ประทับอยู่ในความทรงจำ โดย กัลฯ นงชนก ปัญญาจงเจริญ

วันที่ 23 มิย. พ.ศ.2560

ประทับอยู่ในความทรงจำ

โดย กัลฯ นงชนก ปัญญาจงเจริญ

 

 

"ยายหาเงินมาให้

พวกคุณใช้กันอย่างสบายไม่ต้องเหนื่อยยาก

แต่ใช้แล้วอย่าให้เป็นขี้ข้าบุญ

คือใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อพระศาสนา

เจ้าของทรัพย์เขาก็ได้บุญ

เราก็ไม่เป็นหนี้พระศาสนา"

 

กัลฯ นงชนก ปัญญาจงเจริญ

อายุ ๔๗  ปี

เข้าวัด เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๒๐

การศึกษาทางโลก  นิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยศรีปทุม

อาชีพ  นักบริหารทั่วไป ๕ ส่วนการตลาด

ฝ่ายพัฒนาบริการสื่อสารร่วมระบบดิจิตอล

องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย

งานสร้างบารมี ทำหน้าที่กัลยาณมิตร และผู้นำบุญ

 

คุณยายรักความสะอาด

                       ใครก็ตามที่มาศูนย์พุทธจักรปฏิบัติธรรม (วัดพระธรรมกาย) เมื่อมองผ่านศาลาจาตุมหาราชิกาเข้าไปจะเห็นโรงทานก่อน คุณยายสอนว่า

                       "โรงทาน (โรงครัว) ของวัดเป็นด่านหน้า เปรียบเสมือนหน้าบ้านของวัด ถ้าครัวสกปรก คนมาเห็นเข้าก็ไม่เกิดความศรัทธา ยิ่งถ้าเป็นคนมาใหม่ด้วยแล้ว เขาก็จะตำหนิไปถึงเจ้าอาวาสได้ว่าดูแลวัดไม่ดี พวกเราต้องช่วยกันดูแลครัวให้สะอาดอยู่เสมอ ใครไปใครมาเห็นเข้าจึงจะทำให้เขาเกิดศรัทธาอยากมาทำบุญสร้างความดีให้เพิ่มขึ้น พวกเราก็ได้บุญไปด้วย"

                       คุณยายรักความสะอาดมากท่านพูดเสมอว่า "ที่อยู่อาศัยของเรา ถ้ายังปล่อยให้สกปรก เลอะๆ เทอะๆ แล้วธรรมะภายในจะสว่างได้อย่างไร ข้างนอกมันบ่งบอกถึงข้างใน ฉะนั้นถ้าใครอยากให้ธรรมะสว่างไสว ต้องรักษาความสะอาด ความเป็นระเบียบเรียบร้อยตั้งแต่ภายนอกเวลานั่งสมาธิจะเข้าถึงธรรมได้ง่าย"

ใช้ของ อย่าให้เป็นขี้ข้าบุญ

                       สมัยเมื่อมีการสร้างโบสถ์ (เม.ย  - มิ.ย. ๒๕๒๒) พอขึ้นโครงสร้างก็ต้องทำนั่งร้าน เพื่อให้ช่างฉาบปูน หล่อเสาเทคาน ฯลฯ เสร็จแล้วจะรื้อนั่งร้านออกมากองไว้ เพื่อรอสร้างนั่งร้านใหม่ต่อไป บริเวณนั้นจึงมีกองไม้มากมาย

                       คุณยายสอนให้พวกเราที่มาช่วยสร้างโบสถ์ช่วยกันถอนตะปูออกจากไม้นั่งร้านที่รื้อออกมาให้หมด แยกขนาดและประเภทของไม้ออกจากกัน เป็นประเภทไม้สั้น กลาง ยาวและไม้คด แล้วนำมาจัดเรียงให้เป็นระเบียบ โดยให้ช่างปักเสายกพื้นไว้ แล้วพวกเราก็มีหน้าที่จัดเรียงไม้แต่ละประเภท

                       คุณยายบอกว่า "เขตก่อสร้างมีอันตรายจากพวกเศษเสี้ยนไม้บ้าง ตะปูบ้าง ถ้าพวกเราช่วยกันทำตรงนี้ให้ปลอดภัยช่างก็ทำงานได้สะดวก งานก่อสร้างก็ไปได้รวดเร็วไม่มีอุปสรรค

                       ไม้ก็เหมือนกัน ให้พวกเราแยกประเภทเอาไว้เป็น พวกๆเวลาช่างไม้เขาจะหยิบจะฉวยไปใช้งานก็สะดวก ถ้าเราปล่อยสุมเอาไว้ เวลาช่างเขาใช้งานก็หยิบลำบาก แถมถ้าอยากได้ไม้สั้น แต่หยิบออกมาเป็นไม้ยาวก็ต้องตัดออก พออยากได้ไม้ยาวก็ต้องเสียเงินซื้อใหม่ เพราะเอาไปตัดเป็นไม้สั้นเสียหมดแล้วทำให้สิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ ค่าใช้จ่ายส่วนนี้ไม่น้อยเลย

                         พวกเราจะได้ช่วยกันดูแลรักษาสมบัติพระศาสนาอีกชั้นหนึ่ง เจ้าของที่เขาทำบุญสร้างโบสถ์เขาจะได้บุญเต็มที่เพราะเราใช้ทรัพย์ของเขาให้เกิดประโยชน์คุ้มค่าส่วนไม้ที่แตกมาก รวมทั้งเศษไม้ก็เก็บมาให้ธรรมทายาทไว้ทำฟืนหุงข้าวเวลาอบรมภาคฤดูร้อน"

                         นี่คือคุณยายทุกอย่างไม่มีทิ้งให้เสียของเลย แม้แต่ตะปูที่ถอนแล้วก็ยังนำไปชั่งกิโลขายได้อีก งานนี้คุณไพรัช น้ำเต้าหู้สะพานใหม่และคณะก็มาช่วยกันถอนตะปู เรียงไม้ รวมทั้งล้างกระเบื้องหลังคาโบสถ์ก่อนนำขึ้นไปมุงหลังคา ในช่วง

                        ที่มีการก่อสร้างในตอนกลางคืนเป็นประจำ ฉะนั้นในบริเวณก่อสร้างจึงไม่มีใครได้รับอุบัติเหตุเพราะถูกตะปูตำ หรือถูกเหล็กแทงเท้าเลย เพราะในแต่ละคืนพวกเราเก็บกวาด แม้แต่เสี้ยนไม้ก็ไม่ยอมให้หลงเหลือ

                        คุณยายจะย้ำทุกครั้งเรื่องการใช้ของที่เขาทำบุญมาให้เกิดประโยชน์สูง ประหยัดสุดท่านบอกว่า

                        "ยายหาเงินมาให้พวกคุณใช้กันอย่างสบายไม่ต้องเหนื่อยยาก แต่ใช้แล้วอย่าให้เป็นขี้ข้าบุญ คือใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อพระศาสนา เจ้าของทรัพย์เขาก็ได้บุญเราก็ไม่เป็นหนี้พระศาสนา"

ปัญญาเดินหน้า ศรัทธาตามหลัง

                        คุณยายจะพูดอยู่เสมอๆ ว่า "ทำอะไรก็ตามให้ใช้ปัญญาเดินหน้า ศรัทธาตามหลัง" คนเราถ้าใช้ศรัทธาเดินหน้า จะทำได้ไม่นาน เดี๋ยวก็ไปไม่รอด ไม่สามารถสร้างบารมีไปได้ตลอดรอดฝัง ถ้าใครอยากจะสร้างบารมีไปให้ตลอดต้องรู้จักใช้ปัญญา

                        คุณยายยังยกตัวอย่างต่อไปอีกว่า "คนเราทำบุญอะไร ให้นึกเอาบุญอย่างเดียว ถึงจะได้บุญเต็มที่ ถ้าทำบุญแล้วอยากใหญ่ อยากดัง เดี๋ยวก็หลุด เพราะกิเลสมันเข้ามาท่วมใจ"

                         "ยายขอให้พวกเราเอาบุญกันเยอะๆ นะ เอาบุญล้วนๆ อย่าเอาบุญปนกิเลส "

ทำงานเป็นทีม ต้องไม่ทิ้งกัน

                         ศาลาจาตุมหาราชิกาจะมีการทำความสะอาดใหญ่ปีละครั้ง โดยมีพี่บรรเจิดเป็นผู้รับผิดชอบ ผู้เขียนเองหลังจากว่างงานครัวตอนบ่ายวันเสาร์ ก็ได้ไปช่วยทำความสะอาดโดยปีนบันได แล้วไต่ไปตามโครงหลังคา เอาไม้กวาดกวาดฝุ่นจากหลังคาลงมา พอกวาดไปได้พักใหญ่รู้สึกเวียนศีรษะหน้ามืด ความดันมันลดลง มองลงมาหาพี่ๆ ก็ไม่เห็นสงสัย

                         คงไปพักเหนื่อยกัน จึงหลับตากอดโครงหลังคา คิดว่าเดี๋ยวก็คงหาย จะไปด้ทำงานต่อ

                         เพียงครู่เดียว คุณยายก็มาถึงท่านบอกว่า "คุณลงมาเดี๋ยวนี้เลย จะตกอยู่แล้วยังคิดจะกวาดหลังคาอยู่อีก ยายน่ะนั่งไม่ติดเลย ต้องรีบออกมาจัดการกับบรรเจิด ปล่อยให้น้องทำงานอยู่คนเดียวไม่ดูไม่แล" แล้วท่านก็จับบันไดไว้ให้ผู้เขียนไต่ลงมา

                         พอลงมาถึงก็เรียนท่านว่า "หนูไม่เป็นไรหรอกค่ะ ยังทำไหว พวกพี่ๆ เขาเหนื่อยกันมาตั้งแต่เช้าแล้ว คงไปพักเดี๋ยวก็มา"

                         คุณยายไม่ยอมท่านบอกว่า "เวลาทำงานให้ช่วยกันเวลาเลิกก็ให้เลิกพร้อมกัน อย่าปล่อยให้ใครคนใดคนหนึ่งทำคนเดียว มันจะไม่ไหวเอา" นี่คือคุณยายของเรา

                         ครั้งที่ ๒ พี่ขจร (พระขจร กรุณาจาโร มรณภาพปี ๒๕๓๔) สมัยเป็นอุบาสกท่านมีหน้าที่รับผิดชอบทำความสะอาดอาคารดาวดึงส์ทุกเช้าวันเสาร์ และทำความสะอาดใหญ่ทุกวันเสาร์ต้นเดือนสมาชิกที่มาช่วยรับบุญทำความสะอาด ก็คือญาติโยมที่มาเลี้ยงข้าวต้มพระนั่นเอง

                         พี่ขจรจะใช้ความสามารถพิเศษในการเล่าธรรมะผูกใจสมาชิกให้มาช่วยงานได้ทุกวันเสาร์ พอดีปีนั้นพี่ขจรลาอุปสมบทเพื่อทดแทนพระคุณมารดา ไปจำพรรษาที่วัดลูกแก จ.กาญจนบุรี จึงได้ฝากให้พี่ๆ น้องๆ ช่วยดูแลทำความสะอาดแทน

                         เกิดเรื่องขึ้นอีกจนได้ วันเสาร์ต้นเดือนต้องทำความสะอาดใหญ่ บังเอิญสมาชิกคนอื่นติดธุระจำเป็นกันหมด มาเลี้ยงข้าวต้มพระเสร็จก็พากันกลับ เหลือผู้เขียนอยู่คนเดียวรับปากพี่ขจรไว้แล้ว ไม่ทำไม่ได้ คิดอย่างนี้แล้วจึงจัดแจงขนโต๊ะหมู่บูชาออกมา ถอดมุ้งลวดออกมาเตรียมขัด ขนพรม ขนรูปหลวงพ่อวัดปากน้ำ พยายามเร่งมือเต็มที่ เพราะยังต้องกวาดหลังคา ถูพื้น ขัดห้องน้ำพระอีก รู้สึกสนุกสนานมากที่ได้รับบุญนี้

                         พอทำไปได้พักเดียว คุณยายมาอีกแล้วท่านเข้ามาถามว่า "คุณทำอะไรน่ะ" ก็เรียนท่านว่า "ทำความสะอาดประจำสัปดาห์ค่ะ"

                         คุณยายถามอีกว่ามีคนทำกี่คน จึงเรียนท่านว่า "พี่ๆ เขาติดธุระกันหมด หนูทำคนเดียวได้ค่ะ"

                         เท่านั้นเอง คุณยายเรียกอุบาสกมาทั้งหมดวัดเลย พี่ๆ ที่เตรียมตัวออกข้างนอก แต่ยังไม่ทันได้ไป คุณยายสั่งว่า

                         "ถ้างานไม่เสร็จ ยังไม่ต้องออกไป ยายนั่งเข้าที่อยู่เห็นเข้า ทนไม่ได้ต้องลุกออกมา ปล่อยให้ทำอยู่คนเดียว ได้ยังไง "

                         หลายปีผ่านไป จึงคิดออกว่า คุณยายท่านสอนให้ ลูกศิษย์ทำงานเป็นทีม แม้กระทั่งงานครัว ถึงจะแบ่งหน้าที่

                         กันทำ ใครก็ตามที่ทำงานประจำของตัวเสร็จแล้ว ก็จะต้องมาช่วยพี่ๆ น้องๆ ที่ยังทำงานไม่เสร็จ ยิ่งท่านกำหนดเวลากลับบ้านไว้ว่า ถึงเวลา ๕ โมงเย็น ให้ทุกคนโดยเฉพาะผู้หญิงออกจากวัดให้หมด ไม่ให้เหลือเลย

                         ฉะนั้น พอใกล้เวลาทุกคนจะต้องช่วยกันทำงานให้เสร็จเรียบร้อย จะไม่ยอมปล่อยให้เพื่อนเหลือตกค้าง เกินเวลาเลย พวกเราเคารพคำสั่งคุณยายมาก เว้นแต่เวลาที่มีการก่อสร้างต่อตอนกลางคืน ซึ่งหลวงพี่ท่านจะเรียนให้คุณยายทราบ พวกที่อยู่บางคนที่เป็นผู้หญิงจะต้องมีรถกลับทุกคนคุณยายเป็นห่วง เพราะสมัยนั้นเปลี่ยวมาก รถประจำทางก็หมดตั้งแต่ ๖ โมงเย็น ขนาดออกตรงเวลา บางครั้งยังต้องโบกรถสิบล้อออกมาลงที่ปากทางบางขันธ์บ่อยๆ เพราะรถเมล์หยุดวิ่งรับผู้โดยสารเอาดื้อๆ ปล่อยให้ยืนคอยกันจนมืดค่ำโชคดีที่พวกเรากลับพร้อมกันเป็นกลุ่มใหญ่ มีทั้งหญิงและชายจึงไม่มีใครกล้าทำอะไรทำให้รู้ว่าคุณยายรักและเป็นห่วงพวกเรามาก

 

                         นี่เป็นเพียงเศษเสี้ยวเล็กๆ น้อยๆ ที่ประทับอยู่ในความทรงจำของผู้เขียน

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0010637323061625 Mins