คุณหญิงท้องนา ๓
คุณพ่อถึงแม้จะเป็นหนุ่มบ้านนอก แต่ก็เป็นเศรษฐี เป็นที่นับหน้าถือตาของชาวบ้านมาก ท่านเป็นคนมีธรรมะ เคยบวชเรียนถึงเปรียญธรรม ๖ ประโยค และท่านเรียนวิชาหมอยามาด้วย จึงสามารถรักษาโรคได้ เวลาใครป่วยก็มาหาคุณพ่อ ให้คุณพ่อฉีดยาให้ ใครไม่มีเงินคุณพ่อก็รักษาให้ฟรี ดังนั้นตั้งแต่ลูกเกิดมา ลูกจึงมีแต่ความสุขและกลายเป็นสาวมั่น เก่งกล้า ไม่กลัวใครเลยมาตั้งแต่เล็กๆ เพราะคิดว่าเรามีแม่เป็นถึงคุณหญิง มีพ่อเป็นถึงคุณหมอ เวลาไปไหนมาไหนก็บอกว่าเป็นลูกของคุณหมอ ก็จะไม่มีจิ๊กโก๋คนไหนกล้ามาแหยม เวลาคุณพ่อไปนาก็จะเอาลูกขี่คอไปด้วย ชีวิตช่วงนั้นของลูกมีความสุขมาก
จนกระทั่งวันหนึ่ง วันเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่สุดในชีวิตของลูกก็มาถึง คือ พระองค์เจ้าฯ ที่เป็นท่านพ่อของคุณแม่สิ้นพระชนม์ทีนี้ในพินัยกรรมระบุไว้ว่า ห้ามแบ่งมรดกจนกว่าจะตามหาตัวคุณแม่เจอ จึงทำให้พี่น้องทุกคนต้องรีบสืบตามหาคุณแม่แทบพลิกแผ่นดิน ไม่ใช่เพราะรัก แต่เพื่อให้ถูกต้องตามนัยกรรมใช้เวลาตามหากันเกือบ ๑๐ ปีกระทั่งเจอกัน จึงได้จัดการเรื่องมรดก
นอกจากนี้ ในพินัยกรรมยังระบุไว้อีกว่าให้นำลูกหลานที่กระจัดกระจายเอากลับมาเลี้ยงดูส่งเสียให้เรียนหมดทุกคน ดังนั้นลูกจึงจำต้องพรากจากพ่อแม่ตั้งแต่อายุ ๑๓ ปีตามพินัยกรรม ซึ่งจะต้องรวมเอามาอยู่ในกรุงเทพฯ เพื่อมาเรียนหนังสือกับคุณหญิงท่านหนึ่งซึ่งเป็นพี่สาวของคุณแม่ ลูกได้อยู่ในฤหาสน์หลังใหญ่สวยงามมาก มันน่าจะมีความสุขสบายกว่าบ้านนา แต่ตรงข้าม ชีวิตลูกไม่ได้สบายเลย เพราะลูกต้องช่วยเขาทำงานบ้านเกือบทุกอย่าง แม้ว่าเขาจะส่งลูกให้เรียนในโรงเรียนชั้นดีเยี่ยม แต่ลูกก็อยู่ในฐานะเป็นเด็กบ้านนอกซอมซ่อที่แตกต่างจากเพื่อนๆในโรงเรียน ลูกเรียนอย่างขาดความมั่นใจเพราะเด็กกรุงเทพฯ เรียนไวกว่าเด็กบ้านนอก ลูกรู้สึกตัวเองว่าเป็นเด็กโง่ท่ามกลางเด็กฉลาด ลูกจึงต้องยายามในเรื่องการเรียนอย่างหนัก ซ้ำร้ายไปกว่านั้นลูกได้เข้าโรงเรียนดีๆ ก็จริง แต่ไม่ได้รับการส่งเสริมด้านการเรียนเลย ลูกได้เงินค่าขนมไปโรงเรียนเพียงวันละ ๖ สลึง ซึ่งพอดีสำหรับค่าอาหารอย่างประหยัด แต่ก็ไม่เพียงพอสำหรับค่ารถ ทำให้ลูกต้องฟิตร่างกายให้แข็งแรง เพราะต้องเดินไปกลับโรงเรียนวันละ ๘ กิโลเมตร ฝนจะตกแดดจะออกอย่างไรก็ต้องฝ่าไปให้ได้
พอกลับมาจากโรงเรียน ก็ต้องช่วยทำงานบ้านจนรู้สึกเหนื่อย ทำงานบ้านเสร็จก็ถึงเวลานอนพอดี เขาก็ปิดไฟ ทำให้ลูกไม่ได้ทำการบ้าน ลูกจึงหาทางออกโดยการเจียดเงินค่าขนมที่ได้เพียงน้อยนิด ไปซื้อเทียนไขมาจุดแอบอ่านหนังสือตรงขั้นบันได ตอนที่เขาหลับกันหมดแล้ว
ดินสอก็ต้องใช้จนกุดแล้วเอาไม้มาต่อเพื่อให้เขียนได้ เสื้อผ้าก็ต้องใส่ขาดๆ ปะๆกระโปรงก็ต้องสอยชายลงมาเรื่อยๆ เพราะลูกตัวสูงขึ้น แต่เขาก็ไม่ให้ซื้อใหม่ จนบางครั้งลูกต้องแอบร้องไห้คิดถึงคุณพ่อคุณแม่เสมือนขาดที่พักพิงอันแสนจะอบอุ่นเมื่ออยู่ในคฤหาสน์หลังใหญ่แห่งนี้ ลูกจำยอมทนอยู่ที่นี่จนกระทั่งเรียนจบชั้น ม.ศ.๖ ได้ทำงานที่สำนักงานสถิติแห่งชาติ และได้ย้ายออกมาอยู่กับสามีหลังจากแต่งงานแล้ว ตอนอายุได้ ๒๔ ปี
คุณครูไม่ใหญ่
ตัวลูกตั้งแต่เกิดจนอายุ ๑๓ ปี มีความสุขมาก แต่ภายหลังต้องมีชีวิตลำบาก และพลัดพรากจากพ่อแม่ เพราะในอดีตได้เคยไปสร้างบุญเป็นประธานทอดผ้าป่า ก่อนทำบุญก็มีปีติดี แต่วันงานจริงกลับไปหงุดหงิดว่าเขาจัดงานต้อนรับไม่ดีทั้งๆ ที่อุตส่าห์ทำบุญตั้งมากมาย ก็เลยเสียอกเสียใจ เพราะเป็นคนเรื่องมาก บุญเลยหก เพราะฉะนั้นจะไปทำบุญวัดไหนก็ตาม ต้องให้เหลือเรื่องเดียวคือจะเอาบุญ ไม่ต้องให้ใครมาเอาใจ ใครจะเอาใจหรือไม่เอาใจก็ไม่เป็นไร ที่สำคัญเราต้องรักษาใจใสๆ จึงจะถูกหลักวิชชา
ทำบุญแล้วก็หงุดหงิดเพราะความถือตัวดังนั้นบุญจึงมีวิบัติเจือปนส่งผลไม่เต็มที่ บุญที่เป็นประธานจึงทำให้ได้มารดาสูงศักดิ์ มีคุณพ่อเป็นที่เคารพนับถือในชุมชน แต่มีความสุขเพียงช่วงสั้นแค่ ๑๓ ปี เพราะว่า ก่อนทำมีปีติ แต่ขณะทำ และหลังทำไปแล้ว เรื่องมาก ไม่มีปีติ
ลูกได้มีโอกาสเรียนโรงเรียนดี แต่ไม่ได้รับการสนับสนุนด้านการเรียนเลย เพราะในอดีตลูกไม่ได้สนับสนุนญาติหรือลูกหลานให้ได้เล่าเรียน แต่ก็มีทานบารมีในระดับหนึ่ง จึงได้เรียนในโรงเรียนดี เป็นบุญปนบาป เพราะความหงุดหงิดถือตัว เรื่องนี้สำคัญมาก วางตัวได้ แต่อย่าถือตัว ควรวางตัวให้สมกับที่ตัวเป็น แต่อย่าถือตัวจัด ให้ถือตัวแต่พอดีพองาม
ลูกได้มาอยู่บ้านหลังใหญ่ แต่ชีวิตต่ำต้อย เพราะทำบุญแบบถือตัวดังกล่าว บุญจึงปนบาป ส่งผลได้ไม่เต็มที่ จะแก้ไขก็จะต้องทำทานด้วยความเคารพ อย่าหงุดหงิดถือตัวและต้องทำสม่ำเสมอ ปลื้มปีติยินดีในการทำบุญทั้งก่อนทำ กำลังทำ และภายหลังจากทำไปแล้ว อีกทั้งต้องทำตัวง่ายๆ อย่าถือตัวเจ้ายศเจ้าอย่าง เรามาเอาบุญอย่างเดียวเท่านั้น อย่างอื่นเรื่องเล็ก เขาจะให้ไปนั่งตรงไหนก็ไปเถิด มันก็อยู่ใกล้ๆ กันนั่นแหละ อยู่วัดเดียวกัน โลกใบเดียวกัน จักรวาลเดียวกัน
ที่นี่มีคำตอบ ฉบับที่ 7 ชีวิตออกแบบได้
คุณครูไม่ใหญ่
๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๘