กัณฑ์ที่ ๐๑ พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ

วันที่ 21 ธค. พ.ศ.2560

กัณฑ์ที่ ๐๑
พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส ฯ  (๓ ครั้ง)
อิติปิโส ภควา ฯลฯ พุทฺโธ ภควาติ

มรดกธรรม , พระมงคลเทพมุนี , ประวัติย่อ พระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี , สด จนฺทสโร , หลวงปู่วัดปากน้ำ , หลวงพ่อวัดปากน้ำ , สด มีแก้วน้อย , วัดปากน้ำภาษีเจริญ , วัดปากน้ำ , ธรรมกาย , วัดพระธรรมกาย , สมาธิ , กัณฑ์ , ศูนย์กลางกายฐานที่เจ็ด , คำสอนหลวงปู่ , หลวงพ่อสดเทศน์ , เทศนาหลวงพ่อสด , พระธรรมเทศนาพระมงคลเทพมุนี , พระผู้ปราบมาร , ต้นธาตุต้นธรรม , พระเป็น , อานุภาพหลวงพ่อสด , เทปบันทึกเสียงหลวงพ่อวัดปากน้ำ , พระของขวัญ , พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ , กัณฑ์ที่ ๐๒ พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ

             ณ บัดนี้ จะได้แสดงธรรมกถาว่าด้วย พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ เพื่อประดับสติปัญญาและปสาทะแห่งท่านสัปปุรุษพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย ผู้มีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา จักแสดงความลำดับพระบาลีที่ยกไว้ข้างต้น เริ่มแต่คำว่า อิติปิโส ภควา ไปจนจบ แต่การแสดงจะหนักไปในทางปฏิบัติ เพื่อมุ่งประโยชน์แก่ผู้ปฏิบัติเป็นส่วนใหญ่

                คำว่า คุณในที่นี้หมายความว่ากระไร เมื่อพิเคราะห์ดูตามถ้อยคำในบาลีนี้แล้ว หมายความว่า ความดี ความงาม ที่ควรเทิดทูนเคารพบูชา ความดีความงามของพระพุทธเจ้า ๙ ประการ ของพระธรรม ๖ ประการ ของอริยสงฆ์ ๙ ประการ ตามที่ปรากฏในพระบาลีนี้ จักได้แสดงแต่ละประการเป็นลำดับไป เริ่มต้นพระพุทธคุณก่อน ซึ่งตั้งต้นด้วยคำว่า อรหํ ตลอดจนจบสังฆคุณ

              สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา  ที่มีพระเกียรติคุณเฟื่องฟู  จนเป็นที่เคารพสักการะของมวลเทวดา อินทร์ พรหม และมนุษย์มาจนตราบเท่าทุกวันนี้ มิใช่เพราะเหตุที่พระองค์เป็นกษัตริย์ แต่เป็นเพราะเหตุอื่น เหตุอื่นคืออะไร? ก็คือเหตุที่พระองค์สละราชสมบัติออกบรรพชา ประกอบพระมหาวิริยะความเพียรอันแรงกล้า จนได้บรรลุพระโพธิญาณ ณ ควงไม้พระศรีมหาโพธิ์ เมื่อวันวิสาขปุรณมีเพ็ญเดือน ๖ นั้นเอง พระองค์ได้ตรัสรู้ธรรมทั้งปวงในกลุ่มรุ่งอรุณวันนั้น คุณงามความดีของพระองค์ได้บังเกิดขึ้น พระองค์ตั้งแต่วันนั้นเป็นลำดับมา จนตราบเข้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน รวมเป็น ๙ ประการด้วยกัน

(พุทธคุณ)

                อรหํ เป็นพระคุณข้อต้น มีนัยดังจะแสดงต่อไปนี้

               อรหํ เป็นเนมิตกนาม เกิดขึ้นเองพร้อมกับที่พระองค์บรรลุพระโพธิญาณ ยกตัวอย่างเทียบเคียงคล้ายกับชื่อพระราชกุมารีของพระเจ้าปเสนทิโกศลชื่อว่า “มัลลิกา” กล่าวคือว่า วันที่พระนางเธอประสูตินั้นมีดอกมะลิร่วงลงมาจากอากาศในเวลาเกิด พระราชบิดาและพระประยูรญาติถือเอานิมิตดอกมะลินั้นขนานนามธิดาองค์นั้นว่า “มัลลิกา” ซึ่งแปลว่าพระนางมะลิ

             อรหํ เป็นคำที่พวกเรานักปฏิบัติธรรมเชิดชูกันนักหนา ถึงแก่ได้นำมาใช้เป็นบทบริกรรมภาวนาในเมื่อนั่งสมาธิ ฉะนั้น จึงขอนำมาแปลไว้ในที่นี้เพื่อได้ซาบซึ้งถึงพระคุณนามข้อนี้ไว้บ้าง แต่การจะพรรณนาให้สิ้นสุดได้ เมื่อคิดเทียบแล้วก็เท่ากับอากาศในปีกนกกล่าวคือ บรรดาอากาศทั้งหลายในสากลโลกมีมากสุดที่จะคณนา แต่คิดเฉพาะอากาศเท่าที่ปีกนกกระพือขณะที่บินหนหนึ่ง จะมีอากาศอยู่ในระหว่างปีกนกนิดเดียว ในจำนวนอากาศทั้งหลาย นี่ฉันใดก็ฉันนั้น

               อรหํ แปลสั้นๆ ว่าไกล ว่าควรเป็นสองนัยอยู่ “ไกล” หมายความว่าไกลจากกิเลส หรือว่าพ้นจากกิเลสเสียแล้ว “ไกล” ตรงกันข้ามกับปุถุชนคนเรา ซึ่งยังอยู่ใกล้ชิดกิเลส พระองค์บริสุทธิ์ผุดผ่องดังแท่งทองชมพูนุท หรืออีกอย่างหนึ่งว่าใสเหมือนดวงแก้วอันหาค่ามิได้ สมคำที่ว่า พุทธรัตนะประกอบด้วย ตาทิโน เป็นผู้คงที่ไม่หวั่นไหว หากจะมีของหอมมาชโลมไล้พระวรกายซีกหนึ่ง พระหฤทัยของพระองค์ก็ไม่แปรผันยินดียินร้ายประการใด และเปรียบได้อีกสถานหนึ่งว่า อินฺทขีลูปโม พระทัยมั่นคงดังเสาเขื่อน ถึงจะมีพายุมาแต่จาตุรทิศก็ไม่คลอน เมื่อเช่นนี้จึงมีนัยที่แปลได้อีกอย่างหนึ่งว่าเป็นผู้ควร คือเป็นผู้ที่เราสมควรจะเทิดจะบูชาไว้เหนือสิ่งทั้งหมด อรหํเป็นนามเหตุ พระคุณนาม นอกนั้นเป็นนามผล

            ว่าในด้านภาวนา กายนี้มีซ้อนกันเป็นชั้นๆ มีกายทิพย์ซ้อนอยู่ในกายมนุษย์ กายรูปพรหมซ้อนอยู่ในกายทิพย์ กายอรูปพรหมซ้อนอยู่ในกายรูปพรหม กายธรรมซ้อนอยู่ในกายอรูปพรหม คนเราที่ว่าตายนั้น คือ กายทิพย์กับกายมนุษย์หลุดพรากออกจากกันเหมือนมะขามกะเทาะล่อนจากเปลือก ฉะนั้น กายทิพย์ก็หลุดพรากจากกายมนุษย์ไป

               การละกิเลสของพระองค์หลุดไปเป็นชั้นๆ ตั้งแต่กิเลสในกายมนุษย์ กายทิพย์ กายรูปธรรม กายอรูปพรหมเป็นลำดับไป

กิเลสในกายมนุษย์         คือ    อภิชฌา พยาบาท มิจฉาทิฏฐิ
กิเลสในกายทิพย์           คือ    โลภะ โทสะ โมหะ
กิเลสในกายรูปพรหม      คือ    ราคะ โทสะ โมหะ
กิเลสในกายอรูปพรหม    คือ    กามราคานุสัย ปฏิฆานุสัย อวิชชานุสัย

             ต่อแต่นี้ไปจึงชักเข้าถึงกายหนึ่ง คือ กายธรรม หรือเรียกว่า ธรรมกาย เข้าชั้นโคตรภูจิต เรียกว่าโคตรภูบุคคล โคตรภูบุคคล นี้เดินสมาบัติ เพิ่งอริยสัจสี่เป็นอนุโลกปฏิโลม จนหลุดพ้นจากกิเลสพวกสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีสัพพตปรามาส แล้วตกศูนย์วับกลับเป็นพระโสดาบัน

             เป็นอันว่าพระโสดาบันละกิเลสได้ ๓ คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีสัพพตปรามาส

           แล้ว กายโสดาบันนี้เดินมาบัติเพ่งอริยสัจสี่เป็นอนุโลมปฏิโลมต่อไปถึงขีดสุด ละกิเลสได้อีก ๒ คือ กามราคะ พยาบาท ชั้นหยาบ จึงเลื่อนชั้นขึ้นเป็นสกทาคามี 

           กายโสดาบันนี้เดินสมาบัติเพ่งอริยสัจสี่ทำนองเดียวกันนั้นต่อไป ถึงขีดสุดละกิเลสได้อีก ๒ คือ กามราคะพยาบาท ชั้นละเอียดจึงเลื่อนชั้นเป็นพระอนาคามี

           แล้วกายพระอนาคามี เดินสมาบัติเพ่งอริยสัจสี่ทำนองเดียวกันนั้นต่อไป ถึงขีดสุดละกิเลสได้อีก ๕ คือ รูปราคา อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา จึงเลื่อนขึ้นจากพระนาคามี เป็นพระอรหันต์ จิตของพระองค์บริสุทธิ์ผุดผ่อง ปราศจากกิเลสทั้งมวล จึงได้พระเนมิตกนามว่า อรหํ

         เหตุที่ทำให้พระองค์เป็นอรหํนั้นสรุปโดยย่อ ก็ได้แก่การที่พระองค์บำเพ็ญสมาธิเจริญวิปัสสนาด้วยพระมหาปธานวิริยะอันแรงกล้า ณ โคนไม้พระศรีมหาโพธิ์ในวันวิสาขปุรณมีนั้นโดยความเด็ดเดี่ยว ตั้งพระหฤทัยอธิฐานว่า แม้เนื้อและเลือดในพระสรีระของพระองค์จะเหือดแห้ง เหลือแต่เส้นเอ็น หนัง และกระดูกก็ตามทีเถิด หากไม่ได้บรรลุพระสัมโพธิญาณตราบใด พระองค์จะไม่ยอมลุกจากที่นั่นเป็นอันขาด แล้วพระองค์ก็ทรงนั่งสมาธิรุดไปด้วยน้ำพระทัยอันเด็ดเดี่ยว ในที่สุดก็ได้บรรลุพระสัมโพธิญาณ สมดังพระประสงค์ในราตรีกาลแห่งวันวิสาขปุรณมีนั้นเอง ยามต้นทรงบรรลุปุพเพนิวาสานุสติญาณ ความหยั่งรู้ระลึกชาติหนหลังได้ ยามที่ ๒ ทรงบรรลุจุตูปปาตญาณ ความหยั่งรู้ถึงความจุติและความเกิด ยามที่ ๓ ทรงบรรลุอาสวักขยญาณ ความหยั่งรู้ที่กำจัดอาสวะกิเลสที่หมักหมมอยู่ในจิตให้หมดสิ้นไป ทรงรู้เห็นแจ่มแจ้งหมดเห็นจริงๆ เห็นด้วยตาของธรรมกาย ไม่ใช่เห็นด้วยตามนุษย์ หรือคิดคาดคะเนเอา เห็นตลอดทั่วโลกมนุษย์ โลกสวรรค์ โลกนรก เพราะพระองค์ได้ผ่านพ้นโลก เสด็จออกสู่แดนพระนิพพานแล้ว จึงเห็นได้ทั่วถ้วนโดยมิสงสัย

           สมฺมา สมฺพุทฺโธ แปลตามศัพท์ว่า ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ หรือนัยหนึ่งว่า ตรัสรู้เองโดยถูกต้อง หรือพูดให้สั้นก็ว่า รู้ถูกเอง เพื่อให้ใกล้กับภาษาสามัญที่ใช้กันว่า รู้ผิดรู้ถูก ได้แก่ คำที่พูดติเตียนคนที่ทะอะไรผิดพลาดไปว่าเป็นคนไม่รู้ถูกรู้ผิด ทำไปอย่างโง่ๆ ดังนี้ เป็นต้น แต่แท้จริง “พุทโธ” คำนี้เมื่อพิเคราะห์ให้ลึกซึ้งลงไปตามรูปศัพท์แล้ว มีความหมายลึกซึ้งมาก ต่างกันไกลกับคำว่าชานะ หรือวชานะ ซึ่งแปลว่ารู้แจ้งนั้น ดังนั้น พุทโธจึงได้แปลกันว่า “ตรัสรู้” ไม่ใช่รู้เฉยๆ เติมคำว่า “ตรัส” นำหน้า “รู้” ซึ่งสะกิดให้สนในว่า “รู้” กับ “ตรัสรู้” ๒ คำนี้ มีความหมายลึกตื้นกว่ากันแน่ โดยมิสงสัย เมื่อระลึกถึงถคงพระบาลีในธรรมจักกัปปวัตตนสูตรที่ว่า “จกฺขํ อุทปานิ ญาณํ อุทปาทิ ปญฺญา อุทปาทิ วิชฺชา อุทปาทิ อาโลโกฯ” จึงทำให้แลเห็นความว่า คุณวิเศษทั้ง ๕ อย่าง ดังบาลีขึ้นกล่าวนี้ จะเป็นนความหมายแห่งคำว่า พุทโธ กล่าวคือ จกฺขํ ญาณํ ปญฺญา วิชฺชา อาโลโก ทั้ง ๕ อย่างนี้ประมวลเข้าด้วยกัน รวมเป็นคำแปลของคำว่า พุทโธ หรือจะแปลให้สั้นเข้าอีก คำว่า พุทโธ ก็ยังต้องแปลว่า ทั้งรู้ทั้งเห็น ไม่ใช่รู้เฉยๆ อาศัยคำว่า จกฺขํ ญาณํ .ในบาลที่ยกขึ้นกล่าวมานั้นเป็นเครื่องประดับ ยิ่งกว่านั้นยังมีคำว่าชานตา ปสฺสตาฯ ในมหาสติปัฏฐานสูตรอยู่อีก ซึ่งเป็นเหตุสนับสนุนว่า ที่ว่าพระพุทธเจ้าตรัสรู้นั้นไม่ใช่รู้เฉยๆ เป็นทั้งรู้ทั้งเห็น

          ที่ว่า “เห็น” นั้นมิได้หมายความว่าเห็นอย่างตาเราเห็นอะไรจริงๆ แต่พระองค์เห็นด้วยตาธรรมกายและการที่พระองค์เห็นนี้ โดยมิได้มีผู้ใดสอนให้ผู้สอนให้เห็น รู้เห็นโดยลำพังพระองค์เอง และสิ่งทั้งหลายที่พระองค์รู้เห็นนั้น ตรงตามความเป็นจริงทั้งนั้น มิใช่คาดคะเนหรือนุมานเอา จึงเป็นองค์สัมมาสัมพุทโธ พระผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ หรือนัยหนึ่งว่า โดยถูกต้องตรงตามความเป็นจริงทุกประการ จึงได้ชื่อว่า “ตรัสรู้” ยังมีคำว่า “สัม” นำหน้า “พุทธะ” เติมเข้ามาอีกคำหนึ่ง ซึ่งแปลว่าด้วยพระองค์เอง คือไม่ต้องมีผู้สั่งสอน พระองค์ทำอย่างไร จึงตรัสรู้ด้วยพระองค์เองเช่นนั้น ข้อนี้ตอบไม่ยาก พระองค์ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองได้ ก็เพราะความเป็น “อรหํ” ของพระองค์ดังกล่าวข้างต้นแล้วนั่นเอง คือ เมื่ออำนาจสมาธิทำให้จิตของพระองค์หลุดพ้นจากอาสวะแล้ว จิตของพระองค์ก็ใสยิ่ง หยุด และบริสุทธิ์ผุดผ่อง เพราะหยุดนิ่งนั้นเอง จึงมีสิ่งหนึ่งผุดขึ้นในนิ่ง ทำให้รู้ พระองค์ก็รู้ตามนั้นไป น้ำขุ่นแม้อิฐสักก้อนหนึ่งอยู่ก้นโอ่งเราก็มองไม่เห็น แต่ถ้าน้ำนั้นนอนนิ่งใสบริสุทธิ์แล้ว แม้แต่เข้มอยู่ก้นโอ่งเราก็เห็น ฉันใดก็ฉันนั้น

           ยังมีคำว่า “สัมมา” นำหน้า “สัมพุทโธ” อีกคำหนึ่ง คำว่า สัมมาแปลว่าโดยชอบ หรือโดยถูกต้องพระองค์ตรัสรู้อะไร มีเหตุผลยันกันได้เสมอ จึงได้ชื่อว่าถูกต้อง เพราะการพูดอะไรไม่มีเหตุผลรับสมหรือยันกันได้แล้ว ตามหลักธรรมดาเรียกว่าไม่ถูก ต้องมีเหตุผลรับสมกันจึงจะนับว่าถูก พระสัทธรรมคำสอนของพระองค์ มีเหตุผลรับสมกันอยู่เสมอไม่คลาดเคลื่อน จึงสมควรแล้วที่พระเนมิตกนามว่า สัมมาสัมพุทโธ

           พระพุทธวจนะที่ควรนำมาสาธกในที่นี้ ว่าแต่โดยสั้นๆ ก็ว่า พระองค์ตรัสรู้เหตุตรัสรู้ผล ไม่ใช่รู้แต่เหตุหรือรู้แต่ผล พระองค์ตรัสรู้ทั้งเหตุตรัสรู้ทั้งผล ที่ว่านี้คืออะไร? เหตุสุข เหตุทุกข์ เหตุไม่สุขไม่ทุกข์ หรือเรียกว่าอัพยากฤต หรือสภาพเป็นกลางๆ ทั้ง ๓ อย่างนี้ เป็นรากฐานแห่งการตรัสรู้ของพระอค์ กล่าวคือ สุข พระองค์ก็ไม่ทรงรู้แต่สุขเฉยๆ ตรัสรู้ลึกซึ้งเข้าไปถึงว่า อะไรเป็นเหตุให้เกิดสุขด้วย แล้วอีก ๒ ประการนั้นก็เช่นเดียวกัน รู้ทั้งเหตุ รู้ทั้งผลคู่กันไป เป็นต้นว่าสุขเป็นผลคือความสบายกายสบายใจ อะไรเล่าเป็นเหตุที่ให้เกิดผลสุขดังกล่าวนั้น พระองค์ตรัสไว้ว่า อโลภะ อโทสะ อโมหะ ไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง ๓ ประการนี้แหละเป็นเหตุ ดังมีบาลีเป็นที่ยืนยันว่า กุสลาธมฺมา อกุสลาธมฺมา อพฺยากตาธมฺมา เป็นอาทิ โลภ โกรธ หลงเป็นฝ่ายอกุศล ตรัสว่าเป็นเหตุแห่งทุกข์ เราปุถุชนมักรู้กันแต่ผล สาวหาเหตุไม่ใคร่ถึง เช่น คนทำโจรกรรมแล้ว ไม่ต้องโทษอย่างมาก ที่รู้กันทั่วไปมักอยู่ในขั้นหยาบๆ ว่า ผลที่ต้องได้รับทุกข์คือการต้องโทษนั้น เนื่องมาจากโจรกรรม แต่แท้จริงเหตุเท่านั้นยังไม่พอ ต้องสาวเข้าไปอีก ทำไปเขาจึงทำโจรกรรม ก็จะได้ความว่าเพราะโลภะเป็นมูลเหตุ แต่ก็ยังไม่พอ ต้องสาวเข้าไปอีกว่าทำไมโลภะจึงครอบงำเขาได้ ก็จะได้ความว่าจิตใจของเขาสกปรก ทำไมจิตใจของเขาจึงสกปรก จึงได้เหตุว่าเพราะเขาไม่ประพฤติตามโอวาทพระบรมศาสดา อย่างน้อยก็เป็นคนทุศีล อทินนาทานขาดไปเสียองค์หนึ่งแล้ว เหตุใดเขาจึงเป็นคนทุศีล ก็จะได้ความว่าเขาไม่รู้เรื่องศีลหรือรู้แล้วไม่นำพอ ทำไมจึงไม่รู้เรื่องศีล ก็อาจเป็นเพราะเหตุที่เขาไม่เคยอ่านหนังสือทางพระพุทธศาสนา หรือสดับตรับฟังพระธรรมเทศนา ฯลฯ ดังนี้เป็นต้น พระองค์ทรงสอนไว้ละเอียดถี่ถ้วนว่า ให้รู้เท่าถึงเหตุผล รู้ว่าผลนี้เกิดจากเหตุใด พระองค์มีแนวสอนให้ปฏิบัติเพื่อละเหตุที่ให้เกิดทุกข์ บำเพ็ญเหตุที่ให้เกิดสุข ตลอดจนวิถีทางดับเหตุทั้งปวงซึ่งเรียกว่านิโรธ

            เพื่อรับสนองข้อความดังกล่าวมา ก็มีถ้อยคำของพระอัสสชิเถระเป็นหลักฐานสนองรับรองพระพุทธวจนะดังกล่าวมา คือภายหลังแต่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ใหม่ๆ พระอัสสชิเถระ ซึ่งเป็นพระสาวกไปประกาศพระศาสนา ไปพบกับอุปดิสปริพาชก อุปดิสปริพาชกตั้งกระทู้ถามกันสั้นๆ ถึงเรื่องพระศาสดาว่าทรงสั่งสอนอย่างไร พระอัสสชิได้ตอบว่า ทรงสอนถึงเหตุและวิถีทางที่จะดับเหตุเหล่านั้น ดังพระบาลีว่า เย ธมฺมา เหตุปพฺภวา เตสํ เหตํ ตถาคโต ฯลฯ หรือพูดอย่างสั้นอีกนัยหนึ่งว่า พระองค์สอนให้รู้ว่า อะไรชั่ว อะไรดี อะไรเห็นเหตุของความชั่ว อะไรเป็นเหตุของความดี โลภะ โทสะ โมหะ เป็นเหตุแห่งความชั่วหรือความเสื่อม อโลภะ อโทสะ อโมหะ เป็นเหตุแห่งความดีหรือความเจริญ ทรงสอนว่าก่อนจะพูด คิดหรือทำสิ่งใด จงมีสติหรือที่เรียกว่าใช้ความคิดให้รอบคอบเสียก่อนจึงพูด จึงคิดจึงทำการนั้นๆ แลว่า โดยเฉพาะ จงระวังเรื่องโลภะ โทสะ โมหะ นั้นไว้ อย่าให้เข้าครอบงำได้ ในเมื่อจะทำ พูด คิดการสิ่งใด พระองค์ทรงสอนไว้ในทางปรมัตถ์ว่า ธรรมดาจิตนั้นใสบริสุทธิ์อยู่เสมอ ซึ่งหมายความว่า จิตที่ไม่มีกิเลสผสม ส่วนพวกกิเลส เช่น โลภะฯ เรียกว่าเป็นของจรมา เมื่อมาพร้องพานจิตก็ย้อมจิตให้เป็นไปตามสภาพอันชั่วช้าของกิเลสนั้นๆ จิตระคนด้วยราคะ หรือโลภะ มีสีแดง ระคนด้วยโทสะ สีดำ ระคนด้วยโมหะ ขุ่นเหมือนตมหรือน้ำล้างเนื้อ สิ่งเหล่านี้พระองค์ใช้ตาธรรมกายมองเห็นจริงๆ พวกเราเหล่าสนิกชน เมื่อเรียนภาวนาเพ่งถึงขนาด จะเห็นจริงด้วยตนเอง การปฏิบัติกิจทางภาวนานั้นก็คือพยายามกลั่นเอากิเลสออกเสียจากจิตให้จิตใจบริสุทธิ์ อันได้ชื่อว่ากิริยาจิต กิริยาจิตเช่นนี้เป็นอัพยากฤาแล้ว ต่อนั้นไปจะเป็นจิตที่ควรแก่การทุกอย่าง

              พระธรรมเทศนาของพระองค์เมื่อตอนตรัสรู้ใหม่ๆ หนักไปในทางแสดงเหตุและการดังเหตุ หรือที่เรียกว่า สมุทัย กับ นิโรธ ดังเช่นในการให้พิจารณาเรื่องสังขาร ในด้าน สมุทัย ว่า อวิชชา ปัจจยา สังขาราฯ และในด้าน นิโรธ ว่า อวิชชาเตฺววา อเสสวิ ราคนิโรธา

                ในด้าน สมุทัยนั้น แปล ความเป็นสยามภาษาว่า อวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร สังขารเป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณ วิญญาณเป็นปัจจัยให้เกิดนามรูป นามรูปเป็นปัจจัยให้เกิดอายตนะ ๖ อายตนะ ๖ เป็นปัจจัยให้เกิดผัสสะ ผัสสะเป็นปัจจัยให้เกิดเวทนา เวทนาเป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา ตัณฆาเป็นปัจจัยให้เกิดอุปทาน อุปาทานเป็นปัจจัยให้เกิดภพ ภพเป็นปัจจัยให้เกิดชาติ ชาติเป็นปัจจัยให้มีความแก่ ความตาย และความเศร้าโศกต่างๆ สิ่งเหล่านี้จะดับได้ก็เพราะดับชาติ ชาติดับได้ก็เพราะดับภาพ ภพจะตับได้เพราะอุปาทานดับ อุปาทานจะดับได้เพราะตัณหาดับ ตัณหาจะดับได้ก็เมื่อนามรูปดับ นามรูปจะดับได้ต่อเมื่อวิญญาณดับ วิญญาณจะดับได้ต่อเมื่อสังขารดับ สังขารจะดับลงก็เพราะอวิชชาดับ เหตุผลเกิดดับเกี่ยวข้องกันเป็นลูกโซ่ เช่นนี้เรียกว่า ปัจจยการ ที่พระองค์ได้รู้แจ้งแทงตลอดในวันตรัสรู้นั้นทั้งสิ้นพิจารณาตามลำดับ ดังที่ยกขึ้นกล่าวมาข้างต้น เมื่อย่นให้ได้ความเข้าใจอันจะเป็นผลในทางปฏิบัติแล้ว ก็มีตัวสำคัญอันเดียวคืออวิชชา เป็นมูลรากฝ่ายเกิด หรือที่เรียกว่า สมุทัย และในทางดับหรือที่เรียกว่านิโรธก็ทำนองเดียวกัน อวิชชารเท่านั้นเป็นตัวการสำคัญ ถ้าดับอวิชชาได้อย่างเดียว อื่นๆ ดับเรียบหมด เพราะอวิชาเหมือนต้นไฟ แต่ถ้ายังดับอวิชชาไม่ได้แล้ว ก็ไม่มีหวังว่าอย่างอื่นจะดับได้ ที่หมายสำคัญในคำสอนของพระองค์จึงอยู่ที่ว่า ให้ผู้ปฏิบัติเพียรหาทางกำจัดอวิชชาเสีย จึงจะพ้นจากห้วงลึกคือวัฏฏะสงสารได้

              อเนกชาติ สํสารํ ฯลฯ ในขณะเมื่อแสดงทองเรื่อเรืองแข่งแสงเงินขึ้นมายังขอบฟ้าเบื้องบูรพา อันเป็นสัญญาณว่าดวงอาทิตย์เตรียมทำหน้าที่จะส่องโลกอยู่แล้ว เป็นเวลาที่อากาศยะเยือกเย็นสดชื่น ส่งใจเราหวนไประลึงถึงเวลารุ่งอรุณแห่งวันเพ็ญวิสาขมาสอันเป็นวันที่พระบรมโลกนาถ อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณนั้น เราจะแลเห็นโอภาสรัศมีอันรุ่งโรจน์ยิ่งกว่าแสดงทองนั้นร้อยเท่าพันทวี ช่วงโชติอยู่ภายใต้โพธิพฤกษ์อันมหาศาล ใบเขียวชอุ่มรับกับรัศมีอันเหลืองอร่ามอยู่ภายใต้นั้น ในใจกลางแห่งรัศมีอันช่วงโชติชัชวาลอยู่นั้น มิใช่อื่นไกลคือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา ประทับพริ้มอยู่ด้วยพระอาการชื่นบานพระหฤทัยที่ได้เสวยวิมุตติสุข อันเป็นผลแห่งการที่พระองค์ได้รงประกอบพระมาหาปธานวิริยะมาเป็นเวลาช้านาน จึงได้บรรลุอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณสมดังพระหฤทัยประสงค์ พระองค์จึงทรงเปล่งพระอุทานเย้ยตัณหาว่า อเนกชาติ สํสารํ ดังที่ได้ยกขึ้นกล่าวไว้ข้างต้นนั้น ซึ่งแปลใจคมเป็นสยามภาษาว่า “เราสืบเสาะหาตัวช่างไม้ผู้สร้างปราสาทมานานแล้ว เมื่อเรายังหาไม่พบเราต้องท่องเที่ยวอยู่ในสงสาร เวียนตายเวียนเกิดอยู่แทบจะนับชาติไม่ถ้วน การเกิดนำความทุกข์มาให้เราแล้วๆ เล่าๆ ไม่รู้จักจบจักสิ้น นี่แน่ะ ท่านนายช่างไม้กล่าวคือตัณหา บัดนี้เราเจอะตัวท่านแล้วละ ท่านหมดโอกาสที่จะมาสร้างปราสาทคือ อัตตภาพร่างกายเราต่อไปได้อีกแล้ว กระดูกซี่โครงท่าน กล่าวคือกิเลส เราหักเสียกรอบหมดแล้ว มิหนำซ้ำ ยอดปราสาทกล่าวคืออวิชชา เราก็รื้อทำลายหมดสิ้นแล้ว จิตของเราปราศจากเครื่องปรุงแต่งแล้ว เราถึงซึ่งความสิ้นไปแห่งตัณหาแล้ว” พระอุทานนั้นมีข้อความเป็นบุคคลธิษฐานสั้นๆ แต่มีอรรถรสลึกซึ้งน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง ที่แปลคหกูฏํ ว่ายอดปราสาท ก็เพื่อความเหมาะสมที่พระองค์เป็นกษัตริย์ เพราะบ้านเรือนของพระมหากษัตริย์เรียกกันว่าปราสาทราชฐาน พระอุทานนั้นมีข้อความชัดเจนแล้วมิจำเป็นต้องอธิบาย

               คำว่า “วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน” แปลว่า พระองค์ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะคุณวิเศษของพระองค์ในที่นี้แบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ ๑ วิชชา ๒ จรณะ อะไรเรียกว่าวิชชา? วิชชาในที่นี้หมาเอา ความรู้ที่กำจัดมืดเสียได้ มืดคืออะไร ในที่นี้หมายเอาขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ตรงกันข้ามกับอวิชชาที่แปลว่า ไม่รู้ คือ ไม่รู้ถูก หรือผิด เพราะว่าเข้าไปยึดมั่นในขันธ์ ๕ ว่าเป็นตัวเป็นตน จึงมืดมนไม่รู้ไม่เห็นของจริง คือ นิพพาน ข้อสำคัญอยู่ที่อุปาทาน ซึ่งแปลว่ายึดมั่น คือยึดมั่นในขันธ์ ๕ ถ้ายังตัดอุปาทานไม่ได้ตราบใด ก็คงมืดตื้ดอยู่อย่างนั้น ตัดอุปาทานได้มีนิพพานเป็นที่ไปในเบื้องหน้า หรือพูดให้ฟังง่ายกว่านี้ก็ว่า เมื่อตัดอุปาทานเสียได้ จะมองเห็นนิพพานอยู่ข้างหน้า อวิชชาที่แปลวาไม่รู้นั้นได้แก่ ไม่รู้อดีต ปัจจุบัน อนาคต ของสังขาร ไม่รู้ปฏิจจสมุปบาทและอริยสัจจะ

             ขันธ์ ๕ เป็นชื่อของอุปาทาน ถ้าปล่อยขันธ์ ๕ หรือวางขันธ์ ๕ ไม่ได้ก็พ้นจากภพไม่ได้ คงเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในกามภพ รูปภพ อรูปภพ นี้เอง มืดมนวนอยู่ในที่มืดคือโลกนี้เอง ได้ในคำว่า อนุธภูโต อยํโลโก ซึ่งแปลว่าโลกนี้น่ะมืด ผู้แสวงหาโมกธรรม ถ้ายังติดขันธ์ ๕ อยู่แล้ว ยังจะพบโมกขธรรมไม่ได้เป็นอันขาด กายมนุษย์ กายทิพย์ กายรูปพรหม กายอรูปพรหม เหล่านี้อยู่ในพวกมีขันธ์ ๕ กล่าวคือ มนุษย์ เทวดา รูปพรหม อรูปพรหม เหล่านี้อยู่ในพวกมีขันธ์ ๕ สัตว์ดิรัจฉาน สัตว์นรกก็พวกมีขันธ์ ๕ พวกมืดทั้งนั้นยิ่งในโลกันตร์นรกเรียกว่า มืดใหญ่ทีเดียว

              วิชชาที่ว่านี้หมายเอา วิชชา ๓ คือ ๑ วิปัสสนาวิชชา ๒ มโนมขิทธิวิชชา ๓ อิทธิวิธีวิชชา แต่ถ้านับรวมตลอดถึง อภิญญาซึ่งเป็นประเภทหนึ่งของวิชชาเข้าด้วยกันแล้วรวมกันเป็น ๘ คือ ๔ ทิพพจักขุวิชชา ๕ ทิพพโสตวิชชา ๖ ปรจิตตวิชชา ๗ ปุพเพนิวาสวิชา ๘ อาสวักขยวิชชา

              ส่วนจรณะ นั้นมี ๑๕ คือ ๑ ศีลสังวร ๒ อินทรียสังวร ๓ โภชเนมัตตัญญุตา ๔ ชาคริยนุโยค ๕ ศรัทธา ๖ สติ ๗ หิริ ๘ โอตตัปปะ ๙ พาหุสัจจะ ๑๐ อุปักกโม ๑๑ ปัญญา กับรูปฌาน ๔ จึงรวมเป็น ๑๕

            วิปัสสนา ต่อไปนี้จักแสดงถึงวิชชา และจะยกเอาวิปัสสนาวิชชาขึ้นแสดงก่อน “วิปัสสนา” คำนี้ แปลตามศัพท์ว่า เห็นแจ้ง เห็นวิเศษ หรือนัยหนึ่งว่าเห็นต่างๆ เห็นอะไร? เห็นนามรูป, แจ้งอย่างไร? แจ้งโดยสามัญลักษณะว่าเป็นของไม่เที่ยง เต็มไปด้วยทุกข์และเป็นอนัตตา ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคล เราเขา มีข้อสำคัญที่ว่า เห็นอย่างไร? เป็นเรื่องแสดงยากอยู่ เห็นด้วยตาเรานี่หรือด้วยอะไร? ตามมนุษย์ไม่เห็นต้องหลับตาของมนุษย์เสีย ส่งใจไปจดจ่ออยู่ที่ศูนย์ดวงปฐมมรรค (คำว่าปฐมมรรคนี้ได้มาจากบาลีในสนธิกับประโยคว่า “ตตฺราย มาทิ” ซึ่งแปลกันมาว่า อยํปธมมคฺโค อันว่าปฐมมรรคนี้ อาทิภวติ มีอยู่เป็นเบื้องต้น ตตฺรนิพฺพาเน ในพระนิพพาน) เห็น จำ คิด รู้ มีอยู่ในดวงปฐมมรรคนั้น ตากายทิพย์ รูปพรหม อรูปพรหมไม่เห็น ก็เพราะว่าพวกเหล่านี้ยังไม่พ้นโลก เสมือนลูกไก่อยู่ในกระเปาะไข่ จะให้แลลอดออกไปเห็นข้างนอกย่อมไม่ได้ เพราะอยู่ในกระเปาะของตัวเพราะโลกมันบัง ด้วยเหตุว่าโลกมันมืดดังกล่ามาแล้วข้างต้น พวกเหล่านี้จึงไม่สามารถจะเห็น กล่าวคือ พวกที่บำเพ็ญได้จนถึงชั้นรูปฌาน และอรูปฌานก็ยังอยู่ในกระเปาะภพของตัว ยังอยู่จำพวกโลก หรือที่เรียกกันว่า ฌานโลกีย์ ยังเรียกวิปัสสนาไม่ได้ เรียกสมถะได้ แต่อย่างไรก็ดี วิปัสสนาก็ต้องอาศัยทางสมถะเป็นรากฐานก่อนจึงจะก้าวขึ้นสู่ขั้นวิปัสสนาได้

            การบำเพ็ญสมถะนั้น ส่งจิตเพ่งดวงปฐมมรรคตรงศูนย์ คือ กึ่งกลางกายภายในตรงกลางพอดี ไม่เหลื่อมซ้ายขวาหน้าหลัง แล้วเลื่อนสูงขึ้น ๒ นิ้ว เมื่อถูกส่วนก็จะเห็น กายมนุษย์ กายทิพย์ กายรูปพรหม กายอรูปพรหมเป็นชั้นๆ ซ้อนกันอยู่ภายในตามลำดับจากกายมนุษย์เข้าไป พิจาณาประกอบธาตุธรรมถูกส่วนรูปจะกะเทาะล่อนออกจากกันเห็นตามลำดับเข้าไป กายมนุษย์กะเทาะออกเห็นกายทิพย์ กายทิพย์กะเทาะออกเห็นกายรูปพรหม กายรูปกะเทาออกเป็นกายอรูปพรหม ในเมื่อประกอบธาตุธรรมถูกส่วน วอกแวกไม่เห็น นิ่งหยุดจึงเห็น หยาบไม่เห็นละเอียดจึงเห็นอาตาปี สัมปชาโน สติมา ประกอบความเพียรมั่น รู้อยู่เสมอไม่เผลอ เพียงแต่ชั้นกายทิพย์เท่านั้นก็ถอดส่งไปยังที่ต่างๆ ได้ ไปรู้ไปเห็นเหตุการณ์ได้เหมือนตาเห็น คล้ายกับนอนหลับฝัน แต่นี่ไม่ใช่หลับ เห็นทั้งตื่นๆ การนอนคนธรรมดาสามัญจะหลับเมื่อไรไม่รู้ จะตื่นเมื่อไรก็ไม่รู้ แต่ถ้าถึงชั้นกายทิพย์แล้วจะต้องให้หลับเมื่อไรจะได้ตื่นเมื่อไรทำได้ตามใจชอบ พวกฤาษีที่ได้บำเพ็ญฌานเขาก็ทำได้ แต่ทั้งนี้ก็อยู่ในขั้นสมถะนั้นเอง สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา ก็ได้เรียนฌานมาแล้วจากในสำนักฤาษี กล่าวคือ อาฬารดาบสและอุทกดาบสก็ได้ผลเพียงแค่นั้น พระองค์เห็นว่ายังมีอะไรดียิ่งกว่านั้น จึงได้ประกอบพระมหาวิริยะบำเพ็ญเพียรต่อไป จนในที่สุดพระองค์ได้บรรลุวิปัสสนาวิชชา เมื่อถึงขั้นนี้แล้วจึงมองเห็นสามัญลักษณะ เห็นนามรูปด้วยตามธรรมกาย เพราะพระองค์ทะลุกระเปาะไข่คือ โลกออกมาได้แล้ว

             พระองค์เห็นโลกหมดทั่วทุกโลก ด้วยตาธรรมกาย พระองค์รู้ด้วยญาณธรรมกาย ผิดกว่าพวกกายทิพย์รูปพรหมและอรูปพรหมเหล่านั้น เพราะพวกเหล่านั้นรู้ด้วยวิญญาณ แต่พระองค์รู้ด้วยญาณ จึงผิดกันสภาพเหตุการณ์ทั้งหลายแหล่พระองค์รู้เห็นหมด แต่มิใช่รู้ก่อน เห็น พระองค์เห็นก่อนรู้ทั้งสิ้น

            การเห็นรูปด้วยตามนุษย์ อย่างเช่น พระยะสะกับพวกไปพบซากศพและช่วยกันเผา ขณะเผาได้เห็นศพนั้นมีการแปรผันไปต่างๆ เดิมเป็นตัวคนอยู่เต็มทั้งตัว รูปร่าง สี สัณฐานก็เป็นรูปคน ครั้งถูกความร้อนของไฟเผาลน สีก็ดำด่างแปรไป ดำจนคล้ายตะโกหดสั้นเล็กลงทุกๆ ที แล้วแขนขาหลุดจากกันจนดูไม่ออกว่าเป็นร่างคนหรือสัตว์ ไม่เพียงเท่านั้น ครั้นเนื้อถูกไฟกินหมดก็เหลือแต่กระดูกเป็นท่อนเล็กท่อนน้อยในที่สุดกระดูกเหล่านั้นแห้งเปราะแตกจากกัน ล้วนเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย จนดูไม่ออกว่าเป็นกระดูกสัตว์หรือกระดูกมนุษย์ พระยะสะปลงสังเวชถึงความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แห่งสังขารร่างกายที่เป็นซากศพนั้น แม้กระนั้นก็ยังไม่ทำให้บรรลุมรรคผล จนกว่าจะได้ไปพบพระพุทธเจ้าจึงบรรลุมรรคผล นี่ก็เป็นหลักฐานที่ยืนยันว่า เห็นด้วยตามนุษย์ ไม่ทำให้บรรลุมรรคผลได้ 

             รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เรียกว่า เบญจขันธ์ คือ ขันธ์ ๕

             รูป จะกล่าวในที่นี้ เฉพาะรูปหยาบๆ คือสิ่งซึ่งธาตุทั้ง ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ ประกอบกันเข้ารวมกันเป็นก้อนเป็นชิ้น เป็นอัน และเห็นด้วยตา เช่น ร่างกายมนุษย์และสัตว์ ที่เรียกว่ารูป เพราะเหตุว่าเป็นของซึ่งย่อมจะต้องแตกสบายไปด้วยเหตุต่างๆ มีหนาวและร้อนเป็นต้น กล่าวคือ หนาวจัด เย็นจัด จนเกินขีด หรือถูกร้อนจนเกิดขีดย่อมแตกสลายไป แต่ถ้าแยกโดยละเอียดแล้ว รูปนี้มีหลายประเภทด้วยกัน เช่น อุปาทายรูปเป็นต้น แต่ว่ายังไม่นำมาแสดงในที่นี้ การพิจารณาโดยสามัญลักษณะ พิจารณาไปๆ ละเอียดเข้า ซึ้งเข้าทุกที จนเห็นชัดว่านี่มิใช่ตัวตนเอรา เขาอะไร สักแต่ว่าธาตุประชุมตั้งขึ้นแล้วก็ดับไปตามธรรมกายนั้นเห็นชัดเจน เห็นเกิดเห็นดับติดกันไปทีเดียว คือ เห็นเกิดดับๆๆๆ คู่กันไปทีเดียว ที่เห็นว่า เกิดดับๆ นั้นเหมือนอะไร เหมือนฟองน้ำ เหมือนอย่างไร เราเอาของฝาด เช่น เปลือกสนุ่นมาต้มแล้วรินใส่อ่างไว้ ขั้นต้นจะแลเห็นเป็นน้ำเปล่าๆ ต่อมาเมื่อเอามือแกว่งเร็วๆ อย่างที่เขาเรียกว่า ตีน้ำให้เป็นฟอง เราจะเห็นมีสิ่งหนึ่งปรากฏทวีขึ้นมา เป็นรูปเป็นร่างสิ่งนี้เรียกว่า ฟองน้ำ ดูให้ดีจะเห็นในฟองนั้นมีเม็ดเล็กๆ เป็นจำนวนมากติดต่อกันเป็นพืดรวมกัน เรียกว่าฟองน้ำ เราจ้องดูให้ดีจะเห็นว่าเม็ดเล็กๆ นั้นพอตั้งขึ้นแล้วก็แตกย่อยไปเรื่อยๆ ไม่อยู่นานเลย นี่แหละเห็นเกิดดับๆ ตาธรรมกายเห็นอย่างนี้ เห็นเช่นนี้จึงปล่อยอุปาทานได้

            เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อีก ๔ กองนั้น ก็ทำนองเดียวกัน เห็นเกิดดับๆ ยิบไป เช่นเดียวกับเห็นในรูป ทุกข์เป็นของมีและขึ้นประจำกับขันธ์ ๕ เป็นของธรรมดา แต่ที่เราเดือดร้อนก็เป็นเพราะไปยืนธรรมดาของมันเข้า ขันธ์ ๕ เป็นอนิจจังไม่เที่ยง ย่อมแปรผันไปตามธรรมดาของมัน เกิดแล้ว ธรรมดามันก็ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย เมื่อมันถึงคราวแก่ เราไม่อยากจะแก่หรือไม่ยอมแก่ อาการของมันที่แสดงออกมามีผมหงอกเป็นต้น ถ้าเราขืนมันตะเกียกตะกายหายาย้อมมันไว้ นี่ว่าอย่างหยาบๆ ก็เห็นแล้วว่าเกิดทุกข์แล้ว เกิดลำบากแล้ว ถ้าเราปล่อยตามเรื่องของมันก็ไม่มีอะไรมาเป็นทุกข์

           เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณก็ทำนองเดียวกัน ความทุกข์เกิดขึ้นเพราะขืนมัน ขืนธรรมดาของมัน สิ่งไม่เที่ยงจะให้เที่ยง สิ่งที่ไม่ใช่ตัวตนก็ยังขืนยึดว่าเป็นตัวตน เหตุที่ให้ขืนธรรมดาของมันเช่นนี้ อะไร? อุปาทานนั่นเอง ถ้าปล่อยอุปาทานได้ การขืนธรรมดาก็ไม่มี ตามแนวที่พระปัญจวัคคีย์ตอบกระทู้ถามสมเพ็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ตรัสถามว่าเมื่อมันมีอาการแปรผันไปเป็นธรรมดา แก่ เจ็บ ตาย เช่นนี้แล้ว เบญจขันธ์นี้จะเยกว่าเป็นของเที่ยงไหม? ตอบว่าไม่เที่ยง เมื่อไม่เที่ยงแล้วเป็นทุกข์หรือเป็นสุข? ตอบว่าเป็นทุกข์พระพุทธเจ้าข้า ถ้าเช่นนั้นควรละหรือจะยึดเป็นตัวตน? ไม่ควรพระพุทธเจ้าข้า

           อะไรเล่าเป็นเหตุให้เกิดอุปาทาน? ตัณหานั่นเอง ได้แก่ กามตัณหาความทะยานอยากเกี่ยวด้วยอารมณ์ ๖ มีรูปเป็นต้น ภวตัณหาความทะยานอยากเป็นไปในอารมณ์ ๖ ประกอบด้วยสัสสตทิฏฐิ ถือว่า เที่ยงถาวร วิภาวตัณหาความทะยานอยากเป็นไปในอารมณ์ ๖ ประกอบด้วยอุจเฉททิฏฐิ ถือว่าขาดสูญเมื่อละตัณหาได้ อุปาทานก็ไม่มี ตังจะยกอุทาหรณ์เทียบเคียงให้เห็น ดังเล่นสามรภรรยาที่หย่าขาดจากกันเมื่อเขายังไม่หย่ากันสามีไปทำอะไรเข้า ภรรยาก็เก็บเอามาเป็นทุกข์เป็นร้อนด้วย หรือเมื่อฝ่ายภรรยาไปทำอะไรเข้า ฝ่ายสามีก็เก็บเอามาเป็นทุกข์เป็นร้อนด้วยเลย ทั้งนี้เพราะอะไร? ก็เพราะเขาต่างหมดความยึดถือ (อุปาทาน) ว่าเขามีสามีภรรยากันแล้ว นี่ฉันใดก็ฉันนั้น นี่จะเห็นชัดในข้อว่า ทุกข์เกิดจากอุปาทาน อันเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวดูดดึงเข้ามา แต่ลำพังขันธ์ ๕ ไม่ใช่ตัวทุกข์ ได้ในคำว่า ปญฺจุปาทานกฺขนฺธาทุกฺขา รวมความก็ว่า ปล่อยอุปาทานไม่ได้ เป็นทุกข์ ปล่อยได้ หมดทุกข์

       ถอดกายทิพย์ออกเสียจากมนุษย์ กายมนุษย์ก็ไม่มีเรื่อง จะมีใครเป็นทุกข์ และในที่สุดจะต้องปล่อยอุปาทานให้หมดทั้งในกายทิพย์ กายรูปพรหมและอรูปพรหม คงแต่ธรรมกายเด่นอยู่

           เหตุใดพระองค์จึงเน้นสอนหนักไปในทาง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา? เมื่อใคร่ครวญโดยสุขุมแล้วจะมองเห็นว่า พระองค์สอนดังนั้นเพื่อตะล่อมให้คนที่มีความคิดใช้วิจารณ์ปัญญาสอดส่องเห็นได้เอง เช่น พระองค์ตรัสถึง “อนิจจัง” ก็เพื่อให้ค้นคิดว่า “นิจจัง” ตรัสถึง “ทุกขัง” ก็เพื่อให้ค้นคิดหา “สุขัง” ตรัสถึง “อนัตตา” ก็เพื่อให้คิดหา “อัตตา” คนที่มีปัญญาเฉลียวฉลาดประกอบด้วยความเพียรพินิจพิจารณา ย่อมจะมองเห็นแนวพระโอวาทของพระองค์ จะเทียบให้เห็น เช่น มีคน ๒ คนยืนอยู่ คนหนึ่งสูง คนหนึ่งต่ำ เรารู้จักคนสูง ใครมาถามเราว่าคนสองคนนั้นรู้จักไหม เราตอบว่าคนสูงเรารู้จัก เมื่อคนอื่นได้ยินคำตอบเช่นนั้น แม้ตาของเขาไม่แลเห็นคนสองคนนั้นเลย เขาย่อมจะรู้ว่าคนที่เราไม่รู้จักนั้นต่ำกว่า คนที่เรารู้จัก โดยเราไม่จำเป็นจะต้องพูดว่า คนต่ำเราไม่รู้จัก นี่ฉันใด อนิจจังบอกนิจจัง ทุกขังบอกสุขัง อนัตตาบอกอัตตา ฉันนั้น อะไรเล่าเป็นนิจจัง สุขัง อัตตา? ก็คือ ธรรมกาย นี้เอง เป็นตัวนิจจัง สุขัง อัตตา

            ติด หลุด เป็นหัวข้อสำหรับผู้ปฏิบัติ ปล่อยอุปาทานไม่ได้เรียกว่า “ติด” ปล่อยได้เรียกว่า “หลุด” คิดคือติดอยู่ในโลก หลุดคือพ้นจากโลกเรียกว่าโลกุตตระ เข้าแดนพระนิพพาน ต้องปล่อยอุปาทานทั้งในกายมนุษย์ กายทิพย์ กายรูปพรหม กายรูปพรหม ต้องพิจารณาให้เห็นความเป็นจริงแห่งเบญจขันธ์ ดังกล่าวมานั้น ด้วยธรรมกายจึงเป็นวิปัสสนาวิชชา อันจะเป็นทางให้หลุดได้

             วิปัสสนาวิชชา แยกได้เป็น ๑๐ ประการ คือ
                 1.    สัมมสนญาณ พิจารณาย่นย่อนามรูปคือความเห็นตามเป็นจริงของนามรูปนั้นๆ

            2.    อุทยัพพยญาณ คำนึงถึงความเกิดความดับของสังขารร่างกาย ดังอุทาหรณ์เรียกฟองน้ำดังที่กล่าวมาข้างต้น คือ เห็นเกิดดับๆๆๆ ติดต่อกันไป

                3.    ภังคานุปัสสนาญาณ คำนึงถึงแต่ความดับอย่างเดียว ให้เห็นว่าสังขารร่างกายที่เกิดมาแล้วนี้มันรังแต่จะแตกดับอย่างเดียว และก็จะแตกดับอยู่รอมร่อแล้ว ประหนึ่งเรือนที่ปลูกออยู่ริมตลิ่ง ทั้งตัวเรือนก็เซซวน ชวนจะพังอยู่แล้วด้วย ซึ่งเป็นความจริงแท้ เราพูดกันอยู่หยกๆ พอขาดคำเราอาจจะตาย เพราะโรคภัยอันตรายบ้อมอยู่รอบข้าง ไม่รู้ว่ามันจะปรากฏขึ้นขณะใด

             4.    ภยตูปัฏฐานญาณ คำนึงให้เห็นว่า สังขารร่างกายเป็นภัยเสมือนสัตว์ดุร้าย ไม่น่าจะเข้าใกล้ ซึ่งหมายความว่าไม่ควรจะหลงนิยมชมชื่น อันจะดูดดึงให้ใจเราหมกมุ่นเป็นเหตุให้ติดอยู่ในภาพ

               5.    อาทรนวญาณ นี่เป็นอีกแง่หนึ่งให้คำนึงถึงโทษแห่งสังขารว่าถ้าเรามีอุปทานยึดมั่นอยู่ว่าเป็นตัวเป็นตนของเราแล้ว มันจะให้ทุกข์โทษ ดังกล่าวในประกาศที่ ๔ นั้นดุจเดียวกัน

               6.    นิพพิทาญาณ เมื่อพิจารณาเห็นความเป็นไปแห่งสังขารดังกล่าวมาใน ๑-๒-๓-๔-๕ นั้นแล้ว ก็ให้เกิดปรีชาคิดเบื่อหน่ายสังขารเป็นกำลัง ไม่อยากได้ใคร่ดีแล้ว

           7.    มุญจิตุกัมยตาญาณ ถึงขั้นนี้ก็ใฝ่ใจที่จะให้พ้นเสียจากสังขาร คือไม่อยากมีสังขาร แต่ไม่ได้หมายความว่าจะให้ทำลายสังขารเสียโดยความโง่ๆ เช่น ฆ่าตัวตาย ให้ดำเนินการที่จะคิดพ้นจากสังขารโดยอุบายที่ถูกทาง

              8.    ปฏิสังขาญาณ คิดคำนึงหาทางพ้นต่อไป แต่หาทางออกทางพ้นไม่ได้เพราะมันได้เกิดมาเป็นสังขารเสียแล้ว ผะอืดผะอมอย่างนี้เรียกว่า กลืนไม่เข้าคายไม่ออก สำรอกไม่ไหว ต่อไปก็ถึง

               9.    สังขารุเปกขาญาณ วางใจเป็นกลางไว้ กับว่าเมื่อกลืนไม่เข้าคายไม่ออกแล้ว ก็อมเฉยไว้ก่อน ต่อจากนี้จะมีญาณอีกอันหนึ่งเกิดขึ้น คือ

             10.    อนุโลมญาณ คำนึงผ่อนให้เป็นไปตามความที่เป็นจริงของมัน นี่เป็นมัชฌิมาปฏิปทา เดินสายกลางหันเข้หาอริยสัจจ์ ๔ โดยวิธีดังที่บรรยายมาข้างต้น ว่าโดยรวบรัดตัดความก็หันเข้ามาหาหลักธรรมกายนั่นเอง พิจารณาเห็นแจ้งชัด อริยสัจจ์ ๔ ด้วยตาธรรมกายรู้ชัดด้วยญาณธรรมกาย จึงเป็นวิปัสสนาวิชชาแต่ละอย่างๆ ที่กล่าวมาใน ๑๐ ข้อนี้เป็นอาการหรืออารมณ์ของวิปัสสนาที่จะพยุงจิตให้ข้ามขึ้นจากโลกีย์ไปสู่ภูมิโลกุตตระ คำว่าสังขารร่างกายในที่นี้หมายถึงนามรูปนั่นเอง ที่เรียกว่านามรูปนั้นได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ๕ อย่างนี้รวมกันย่นย่อลงเรียกว่านามรูป

         มโนมอิทธิ แปลงว่าฤทธิ์ทางใจ ใครบำเพ็ญได้ถึงที่ย่อมทำได้ คือทำให้ใจมีฤทธานภาพผิดไปจากธรรมดา จะนึกให้เป็นอย่างไรก็เป็นไปตามนึก ดังเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จจากดวงดึงส์นึกจะให้เทวดามนุษย์เห็นกัน เทวดีก็มองเห็นมนุษย์ มนุษย์ก็มองเห็นเทวดา ซึ่งมีปรากฏในเทโวโรหนสูตรนั้น เพราะมีธรรมกาย ธรรมกายนึกอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น

           อิทธิวิธี แปลว่า แสดงฤทธิให้ปรากฏได้ต่างๆ ดังเช่นเนรมิตจักร เนรมิตพระกาย และเนรมิตปราสาทราชฐานในครั้งทรงทรมานพระเจาชมพูบดี จนพระเจ้าชมพูบดีหมดทิฏฐิมานะ แล้วจึงทรงแสดงธรรมสั่งสอน เป็นต้น

            ทิพพจักขุ แปลว่า ตาทิพย์ ซึ่งหมายความว่า มองเห็นอะไรๆ ได้หมด ไม่ว่าอยู่ใกล้ไกลอย่างไร ดังเช่นเรื่องพระมเหศวรทดลองพระศาสดา ให้ทรงปิดพระเนตรเสียแล้วพระมเหศวรซ่อนตัว โดยจำแลงตัวให้เล็กแทรกแผ่นดินไปซุกอยู่ในเม็ดทรายได้เชิงเขาพระสุเมรุ พระองค์ก็มอเห็น ทรงเรียกให้ขึ้นมา ยังหาว่าเป็นอุบายของพระองค์จะเดาลักเค้าเอา ในที่สุดพระองค์ก็เอฝ่าพระหัตถ์ซ้อนเอาตัวติดขึ้นมาพร้อมกับเมล็ดทราย นั้นให้เห็นประจักษ์ ตาทิพย์นี้แม้สาวกของพระองค์ก็มีได้ เอาตามนุษย์ ตากายทิพย์ รูปพรหม อรูปพรหม ซ้อนกัน แล้วเอาตาธรรมกาย มองซ้อตากายอรูปพรหม จะเห็นชัดคล้ายกับว่าแว่นหลายๆ ชั้นซ้อนกัน

            ทิพพโสต แปลว่า หูทิพย์ ใครจะพูดอะไรกันที่ไหนได้ยินหมด โดยเอาแก้วหูกายมนุษย์ ทิพย์ รูปพรหม อรูปพรหม ซ้อนกันตลอดแก้วหูของธรรมกาย ย่อมสัมฤทธิ์ผลเป็นหูทิพย์ได้ยินอะไรหมด

        ปรจิตตวิชชา แปลว่า ความรู้ที่สามารถทำให้ล่วงรู้ถึงวารจิตของผู้อื่นได้ ดังมีเรื่องพวกยักษ์เป็นอุทาหรณ์ คิดว่าจะตั้งปัญหาถามพระศาสดา ถ้าแก้ไม่ได้จะจับโยนข้ามมหาสมุทร ครั้งมาถึงก็เรียกพระองค์ว่ามานี่ ยังมิทันจะได้พูดอะไรต่อไป พระองค์ก็ล่วงรู้เสียก่อนแล้วว่า อาฬวกยักษ์คิดมาอย่างไร พระองค์ทรงตอบเย้ยไปว่า จะเรียกตถาคตไยเล่า เข้าไปหาท่านจะจับเราโยนข้ามมหาสมุทร แล้วในที่สุดได้ตรัสตอบไปว่า ปัญหาที่ท่านคิดจะถามเรานั้นพ่อของท่านบอกไว้ใช่ไหม แล้วเราจะบอกท่านได้ต่อไปด้วยว่าพ่อท่านได้รับบอกมาจากพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่ล่วงรู้ใจคนได้อย่างนี้

               ปุพเพนิวาสวิชชา แปลว่า ความรู้ที่ระลึกชาติหนหลังได้ ว่าชาติไหนเป็นอะไร เกิดที่ไหนมาแล้ว ดังมีเรื่องเวสสันดรชาดกเป็นหลักฐาน ไม่มีสิ่งที่จะพึงระแวงสงสัยอย่างไร เป็นองค์แห่งสัมมาสัมโพธิญาณแน่แท้
อาสวักขอวิชชา แปลว่า ความรู้ที่ทำลายอาสวะให้หมดสิ้นไป กล่าวคือ กามาสวะ ภวาสวะ ทิฏฐาสวะ อวิชชาสวะ ทั้ง ๔ ประการนี้ พระองค์มีทัศนะปรีชาญาณหยั่งรู้วิถีทางที่ทำให้หมดสิ้นไป ไม่มีในพระกมลของพระองค์แม้แต่สักเท่ายองใย

             จรณะ ๑๕ ต่อไปนี้ถึงเรื่อง จรณะ ๑๕ จักได้ขยายความพอสมควร จรณะ แปลว่า ประพฤติหรือธรรมควรประพฤติ

                1.    ศีลสังวร ได้แก่ ความสำรวมในพระปาฏิโมกข์

              2.    อินทรีย์สังวร การสำรวมอินทรีย์ ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มิให้อารมณ์ ส่วนที่จะชักนำไปทางชั่วเข้าติดอยู่ได้ แต่การสังวรเหล่านี้มีประจำพระองค์เป็นปกติอยู่ มิจำต้องพยายามฝืนอย่างเช่นปุถุชนทั้งหลาย

                3.    โภชเนมัตตัญญุตา การรู้ประมาณในการบริโภคพอสมควร ไม่มากไม่น้อยเกินไป เป็นจริยาที่เราควรเจริญรอยตาม ว่าโดยเฉพาะการบริโภคอาหาร ถ้ามากเกินไปแทนที่จะมีคุณแก่ร่างกายกลับเป็นโทษ

             4.    ชาคริยานุโยค ทางประกอบความเพียรทำให้พระองค์ตื่นอยู่เสมอ คือ รู้สึกพระองค์อยู่เสมอ นิวรณ์เข้าครอบงำไม่ได้เป็นปกติ

               5.    สัทธา พระองค์ประกอบด้วยสัทธาอย่างอุกฤษฎ์ ที่ปรากฏในเวสสันดรชาดก เป็นต้น พระองค์ได้บำเพ็ญทานบารมีบริจาคของนอกกาย ทานอุปบารมีสละเนื้อเลือดเมื่อทำความเพียร ทานปรมัตถ-บารมี สละได้ถึงชีวิตมาแล้วอย่างสมบูรณ์

            6.    สติ นั้นได้แก่ที่เรียกว่าสติวินัย พระองค์ไม่เผลอในกาลทุกเมื่อ เราผู้ปฏิบัติควรเจริญรอยตามดังแนวที่ทรงสอนไว้ในมหาสติปัฏฐานสูตร ไม่ว่าจะเดินยืนนั่งนอนให้มีสติอยู่เสมอ สติในมหาสติปัฏฐานสูตรท่านหมายเอาสติที่ตรึกถึง กาย เวทนา จิต ธรรม

               7.    หิริ การละอายต่อความชั่ว

               8.    โอตตัปปะ สะดุ้งกลับบาป ทั้ง ๒ ประการนี้ เป็นจรณะที่ติดประจำพระองค์อยู่อย่างสมบูรณ์

               9.    พาหุสัจจะ ฟังมาก นี่ก็มีประจำพระองค์มาแต่ครั้งยังสร้างบารมี พระองค์ทรงเอาใจใส่ฟังธรรมในสำนักต่างๆ เป็นลำดับมา จนกระทั่งอาฬารดาบส และอุทกดาบส ซึ่งได้ทรงเรียนรู้รูปฌาน อรูป-ฌาน มจากสำนักนี้

              10.    อุปักกโม ความเพียรไม่ละลด ดังเช่นทรงบำเพ็ญพุทธกิจ ๕ เป็นประจำ ๑ เวลาเข้าบิณฑบาต ๒ เวลาเย็นทรงแสดงธรรม ๓ เวลาค่ำทรงประทานพระโอวาทแก่ภิกษุ ๔ เวลาเที่ยงคืนทรงเฉลยปัญหาเทวดา ๕ เวลาใกล้รุ่งพิจารณาเวไนยสัตว์ที่จะพึงโปรด

               11.    ปัญญา มีความรู้ความเป็นกว้างขวางหยั่งรู้เหตุรู้ผลถูกต้องไม่มีผิดพลาด จรณะยังประกอบด้วย รูปฌานอีก ๔ จึงรวมเป็นจรณะ ๑๕ รูปฌาน ๔ นั้น พระองค์ได้อาศัยมาเป็นประโยชน์ที่จะขยับขยายโลกิยปัญญาให้เป็นโลกุตตระ เป็นพวกสมาธินั่นเอง แลในจำพวกสมาธินั้นอัปปนาสมาธิจึงเป็นองค์ปฐมฌานแม้กระนั้นยังเป็นโลกีย์ ต้องเห็นด้วยตาธรรมกายหยั่งรู้ด้วยญาณธรรมกายจึงเป็นโลกุตระ ฌาน ๘ นั้นเป็นจรณะส่งข้ามโลก พระองค์เรียนฌานนั้นจากดาบส ต่อจากนั้นพระองค์มาแสวงหาด้วยพระองค์เอง จึงได้สำเร็จพระสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นองค์อรหันตสัมมาสัมพุธโธ

             สุคโต แปลได้เป็นหลายนัยเช่นว่า ไปดีแล้ว ไปสู่ที่ดี หรือทรงพระดำเนินงาม ที่ว่าไปดีแล้วหมายถึงว่าพระองค์ประพฤติดี ทั้งกาย วาจา ใจ คือกายเป็นสุจริต วาจาสุจริต ใจสุจริต ประพฤติสม่ำเสมอมาเป็นอเนกชาติ ดับขันธ์จากชาติหนึ่งก็ไปสู่สุคติทุกชาติ ไม่ไปสู่ทุคติเลย อย่างนี้ก็เรียกว่าสุคโต ไปดีแล้ว

          นัยหนึ่งพระองค์ดำเนินกาย วาจา ใจ ไปในแนวอริยมรรค ได้แก่ มรรคมีองค์ ๘ มีสัมมาทิฏฐิเป็นต้น สัมมาสมาธิเป็นปริโยสาน ซึ่งย่อลงเป็นศีล สมาธิ ปัญญา พระองค์เดินทางศีลเป็นเบื้องต้น ศีลมีประเภทจำแนกละเอียดไว้มากมาย รวมเข้าเป็นวินัยปิฎกถึง ๕ พระคัมภีร์ รวมยอดเข้าเป็นปฐมมรรค ปฐมมรรคเป็นดวงใสอยู่ในกึ่งกลางกาย นั้นแหละ รวมยอดมาจากศีล นี่แหละตัวศีลสุคโตในทางศีล พระองค์เดินทางในไปหยุดอยู่ตรงดวงปฐมมรรคนั้น หยุดสงบจน ราคะ โทสะ โมหะ อภิชฌา พยาบาทเข้าไม่ได้ ไม่มีอะไรเข้าไปทำให้ขุ่นมัว จึงใสดุจกระจกส่องเงาหน้าก็เข้าขั้นสมาธิ หยุดนิ่งจนมี “รู้” ผุดขึ้นเรียกว่า ปัญญาหยุดนิ่งอยู่เช่นนั้นเป็นทำนองเดียวกัน ตั้งแต่กายทิพย์ รูปพรหม อรูปพรหม จนถึงธรรมกาย เมื่อธรรมกายหยุดนิ่ง จิตของธรรมกายเป็นมรรคจิต ญาณธรรมกายเป็นมรรคปัญญา ธรรมกายเข้าสมาบัติดูอริยสัจต่อไป ดวงใสถึงขนาดตกศูนย์แล้วกลับเป็นโสดาบันบุคคลแล้ว เป็นสกทาคา อนาคา โดยทำนองเดียวกันจนธรรมกายอนาคาตกศูนย์จึงเป็นพระพุทธเจ้า อย่างนี้ก็เรียนสุคโต

            อีกนัยหนึ่งว่า เขมังทิสัง คัฉมาโน แปลว่า ไปอยู่สู่แดนอันเกษม กล่าวคือ นิพพาน คือเมื่อธรรมกายเพ่งเล็งถูกส่วนตกศูนย์ มีอายตนะอีกอย่างหนึ่งที่เรียกว่า อายตนนิพพานดึงดูดธรรมกายที่ตกศูนย์นั้นเข้านิพพานอยู่เนืองนิจ แม้ในขณะมีพระชนม์อยู่ ชื่อว่าไปอยู่สู่แดนเกษมประการหนึ่ง เมื่อจะดับขันธ์พระองค์เข้าสมาบัติ อายตนนิพพานดึงดูดเข้าสู่นิพพานไป นี่ก็เรียกว่า ไปสู่แดนอันเกษม ซึ่งอยู่ในความหมายว่าสุคโต

            สุคโต ที่แปลว่า ทรงพระดำเนินงาม หมายถึงว่าเมื่อครั้งจะทรงพระดำเนินไปโปรดพระปัญจวัคคีย์ยังป่าอิสิปตนะนั้น ทรงเดินไปด้วยอย่างพระบาท มีฉัพพรรณรังสีรุ่งโรจน์จนแม้ แต่ว่าสัตว์จตุบททวีบาทที่มาแลเห็น ก็งงงันหยุดนิ่งตะลึงไปไม่ได้ อย่างนี้เรียกว่าทรงพระดำเนินงาม

           สุนฺทรฐานํ คตตฺตา ที่ว่าสุคโตเพราะอรรคว่าไปสู่ที่ไหน ดีที่นั่น ดังเล่นครั้งเมื่อเมืองไพสาลีเกิดไข้ทรพิษระบาดไปทั่วเมือง ผู้คนล้มตายกันมากจนหาคนจะเก็บศพจะฝังไม่ได้ถึงกับปล่อยให้เน่าคาเรือน พวกเจ้าลิจฉวีประชุมกันให้ไปเชิญพระองค์ พระองค์มาถึงฝั่งแม่น้ำข้างหนึ่งเป็นเวลาเย็นแล้ว จึงทรงประทับยับยั้งอยู่ ในคืนนั้นเทวดีทั้งหลายรู้ว่ารุ่งขึ้นพระศาสดาจะเสด็จข้ามฟากไปสู่นครไพสาลี เห็นว่าที่นั่นอากูลไปด้วยซากศพ จึงประชุมกันให้ วัสสวลาหกบันดาลให้ฝนตกลงมากมายจนถึงเป็นกระแสน้ำพัดซากศพเหล่านั้นไปหมดสิ้น ก่อนเวลาที่พระองค์จะเสด็จไปถึง เมื่อพระองค์เสด็จข้ามฟากไปถึงนครไพสาลีก็สะอาดหมดจดแล้ว พวกเจ้าลิจฉวีถวายอาหารบิณฑบาต ทรงเจริญพระปริตรและให้พระอานนท์เอาน้ำ พระพุทธมนต์ไปประพรมด้วยใช้กำหญ้าคาจุ่มน้ำพระพุทธมนต์ อมนุษย์ก็ปลาสนาการไปหมด โรคภัยก็สงบ ดังนี้ก็ได้ชื่อว่า สุคโต

             โลกวิทู แปลว่ารู้แจ้งซึ่งโลก โลกแบ่งออกเป็น ๓ คือ สังขารโลก สัตว์โลก โอกาสโลก โลกทั้ง ๓ นี้ สมเด็จพระบรมศาสดาทรงรู้แจ้งหมด รู้ถึงความเป็นไปของโลกเหล่านี้โดยละเอียดด้วย จึงได้พระนามว่าโลกวิทู

             คำว่าโลก หมายความว่าเป็นที่ก่อแห่งสัตว์ หรือนัยหนึ่งว่าเป็นที่ก่อผลแห่งสัตว์ ซึ่งว่าเป็นที่ก่อแห่งสัตว์ก็คือเป็นที่เกิดที่อยู่แห่งสัตว์ ที่ว่าเป็นที่ก่อผลแห่งสัตว์ก็คือเป็นที่ซึ่งสัตว์ได้อาศัยก่อกุศลและอกุศล ว่าโดยเฉพาะโลกมนุษย์เป็นที่มนุษย์อาศัยสร้างบุญ แล้วก็ได้ผลไปบังเกิดในสวรรค์ หรือบำเพ็ญบารมีแล้วส่งผลไปสู่นิพพาน ดั่งเช่นองค์สมเด็จพระศาสดา ถ้าสร้างบาปแล้วก็เป็นผลให้ไปเกิดในนรก

          สังขารโลก คือโลกที่มีอาหารเป็นปัจจัยปรุงแต่งได้แก่คำว่า อาหารรัฏฐิติกา สัตว์อยู่ได้เพราะอาหารปรนปรือ อาหารแปลว่าประมวลมาหรือเครื่องปรนปรือ และแบ่งออกเป็น ๔ ประเภท คือ ๑ กวลิงการาหาร ๒ ผัสสาหาร ๓ มโนสัญเจตนาหาร ๔ วิญญาณาหาร

           กวลิงการาหาร (กฬลิงการาหาร) หมายความว่า อาหารที่เป็นคำๆ เช่น คำข้าว ส่วนละเอียดของอาหาร คือ โอชะ หรือที่เรียกกันใหม่ๆ ว่าวิตามินนั้นเข้าไปปรนปรือร่างกาย จึงเป็นปัจจัยให้สัตว์ดำรงชีวิตอยู่ได้ สัตว์ทั้งหลายมีอาหารหยาบมากและละเอียดต่างกันเป็นพวกๆ เช่น จระเข้กินาหารหยาบมาก แม้ก้อนหินหรือสัตว์ตัวใหญ่ๆ แต่แล้วก็มีโอชะไปหล่อเลี้ยงร่างกายมันได้ นกยูงกินแมลงต่างๆ ทั้งตัว สุนับในแทะกินกระดูกสัตว์ที่แข็งๆ ข้างม้าโคกระบือกินหญ้าและใบไม้ของหยาบๆ ก็มีโอชะไปหล่อเลี้ยงร่างกายมันได้ มนุษย์กินอาหารละเอียดกว่าสัตว์ที่กล่าวมาเป็นชั้นๆ เช่น ราษฎรสามัญกินหยาบกว่าพระมหากษัตริย์พวกเทวดากินอาหารละเอียดกว่ามนุษย์ อย่างที่เรียกว่าทิพย์ก็คือโอชะส่วนละเอียดของอาหาร พวกพรหมละเอียดยิ่งกว่าเทวดาอีก มีจักรพรรดิคอยปรนปรือ แม้เลยชั้นรูปพรหม อรูปพรหมขึ้นไป คือถึงชั้นนิพพานก็มีอาหารส่วนละเอียดไปหล่อเลี้ยงเช่นเดียวกัน อาหารละเอียดเป็นที่สุดแต่อยู่นอกโลก นี่เป็นการสาวหาเหตุผลประกอบเป็นลำดับชั้นไป มิใช่ตำรับตำราโดยตรง แม้ในพวกเทวดากันเองก็มีอาหารละเอียดต่างกันขึ้นไปทุกชั้น การกินอาหารของพวกเทวดามีอาการเหมือนเราฝัน แล้วก็มีความอิ่มเอิบไปตามระยะเวลาแต่ระยะเวลานานกว่ามนุษย์ต่างกันเป็นลำดับขึ้นไป

            อาหารเป็นปัจจัยให้เกิดรูป มีโอชะเป็นคำรบ ๘ คือ ปฐวี อาโป เตโช วาโย วณฺโณ คนฺโธ รโส โอชา ซึ่งเรียกว่ากลาปรูป คือ รูปเกิดจากอาหารเป็นคำๆ นี้จำพวกวลิงการาหาร

            ผัสสาหาร ได้แก่ ผัสสะทั้ง ๖ คือ ผัสสะทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ผัสสะแปลว่าความกระทบ เช่น เมื่อรูปมากระทบตาก็เกิดขึ้นเรียกว่า จักขุสัมผัส อีก ๕ อย่างก็เช่นกัน ผัสสะนี้เป็นอาหารเพราะประมวลให้เกิดเวทนาหรือปรนปรือให้เกิดเวทนา ๓ ผัสสะที่เกิดจากกระทบอารมณ์ที่ดีก็ให้เกิดสุขเวทนา กระทบอารมณ์ชั่วก็ให้เกิดทุกขเวทนา อารมณ์ไม่ดีไม่ชั่วก็ให้เกิดอุเบกขาเวทนา ดังเช่นพระสารีบุตรยืนกั้นร่มให้พระศาสดาได้เป็นเวลา ๗ วัน โดยไม่หิวโหย ก็เพราะผัสสาหารอย่างนี้ สัตว์นรกดำรงชีพรับเคราะห์กรรมอยู่ได้ ก็เพราะผัสสาหารทางชั่ว คนนอนหลับอยู่ได้ก็ด้วยผัสสะชนิดให้เกิดอุเบกขาเวทนา

            มโนสัญเจตนาหาร ได้แก่ การคิดอ่านทางใจ มโนสัญเจตนาหารนี้เป็นอาหารประมวลมาซึ่งภพ ๓ คือ กามภพ รูปภพ อรูปภพ แล้วแต่เจตนา คือมุ่งไปเกาะภพไหน เมื่อประกอบถูกส่วนก็ไปสู่ภพนั้น เจตนาเป็นตัวกรรมได้ในบาลีว่า เจตนาหํ ภิกฺขเว วทามิ ซึ่งแปลความว่าดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวว่าเจตนานั้นเองเป็นตัวกรรม คนที่ทำกรรมเป็นกุศล สุคติภพย่อมคอยท่ารับรองอยู่ และคนที่ทำกรรมเป็นอกุศล ทุคติภพย่อมคอยท่ารับรองเขาอยู่เหมือนกัน

           วิญญาณาหาร วิญญาณแปลว่าความรู้แจ้ง ความรู้แจ้งเป็นอาหารชนิดหนึ่งเหมือนกัน ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เหล่นี้เป็นที่รับรองของวิญญาณๆ ย่อมมีรสในอารมณ์ ๖ อย่าง ไม่ว่าอย่างใดอย่างหนึ่ง วิญญาณจึงเป็นอาหารประมวลให้เกิดนามรูปได้ในคำว่า วิญญาณปัจจยา นามรูปัง ซึ่งแปลว่า วิญญาณเป็นปัจจัยให้เกิดนามรูป

            สัตว์โลก ที่ว่าพระองค์ทรงรู้แจ้งซึ่งสัตว์โลกนั้น คือพระองค์ทรงรู้แจ้งซึ่งธรรมเป็นที่มาแห่งจิตของสัตว์ทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายมีอัชฌาสัย หรือความเห็นต่างๆ กัน เช่น จำพวกหนึ่งเห็นว่าโลกเที่ยงไม่มียักเยื้องแปรผัน และเห็นว่าเกิดมาเป็นมนุษย์แล้ว เมื่อตายไปก็ต้องกลับมาเกิดเป็นมนุษย์อย่างเดิม อีกพวกหนึ่งเห็นว่าตายเป็นขาดสูญ หมดสิ้นกันเท่านั้น ไม่มีอะไรในผู้นั้นจะมาเกิดอีก ทำดี ทำชั่ว ก็สิ้นสุดเพียงวันตาย ไม่มีบุญ ไม่มีบาปจะตามไปสนองในภพหน้าที่ไหนอีก อย่างนี้เรียกว่าไม่รู้ซึ่งความเป็นจริงของโลก ส่วนพระองค์ทรงรู้จริงเห็นแจ้งซึ่งสัตว์โลกว่าไม่เป็นเช่นนั้น ที่จริงสัตว์โลกทั้งหลายย่อมเป็นไปตามยถากรรม ทำดีความดีย่อมติดตามไปสนองในภพหน้า ทำชั่วความชั่วย่อมติดตามไปสนองในภพหน้าเป็นเสมือนเงาตามตัว อันเรียกว่า ยถาภูตญาณทัสสนะ จึงได้ชื่อว่าโลกวิทูนัยหนึ่ง

            อนุสเย ชานาติ ทรงรู้แจ้งซึ่งอนุสัย ๗ ประการ คือ กามราคานุสัย ภวราคานุสัย ปฏิฆานุสัย ทิฏฐานุสัย วิจิกิจฉนุสัย มานานุสัย อวิชชานุสัย

          จริตงฺ ชานาติ ทรงรู้แจ้งจริตแห่งสัตว์ทั้งหลาย ๖ ประการ คือ ราคจริต โทสจริต โมหะจริต วิตักกจริต สัทธาจริต พุทธิจริต

          อธิมุตฺติ ชานาติ ทรงรู้แจ้งนิสัยต่ำสูง และความเป็นผู้มีใจบุญ ความเป็นผู้มีใจบาป แห่งสัตว์ทั้งหลายทรงรู้แจ้งซึ่งความมีกิเลสหนาบางแห่งสัตว์ทั้งหลาย

            ทรงรู้แจ้งในอินทรีย์ของสัตว์ทั้งหลาย ว่าแก่อ่อนอย่างไร กล่าวคือ สัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา เรียกว่า อินทรีย์ ๕ คือ ความเชื่อ ความเพียร สติ สมาธิ และปัญญา แล้วก็ทรงหาอุบายโปรดในเมื่อทรงเห็นว่าอินทรีย์แก่กล้าสมควรแล้ว ดังเล่นวักกลิพราหมณ์เห็นพระองค์มีพระสิริโฉมอันงามชอบเนื้อชอบใจ จนถึงขอบวชเป็นภิกษุ บวชแล้วก็เฝ้ามองดูพระสิริโฉมของพระองค์เป็นเนื่องนิจ พระองค์ก็ทรงรอไว้ ครั้งเมื่อเห็นว่าอินทรีย์แก่กล้าแล้วก็จึงทรงเริ่มหาอุบายโปรด โดยตรัสว่า วักกลิ ท่านจะมัวมามองดูร่างกายอันเน่าเปื่อยนี้ใยผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นจึงจะเห็นเรา พระวักกลิน้อยใจที่พระองค์ตรัสห้ามเช่นนั้น จึงอำลาจากพระองค์จะไปโดดภูเขาตาย ในเมื่อใกล้โดดพระองค์ได้เปล่งรัศมีให้เห็น ประหนึ่งไปประทับอยู่เฉพาะหน้า พระวักกลิวิ่งโลดโผเข้าไปในรัศมีของพระองค์ด้วยความปิติเลื่อมใสอันแรงกล้า ก็ได้บรรลุมรรคผลในกาล บัดนั้น ลมความปรารถนาแล้วก็มาเฝ้าพระบรมศาสดาโดยทางอากาศ

            สวกาเร ทวากาเร ชานาติ อีกประการหนึ่ง พระองค์ทรงรู้แจ้งว่าสัตว์จำพวกใดมีอาการดี มีอาการชั่ว แก้วไหวหรือไม่ไหว มีสัทธามีปัญญา หรือว่าหาสัทธาหาปัญญามิได้เลย

           ภัพเพ อภัพเพ ชานาติ ประการหนึ่งทรงรู้ว่า สัตว์จำพวกใดทรงโปรดได้ จำพวกใดทรงโปรดไม่ได้ เช่น สัตว์พวกสัมมาทิฏฐิโปรดได้ จำพวกมิจฉาทิฏฐิโปรดไม่ได้

               โอกาสโลก สภาพที่รับรองซึ่งกันและกัน คือ

    อากาศ            รับรอง        ธาตุไฟ
    ธาตุไฟ            รับรอง        ธาตุน้ำ
    ธาตุน้ำ            รับรอง        ธาตุดิน
    ธาตุดิน            รับรอง        ภูเขาตรีกูฏ
    ภูเขาตรีกูฏ       รับรอง        ภูเขาสุเมรุราช
    ภูเขาสุเมรุราช        รับรอง        ชั้นจาตุมหาราช
    ชั้นจาตุมหาราช      รับรอง        ชั้นดาวดึงส์
    ชั้นดาวดึงส์      รับรอง        ชั้นยามา
    ชั้นยามา          รับรอง        ดุสิต
    ดุสิต                รับรอง        นิมมานรดี
    นิมมานรดี         รับรอง        ปรนิมมิตวสวัตตี
    ปรนิมมิตวสวัตตี      รับรอง        พรหมปริสัชชา
    พรหมปริสัชชา        รับรอง        พรหมปุโรหิตา
    พรหมปุโรหิตา        รับรอง        มหาพรหมา
    มหาพรหมา       รับรอง        ปริตรตาภา
    ปริตรตาภา        รับรอง        อัปปมาณาภา
    อัปปมาณาภา    รับรอง        อาภัสสรา
    อาภัสสรา          รับรอง        ปริตตสุภา
    ปริตรตาสุภา      รับรอง        อัปปมาณสุภา
    อัปปมาณสุภา        รับรอง        สุภกิณหา
    สุภกิณหา              รับรอง        เวหัปผลา
    เวหัปผลา              รับรอง        อสัญญาสัตตา
    อสัญญาสัตตา       รับรอง        อวิหา
    อวิหา             รับรอง        อตัปปา
    อตัปปา           รับรอง        สุทัสสา
    สุทัสสา           รับรอง        สุทัสสี
    สุทัสสี             รับรอง        อกนิฏฐา
    อกนิฏฐา          รับรอง         อากาสานัญจายตนะ
    อากาสานัญจายตนะ   รับรอง        วิญญาณัญจายตนะ
    วิญญาณัญจายตนะ    รับรอง        อากิญจัญญายตนะ
    อากิญกัญญายตนะ    รับรอง        เนวสัญญานาสัญญายตนะ

                (มนฺสสโลกโตปัฏฐาน) แต่มนุษย์โลกขึ้นไป ถึงขั้นจาตุมหาราชิกาได้ ๔๒,๐๐๐ โยชน์ (กายเทวดาสูง ๑๐๐ เส้นใหญ่พอสมควร อายุ ๕๐๐ ปีทิพย์ นับปีของมนุษย์ได้เก้าล้านปี)

                  แต่จาตุมาหราชิการขึ้นไป        ถึงดาวดึงส์ได้    สี่หมื่นสองพันโยชน์ (๔๒,๐๐๐ โยชน์)
                  แต่ดาวดึงส์ขึ้นไป        ถึงยามาได้    สี่หมื่นสองพันโยชน์ (๔๒,๐๐๐ โยชน์)
                  แต่ยามาขึ้นไป            ถึงดุสิตได้    สี่หมื่นสองพันโยชน์ (๔๒,๐๐๐ โยชน์)
                  แต่ดุสิตขึ้นไป            ถึงนิมมานรดีได้    สี่หมื่นสองพันโยชน์ (๔๒,๐๐๐ โยชน์)
                  แต่นิมมานรดีขึ้นไป      ถึงปรนิมมิตวสภัตตีได้    สี่หมื่นสองพันโยชน์ (๔๒,๐๐๐ โยชน์)

               แต่ปรนิมมิตวสวัตตีขึ้นไป ห้าลานหาแสนแปดพันโยชน์ (๕,๕๐๘,๐๐๐ โยชน์) ถึงพรหมปริสัชชาขึ้นไปอีกเท่านั้น พรหมปุโรหิตาขึ้นไปเท่าๆ กันดังนี้ จนถึงเนวสัญญานาสัญญายตนะ มีระยะสูงเท่าๆ กัน ดังนี้

                 ธาตุ ๖ – ขันธ์ ๕ ธาตุส่วนหยาบที่มีอยู่ตามปกติ คือ
                           ดินหนา           ๒๔๐,๐๐๐ โยชน์
                           น้ำหนา           ๔๘๐,๐๐๐ โยชน์
                           ไฟหนา           ๙๖๐,๐๐๐ โยชน์
                           ลมหนา        ๑,๙๒๐,๐๐๐ โยชน์
                           วิญญาณหนา    ๓,๘๔๐,๐๐๐ โยชน์
                           อากาศหนา    ลงไปไม่มีที่สุด

              เช่นภาพ ๓ นี้อากาศที่อยู่รอบๆ ภพก็ไปจดกับภพที่อยู่รอบๆ ออกไปข้างล่างจดขอบบนของโลกันตร์ ข้างบนจดขอบล่างของนิพพาน ทุกๆ ระหว่างของภพเหล่านี้มีพระพุทธเจ้ารักษาอยู่ทั้งนั้น

           ธาตุเหล่านี้ ความจริงเป็นเพียงธาตุส่วนที่เรียกว่าโอกาสโลก สำหรับธาตุที่เป็นส่วนขันธโลกนั้นละเอียดลงไปยิ่งกว่านี้หลายเท่าพันทวี เพราะขันธ์นั้นเป็นธาตุที่กลั่นมาจากธาตุอีกทีหนึ่ง

            เครื่องกลั่นธาตุนี้ ตั้งอยู่ในศูนย์กลางธาตุทั้ง ๖ ปริมาณความใหญ่โตของเครื่องก็เต็มธาตุนั้น เมื่อเครื่องแรกกลั่นธาตุเหล่านี้แล้ว ก็เอาแต่ส่วนที่ละเอียดที่สุดไปเก็บเข้าเครื่องกลั่นที่ ๒-๓-๔-๕-๖-๗ ต่อไปเป็นลำดับ เมื่อเครื่องที่ ๗ กลั่นเสร็จแล้วก็ทำการส่งธาตุที่ถูกกลั่นนั้นเข้ามาที่เครื่องศูนย์กลางของภพ ๓ นี้ (การส่งธาตุนั้นส่งโดยทางอายตนะของเครื่องที่ ๗ กับเครื่องในภพ ๓) เมื่อเครื่องในภพ ๓ นี้รับธาตุมาแล้วก็จะเอามาเข้าเครื่องสำเร็จเก็บไว้เป็นเชฟทะเล เชฟทะเลเวลาที่ได้ธาตุมาแล้วเครื่องที่ศูนย์กลางภพ ๓ ก็จะทำหน้าที่ประกอบเป็นขันธ์ ๕ ขึ้น ประกอบได้สำเร็จพอกับปฐมวิญญาณ (กายที่จะต้องอาศัยขันธ์) ขันธ์ที่ประกอบไว้แล้วนั้นเป็นส่วนเฉพาะกายหนึ่งๆ ไม่มีปนเปกัน ส่วนดี ส่วนชั่ว ส่วนไม่ดีไม่ชั่ว ก็มีผู้ควบคุมไว้เป็นส่วนๆ

           เวลาที่จะส่งมาเป็นกายนั้น อาศัยกายทิพย์ที่มาถึงศูนย์กลางภพนั้น เข้าเครื่องประกอบพร้อมกับธาตุที่สำเร็จเป็นขันธ์ ประจำภพแล้ว ก็จะส่งเข้ายังเครื่องที่ศูนย์กลางกายพ่อ ธาตุสำเร็จที่ส่งเข้าไปในศูนย์กลางกายของพ่อนั้น ขนาดเล็กเพียงเท่าเมล็ดโพธิ์เมล็ดไทรเท่านั้น เป็นชายก็ส่งผ่านเข้าโดยทางจมูกขวา หญิงเข้าทางซ้าย เวลาที่จะออกจากศูนย์กลางกายพ่อ ไปอยู่ในศูนย์กลางกายแม่ก็อาศัยความดึงดูดของอายตนะของเครื่องที่มีอยู่ในศูนย์กลางกายแม่ รับเอามาจากศูนย์ของพ่อมาไว้ที่ขั้วมดลูกของแม่ ต่อจากนั้นก็อาศัยธาตุส่วนหยาบรักษาหล่อเลี้ยงกันต่อไปเวลาที่กายดับ เครื่องในศูนย์กลางภพก็ดูดเอาธาตุเหล่านี้ไปเก็บไว้ตามเดิม สำหรับขันธ์ของทิพย์ก็กลั่นเอาไปจากขันธ์มนุษย์ ขันธ์ของทิพย์ก็กลั่นต่อไปเป็นของรูปพรหม, อรูปพรหม, ธรรมกาย, ต่อๆ กัน ขึ้นไปเป็นลำดับ

          อนุตฺตโร ปุริสทมฺมสารถิ พระคุณข้อนี้หมายความว่า พระองค์ก็เปรียบเสมือนสารถีผู้ฝึกสอนคนเป็นอย่างดี หาผู้อื่นเสมอเหมือนมิได้ ว่าโดยย่อก็คือ พระองค์ก็มีพระปรีชาญาณเฉลียวฉลาดในอันที่จะฝึกสอนคนให้เป็นคนดีได้ ว่าโดยที่สุดก็คือให้สามารถบรรลุมรรคผลนิพพานได้ ย่นคำสอนของพระองค์ก็คือ ศีล สมาธิ ปัญญา แต่พระองค์มีอุบายสอนต่างๆ นานา สุดแล้วแต่จะทรงพิจารณาเห็นว่าบุคคลจำพวกใดมีนิสัยอย่างไร ก็ทรงใช้อุบายสอนให้ต้องกันนิสัย เช่น พระนันทกุมารมีนิสัยหนักไปในทาง ราคจริต พระองค์ทรงเนรมิตเป็นรูปนางฟ้าเข้าต่อ จนพระนันทกุมารเห็นว่าสวยกว่านางคู่รักของเธอ แล้วก็ทรงยักเยื้องวิธีจนพระนันทกุมารเบื่อหน่ายในรูป

           ในบางกรณี เพื่อการเผยแพร่พระพุทธศาสนา พระองค์ทรงใช้อิทธิปาฏิหาริย์มากมาย ดังเช่นเรื่องอุรุเวลกัสสปะ เป็นต้น ซึ่งมีเรื่องว่าครั้งเมื่อ พระองค์คิดจะทรงปลูกฝังพระศาสนา ให้เป็นปึกแผ่นในกรุราชคฤห์ แต่มีคณาจารย์คนสำคัญอยู่ที่นั่นชื่ออุรุเวลกัสสปะซึ่งคนนับถือมาก ถ้าปราบอุรุเวลกัสสปะเสียได้พระพุทธศาสนาจึงจะรุ่งเรือง พระองค์จึงเสด็จไปยังอาศรมแห่งอุรุเวลกัสสปะ ตรัสขออาศัยพักสักราตรีหนึ่งที่โรงเพลิง อุรุเวลกัสสปะว่าที่นั่นมีพระยานาคพิษร้ายอยู่ตัวหนึ่ง พระองค์ว่าไม่เป็นไรก็เสด็จประทับอยู่ที่นั่น ครั้งตกเวลากลางดึกพระยานาคสำแดงพิษ หรือเรียกว่าพ่นพิษทำร้ายพระองค์ แต่พระองค์ทรงดำรงพระสติเฉพาะหน้าต่อพระกัมมัฏฐานภาวนานุโยค ประมวลมาซึ่งอิทธาภิสังขารสำแดงเตโชกสิณสมาบัติบันดาลให้เป็นเปลวเพลิง ยังพระยานาคให้พ่ายแพ้ด้วยฤทธิ์ของพระองค์แล้ว ให้ขดตัวอยู่ในบาตรเอาไปให้อุรุเวลกัสสปะกับบริวารดู แต่อุรุเวลกัสสปะก็ยังไม่เลื่อมใสยังถือทิฏฐิว่าตนเป็นอรหันต์อยู่ พระองค์ก็ทรงแสดงอีกหลายประการ ตลอดจนแสดงจงกรม คือเดินอยู่บนน้ำแล้วเหาะขึ้นบนอากาศ แล้วเลื่อนลอยลงมาสู่เรือของอุรุเวลกัสสปะกับบริวารดู แต่อุระเวลกัสสปะก็ยังไม่เลื่อมใสยังถือทิฏฐิว่าตนเป็นอรหันต์อยู่ พระองค์ก็ทรงแสดงอีกหลายประการ ตลอดจนแสดงจงกรม คือเดินอยู่บนน้ำแล้วเหาะขึ้นบนอากาศ แล้วเลื่อนลอยลงมาสู่เรือของอุรุเวลกัสสปะ และบริวารที่ไปดูอยู่นั้น แล้วในที่สุดจึงชี้แจงให้พวกอุรุเวลกัสสปะรู้ตัวว่า ทางที่พวกเธอปฏิบัติอยู่นั้นมิใช่ทางที่จะบรรลุมรรคผล พวกเธอยังไม่ใช่พระอรหันต์ อุระเวลกัสสปะได้สดับพระพุทธฎีกาก็ละทิฏฐิซบเศรียรลงแทบฝ่าพระบาทพระองค์ ขอบรรพชาอุปสมบทในสำนักพระองค์ ลำดับนั้นแล้วนทีกัสสปะและคยากัสสปะผู้เป็นน้องของอุรุเวลกัสสปะ ซึ่งต่างก็มีบริวาณและเป็นคณาจารย์ตั้งอาศรมอยู่ถัดๆ กันไปตามลำดับของลำน้ำเนรัญชราทางใต้ ทราบเรื่องราวขึ้นก็พากันเลื่อมใส มาขอบรรพชาอุปสมบทในสำนักพระองค์หมดสิ้น ดังนี้พระองค์จึงเป็นผู้ฝึกสอนอย่างดีเลิศ ไม่มีผู้ใดเสมอเหมือน จึงได้พระนามว่า อนฺตตโร ปุริสทัมมสารถิ

           สตฺถา เทวมนุสฺสานํ แปลว่า พระองค์เป็นบรมครูแห่งเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ข้อนี้สาธกได้ด้วยพุทธกิจ ๕ ประการ ซึ่งว่า ๑ เวลาเข้าบิณฑบาต ๒ เย็นทรงแสดงธรรม ๓ พลบค่ำทรงให้โอวาทภิกษุ ๔ เที่ยงคืนแก้ปัญหาเทวดี ๕ ย่ำรุ่งพิจารณาดูเวไนยสัตว์ที่พึงจะโปรด จะเห็นได้ว่าในข้อ ๒ – ๓ นั้น ทรงเป็นครูมนุษย์ ข้อ ๔ นั้นทรงเป็นครูเทวดา และยังมีมงคลสูตรเป็นข้อยืนยันอีก เพราะเหตุที่พระองค์จะทรงแสดงมงคลสูตรนั้นก็เนื่องจากเหตุว่าเทวดาลงมาเฝ้าและยกปัญหาขึ้นทูลถามว่าอะไรเป็นมงคล “อเสวนา จ พาลานังฯ” เป็นอาทิ ซึ่งแปลว่า อย่าคบคนพาลเป็นต้น ตลอดจนถึงนิพพานสัจฉิกิริยา การทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพานฯ ซึ่งพระองค์ตรัสว่าสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นมงคลทั้งสิ้น ดังนี้จึงได้พระนามว่าสัตถา เทวมนุสสานัง พระองค์เป็นบรมครูทั้งเทวดาและมนุษย์

             คำว่า พุทฺโธ แปลได้หลายนัย แต่ในที่นี้จะขอแปลไปในทางที่ว่า เป็นผู้บานแล้วหรือเบิกบานแล้ว ที่ว่าบานนั้นเปรียบด้วยดอกปทุมชาติ คือบานเหมือนดอกบัวที่บานแล้วเต็มที่ การที่พระองค์ทรงประกอบความเพียรอยู่ด้วยประการต่างๆ เมื่อยังไม่ได้บรรลุสัมมาสัมโพธิญาณเปรียบเหมือนดอกบัวที่ยังตูมอยู่ ต่อรุ่งอรุณแห่งวันวิสาขปุรณมี พระองค์ได้ตรัสรู้แล้ว จึงเปรียบเสมือนดอกบัวที่บานแล้ว บานในเวลารุ่งอรุณแห่งวันวิสาขปุรณมีนั้นเอง นัยที่ว่าเบิกบานนั้น หมายความว่า เมื่อพระองค์ได้ทรงตรากตรำเป็นเวลาล่วงถึง ๖ พรรษาแล้ว จึงได้มาตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ได้รับผลเป็นองค์อรหัง และสัมมาสัมพุทโธฯ ดังบรรยายมาข้างต้นแล้ว พระกมลหฤทัยของพระองค์ก็ไม่ย่อมผ่องแผ้วเบิกบานเต็มที่ เหตุว่าได้ผลสมปรารถนาที่พระองค์ทรงตั้งปณิธานเพียรบำเพ็ญมา ฉะนี้จึงได้พระนามว่า พุธโธ

           ขอย้ำอีกหน่อยว่า การทีนำเอาดอกบัวบานมาเทียบความหมายแห่งคำว่าพุทโธนั้น ก้เพราะเหตุว่าเมื่อปฐมกัลป์เริ่มตั้งศีรษะแผ่นดินขึ้นใหม่ๆ มีกอบัวเกิดขึ้นพร้อมทั้งมีดอก ๕ ดอก ท้าวสุธาวาสหยั่งรู้ว่านี้เป็นนิมิตว่า ในกัลป์จะมีพระพุทธเจ้ามาตรัสโปรดเวไนยสัตว์ ๕ พระองค์ จึงปกาสิตคำว่า นะ, โม, พุท, ธา, ยะ ไว้ ซึ่งมีความหมายว่า นะคือพระกกุสันโธ โมคือพระโกนาคมนะ พุทธคือพระพุทธกัสสปะ ธาคือพระสมาณโคดม ยะคือพระศรีอาริยเมตไตรย์ ซึ่งได้ปรากฏเป็นที่นับถือกันมาจนบัดนี้

              คำว่า ภควา แปลได้หลายนัย แปลว่าหักก็ได้ แจกก็ได้

            ที่ว่า หัก นั้น หมายความว่าพระองค์หักเสียได้ซึ่งสังสารจักร กล่าวคือ อวิชชา ตัณหา อุปาทาน กรรมอันเป็นเสมือนตัวจักรอันพัดผันส่งต่อไปยังกันและกัน เป็นกำลังดันให้หมุนเวียนวนว่ายอยู่ในวัฏฏสงสาร มีให้ออกจากภพ ๓ พระองค์หักเสียได้แล้ว พระองค์จึงพ้นไปจากภพทั้ง ๓ คือ กามภพ รูปภพ อรูปภพ เสด็จออกสู่นิพพานได้

          ที่ว่า แจก นั้น มีความหมายว่า เมื่อพระองค์ได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว พระองค์เป็นสัพพัญญู ทรงรู้แจ้งธาตุธรรมทั้งปวงหมด จึงทรงสามารถจำแนะแยกแยะธรรมส่วนที่ละเอียดๆ ให้เห็น เช่น ทรงจำแนกขันธ์ ธาตุ อายตนะ จิต เจตสิก รูป นิพพาน ดังนี้เป็นต้น ตลอดจนหลักธรรมอื่นๆ ทั้งมวลให้สาวกได้รู้เห็นรับปฏิบัติสืบๆ กันมา

 

(ธรรมคุณ)

                สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม ต่อไปเป็นเรื่องธรรมคุณ ธรรมในที่นี้จะกล่าวเฉพาะพระสัทธรรม คำสอนของพระพุทธเจ้าที่ว่าสวากขาโต แปลว่าพระองค์กล่าวแล้วดีนั้น ก็คือว่าธรรมที่พระองค์ตรัสสอนนั้นล้วนแต่จะเป็นผลส่งให้ผู้ประพฤติปฏิบัติตามได้รับความร่มเย็นเป็นสุขทั้งสิ้น จึงได้ชื่อว่าเป็นธรรมที่พระองค์กล่าวแล้วดี ดีก็คือไม่มีเสีย คือคำสอนของพระองค์ไม่ให้ทุกข์แก่ผู้ปฏิบัติเลย มีแต่จะนำไปสู่สุขอย่างเดียว มีอริยมรรคเป็นข้อสาธกที่ทรงสอนไว้ว่า ความเห็นชอบ ๑ ความดำริชอบ ๑ กล่าววาจาชอบ ๑ ประกอบการงานชอบ ๑ หาเลี้ยงชีพชอบ ๑ ทำความเพียรชอบ ๑ ตั้งสติไว้ชอบ ๑ สมาธิชอบ ๑ พิจารณาให้ดีจะเห็นธรรมเหล่านี้ ผู้ใดประพฤติได้จะให้ผลไม่เฉพาะแต่ทางธรรม แม้ในทางโลกก็อำนวยผลดีให้แก่ผู้ปฏิบัติเหมือนกัน ดังนี้ธรรมที่พระองค์ตรัสสั่งสอนไว้ได้ชื่อว่า “สวากขาตธรรม”

                 พระสัทธรรมของพระองค์ แบ่งเป็นหมดใหญ่ๆ ได้ ๓ หมวด คือ ปริยัติธรรม ๑ ปฏิบัติธรรม ๑ ปฏิเวธธรรม ๑

                  ปริยัติธรรมนั้น ได้แก่ คำสั่งสอนอันเป็นแนวนำไปสู่ปฏิบัติธรรม

                  ส่วนปฏิบัติธรรมนั้นเป็นคำสอนที่บ่งวิธีการปฏิบัติโดยตรง ซึ่งจะมีผลส่งให้ถึงปฏิเวธธรรม

                  ปฏิเวธธรรม คือการแจ้งแทงตลอดสภาวะความเป็นจริงทั้งมวล

               สนฺทิฎฺฐิโก แปลว่า ธรรมดาคำสอนของพระองค์นั้นไม่เหมือนสิ่งของอื่นๆ ซึ่งคนหนึ่งแลเห็นแล้วชี้ไปอีกคนหนึ่งจะแลเห็นได้ด้วยกันอย่างนั้น หามิได้ ผู้ใดปฏิบัติตามผู้นั้นจะเห็นผลได้ด้วยตนเองว่าเป็นอย่างไร

                  อกาลิโก ผู้ใดปฏิบัติ ผู้นั้นย่อมได้รับผลเสมอโดยไม่มีจำกัดเวลาว่ามีเขตเพียงนั้นเพียงนี้

              เอหิปสฺสิโก เพราะเหตุว่าเป็นของดี ของจริง เมื่อผู้ใดปฏิบัติได้แล้ว จึงเป็นเสมือนสิ่งของที่น่าจะเรียกบอกคนอื่นมาดูว่า นี่ดีจริง อย่างนี้

               โอปนยิโก เพราะเหตุว่าการปฏิบัติตามคำสอนของพระองค์พบของดีของจริงดังกล่าวมาแล้วนั้น ควรจะน้อมนำเอาของดีจริงที่พบแล้วนั้นเข้ามาไว้ในตน คือ ยิ่งถือปฏิบัติเรื่อยไปไม่ละวางเสีย

                ปตฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญฺญหิ แปลว่า ธรรมของพระองค์นั้น วิญญูชนจะพึงรู้ได้เฉพาะด้วยตนเอง ข้อนี้คล้ายกับสันทิฏฐิโกที่กล่าวข้างต้น ต่างแต่ว่าข้อนั้นกล่าวถึง อาการเห็น ส่วนข้อนี้กล่าวถึง อาการรู้ กล่าวคือผู้ปฏิบัติตามธรรมของพระองค์ดีจริงอย่างไร และเมื่อปฏิบัติตามแล้วได้ผลเป็นอย่างไร หากใจผู้ปฏิบัติเขาเยือกเย็นเป็นสุขสักปานใด แม้เขาจะเอามาเล่าให้เราฟัง ใจเราก็จะไม่เย็นอย่างเขา ตามคำที่เขาเล่าบอกนั้นได้ จะไม่ผิดอะไรกับคนหนึ่งได้กินแดงชนิดหนึ่งมาเล่าให้เราฟังว่ามันอร่อยอย่างนั้นอย่างนี้ ก็จะไม่ทำให้เราเปิบข้าวเปล่าๆ โดยนึกเอารสแกงที่เขาว่านั้นมาประสมให้ได้รสอร่อยอย่างเขาว่านั้นได้

 

(สังฆคุณ)

               สุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ สาวกของพระองค์ผู้มีพระภาคเจ้านั้น ย่อมมี ๒ จำพวก คือ ปะถุชนสาวก ๔ อริยสาวก๑

              ปุถุชนสาวกนั้น ได้แก่ ผู้ที่เลื่อมใสในพระรัตนตรัย แต่ยังมิได้บรรลุธรรมวิเศษอันใด ยังเป็นปุถุชนอยู่ จึงได้ชื่อว่าปุถุชนสาวก แต่สาวกตามความหมายในบทสังฆคุณที่ยกขึ้นกล่าวข้างต้นนี้เฉพาะ แต่อริยสาวกเท่านั้น

              อริยสาวก แปลว่า สาวกผู้ประเสริฐ คือสาวกที่ได้บรรลุธรรมวิเศษแล้ว พ้นจากฐานะปุถุชนแล้ว เรียกตามโวหารในทางศาสนาว่าเป็นชั้นอริยะ สาวกชั้นอริยะหรือที่เรียกว่าอริยสาวกนั้น ท่านจัดเป็น ๓ คู่ คือ โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผลคู่ ๑ สกทาคามิมรรค สกทาคามิผลคู่ ๑ อนาคามิมรรค อนาคามิผลคู่ ๑ อรหัตมรรค อรหัตผลคู่ ๑ แต่ถ้าจัดเป็นรายบุคคล ท่านจัดเป็น ๘ คือ โสดาปัตติมรรค ๑ โสดาปัตติผล ๑ สกทาคามิมรรค ๑ สกทาคมิผล ๑ อนาคามิมรรค ๑ อนาคามิผล ๑ อรหัตมรรค ๑ อรหัตผล ๑ จึงรวมเป็นอริยบุคคล ๘ จำพวกด้วยกัน แบ่งเป็นชั้นๆ ตามลำดับธรรมวิเศษที่ได้บรรลุ

              พระอริยบุคคลบำเพ็ญกิจถูกส่วน เพ่งที่ศูนย์กลางกายเป็นดวงใสจนแลเห็น กายมนุษย์ กายทิพย์ กายรูปพรหม กายอรูปพรหม จนถึงกายธรรมเป็นชั้นที่ ๕ เป็นชั้นๆ ไป โดยนัยดังที่จะกล่าวต่อไปนี้

            คือขั้นต้น ดูดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ที่ศูนย์กลางกายมนุษย์ให้เป็นดวงใส แล้วขยายให้กว้างออกไป วัดเส้นผ่าศูนย์กลางได้ ๒ วา หนา ๑ คืบ ใสเหมือนกระจกเงาส่องหน้านี่เป็นปฐมฌาน แล้วกายธรรมนั่งบนนั้น ดังนี้เรียกว่า กายธรรมเข้าปฐมฌาน

             แล้วเอาตาธรรมกายที่นั่งบนฌานนั้น เพ่งดูดวงธรรมที่ศูนย์กลางกายทิพย์ เห็นเป็นดวงใส แล้วขยายส่วนเท่ากันนั้น ธรรมกายน้อมเข้าฌานที่ ๒ นั้น เป็นฌานที่ ๑ ก็หายไป ฌานที่ ๒ มาแทนที่ ธรรมกายนั่งบนนั้น นี้ชื่อว่า ธรรมกายเข้าฌานที่ ๒ ทำนองเดียวกันนั้นต่อๆ ไปในกายรูปพรหม กายอรูปพรหม (นี่เป็นส่วนรูปฌาน)

              ต่อจากนี้ไปให้ใจธรรมกายน้อมไปว่าละเอียดกว่านี้มี ฌานที่ ๔ ก็หายไป ฌานที่ ๕ เกิดขึ้นแทนที่เรียกว่า อากาศสานัญจายตนะ (ใสสว่าง)

             เมื่อธรรมกายนั่งอยู่บนฌานที่ ๕ ดังนี้แล้ว ใจธรรมกายน้อมไปว่าละเอียดกว่านี้มีอีก ฌานที่ ๕ ก็หายไป ฌานที่ ๖ เข้ามาแทนที่เรียกว่า วิญญาณัญจายตนะ (ใสยิ่งกว่านั้น)

              ธรรมกายนั่งอยู่บนฌานที่ ๗ นั้นแล้ว ใจธรรมกายก็น้อมไปอีกว่าละเอียดกว่านี้มีอีก ฌานที่ ๘ ก็บังเกิดขึ้นทันทีเรียกว่า เนวสัญญานาสัญญายตนะ รู้สึกละเอียดจริง ประณีตจริง นี้เรียกว่าเข้าฌานที่ ๑ – ๘ โดยนุโลม แล้วย้อนกลับจับแต่ฌานที่ ๘ นั้นถอยลงมาหาฌานที่ ๗-๖-๕-๔-๓-๒-๑ เรียกว่าปฏิโลม ทำดังนี้ ๗ หน ธรรมกายจึงคงไปอยู่บนฌานที่ ๘ ในระหว่างเข้าฌานนั้น ตั้งแต่ ๑ ถึง ๘ นั้น ตาธรรมกายดูทุกขสัจ เห็นชัดแล้วดูสมุทัยสัจ เห็นชัดแล้วดูนิโรธสัจ เห็นชัดแล้วดูมรรคสัจ เมื่อถูกส่วนเข้าธรรมกายตกศูนย์เป็นดวงใส วัดผ่าศูนย์กลางได้ ๕ วา ในไม่ชาศูนย์นั่นกลายกลับเป็นธรรมกาย หน้าตักกว้าง ๕ วา สูง ๕ วา นี่เป็นพระโสดาแล้ว

            แล้วธรรมกายโสดานั้นเข้าฌาน แล้วพิจารณาอริยสัจ ๔ ในกายทิพย์ทำนองเดียวกับที่กล่าวมาแล้วนั้น เมื่อถูกส่วนธรรมกายโสดาตกศูนย์ วัดผ่าศูนย์กลางได้ ๑๐ วา ไม่ช้าศูนย์นั้นกลับเป็นธรรมกาย หน้าตัก ๑๐ วา สูง ๑๐ วา มีชื่อว่าพระสกทาคามี

             แล้วธรรมการเข้าฌาน และพิจารณาอริยสัจในกายรูปพรหมทำนองเดียวกันนั้น เมื่อถูกส่วนธรรมกายสกทาคาตกศูนย์วัดเส้นผ่าศูนย์กลางได้ ๑๕ วา แล้วกลับเป็นธรรมกาย หน้าตัก ๑๕ วา สูง ๑๕ วา มีชื่อว่า พระอนาคามี

             แล้วเอาธรรมกายของพระอนาคามีเข้าฌานพิจารณาอริยสัจ ๔ ในกายรูปพรหม เห็นชัดเช่นเดียวกันกับที่กล่าวมา เมื่อถูกส่วนธรรมการพระอนาคามีตกศูนย์ วัดเส้นผ่าศูนย์กลางได้ ๒๐ วา แวบเดียวกับเป็นธรรมกายหน้าตักกว้าง ๒๐ วา สูง ๒๐ วา นี้เป็นพระอรหัตแล้ว 

             ที่ว่าธรรมกายนั้น สัณฐานเป็นพระพุทธปฏิมากรเกตุดอกบัวตูม สีขาวเป็นเงาใสเหมือนกระจกส่องหน้า ขั้นพระโสดา ละกิเลสได้ ๓ คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีสัพพตปรามาส ที่ท่านละสักกายทิฏฐิได้ก็โดยท่านพิจารณาเห็นชัดว่า สังขารร่างกายนี้เหมือนเรือนที่อาศัยอยู่ชั่วคราว ไม่ช้าก็จะแตกจะทำลายไป จะยึดถือเอาเป็นตัวเป็นตนมิได้ เป็นสักแต่ธาตุทั้งหลายประสมส่วนกันเข้า จึงเป็นรูปเป็นนาม ย่อมแปรผันไปตามลักษณะของมัน ไม่ยืนยงคงที่ ถ้าไปยึดถือเป็นตัวเป็นตนก็รังแต่จะนำความทุกข์มาให้ ดังที่กล่าวมานี้ เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แต่ส่วนธรรมกายนั้นท่านเห็นว่าเป็น นิจจัง สุขขัง อัตตา ท่านจงไม่แยแสต่อกายมนุษย์ โดยเห็นว่าเป็นของไม่มีสาระดังกล่าวข้างต้น ท่านจงข้ามพ้นสักกายทิฏฐิไปได้

            ที่ท่านละวิจิกิจฉาได้ ก็ด้วยท่านเข้าถึงธรรมกายแล้ว ถอดกายทั้ง ๔ ซึ่งเป็นโลกีย์ ถอดเป็นชั้นออกไปเสียได้แล้วท่านจึงหมดความกินแหนงสอดคล้องในพระรัตนตรัย เพราะท่านเป็นตัวพระรัตนตรัยเสียแล้ว

           ที่ท่านละสีสัพพตปรามาสได้นั้น ก็เพราะเมื่อท่านเป็นตัวพระรัตนตรัยเสียเช่นนี้แล้ว ศีลและวัตรใดอันเป็นฝ่ายมิจฉาทิฏฐินอกพระพุทธศาสนาไม่มีในท่านแล้ว จึงได้ชื่อว่าท่านพ้นแล้วจากสีสัพพตปรามาสคือการยึดมั่นซึ่งศีลและวัตรนอกพระพุทธศาสนา

           ชั้นพระสกทาคา นอกจากกิเลส ๓ อย่าง ดั่งที่พระโสดาละได้แล้วนั้น ยังละกามราคะ พยาบาลอย่างหยาบได้อีก ๒ อย่าง กามราคะได้แก่ความกำหนัดยินดีในวัตถุกามและกิเลสกาม พยาบาทคือการผูกใจโกรธพระนาคา ละกามราคะพยาบาทขั้นละเอียดได้

             พระอรหัตละกิเลสทั้ง ๕ ดังกล่าวมาแล้วนั้นได้โดยสิ้นเชิง แล้วยังละสังโยชน์เบื้องต้นได้อีก ๕ คือ รูปราคะความกำหนดยินดีในรูปฌาน อรูปราคะความกำหนัดยินดีในอรูปฌาน มานะความถือตน อุทธัจจะความฟุ้งซ่าน อวิชชาความมืด ความโง่ ไม่รู้อดีต ปัจจุบัน และอนาคตของสังขาร ไม่รู้ปฏิจจสมุปบาทธรรมและอริยสัจจึงความเป็น ๑๐ ที่พระอรหัตละได้ พระอริยบุคคลทั้ง ๘ ดังกล่าวมาข้างต้นนี้ได้ชื่อว่า อริยสาวก

            สุปฏิปนฺโน ท่านปฏิบัติแล้วดี คือปฏิบัติไปตามแนวมัชฌิมาปฏิปทา เป็นทางสายกลาง ตามที่สมเด็จพระบรมศาสดาดำเดินมาแล้ว ไม่หย่อนเกินไป ไม่ตึงเกินไป จึงได้ชื่อว่าปฏิบัติดี

               อุชุปฏิปนฺโน ปฏิบัติแล้วตรง คือความปฏิบัติท่านมุ่งตรงต่อพระนิพพาน ไม่วอกแวกไปทางอื่น

               ญายปฏิปนฺโน ปฏิบัติมุ่งเพื่อรู้ธรรมที่จะออกจากภพ ๓ โดยแท้

            สามีจิปฏิปนฺโน ปฏิบัติอย่างดีเลิศ เพราะท่านปฏิบัติเพื่อบรรลุถึงพระนิพพานจริงๆ ไม่ใช่เพื่อเหตุอื่น จึงสมควรนับว่าเป็นการปฏิบัติอย่างดีเลิศ

               อหุเนยฺโย จึงเป็นผู้ควรเคารพสักการะ

               ปาปุเนยฺโย จึงเป็นผู้ควรต้อนรับ

               ทกฺขิเนยฺโย จึงเป็นผู้ควรต้อนรับ

               อญฺชลิกรณิโย จึงสมควรกราบไหว้

               อนุตฺตรํ ปุญฺญกฺเขตุตํ โลกสฺส เป็นเนื้อนาบุญอันเลิศไม่มีอื่นจะดีกว่าอีกแล้ว

            นี่เป็นเรื่องสังฆคุณ เมื่อเรารู้แนวปฏิบัติของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระสาวกดังกล่าวมาข้างต้นนี้แล้ว เรามีหน้าที่จะต้องพิจารณาไตร่ตรองดูว่า เราจะทำอย่างไร? เราเพียงท่องจำ อิติปิโส ภตวาฯ ไว้กระนั้นหรือ หรือจะพยายามนึกคำแปลไว้ให้เข้าใจด้วย และระลึกถึงพระคุณเหล่านี้เนื่องๆ ดังนี้หรือเราไม่ฟังกระทำอะไรยิ่งไปกว่านี้หรือ ในปัญหาเหล่านี้ขอให้เราส่งใจไประลึกถึงพระโอวาทในเรื่องบูชา บูชามี ๒ อย่าง อามิสบูชาคือ บูชาด้วยเครื่องสักการะอย่างหนึ่ง ปฏิบัติบูชา คือ บูชาด้วยการปฏิบัติอย่างหนึ่งในการบูชาทั้ง ๒ อย่างนี้ พระองค์ทรงสรรเสริญว่าปฏิบัติบูชาดีกว่าอามิสบูชา เมื่อคิดทบทวนดูเหตุผลในพระโอวาทข้อนี้แล้ว เราจะเห็นได้ชัดทีเดียวว่าพระองค์มีพระประสงค์ จะให้พวกเรามีความเพียรพยายาม ปฏิบัติเจริญรอยตามพระองค์มากกว่าที่จะมามัวบูชาพระองค์อยู่ หาไม่พระองค์จะตรัสเช่นนั้นทำไม และโดยนัยอันนี้เอง จึงเป็นที่เห็นได้ว่าแม้เวลานี้จะเป็นกาลล่วงมาช้านานจากที่พระองค์เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานไปแล้ว ก็ไม่มีอะไรเป็นข้อห้ามว่าผู้ที่ปฏิบัติตามจะไม่ได้รับผลอย่างที่ท่านได้รับ นอกจากคำกล่าวอ้างของคนเกียจคร้าน ข้อนี้มีคำว่าอกาลิโก ในบทธรรมคุณนี้เองเป็นหลักฐานยันยู่ว่าธรรมของพระองค์ ผู้ใดปฏิบัติตามย่อมจะเกิดผลทุกเมื่อ ไม่มีขีดคั่น พระอริยสาวกทั้งหลายนั้นฐานะเดิมก็เป็นมนุษย์ปุถุชนนี้เอง แม้องค์สมเด็จพระบรมศาสดาก็เช่นกัน มิใช่เทวดีอินทร์ พรหม ที่ไหน แต่ที่เลื่อนขึ้นสู่ฐานะเป็นพระอริยะได้ก็เพราะการปฏิบัติเท่านั้น แนวปฏิบัติอย่างไหนถูกพระองค์สอนไว้ละเอียดหมดแล้ว ปัญหาจึงเหลือแต่ว่าพวกเรา จะปฏิบัติกันจริงหรือไม่เท่านั้น

          ดังที่พรรณนามานี้ ก็จะเห็นคำตอบในปัญหาข้างต้นได้แล้วว่า เพียงแต่จะท่องจำ อิติปิโส ภควาฯ ไว้ หรือเพียงแต่ระลึกถึงพระคุณเหล่านั้นไว้ จะยังไม่พอกแก่พระประสงค์ของพระองค์ กิจที่เราควรทำอย่างยิ่งจึงอยู่ที่การปฏิบัติของท่านตามแนวปฏิบัติของท่าน

            ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา นี้เรียกว่า อิทธิบาท ๔ เป็นหัวใจแห่งความสำเร็จทั้งมวล แปลอย่างจำได้ง่ายว่า ปักใจ บากบั่น วิจารณ์ ทดลอง ไม่ว่าจะทำกิจการใด ถ้าประกอบด้วย ๔ อย่างนี้เป็นสำเร็จทั้งสิ้น ว่าโดยเฉพาะในการบำเพ็ญภาวนา ๑ ต้องปักใจรักการนี้จริงๆ ประหนึ่งชายหนุ่มรักหญิงสาว ใจจดจ่อต่อหญิงคู่รักฉะนั้น ๒ ต้องบากบั่นพากเพียรเอาจริงเอาจัง ๓ วิจารณ์ตรวจดูการปฏิบัติให้ถูกต้องตามแนวสอนของอาจารย์ให้ดีที่สุด ๔ ทดลองในที่นี้ได้แก่หมั่นใคร่ครวญสอดส่องดูว่า วิธีการที่ทำไปนั้นมีอะไรขาดตกบกพร่องบ้าง รีบแก้ไข อย่างนั้นไม่ดีเปลี่ยนอย่างนี้ลองดูใหม่ เช่นนั่งภาวนาในที่นอนมักจะง่วง ก็เปลี่ยนมานั่งเสียที่อื่น เป็นต้น ข้อสำคัญให้ยึดแนวสอนเป็นหลักไว้ อย่าออกนอกทาง ๔ อย่างนี้เรียกว่า อิทธิบาท เป็นเครื่องที่จะช่วยให้เกิดความสำเร็จในกิจทั้งปวด

 

(ว่าด้วยรัตนะ)

            รตนตฺตยํ นั้น แปลว่า หมวดสามแห่งรัตนะคือ พุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ สามรัตนะนี้ประเสริฐกว่า สวิญญาณกรัตนะ และอวิญญาณกรัตนะ ที่มีในไตรภาพ ด้วยเป็นของทำความดีให้แก่โลกทั้งสาม คือ กามโลก รูปโลก อรูปโลก 

              กามโลกมีรัตนะที่ใช้กันอยู่ เช่น เพชร หรือแก้วทั้งเป็นและตาย ที่เป็นดังรัตนะเจ็ดของจักรพรรดิ ที่ตายดังรัตนะที่นำมาจากต่างประเทศโดยมาก

                รูปโลกก็มีรัตนะสำหรับให้เกิดแสงสว่างในโลกของเขา

            อรูปโลกก็มีรัตนะสำหรับให้เกิดแสงสว่างในโลกของเขาดุจกัน ตั้งแต่เทวดาขึ้นไปมีรัตนะทั้งเป็นและตาย เป็นเครื่องให้เทวดา พรหม และอรูปพรหมอาศัยรัตนะเหล่านี้ และเป็นของทำความยินดีและปลื้มใจให้เกิดขึ้นแก่มนุษย์ เทวดา พรหม และอรูปพรหม ได้กำลังของรัตนะนั้นๆ ดังนี้เป็น รัตนะ ๓ ส่วนโลกที่เกิดของ รัตนะ๓ ส่วนธรรมต้องบรรยายแต่เหตุไป

             รัตนะที่เป็นไม่ใช่รัตนะที่ตาย แต่ที่เกิดรัตนะ ๓ นั้นทำให้มีขึ้นได้ด้วยความเพียร ระวังกาย วาจา ใจ ให้บริสุทธิ์ เพียรละ กาย วาจา ใจ ไม่บริสุทธิ์เสีย เพียรทำกาย วาจา ใจ บริสุทธิ์ให้เกิดมีขึ้น เพียรรักษา กาย วาจา ใจ ที่บริสุทธิ์แล้วให้คงที่และทวีขึ้น ความที่มีขึ้นแล้วแห่งความบริสุทธิ์นั้นให้รักษาไว้อย่าให้หายไปเสีย นึกถึงความบริสุทธิ์นั้นแหละร่ำไป จนใจของตนบริสุทธิ์เหมือนกับความบริสุทธิ์แล้ว ก็จะเห็นความบริสุทธิ์ใสปรากฏอยู่ตรงกลางของกายมนุษย์เหนือสะดือขึ้นมาราว ๒ นิ้ว ตรงนั้นเรียกว่าศูนย์ เป็นดวงประมาณเท่าฟองไข่แดง ใสบริสุทธิ์ดุจกระจกที่ส่องดูหน้าในเวลาแต่งหน้าและแต่งตัว ประมาณของดวงไม่คงที่ บางทีโตกว่าเล็กกว่าก็ได้ อย่างโตไม่เกินดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ อย่างเล็กไม่เกินดวงตาดำข้างใน นี้เป็นเครื่องกำหนดของดวง ดวงนั้นแหละคือ ปฐมมรรค จำเติมแต่เห็นดวงปฐมมรรคแล้ว ให้เอาใจของตนจรดอยู่ที่ศูนย์กลางดวงนั้นเสมอในอิริยาบถทั้ง ๔ จนกระทั่งใจของตนนั้นไม่ไปจรดในที่อื่น

            หยุดอยู่ที่กลางดวงของปฐมมรรคเสมอ เมื่อใจหยุดได้แน่นอนแล้ว ก็ขยับใจนั้นเข้าไปในศูนย์กลางของดวงก็จะเห็นว่างประมาณเท่าเมล็ดโพธิ์ หรือเมล็ดไทรที่ศูนย์กลางของดวงนั้น ในเมื่อส่งรู้เข้าไปในกลางว่างเต็มทั้งคิด ทั้งจำ ทั้งเห็น แล้ว ก็จะเห็น กายทิพย์ ของตัวเองในกลางของว่างนั้น เห็นดังนี้ชื่อว่าเห็นกายในกาย คือ กายทิพย์ในกายมนุษย์

          แล้วเข้าดูดวงปฐมมรรคในกายทิพย์ที่ตรงศูนย์ของกายทิพย์อีก ก็จะเห็นเป็นดวงใสในกายทิพย์เท่าฟองไข่แดงของไก่ ใสเหมือนกระจกส่องเงาหน้าอีก แล้วเอาเห็น จำ คิด รู้ จรดลงที่ศูนย์กลางของดวง ทำแบบเดียวกับทำมาแล้ว ก็จะเห็นกายรูปพรหมในกลางของดวงนั้น กายนั้นเหมือนกายของตัวเองจึงใช้ได้ถ้าไม่เหมือนกายของตนเองทำใหม่จนเห็นเหมือนกายของตนเองจริงๆ แล้ว ชื่อว่า เห็นกายในกาย คือ กายรูปพรหมในกายทิพย์

         แล้วเข้าไปดูดวงปฐมมรรคในกายรูปพรหมต่อไป ก็จะเห็นเป็นดวงใสในกลางกายรูปพรหมดุจที่เห็นมาแล้ว เอาเห็น จำ คิด รู้ จรดลงที่ศูนย์กลางดวงก็จะเห็น กายอรูปพรหมในกลางดวงนั้น รูปเหมือนตัวเองจึงใช้ได้ ถ้าไม่เหมือนทำใหม่จนเหมือน แต่พอเหมือนแล้วใช้ได้ เรียกว่าเห็นกายในกาย คือเห็นกายอรูปพรหม

           แล้วเข้าไปดูดวงปฐมมรรคในกายอรูปพรหมต่อไป ก็จะเห็นดวงใสในกลางกายอรูปพรหมดุจเห็นมาแล้ว เอาเห็น จำ คิด รู้ จรดลงที่ศูนย์กลางดวง ก็จะเห็น กายธรรม ในกลางดวงนั้น รูปร่างเหมือนตัวเอง แต่ใสเหมือนดังแก้ว เกตุดอกบัวตูม

         แล้วเอาเป็น จำ คิด รู้ เข้าหยุดที่ศูนย์กลางของกายธรรม ที่ตรงนั้นเป็นดวงใสเท่าฟองไข่แดงของไก่โตแล้วเล็กได้ ใสดุจเพชร ชื่อว่าธรรมสำหรับทำให้เป็นธรรมกาย ธรรมสิ่งนี้แหละสำหรับรักษา เห็น จำ คิด รู้ ให้บริสุทธิ์และให้หยุดด้วย ต้องให้หยุดให้มากที่สุดเท่าที่บังคับให้หยุดได้ หยุดให้มากที่สุดก็เจริญที่สุด หยุดต้องมีกลเม็ด หยุดดับหยาบไปหาละเอียดร่ำไป ไม่ใช่หยุดแล้วไม่ทำอะไร ทำหยุดในหยุดนั้นและหนักขึ้นทุกที ไม่มีเวลาหย่อนจึงจะเจริญถึงที่สุดเร็ว ธรรมกายเป็นกายที่ ๕ นั้น เป็นกายสำคัญที่สุดในพระพุทธศาสนา ผู้ใดทำกายนี้ให้เป็นขึ้นได้ ผู้นั้นก็ชื่อว่าเป็นพระพุทธเจ้า ชื่อว่าอนุพุทธเจ้า เป็นพระพุทธเจ้าตามเสด็จพระพุทธเจ้า คำว่าพระพุทธเจ้ามีหลายจำพวก เป็นสัพพัญญูพุทธเจ้าบ้าง ปัจเจกพุทธเจ้าบ้าง สาวกพุทธเจ้าบ้าง สุตพุทธเจ้าบ้าง พหูสูตพุทธเจ้าบ้าง อนุพุทธเจ้าบ้าง ดังนี้ตรงกับกระแสพุทธฎีกาว่า เราตถาคตกล่าวว่า ท่านผู้สดับมากนั้นเป็นพระพุทธเจ้าองค์หนึ่งชื่อว่าพหูสูตพุทธเจ้า เมื่อเป็นธรรมกาย คือเป็นพระพุทธเจ้าต้องเรียนวิชชาของพระพุทธเจ้าต่อไป ถ้าจะเรียนต่อไปต้องรู้จักธรรมที่ทำให้เป็นกายนั้นๆ คือ ธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ และธรรมที่ทำให้เป็นธรรมดังแสดงมาแล้วข้างต้น ธรรมที่ทำให้เป็นกายนั้นๆ มีรูปพรรณสัณฐานสีสันวรรณะละม้ายคล้ายคลึงกัน ต่างกันแต่ธรรมที่ทำให้เป็นธรรมกายโตมากกว่า แต่ส่วนเนื้อที่ละเอียด และความใสนั้นก็ละม้ายกันทั้ง ๔ กาย แต่กายธรรมละเอียดและใสกว่าทั้ง ๔

         ส่วนที่ตั้งของธรรมทำให้เป็นกายนั้นๆ คือ ตรงกลางตัวตัดขาดแค่สะดือบังเวียนเข้าไปที่ศูนย์กลางพอดี ไม่เหลื่อมซ้าย ขวา หน้า หลัง สำหรับสัตว์ที่จะไปเกิดมาเกิด ต้องอาศัยศูนย์กลางนั้นด้วยกันทั้งหมด จึงได้ชื่อว่าที่สิบ เทวดา พรหม อรูปพรหม ตลอดพระนิพพาน ใช้เป็นแบบเดียวกันทั้งสิ้น

         ตรงที่สิบนั้นว่างประมาณเท่าเมล็ดโพธิ์ หรือเมล็ดไทร เป็นอากาศว่าง เรียกว่ากำเนิดเดิมก็ถูก ที่กำเนิดเดิมนั้นมีธรรมดวงหนึ่งเท่าฟองไข่แดงและของไก่ สัณฐานกลมเนื้อละเอียดสีขาวใส หุ้มกำเนิดเดิมนั้นโดยรอบ กำเนิดเดิมนั้นอยู่ที่ศูนย์กลางของกายมนุษย์ มีเหมือนกันทุกกายทั้งสุดหยาบ สุดละเอียด มีชื่อตามกายนั้นๆ เช่น ธรรมที่ทำให้เป็นกายทิพย์ ถ้าธรรมนี้ดับไป กายก็ต้องแตกจากกัน ตั้งอยู่ไม่ได้เพราะหมดธรรมที่รักษา เหมือนเครื่องยนต์ที่ปลดเอาหม้อไปออกเสีย เครื่องก็ต้องดับทันทีฉันนั้น

          ถ้าธรรมกายจะทำวิชชาต่อไปต้องเอา เห็น จำ คิด รู้ ของธรรมกายจรดลงที่ศูนย์กลางของธรรมที่ทำให้เป็น กายมนุษย์นั้น แต่พอถูกส่วนเข้าเท่านั้น ธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์นั้นก็ขยายส่วนออกไปประมาณวัดผ่าเส้นศูนย์กลาง ๘ ศอก กลมโดยรอบ ๖ วา หนาคืบหนึ่ง ใสเหมือนกระจกเงาส่องหน้า ธรรมกายก็ขึ้นนั่งอยู่บนฌานนั้น เหมือนนั่งอยู่บนแผ่นกระจกเป็นบัลลังก์ จะไปไหนก็คล่องแคล่วเหมือนใจนึก นี้เป็นฌานที่ ๑

          ถ้าจะทำต่อไป ธรรมกายต้องส่องเห็น จำ คิด รู้ ไปจรดเข้าที่ศูนย์กลางของธรรมที่ทำให้เป็นกายทิพย์นั้น แต่พอถูกส่วนเข้าธรรมที่ทำให้เป็นกายทิพย์นั้น ก็ขยายส่วนออกไปเท่าฌานที่ ๑ วัดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๘ ศอก ปริมณฑลโดยรอบ ๖ วา หนาคืบหนึ่ง ใสเหมือนกระจกเป็นบัลลังก์ ธรรมกายก็ขึ้นนั่งอยู่บนฌานนั้น เหมือนนั่งอยู่บนแผ่นกระจก จะไปไหนคล่องแคล่วเหมือนใจนึก นี่เป็นฌานที่ ๒

         ถ้าจะทำต่อไป ธรรมกายต้องส่องเห็น จำ คิด รู้ ไปจรดเข้าที่ศูนย์กลางของธรรมที่ทำให้เป็น กายรูปพรหม นั้น แต่พอถูกส่วนเข้าธรรมที่ทำให้เป็นกายรูปพรหม ก็ขยายส่วนออกไปเท่าฌานที่ ๑ หรือที่ ๒ แล้วธรรมกายก็ขึ้นนั่งอยู่บนฌานนั้น จะไปไหนคล่องแคล่วเหมือนใจนึก นี้เป็นฌานที่ ๓

         ถ้าจะทำต่อไป ธรรมกายต้องส่อง เห็น จำ คิด รู้ ไปจรดเข้าที่ศูนย์กลางของธรรมที่ทำให้เป็น กาย อรูปพรหม นั้น แต่พอถูกส่วนเข้า ธรรมที่ทำให้เป็นกายรูปธรรม ก็ขยายส่วนออกไปเท่าฌานที่ ๑ หรือที่ ๒ ที่ ๓ ธรรมการก็ขึ้นนั่งอยู่บนฌานนั้น จะไปไหนได้ตามใจนึก จนรูปฌาน ทำอรูปฌานต่อไป

         ธรรมกายที่นั่งอยู่บนตุตถฌานนั้นต้องส่อง เห็น จำ คิด รู้ ไปจรดลงที่ตรงศูนย์ว่างกลางปบมฌาน แต่พอถูกส่วนเข้าศูนย์ว่างกลางปฐมฌานนั้นก็จะขยายส่วนออกไป วัดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๘ ศอก โดยรอบ ๖ วา หนาครึ่งคืบ ใส กายธรรมก็ขึ้นไปนั่งอยู่บนศูนย์กลางของอรูปฌานแบบเดียวกันกับรูปฌาน นี่เรียกว่าอากาสานัญจายตนะ

          ทำต่อไป ธรรมกายต้องส่อง เห็น จำ คิด รู้ ไปจรดเข้ารู้ในว่างของศูนย์กลางทุติยฌาน ต่อพอถูกส่วนเข้า รู้ในศูนย์ว่างของทุติยฌมนนั้นก็ขยายส่วนออกไปเท่ากับอากาสานัญจายตนฌานนั้น ธรรมกายก็ขึ้นไปนั่งอยู่บนกลางของ วิญญาณัญจายตนฌานนั้น

        ทำต่อไป ธรรมกายที่นั่งอยู่บนฌานนั้น ต้องเอาเห็น จำ คิด รู้ เข้าไปจรดที่รู้อันละเอียด ในที่ว่างศูนย์กลางของตติยฌาน แต่พอถูกส่วนเข้า รู้อันละเอียดในตติยฌานนั้นก็ขยายส่วนออกไปเท่ากันกับวิญญาณัญจายตนฌานนั้น ธรรมการก็ขึ้นไปนั่งอยู่บนอากิญจัญญายตนฌานนั้น

          ทำต่อไป ธรรมกายต้องเอา เห็น จำ คิด รู้ ไปจรดเข้าที่เหตุว่างกลางของจตุตถฌาน จรดเข้าที่รู้ก็ใช่ไม่รู้ก็ใช่ แต่พอถูกส่วนเข้า รู้ละเอียดและประณีตนั้นก็ขยายส่วนออกไปเท่ากันกับอากิญจัญญายตนฌานนั้น ธรรมกายขึ้นนั่งบนเนวสัญญานาสัญญายตนฌานนั้น (เข้าดังนี้เป็นอนุโลม เมื่อเข้าอนุโลมเป็นอย่างไร เมื่อจะปฏิโลมถอยกลับก็ต้องให้ตรงกับอนุโลม อย่าให้คลาดเคลื่อน ต้องให้ตรงเป็นแบบเดียวกันให้จงได้ จึงจะเป็นอันถูกต้องตามแบบ

          ธรรมกายนั้นแหละ ชื่อว่า โคตรภูบุคคล ถ้าจะให้เป็นอริยบุคคลต่อไป ธรรมกายต้องเข้าสมาบัติในระหว่างเข้าสมาบัตินั้น ตามธรรมกายต้อง ดูดาย ดูเจ็บ ดูแก่ ดูเกิด ของมนุษย์ ให้เห็นตามความเป็นจริงของทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ถ้ายังไม่เห็นตามความเป็นจริงต้องดูไปอีก แต่พอถูกส่วนเข้าเท่านั้นธรรมกายของพระโสดาตกศูนย์ วัดเส้นผ่าศูนย์กลางของศูนย์นั้น ๑๐ วา แล้วศูนย์นั้นกลับเป็นธรรมกายหน้าตัก ๑๐ วา เป็นพระสกทาคา

          ทำต่อไป ธรรมกายของพระสกทาคานั้น เข้าสมาบัติ ๘ ในระหว่างเข้าสมาบัตินันต้องเอาตาธรรมกายของพระสกทาคาดูตาย ดูเจ็บ ดูแก่ ดูเกิด ของพรหมกาย เหตุให้เกิดและความดับ เหตุให้ดับ ให้เห็นตามความเป็นจริงของทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ถ้ายังไม่เห็นตามความเป็นจริงต้องดูต่อไปอีก แต่พอเห็นถูกส่วนเข้าเท่านั้น ธรรมกายของพระสกทาคาก็ตกศูนย์ วัดเส้นผ่าศูนย์กลางของศูนย์นั้น ๑๕ วา แล้วศูนย์นั้น กลับเป็นธรรมกายหน้าตัก ๑๕ วา เป็นพระอนาคา

           ทำต่อไป ธรรมการของพระอนาคานั้น เข้สมาบัติ ๘ ในระหว่างเข้าสมาบัตินั้น ต้องเอาตาธรรมกายของพระอนาคา ดูตาย ดูแก่ ดูเกิด ของรูปพรหมกาย ทั้งเหตุให้เกิด และความดับทั้งเหตุให้ดับ ให้เห็นตามความเป็นจริงของทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ถ้ายังไม่เห็นตามความเป็นจริงต้องดูต่อไปอีก แต่พอเห็นถูกส่วนเข้าเท่านั้น ธรรมกายของพระอนาคาก็ตกศูนย์ วัดเส้นผ่าศูนย์กลางของศูนย์นั้น ๒๐ วา แล้วศูนย์นั้นหายวับกลับเป็นธรรมกายหน้าตัก ๒๐ วา เป็นพระอรหันต์ พระอรหันต์นี้แล ถ้าค้นคว้าหาให้เป็นขึ้นได้ด้วยตนเอง ไม่มีผู้ใดแนะนำสั่งสอนอย่างพระสิทธัตถุราชกะมารนั้น นั่นเป็นพระพุทธเจ้า ในศาสนาของท่านเป็นพระอรหันต์มากน้อยเท่าไร เป็นสาวกทั้งสิ้น

         ตั้งแต่ธรรมกายซึ่งเป็นกายที่ ๕ ตลอดจนถึงพระอรหันต์เป็นที่สุด นี่แหล่ะเป็นตัวพระรัตนตรัย กายมนุษย์ กายทิพย์ กายรูปพรหม กายอรูปพรหม ไม่ใช่รัตนตรัย จำเพาะแต่ธรรมกายอย่างเดียวเป็นตัวพะรัตนตรัย ในองค์ธรรมกายนั้นที่ตรงศูนย์กลางกายของธรรมกายนั้นมีธรรมดวงหนึ่ง คือ ธรรมที่ทำให้เป็นธรรมกาย ธรรมดวงนี้เป็นที่ตั้งที่หยุดของ เห็น จำ คิด รู้ ของธรรมกาย เห็น จำ คิด รู้ ของธรรมกายไม่เผลอหยุดอยู่ที่ศูนย์กลางของดวงธรรมที่ทำให้เป็นธรรมกายเสมอไม่เผลอเลยนั้นเป็นอรหันต์ ตรงศูนย์กลางของธรรมที่ทำให้เป็นธรรมกายนั้น มีเป็นศูนย์ว่างเท่าเมล็ดโพธิ์หรือเมล็ดไทร ตรงนั้นเป็นที่ตั้งที่อยู่ของ เห็น จำ คิด รู้ หยุดที่อื่นไม่ถูก ผิดศูนย์และไม่ถูกความจริงซึ่งเป็นทางไปของพระอริยะทั้งหลาย ธรรมกายนั้นมีเหตุ จำ คิด รู้ เหมือนกัน ทุกกาย เห็น จำ คิด รู้ ก็ต้องมีดวงเป็นที่ตั้ง เห็น จำ คิด รู้ ดวงเป็นที่ตั้งของเห็นอยู่นอก ดวงเป็นที่ตั้งของจำอยู่ใน ดวงเป็นที่ตั้งของจำอยู่นอก ดวงเป็นที่ตั้งของคิดอยู่ใน ดวงเป็นที่ตั้งของคิดอยู่นอก ดวงเป็นที่ต้องของรู้อยู่ใน

 

(ตัวพระรัตนตรัยและการเข้าถึงพระรัตนตรัย)

       ที่ได้พรรณนามาข้างต้นนั้น ว่าด้วยเรื่องคุณพระรัตนตรัยตามบาลีที่ขึ้นต้นด้วย อิติปิโส ภควา และจบลงด้วยคำว่าโลกัสสาติ ต่อไปนี้จักแสดงสรุปให้สั้นถึงตัวพระรัตนตรัยโดยตรงว่ามีอะไรแน่ที่เรียกว่าพระรัตนตรัย และการเข้าถึงพระรัตนตรัยนั้นจะเข้าถึงได้ อย่างไร

        รัตนะ แปลว่า แก้ว ในที่นี้หมายเอาแก้วอย่างประเสริฐ เช่น แก้วมณีโชติ ซึ่งนับถือกันว่าเป็นแก้วมีคุณวิเศษสูงสุด ใครมีไว้ย่อมชื่นชมโสมนัสอิ่มอกอิ่มใจยิ่งกว่าทรัพย์สินอย่างอื่นทั้งหมดในโลก แก้วคือพระรัตนตรัยนี้เหมือนกัน ผู้ใดเข้าถึงย่อมอิ่มใจ ชื่นใจเช่นเดียวกัน

          ร่างกายพระสิทธัตถะ ไม่ใช่พุทธรัตนะ พระสิทธัตถะทรงกระทำความเพียรอยู่ถึง ๖ พรรษา จึงพบรัตนะอันลี้ลับซับซ้อนอยู่ในพระองค์ คือ กายธรรม มีสัณฐานเหมือนพระปฏิมากรเกตุดอกบัวตูม มีสีใสเหมือนกระจก ปรากฏอยู่ในศูนย์กลางกาย ที่ว่านี้มีหลักฐานใน อัคคัญญสูตร ที่พระองค์ตรัสแก่วาเสฏฐสามเณรว่า ตถาถตสฺสเทตํ วาเสฏฐาธิวจนํ ธมฺมากาโย อหํ อิติปิฯ ในสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปฏิกวรรค ยืนยันความว่า ดูกรวาเสฏฐสามเณร คำว่าธรรมกาย ธรรมนี้เป็นชื่อตถาคตโดยแท้

          เรื่องพระวักกลิ ดังที่ยกขึ้นมากล่าวข้างต้นนั้น เมื่อระลึกถึงความในอัคคัญญสูตรนี้ ประกอบแล้วย่อมส่องความให้เห็นว่า ที่พระองค์ตรัสรู้ว่า ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นเรานั้น หมายความว่า ผู้ใดเห็นดวงธรรมที่ทำให้เป็นธรรมกาย ผู้นั้นได้ชื่อว่าเห็นเรา คือตถาคถนั่นเอง มิใช่อื่นไกล หรือพูดให้เข้าใจง่ายกว่านี้ก็ว่า ผู้ใดเห็นดวงธรรมที่ว่านี้ ผู้นั้นเห็น พระพุทธเจ้า หรืออีกอย่างหนึ่งว่า ผู้ใดเห็นธรรมกาย ผู้นั้นเห็นพระพุทธเจ้า 

        ทำไมจึงหมายความเช่นนั้น ก็เพราะว่า ขณะนั้นพระวักกลิก็อยู่ใกล้ๆ กับพระองค์หากจะแลดูด้วยลูกตาธรรมดาทำไมจะไม่เห็นพระองค์ เพราะไม่ปรากฏว่าพระวักกลินั้นตาพิการ เมื่อเช่นนี้ไฉนพระองค์ตรัสเช่นนั้นเล่า ที่ตรัสเช่นนั้นจึงตีความหมายได้ว่า ที่แลเห็นด้วยตาธรรมดานั้น เห็นแต่เปลือกของพระองค์ คือ กายพระสิทธัตถะที่ออกบวช ซึ่งมิได้อยู่ในความหมายแห่งคำว่าเรา และยังตรัสว่าเป็นกายที่เปื่อยเน่าด้วย นั่นคือกายพระสิทธัตถะที่ออกบวชซึ่งเป็นกายภายนอกนั่นเอง คำว่าเราในที่นี้จึงสันนิษฐานได้ว่า หมายถึงกายภายใน ซึ่งไม่ใช่กายเปื่อยเน่า กายภายในคืออะไรเล่า ก็คือธรรมกายนั่นเอง จะเห็นได้อย่างไรข้อนี้ตอบไม่ยาก เมื่อได้บำเพ็ญกิจถูกส่วนแล้วท่านจะเห็นด้วยตาของท่านเอง คือเห็นด้วยตาธรรมกาย ไม่ใช่ตาธรรมดา พระดำรัสของพระองค์ดังยกขึ้นกล่าวมานั้น เป็นปัญหาธรรมมีนัยลึกซึ้งอยู่ อันผู้ที่มิได้ปฏิบัติธรรมแล้วเข้าใจได้ยาก แต่ถ้าผู้ที่ปฏิบัติได้แล้ว จะตอบปัญหานี้ได้ด้วยตนเองอย่างง่ายดายไม่ต้องไปถามใคร 

           ธรรมกาย มีสีใสเหมือนแก้วจริงๆ จึงได้ชื่อว่าพุทธรัตนะ

          ธรรมทั้งหลายที่กลั่นออกจากหัวใจ ธรรมกายจึงได้ชื่อว่า ธรรมรัตนะ ธรรมรัตนะคือหัวใจธรรมกายนั้นเอง

         ดวงจิตของธรรมกายนั้นได้ชื่อว่า สังฆรัตนะ นี่แหละที่ว่า พุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ ทั้ง ๓ ประการนี้เกี่ยวเนื่องเป็นอันเดียวกัน เกี่ยวกันอย่างนี้จะพรากจากกันไม่ได้ ผู้ใดเข้ถึงพุทธรัตนะ ก็ได้ชื่อว่าเข้าถึงธรรมรัตนะ สังฆรัตนะด้วย

         การเข้าถึงรัตนะ ๓ ดังกล่าวมานี้ จะเข้าถึงได้อย่างไร เพียงแต่เลื่อมใสนับถือ ยังไม่เรียกว่าเข้าถึง แม้จะท่องปนน้อมใจระลึกถึงก็ยังไม่เรียกว่าเข้าถึง แม้จะปฏิญาณตนว่ายอมเป็นข้าก็ยังไม่เรียกว่าเข้าถึง อย่างจะเรียกได้ก็เพียง ขอถึง

        การที่จะเข้าถึงนั้น จำเป็นจะต้องบำเพ็ญเพียรปฏิบัติเจริญรอยตามปฏิปทาของพระบรมศาสดาจนบรรลุกายธรรม คือ รู้จริงเห็นแจ้งด้วยตัวของตัวเอง จึงจะได้ชื่อว่าเข้าถึงพระรัตนตรัยโดยแท้ และการปฏิบัติเช่นนี้ไม่เป็นการพ้นวิสัยของมนุษย์ เพราะในปัจจุบันนี้มีผู้ที่ได้บำเพ็ญบรรลุธรรมกายก็มีอยู่มากหลาย ผู้ที่ได้ธรรมกายแล้วเขามีความอิ่มเอิบและสุขกายสุขใจเพียงใด ถามเขาดูได้ เมื่อได้ทราบว่าการเข้าถึงพระรัตนตรัยมีผลอย่างไร ผิดกว่าที่ยังมิได้เข้าถึงอย่างไร ทั้งจะได้รู้ด้วยว่า ศีล สมาธิ ปัญญา ซึ่งเป็นหลักคำสอนของพระบรมศาสดามีความจริงแค่ไหน ศีลเป็นปัจจัยให้เกิดสมาธิ สมาธิเป็นปัจจัยให้เกิดปัญญานั้นอย่างไร ก็จะรู้ความจริงได้ในเมื่อตนบำเพ็ญสำเร็จ หรือถ้าอยากรู้เพียงเงาๆ ก็ลองถามเขาดูได้


(เพียรเถิดจะเกิดผล)

         ในการบำเพ็ญภาวนา ความเพียรเป็นข้อสำคัญยิ่ง ต้องทำเสมอทำเนืองๆ ในทุกอิริยาบถ ไม่ว่านั่ง นอน เดิน ยืน และทำเรื่อยไป อย่าหยุด อย่าละ อย่าทอดทิ้ง อย่าท้อแท้ มุ่งรุดหน้าเรื่อยไป ผลจะเกิดวันหนึ่ง ไม่ต้องสงสัย ผลเกิดอย่างไร ท่านรู้ได้ด้วยตัวของท่านเอง

 

(ตนเป็นที่พึ่งของตน)

         นี่หมายความว่ากระไร? อะไรตน ตนคืออะไร นามรูปัง อนัตตา ก็แปลกันว่านามและรูป ไม่ใช่ตน ถ้ากระนั้นอะไรเล่าจะเป็นคน ซึ่งจะได้ทำให้เป็นที่พึ่งแก่ตน รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เรียกว่า ขันธ์ ๕ เมื่อย่อเข้าเรียกอย่างสั้นก็เรียกว่า นามรูป โดยเอากองรูปคงไว้ ส่วนกอง เวทยา สัญญา สังขาร วิญญาณ รวมกัน ๔ กองนี้เรียกว่า นาม ฉะนั้น ที่ว่า นามรูปก็คือ ขันธ์ ๕ นั่นเอง เมื่อขันธ์ ๕ ไม่ใช่ตน จึงต้องถามว่าอะไรเล่าเป็นตน ถ้าค้นหาตนไม่พบก็ไม่รู้ที่ว่าจะทำอะไรให้เป็นที่พึ่งแก่อะไร พระพุทธวจนะที่มีอยู่ว่า อัตตาหิ อัตตโน นาโถ ซึ่งแปลว่า ตนเป็นที่พึ่งแก่ตน จะมิได้มีทางออกหรือย่อมเป็นไปไม่ได้

           โดยเคยกล่าวมาข้างต้นบ้างแล้ว่า พระองค์ทรงสอน อนิจจัย ทุกขัง อนัตตา ก็ด้วยพระปรีชาญาอันสุขุมคัมภียภาพเพื่อให้คิดค้น พระองค์เน้นสอนทางอนัตตา ก็เพื่อให้เห็นอัตตาเอาเอง สมในคำสันทิฏฐิโก ซึ่งแปลว่าธรรมของพระองค์นั้นผู้ที่ปฏิบัติย่อมเห็นเอง อักขาตาโร พระองค์เป็นแต่ผู้ทรงบอกแนวทางให้เท่านั้น

         ฉะนั้น เมื่อมีเรื่อง อนัตตากับอัตตา ยันกันอยู่จึงต้องคิดค้นต่อไป ธรรมของพระองค์จะขัดกันเองไม่ได้ เพื่อที่จะไม่ให้ขัดแย้งกัน จึงต้องแบ่งอัตตาออกเป็น ๒ อย่าง คือ อัตตาสมมติกับอัตตาแท้ อัตตาสมมติ ได้แก่ กายมนุษย์ กายทิพย์ กายรูปพรหม กายอรูปพรหม เพราะกายเหล่านี้ ยังมีเกิด มีตาย เป็นกายส่วนโลกีย์ ยังมีกายอีกกายหนึ่งซึ่งเป็นกายโลกุตระ คือธรรมกาย ธรรมกายนี้แหละเป็นอัตตาแท้หรือตนแท้ ที่ว่าตนเป็นที่พึ่งแก่ตนนั้น ก็คือเพ่งยึดอาศัยกัน ดำเนินเข้าไปเป็นชั้นๆ คือเพ่งกายมนุษย์ส่งให้ถึงกายทิพย์ เพ่งกายทิพย์ส่งให้ถึงกายรูปพรหม เพ่งกายรูปพรหมส่งให้ถึงกายอรูปพรหม เพ่งกายอรูปพรหมส่งให้ถึงธรรมกาย กายคือตน อาศัยพึ่งกันเป็นชั้นๆ เข้าไปเช่นนี้จึงได้ชื่อว่า ตนเอ็นที่พึ่งแก่ตน ในด้านภาวนาตามนัยที่กล่าวไว้แล้ว โดยละเอียดข้างต้นนั้นยังมีคำว่า “กาเย กายานุปสุสี” ในมหาสติปัฏฐานสูตรเป็นหลักฐานสนับสนุนอีก กายานุปัสสี แปลว่า เห็นตามหรือตามเห็นซึ่งกาย กาเย แปลว่าในกาย รูปศัพท์มีวิภัตริตริงอยู่ขัดเช่นนั้น แปลตรงตามศัพท์ และย่นคำให้สั้นก็ว่าตามเห็นกายในกาย คือตามเห็นเรื่อยเข้าไปเป็นชั้นๆ เห็นกายมนุษย์แล้วตามเข้าไปเห็นกายทิพย์ ตามเข้าไปเห็นกายรูปพรหม ตามเข้าไปเห็นกายอรูปพรหม ตามเข้าไปเห็นกายธรรม ดังนี้เป็นหลักฐานรับสมกันอยู่ กายมนุษย์ รูปร่างหน้าตาอย่างไร กายมนุษย์ รูปร่างหน้าตาก็เป็นมนุษย์ใช่อื่นไกล คือกายเรานี้เอง กายทิพย์ก็เป็นรูปเป็นร่างเช่นกันแต่สวยกว่า กายรูปพรหมสวยกว่างามกว่านั้นอีก ธรรมกายนั้นมีสีใสเหมือนแก้ว สัณฐานดังรูปพระพุทธรูปมากรนั่งสมาธิเกตุเป็นดอกบัวตูมดังได้กล่าวมาแล้ว

 

(การรักษาไตรทวาร)

           ไตรทวาร แปลว่า ประตูทั้ง ๓ คือ กาย วาจา ใจ ที่เรียกทวารก็เพราะความชั่วและความดีจะลอดไปถึงจิตนั้นเข้าทางนี้ ความชั่วเรียกว่าทุจริต ความดีเรียกว่าสุจริต วิธีที่จะเข้าไปมีอาการไหวก่อน ซึ่งเขาเรียกว่า วิญญัติไหวทางกายเรียกว่า กายวัญญัติ ทางวาจาเรียกว่า วจีวิญญัติ ทางใจเรียกว่ มโนวิญญัติอะไรทำให้เกิดอาการไหว หรือบังคับให้ไหว ไม่ใช่อื่นไกล สังขารนั่นเอง บังคับให้ไหว บังคับทางกายได้แก่กายสังขาร ทางวาจาได้แก่วจีสังขาร ทางใจได้แก่จิตสังขาร สังขารคือความรู้สึกนึกคิดปรุงแต่ง และมีทางเกิดเป็น ๒ ฝ่าย ฝ่ายทุจริตเกิดจากอวิชชา และอาสวะ ฝ่ายสุจริต เกิดจากวิชชา และอนาสวะ ฝ่ายเหตุทุจริตเป็นดวงดำมืดมน ฝ่ายเหตุสุจริตเป็นดวงขาวใสซ้อนอยู่ในดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ เป็นปราบกันอยู่ ฝ่ายชั่ว (ดำ) เป็นภาคมาร ฝ่ายดี (ขาว) เป็นภาคพระ ต่างมีเจ้าของด้วยกัน ฝ่ายชั่วอำนวยการให้มืด ฝ่ายดีอำนวยการให้สว่าง คล้ายโรงงานทำหมอกควันพวกหนึ่ง โรงงานทำไฟฟ้าพวกหนึ่ง เมื่อเราไม่คอยระวังฝ่ายชั่วสอดเข้าไปได้ ย่อมเป็นเหตุให้เราตกไปทางชั่ว คือจะทำอะไรก็ทำในทางชั่ว จะพูดอะไรออกมาก็เป็นทางชั่ว จะคิดทำอะไรก็เป็นไปทางชั่วหมด (อกุศลกรรมบถ ๑๐) ถ้เราควรระวังรักษาไว้ให้ดี บำเพ็ญสมาธิให้ดวงขาวใสปรากฏอยู่ในศูนย์กลางกายเสมอ เราจะทำอะไรก็เป็นไปในทางดี พูดอะไรก็พูดไปทางดี คิดอะไรก็คิดไปทางดี (กุศลกรรมบถ ๑๐) เพราะฉะนั้น จึงควรบำเพ็ญตนให้เป็นฝ่ายขาวเสมอ เวลาจะตายถ้าปล่อยให้ไปตกอยู่ฝ่ายดำเรียกว่า หลงตายจะไปสู่ทุคติ ถ้าอยู่ในฝ่ายขาวเรียกว่า ไม่หลงตายจะไปสู่สุคติแน่แท้ จึงเป็นการจำเป็นยิ่งที่จะระวังยิ่งให้อยู่ฝ่ายขาว

          วะรัญญัง สะระณัง นัตถิ สิ่งอื่นจะเป็นที่พึ่งของเราได้ไม่มี พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ๓ รัตนะนี้เท่านั้น เป็นที่พึ่งอันประเสริฐสูงสุดของเรา ด้วยสัจจวาจกภาษิตนี้ ขอความสุขสวัสดีจงมีแด่สาธุชนทั้งหลายทั่วกัน

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.047507814566294 Mins