พระสังฆคุณ

วันที่ 19 กค. พ.ศ.2560

พระสังฆคุณ

พุทธธรรมทีปนี 1 , Dhamma , Pre-Degree , วัดพระธรรมกาย , DOU , ธรรมกาย , ปริญญาตรี , พรีดีกรี , พระพุทธศาสนา , พุทธศาสตร์ , พระไตรปิฎก , พระสัมมาสัมพุทธเจ้า , พระสังฆคุณ , พระรัตนตรัย , อริยสาวก , ปุถุชนสาวก

      พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นมี 2 จำพวก คือ ปุถุชนสาวก และอริยสาวก ปุถุชนสาวก ได้แก่ ผู้ที่เลื่อมใสในพระรัตนตรัย แต่ยังไม่ได้บรรลุธรรมวิเศษอันใด ยังเป็นปุถุชนจึงได้ชื่อว่าปุถุชนสาวกสำหรับสาวกตามความหมายในบทสวดสรรเสริญพระสังฆคุณที่เราสวดกันว่า สุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ นั้นหมายถึงเฉพาะพระอริยสาวกเท่านั้น

      อริยสาวก แปลว่าสาวกผู้ประเสริฐ คือสาวกที่ได้บรรลุคุณวิเศษแล้ว พ้นจากฐานะปุถุชนแล้วมี 4 คู่ นับเรียงตัวกันได้ 8 บุรุษ คือ โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สกิทาคามิมรรค สกิทาคามิผล อนาคามิมรรค อนาคามิผล อรหัตมรรค อรหัตผล แบ่งเป็นชั้น ๆ ตามลำดับคุณวิเศษที่ได้เข้าถึง ซึ่งพระอริยบุคคลเหล่านี้ มีคุณโดยย่อ 9 ประการ คือ

    สุปฏิปนฺโน เป็นผู้ปฏิบัติดี คือ ปฏิบัติไปตามแนวมัชฌิมาปฏิปทา ซึ่งเป็นทางสายกลางที่พระบรมศาสดาดำเนินมาแล้ว อุชุปฏิปนฺโน เป็นผู้ปฏิบัติตรง คือ ปฏิบัติมุ่งตรงต่อพระนิพพานไม่วอกแวกไปทางอื่นสายปฏิปนฺโน ปฏิบัติเพื่อมุ่งรู้ธรรมที่จะออกจากภพ 3 คือ กามภพ รูปภพ และอรูปภพสามีจิปฏิปนฺโน ปฏิบัติสมควร เพราะท่านปฏิบัติเพื่อบรรลุถึงพระนิพพานจริง ๆ ไม่ใช่เพื่อเหตุอื่น

     อาหุเนยฺโย เป็นผู้ควรได้รับความเคารพสักการะ ปาหุเนยฺโย ผู้ควรได้รับการต้อนรับ ทกฺขิเณยฺโย เป็นผู้ควรได้รับของที่เขาทำบุญ อฺชลีกรณีโย เป็นผู้ควรได้รับการกราบไหว้ อนุตฺตร ปฺุญฺญกฺเขตฺตํ โลกสฺส เป็นเนื้อนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก เป็นแหล่งแห่งความดี และเผยแผ่ความดีอันสูงสุด เพราะพระสงฆ์เป็นผู้บริสุทธิ์ เป็นผู้ฝึกอบรมตน และเป็นผู้เผยแผ่ธรรม ดังนั้นไทยธรรมที่ถวายแด่ท่าน แม้เป็นของน้อยก็อำนวยผลมาก ที่เป็นของมากก็อำนวยผลยิ่งใหญ่ไพบูลย์

     ดังเช่นในสมัยพุทธกาล ณ กรุงราชคฤห์ มีพราหมณ์คนหนึ่งชื่อ มหาเสนพราหมณ์เป็นเพื่อนกับโยมบิดาของพระสารีบุตร เขาเคยเป็นคนร่ำรวย แต่ต่อมากลับยากจนลงพระสารีบุตรได้มาบิณฑบาตที่บ้านของเขา เพราะตั้งใจจะอนุเคราะห์ แต่พราหมณ์หลบหน้าทุกวัน เพราะไม่มีไทยธรรมที่จะถวาย เขาได้แต่คิดว่าเมื่อใดมีไทยธรรมก็จะถวายทันที

     วันหนึ่ง พราหมณ์ได้ข้าวปายาส มาถาดหนึ่ง และผ้าสาฎกเนื้อหยาบ 1 ผืน เขานึกถึงพระสารีบุตร และอยากถวายท่าน วันนั้นพระสารีบุตรเพิ่งออกจากนิโรธสมาบัติ รู้ถึงความตั้งใจของพราหมณ์ จึงมาที่บ้านของเขา ด้วยใจที่เลื่อมใสพราหมณ์ได้ถวายผ้าสาฎกและข้าวปายาสจนหมดถาด ไม่เหลือไว้สำหรับตนเลย พลางขอพรว่า "ขอให้ข้าพเจ้าได้บรรลุธรรมที่ท่านได้บรรลุแล้วด้วยเถิด" พระสารีบุตรอนุโมทนาว่า "จงสำเร็จอย่างนั้นเถิด พราหมณ์" เมื่อถวายทานแล้ว เขาปีติเบิกบานใจเป็นอย่างยิ่ง ครั้นสิ้นชีวิตได้ไปเกิดในตระกูลอุปัฏฐากของ
พระสารีบุตรในกรุงสาวัตถีทันที

     ในวันที่เขาเกิด พวกญาติได้นิมนต์พระภิกษุ 500 รูป มีพระสารีบุตรเป็นประธานมาฉันภัตตาหารที่บ้าน ทารกน้อยนอนอยู่บนผ้ากัมพลอย่างดีราคาแสนหนึ่ง มองดูพระเถระและระลึกได้ว่า ที่เราได้มาเกิดในตระกูลที่มีสมบัติมากมายอย่างนี้เพราะบุญที่ได้ถวายไทยธรรมแด่ท่าน จึงเอานิ้วก้อยเกี่ยวผ้ากัมพลไว้ เมื่อญาติจะดึงผ้าออกก็ร้องไห้ ญาติ ๆ จึงได้อุ้มทารกไปพร้อมทั้งผ้าเพื่อให้ไหว้พระเถระ ทันทีที่เข้าไปใกล้พระสารีบุตร ทารกน้อยก็ปล่อยผ้ากัมพลให้ตกลงตรงหน้าพระเถระนั้นเอง พวกญาติเข้าใจความหมายจึงน้อมผ้ากัมพลถวายแด่พระเถระพระสารีบุตรได้ตั้งชื่อให้ทารกน้อยว่า ติสสะ

      ครั้นติสสะอายุ 7 ขวบ ได้ออกบวชเป็นสามเณรในสำนักของพระสารีบุตร ด้วยผลแห่งทานที่สามเณรทำไว้ดีแล้ว จึงทำให้เป็นผู้มีลาภสักการะมาก ไม่ว่าจะออกบิณฑบาตครั้งใด จะมีผู้เตรียมอาหาร และผ้าเป็นจำนวนมากคอยถวาย วันหนึ่งเป็นฤดูหนาวสามเณรเห็นพระภิกษุหลายรูปนั่งผิงไฟอยู่ เมื่อรู้ว่าท่านไม่มีผ้ากัมพลสำหรับห่มกันหนาวสามเณรจึงกล่าวว่า "ถ้าท่านต้องการผ้ากัมพล ขอได้โปรดตามผมมา"

     ปรากฏว่ามีพระภิกษุตามสามเณรไปถึง 1,000 รูปสามเณรจึงนำพระภิกษุไปยังเมืองสาวัตถี ชาวเมืองต่างปีติยินดี พากันถวายผ้ากัมพลแด่สามเณรได้ครบ 1,000 ผืน ในวันเดียวนั่นเอง แม้คนที่ตระหนี่ที่สุด ทันทีที่เห็นสามเณรก็เกิดศรัทธา รีบนำผ้ากัมพลราคาเป็นแสนที่เก็บซ่อนออกมาถวายสามเณรติสสะนี้ ภายหลังท่านได้ตั้งใจบำเพ็ญสมณธรรม และได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ตั้งแต่อายุ 7 ขวบนั่นเอง

    ด้วยอานิสงส์ที่สามเณรติสสะตั้งใจถวายทานด้วยความศรัทธาเลื่อมใสในพระสารีบุตรในภพชาติที่ตนยังเป็นมหาเสนพราหมณ์ แม้ทานนั้นจะมีจำนวนน้อยแต่ก็ให้ผลมาก เพราะได้ถวายแด่ทักขิไณยบุคคลผู้เป็นเนื้อนาบุญอันเยี่ยมของโลก คือ พระอริยสงฆ์นั่นเอง เพราะฉะนั้นเมื่อเรารู้ถึงคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ ดังกล่าวแล้ว จึงเป็นการสมควรอย่างยิ่ง ที่เราจะเคารพบูชาท่านไว้อย่างสูงสุด

     พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ว่า การบูชานั้นมี 2 อย่าง ได้แก่ อามิสบูชา คือ บูชาด้วยเครื่องสักการะอย่างหนึ่ง ปฏิบัติบูชา คือ บูชาด้วยการปฏิบัติอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งทรงสรรเสริญว่า ปฏิบัติบูชาประเสริฐกว่าอามิสบูชา เพราะทรงประสงค์จะให้พวกเรามีความเพียรในการปฏิบัติธรรมจะได้พ้นทุกข์ พบสุขอันแท้จริงตามพระองค์ไปด้วย

     พระอริยสาวกทั้งหลายนั้น แต่เดิมท่านก็เป็นคนธรรมดาเหมือนพวกเรา มิใช่เทวดา อินทร์ พรหม แต่อย่างใด แต่ที่ท่านเลื่อนฐานะขึ้นเป็นพระอริยะได้ ก็เพราะการปฏิบัติธรรมเท่านั้นวิธีการปฏิบัติเพื่อให้เข้าถึงธรรมนั้นพระองค์ทรงสอนไว้ละเอียดแล้ว เหลือเพียงพวกเราจะปฏิบัติกันจริงหรือไม่เท่านั้นเอง

     อย่าลืมว่า ที่พึ่งที่ระลึกที่แท้จริงของนักศึกษา คือ พระรัตนตรัย ซึ่งมีอยู่ในกลางกายของมนุษย์ทุกคน และเป็นที่พึ่งที่ระลึกของชาวโลกทุกคน ไม่ใช่เฉพาะของชาวพุทธเท่านั้น ถ้านักศึกษาเข้าถึงได้ จะซาบซึ้งในคำว่า ที่พึ่งที่ระลึกที่แท้จริง นักศึกษาจะรู้สึกอบอุ่นใจ ปลอดภัย มีความสุขอย่างไม่มีอะไรมาเปรียบปาน จะรู้สึกถึงความเต็มเปียมของชีวิต ความทุกข์ทั้งหลายจะดับหมดไป และจะมีชีวิตอยู่เหนือปัญหาทั้งมวล

 

 

*----------------------------------------------------------------------------------------------------------*
หนังสือ PD 007 พุทธธรรมทีปนี 1
หนังสือเรียน DOU หลักสูตร Pre-Degree

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0075486660003662 Mins