วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา
วันสำคัญของพระสงฆ์ ได้แก่ วันพระ วันวิสาขบูชา วันมาฆบูชา วันอาสาฬหบูชา วันเข้าพรรษา วันออกพรรษา วันทอดกฐิน เป็นต้น วันสำคัญเหล่านี้มีคำอธิบายพอสังเขปดังนี้
1. วันพระ
วันพระ โดยทั่วไปหมายถึง วันประชุมถือศีลฟังธรรมในพระพุทธศาสนา ในหนึ่งเดือนจะมีวันพระ 4 ครั้งคือ วันขึ้น 8 ค่ำ วันขึ้น 15 ค่ำ วันแรม 8 ค่ำ และวันแรม 15 ค่ำ ถ้าเดือนขาดก็เป็นแรม 14 ค่ำ
กิจสำคัญของพระสงฆ์นั้นจะมีในวันพระใหญ่คือ วันขึ้น 15 ค่ำ และวันแรม 15 ค่ำ หรือวันแรม 14 ค่ำ เพราะจะเป็นวันที่พระสงฆ์จะประชุมทบทวนศีล 227สิกขาบท หรือที่เรียกว่าการประชุมฟังสวดพระปาฏิโมกข์ ซึ่งจะมีตัวแทนของพระสงฆ์สวดศีลทั้ง 227สิกขาบทให้พระภิกษุที่เหลือฟังพร้อมกัน เพื่อเป็นการตอกย้ำความจำ และพิจารณาว่าตนเองทำผิดศีลข้อไหนบ้าง จะได้แก้ไขและสำรวมระวังต่อไป
ก่อนวันพระใหญ่หนึ่งวัน จะเรียกว่า "วันโกน" ซึ่งเป็นวันที่พระภิกษุปลงผม เพื่อเตรียมตัวเข้าพิธีฟังสวดพระปาฏิโมกข์ในวันรุ่งขึ้น
ปกติทุกวันพระ พุทธศาสนิกชนจะนิยมมาทำบุญที่วัดและฟังธรรม ที่มาของชื่อว่า "วันพระ" นั้นสันนิษฐานว่าเป็นวันในพระพุทธศาสนาเป็นวันหยุดทำงานของชาวพุทธเพื่อไปประกอบศาสนกิจในฐานะที่เป็นพุทธศาสนิกชน
2. วันวิสาขบูชา
วันวิสาขบูชา หมายถึง การบูชาในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ คือวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 (ถ้าเป็นปีที่มีอธิกมา 1 ก็เลื่อนออกไปเป็นวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 7) ในวันนี้ได้มีเหตุการณ์ที่สำคัญเกี่ยวกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า 3 ประการ คือ
1) เป็นวันประสูติ
2) เป็นวันตรัสรู้
3) เป็นวันปรินิพพาน
วันวิสาขบูชาจึงเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เมื่อถึงวันเช่นนี้พุทธศาสนิกชนถ้วนหน้าทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิตผู้มีจิตศรัทธาเลื่อมใสจะพร้อมใจกันน้อมรำลึกถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ประกอบพิธีบูชาด้วยอามิสบูชาและปฏิบัติบูชาด้วยความเคารพเป็นอย่างยิ่ง
3. วันมาฆบูชา
มาฆบูชา หมายถึง การบูชาในวันเพ็ญกลางเดือนมาฆะ ซึ่งเป็นวันสำคัญวันหนึ่งในพระพุทธศาสนาเรียกว่า "วันมาฆบูชา" คำว่า "วันเพ็ญ" แปลว่า วันที่พระจันทร์เต็มดวงส่วนคำว่า "มาฆะ" แปลว่า เดือน 3 วันมาฆบูชา เป็นวันระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในสมัยพุทธกาล 4 อย่างคือ
1) พระอรหันต์สาวก 1,250 รูปมาประชุมพร้อมกัน ณ วัดเวฬุวัน
2) ท่านเหล่านั้นล้วนเป็นเอหิภิกขุอุปสัมปทา คือ ได้รับการอุปสมบทจากพระพุทธองค์
3) ท่านเหล่านั้นมาประชุมพร้อมกันโดยไม่ได้นัดหมาย
4) วันที่ประชุมเป็นวันเพ็ญกลางเดือนมาฆะ หรือ เดือน 3
ด้วยเหตุนี้เอง วันมาฆบูชา จึงเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า "วันจาตุรงคสันนิบาต" แปลว่าวันเป็นที่ประชุมพร้อมกันแห่งองค์ 4
ในวันมาฆบูชานั้นปัจจุบันพุทธศาสนิกชนจะไปทำบุญต่าง ๆ ที่วัด ได้แก่ การจุดโคมประทีปเป็นพุทธบูชา และเพื่อตรึกระลึกถึงพระสงฆ์ผู้มาประชุมพร้อมกันดังกล่าว
4. วันอาสาฬหบูชา
คำว่า "อาสาฬหบูชา" อ่านว่า อาสานหะบูชา หรือ อาสานละหะบูชา แปลว่า การบูชาในวันเพ็ญกลางเดือนอาสาฬหะ หรือเดือน 8 ซึ่งเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาอีกวันหนึ่งเรียกว่า วันอาสาฬหบูชา ในวันนี้มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นเมื่อครั้งพุทธกาล 3 อย่างคือ
1) เป็นวันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมครั้งแรก ชื่อว่า "ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร"
2) เป็นวันที่พระสงฆ์อันเป็นพระรัตนตรัยภายนอกเกิดขึ้นครั้งแรกในโลกคือพระอัญญาโกณฑัญญะ เมื่อท่านฟังธัมมจักกัปปวัตตนสูตรแล้วก็ได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน และขอบวชในพระพุทธศาสนา
3) หลังจากท่านอัญญาโกณฑัญญะบวชแล้ว จึงทำให้วันนี้เป็นวันที่พระรัตนตรัยภายนอกครบบริบูรณ์เป็นครั้งแรกคือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
5. วันเข้าพรรษา
คำว่า "พรรษา" แปลว่า ฤดูฝน เข้าพรรษา หมายถึง การอยู่ประจำที่ตลอด 3 เดือน ในฤดูฝนของพระสงฆ์ซึ่งเป็นธรรมเนียมทางพระวินัย พระภิกษุจะไม่เข้าพรรษาไม่ได้ ท่านปรับเป็นอาบัติ และการเข้าพรรษาต้องกล่าวคำอธิษฐาน เรียกว่า "อธิษฐานพรรษา"
ระยะเวลาเข้าพรรษามี 2 ครั้ง คือ เข้าวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ออกวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 เรียกว่าปุริมพรรษา หรือพรรษาต้น หากเข้าระยะนี้ไม่ทันก็ให้เข้าในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 9 และไปออกในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 เรียกว่า เข้าปัจฉิมพรรษา หรือพรรษาหลัง พระสงฆ์ส่วนใหญ่นิยมเข้าปุริมพรรษา
วันเข้าพรรษาจึงมี 2 วัน คือ วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 อันเป็นปุริมพรรษา และวันแรม 1 ค่ำ เดือน 9 อันเป็นปัจฉิมพรรษา
6. วันออกพรรษา
ออกพรรษา หมายถึง การพ้นกำหนดระยะเวลาการเข้าพรรษา คือ ครบ 3 เดือนแล้ว
ออกพรรษาไม่ต้องกล่าวคำอธิษฐานเหมือนเข้าพรรษา เมื่อครบกำหนด 3 เดือนแล้วก็เป็นวันออกพรรษา
ออกพรรษามีระยะกาลออก 2 ครั้ง เหมือนเข้าพรรษา คือ ถ้าเข้าปุริมพรรษา วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ออกพรรษาก็เป็นวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ถ้าเข้าปัจฉิมพรรษา ออกพรรษาก็เป็นวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ซึ่งตรงกับวันลอยกระทง
ในวันออกพรรษา พระวินัยกำหนดให้พระสงฆ์ผู้อยู่จำพรรษาทำปวารณาก่อนที่จะแยกย้ายกันไป อันเป็นพิธีเกี่ยวกับการยอมให้ว่ากล่าวตักเตือนซึ่งกันและกัน วันออกพรรษาจึงเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "วันปวารณา"
7. วันทอดกฐิน
กฐิน เป็นภาษาพระวินัย เป็นชื่อเรียกผ้าพิเศษที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้ภิกษุผู้อยู่จำพรรษาครบ 3 เดือนแล้วรับมานุ่งห่มได้
กฐิน แปลตามศัพท์ว่า ไม้สะดึง คือ กรอบไม้หรือไม้แบบสำหรับขึงผ้าที่จะเย็บเป็นจีวรผ้าที่เย็บสำเร็จจากกฐินหรือไม้สะดึงแบบนี้เรียกว่า "ผ้ากฐิน" การเย็บจีวรด้วยไม้สะดึงนี้เป็นธรรมเนียมของพระสงฆ์ในสมัยพุทธกาล ซึ่งภิกษุหลายรูปจะต้องช่วยกันเย็บจีวรของกันและกัน
ทอดกฐิน คือ การทำพิธีถวายผ้ากฐินแก่สงฆ์ผู้จำพรรษาครบ 3 เดือน ณ วัดใดวัดหนึ่ง
กฐินมีกำหนดระยะเวลาถวาย จะถวายตลอดไปเหมือนผ้าชนิดอื่นไม่ได้ ระยะเวลานั้นมีเพียง 1 เดือน คือ ตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ไปจนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ระยะเวลานี้เรียกว่า "กฐินกาล" คือ ระยะเวลาทอดกฐินหรือเทศกาลทอดกฐิน
ส่วนวัดใดจะกำหนดให้มีพิธีทอดกฐินวันใดก็ได้ แต่ต้องอยู่ภายในระยะเวลาดังกล่าว
วันสำคัญของพระสงฆ์ที่กล่าวมานี้อ้างอิงข้อมูลจากหนังสือ "คำวัด พจนานุกรมเพื่อการศึกษาพุทธศาสน์" เรียบเรียงโดยพระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช)
*----------------------------------------------------------------------------------------------------------*
หนังสือ PD 004 คู่มือพุทธมามกะ
หนังสือเรียน หลักสูตร Pre-Degree