเจ้า ถึงกับตัวชา ทั้งโกรธทั้งอาย

   “เฮ้ย คนสอบได้ที่หนึ่งของจังหวัดเป็นนักเรียนโรงเรียนสตรีโว้ย”

   “มันชื่ออะไรวะ กูรู้จักนักเรียนหญิงเยอะ บางทีกูอาจรู้จัก บอกหน่อยชื่อไร”

    “มันชื่อ อีหวิน อีนี่มันร้ายจริงๆ เรียนเก่งชิบ....เลย ที่โรงเรียนสตรีน่ะ มันได้ที่หนึ่งของมันประจําเลยว่ะ คราวนี้มันเฟื่องมากเอาที่หนึ่งจังหวัดเลย อี...บ้า...นี่...

   “คําว่า “อี” ที่เด็กผู้ชายเหล่านั้นเอามาใส่นําหน้าชื่อข้าพเจ้า ตลอดจนคําด่าคําสุดท้าย ข้าพเจ้ารู้สึกเจ็บปวดในหัวใจยิ่งนัก เราไม่เคยทำอะไรให้คนพวกนี้เดือดร้อน ทําไมเขาจึงพูดจาด้วยความโกรธแค้นชิงชัง มากมายขนาดนี้”

    ข้าพเจ้าจําได้แม่นยํา นักเรียนชายคนหนึ่งเป็นช่างภาพประจำโรงเรียนของเขา เคยมาถ่ายรูปให้ข้าพเจ้ากับเพื่อนๆ เมื่อวันสอบเสร็จ พวกเรายังชื่นชมในความสามารถในการถ่ายภาพของเขา แต่วันนี้ข้าพเจ้า ได้ยินเขาด่าข้าพเจ้าเต็มหู ความชื่นชมก็มลายสูญสิ้น

    อํานาจของความริษยาพาคนให้กล่าวผรุสวาทได้แม้แต่คนที่ไม่รู้จักกัน ความภูมิใจในการเรียนเก่งพลอยหายไปด้วยเกือบหมด

   “เออ... เพื่อนๆ เรา เขาสอบไม่ได้ที่หนึ่งเขาไม่ต้องถูกด่า” ข้าพเจ้าคิดไม่อยากได้ที่หนึ่งไปชั่วครู่

   แต่พอถึงงานรับประกาศนียบัตร เป็นงานใหญ่ ข้าพเจ้าก็อยากเรียนเก่งต่อไปอีก งานนั้นจัดรวมกันสองโรงเรียนในอําเภอเมืองคือโรงเรียนชายและโรงเรียนหญิง มีการเชิญผู้ปกครองของนักเรียนมานั่งเป็นเกียรติเต็มสนามหญ้า มีการแสดงละครและการละเล่นหลายอย่างร่วมกัน

   ก่อนการแสดง มีการประกาศผลการสอบ นับเป็นเรื่องแปลกประหลาด อาจารย์ของโรงเรียนฝ่ายชาย เชิญนักเรียนที่สอบได้เป็นที่หนึ่งในโรงเรียนของเขา ให้ขึ้นไปบนเวที ให้ผู้ปกครองทั้งหมดตบมือให้เกียรติ ส่วนข้าพเจ้าซึ่งเป็นที่หนึ่งของจังหวัดด้วยซ้ำไม่ได้รับการประกาศชื่อ

   ขณะที่รู้สึกเสียใจ ใจคอแห้งเหี่ยว “โธ่เอ๋ย อุตส่าห์ตัดเสื้อผ้า เครื่องแบบชุดใหม่เอี่ยม หวังขึ้นไปแสดงตัวบนเวที อุตส่าห์ผูกโบว์ที่ผม หวังให้ดูสวยงาม กลับไม่ถูกเรียกตัวเลย”

   แต่แล้วข้าพเจ้าได้เห็นท่านศึกษาธิการจังหวัดลุกขึ้น ข้าพเจ้ารู้จักท่านเพราะหลังจากประกาศผลการสอบแล้ว ท่านให้อาจารย์ใหญ่พาข้าพเจ้าไปพบ เพื่อขอให้ข้าพเจ้ารับทุนเล่าเรียนของจังหวัดไปเรียนต่อในกรุงเทพฯ ท่านยืนแล้วก็เดินตรงไปยังอาจารย์ผู้ประกาศคนนั้นทันที ยืนพูดอะไรกันอยู่ครู่หนึ่งเห็นอาจารย์ท่านนั้นโค้งตัวแล้วโค้งตัวอีกเหมือนทำอาการขอโทษ ได้ทราบภายหลังว่าถูกท่านศึกษาธิการจังหวัดต่อว่าที่ไม่ประกาศชื่อข้าพเจ้า ต่อจากนั้นท่านศึกษาฯ ได้เดินอย่างองอาจขึ้นไปบนเวที ประกาศชื่อข้าพเจ้าด้วยเสียงดังชัดเจน ผู้คนทั้งหมดที่มาในงานตบมือกันเกรียวกราวกึกก้อง ขณะเดียวกันข้าพเจ้าถูกเรียกตัวให้ขึ้นไปยืนบนเวทีด้วย การตบมือได้ดังขึ้นอีกครั้งเป็นเวลายาวนานกว่าเดิม

      ข้าพเจ้าทอดสายตาจากบนเวทีมองไปที่พ่อกับแม่ ซึ่งเดินทางจากหมู่บ้านของเรามาร่วมในงานด้วย เห็นแม่ยกมือขึ้นเช็ดน้ำตา ท่านคงดีใจมาก เสียงตบมือให้เกียรติที่ได้รับไม่ทําให้ข้าพเจ้าดีใจเท่าไรนัก เพราะความรู้สึกเสียใจที่ไม่ได้รับการประกาศชื่อเป็นครั้งแรกยังขวางความรู้สึกอยู่เป็นอันมาก

    “นึกว่าจะมีแต่นักเรียนชายโรงเรียนโน้นไม่พอใจหรอกรึเนี่ย ครู อาจารย์ในโรงเรียนของเค้าก็ไม่พอใจด้วย แกล้งไม่ประกาศชื่อเราซะยังงั้นล่ะ ขี้อิจฉาทั้งครูทั้งนักเรียนเลย”

     ความดีใจของข้าพเจ้าอยู่ตรงภาพที่เห็นพ่อแม่มีความสุขเบิกบานใจนั่นต่างหาก และเพื่อให้เกียรติท่านยิ่งขึ้น เมื่อลงจากเวทีแล้วข้าพเจ้าเข้าไปกราบท่านทั้งสองคน ท่านภูมิใจมากยิ่งขึ้นไปอีกเพราะผู้ปกครองทั้งหมด มองท่านเป็นตาเดียวกัน ต่างพากันรู้ดีว่าเป็นพ่อแม่ข้าพเจ้า เพราะนอกจากคําพูดที่เราสามคนเรียกกันแล้ว หน้าตาของข้าพเจ้าเหมือนพ่อชนิดใครเห็นก็เดาถูก

    วามชอบใน “รูป” คือภาพความดีใจของพ่อแม่มีทั้งคุณและโทษต่อตัวข้าพเจ้า เป็นคุณก็ตรงที่ข้าพเจ้ากลายเป็นคนเอาใจใส่ในการเรียนเรื่อยมาจนจบการศึกษา เพื่อเอาผลการเรียนบ้าง รางวัลต่างๆ ที่ได้รับบ้างกลับไปให้พ่อแม่ดีใจ ซึ่งก็ทําได้อยู่เสมอ แม้แต่แข่งกันทั้งมหาวิทยาลัยก็เคยชนะเลิศ ได้รางวัลเป็นเงินก้อนใหญ่ไปให้แม่

    สําหรับเรื่องเป็นโทษก็ตรงที่ข้าพเจ้าหลีกเลี่ยงกิจกรรมหลายๆ อย่างของมหาวิทยาลัย ที่ตนเองมีความสามารถ เช่น เรื่องกีฬา เรื่องการพูด การแสดง การปกครอง ฯลฯ ข้าพเจ้าจะทําให้เท่าที่จําเป็นหลีกเลี่ยง ไม่ได้เท่านั้น เพราะห่วงเรื่องการเรียน และโดยข้อเท็จจริงก็เป็นตามนั้น เพื่อน ๗-๘ คนของข้าพเจ้าหมกมุ่นงานด้านกิจกรรมถึงกับสอบตก ๒ คน ในจํานวนนั้นถึงกับกินยาฆ่าตัวตายเพราะถูกไล่ออก ระเบียบการเรียนในสมัยโน้นเคร่งครัดมากไม่ใช่เรียนเป็นหน่วยกิตเหมือนระบบปัจจุบัน ทั้งวิชาเลือกก็แทบไม่มีเลย ชอบไม่ชอบก็ต้องจําใจเรียนไปทุกวิชา

    การ “อยากได้” สิ่งที่ตนพอใจ แล้วพยายามแสวงหาได้ ไม่สมความอยากดังที่ตัวเองต้องการเสมอไป ความพลาดหวังจะเกิดปะปนด้วยเสมอ เมื่อไม่รู้หลักสัจธรรมที่ว่า ของทุกอย่างไม่เที่ยง เป็นทุกข์เป็นอนัตตาแล้วเราก็จะยึดมั่นถือมั่นในสิ่งต่างๆ อยู่เป็นนิตย์ พอไม่ได้อย่างที่ “ยึด” ความทุกข์ก็เกิดขึ้นทุกครั้ง ยิ่งยึดถือมากแค่ไหน ความทุกข์ก็เกิดขึ้นเป็นเงาตามตัว

     การศึกษาเล่าเรียนในระดับอุดมศึกษา ไม่เหมือนเรียนในชั้นเล็กๆ เพราะความรู้ครอบคลุมกว้างขวางกว่ากันมาก ไม่ใช่เฉพาะแต่ในตําราเรียนอย่างเดียว ครูบาอาจารย์บางท่านออกข้อสอบที่ไม่มีสอนในตําราด้วยซ้ำไป นักศึกษาจึงคาดคะเนผลการสอบได้ยากมาก มีการผิดหวังเกิดขึ้นบ่อย นอกจากนั้นยังมักมีเรื่องอื่นๆ ของชีวิตมาคอยดึงความสนใจให้เบี่ยงเบนไปเสมอ ที่ต้องพบกันแทบทุกคนคือเรื่องเพื่อนต่างเพศ ใครที่หักห้ามใจไม่อยู่ เป็นอันต้องเสียผู้เสียคน เสียอนาคต กระทั่งเสียชีวิตก็ยังมี เพราะเอาจริงเอาจังหลงใหลมัวเมาในเรื่องของกามคุณ ๕ เหล่านั้นเกินไป

    ที่เล่าให้ฟังเป็นเพียงข้าพเจ้าหลงในเสียงยกย่อง หลงในท่าทาง แสดงความดีใจของพ่อแม่ ยังให้ทุกข์เกิดขึ้นแก่ตนเองมากมายหลายประการ นี่ถ้าหากหลงสิ่งอื่นๆ ด้วย จะต้องพบกับความเดือดร้อนไม่สิ้นสุดขนาดไหน

   ดังที่คุยกับท่านผู้อ่านไว้ในตอนต้นแล้ว รูปหรือเสียงก็ตามเขาก็เป็นของเขาอยู่อย่างนั้น ไม่ได้ให้โทษให้คุณสิ่งใด แต่ที่เป็นเหตุให้ทุกข์เกิด เพราะความหลงใหลยึดถืออย่างขาดปัญญาของคนที่เข้าไปเกี่ยวข้อง ถ้ารู้จัก “คิดให้เป็น” คนคิดนั่นแหละจะได้ประโยชน์จากรูปและเสียงมหาศาล

   เหมือนพระโมคคัลลาน์ และพระสารีบุตรเถรเจ้า ก่อนบรรพชาเป็นพระภิกษุ สมัยท่านเป็นหนุ่มก็ได้ความสังเวชใจจากการดูมหรสพ จึงชวนกันออกบวช

     หรือพระภิกษุรูปหนึ่งในสมัยพุทธกาล ได้ยินเสียงร้องเพลงขับของนางทาสีตักน้ำที่ท่าน้ำแห่งหนึ่งร้องรําพันถึงความทุกข์ใจ เสียดายของที่รักอย่างหนึ่ง พระภิกษุฟังเนื้อเพลงนั้นแล้วได้ธรรมสังเวช เห็นไตรลักษณ์ สิ่งทั้งปวงเกิดขึ้น แปรปรวนไป แล้วท้ายที่สุดก็ดับสลาย ได้วิปัสสนาญาณเป็นพระอรหันต์

    เรื่องชอบใจในรูปเสียงที่ดี ไม่ชอบใจในรูปเสียงที่ไม่ดี หรือไม่ต้องการเหล่านี้ เป็นต้นเหตุนําความทุกข์มาให้ คนส่วนใหญ่ไม่รู้ความจริงข้อนี้ จึงต้องกลุ้มใจเป็นทุกข์ต่างๆ อยู่เสมอ จริงอยู่ ตราบใดที่เรายังไม่ใช่พระอริยบุคคล เราย่อมไม่สามารถตัดความรู้สึกที่ว่านี้ออกจากใจได้เด็ดขาด แต่เราสามารถหาวิธีทําให้ความทุกข์ลดลงได้เรื่อยๆ ไป นี่ข้าพเจ้าพูดจากประสบการณ์ของตนเอง เมื่ออ่านพบข้อความสัจธรรมที่กล่าวถึงอยู่ในหนังสือเล่มหนึ่ง ได้นําข้อความนี้เตือนใจตนเองทุกครั้งที่ต้องพบรูป เสียงที่พอใจ ไม่พอใจ ก็จะพยายามหยุดคิดปรารถนาต่อ “ว่าจะเอาหรือไม่เอา” ตั้งสติให้ทันต่อเหตุการณ์แล้วสอนตนเองว่า “ไม่ควรยึดมั่นถือมั่นในสิ่งเหล่านั้น”

    ใจเมื่อถูกฝึกบ่อยเข้ามากเข้า จะเป็นความเคยชินโดยอัตโนมัติ พอนึก “อยาก หรือ ไม่อยาก” อะไรก็ตาม ชั่วครู่พอนึกได้ก็จะถอนใจจากความรู้สึกนั้นทันที ยิ่งหัดไว้ให้บ่อยเท่าไร ก็ยิ่งคิดทันได้เร็วเท่านั้น ความทุกข์ก็จะเกิดไม่ทัน หรือไม่เกิดไปเสียเลย


 

 

 

 

 

 

 

 

 

Cr. อุบาสิกาถวิล(บุญทรง) วัติรางกูล

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.03378084897995 Mins