.....สิ่งที่เป็นบ่อเกิดแห่งความสุข และความสำเร็จในชีวิตของเราทุกคน มีเพียงสิ่งเดียวเท่านั้นคือบุญ บุญจะเป็นเครื่องสนับสนุนให้เราได้บรรลุวัตถุประสงค์ของการเกิดมาเป็นมนุษย์ โดยทำให้เป็นผู้ที่สมบูรณ์พร้อมด้วยรูปสมบัติ ทรัพย์สมบัติ คุณสมบัติ มีโอกาสทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนาอย่างเต็มที่ ได้ประพฤติปฏิบัติธรรมตามคำสอน ของพระบรมศาสดา จนกระทั่งมีดวงตาเห็นธรรม ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน ทั้งหมดนี้ต้องอาศัยบุญทั้งสิ้น
มีวาระธรรมภาษิตใน ขุททกนิกาย ชาดก ความว่า
.....“คนพาลกระทำกรรมอันชั่วช้า ก็สำคัญว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งประเสริฐ มองเห็นแต่เพียงประโยชน์ในโลกนี้เท่านั้น ไม่เห็นประโยชน์ในโลกหน้า ต้องได้รับเคราะห์กรรมในโลกทั้งสอง ข้าพระพุทธเจ้าเห็นข้อความแม้นี้ จึงกราบทูลว่า คนมีปัญญาเท่านั้นประเสริฐ คนโง่เขลาเบาปัญญาถึงแม้จะมียศตำแหน่ง ก็หาประเสริฐไม่”
.....คำว่าคนมีปัญญา ในที่นี้ หมายถึง ปัญญาที่สามารถตรองเห็นความเป็นจริง ของชีวิต และหยั่งรู้ได้ลึกซึ้ง เชื่อมั่นว่าโลกหน้ามีจริง เชื่อในกฎแห่งกรรมว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เข้าใจแจ่มแจ้งในเรื่องของบุญบาป ซึ่งไม่มีในตำราทั่ว ๆ ไปตามมหาวิทยาลัยต่างๆ เหมือนที่รํ่าเรียนกันในทางโลก แต่ต้องศึกษาในทาง พระพุทธศาสนาเท่านั้น จึงจะรู้แจ้งได้ ความรู้หรือปัญญาชนิดนี้ สามารถปิดนรก เปิดสวรรค์และนิพพานให้กับตัวเองได้ คนมีสติปัญญาอย่างนี้ ผู้รู้ทั้งหลายท่านเรียกว่ามีปัญญาพ้นทุกข์
.....สำหรับเรื่องมโหสถบัณฑิตผู้มีสติปัญญาเป็นเลิศนั้น ครั้งนี้จะได้นำเรื่องการแสดง ความสามารถในการตัดสินปัญหาอย่างชาญฉลาด ที่ทำให้ท่านได้รับการยกย่อง เชิดชูจากมหาชนทั้งหลาย นับเป็นเหตุการณ์ที่ใช้ปัญญาได้อย่างน่าสนใจมากทีเดียว
.....*เรื่องมีอยู่ว่า มีชายหนุ่มเตี้ยแคระ ผิวดำชื่อโคฬกาฬ มีความรักในสาวงาม ชื่อนางทีฆตาลา ชายหนุ่มนี้เป็นคนขี้เหร่ รูปสมบัติบกพร่อง มิหนำซ้ำทรัพย์ สมบัติก็ขาดแคลน แต่ด้วยอานุภาพแห่งความรัก เขาจึงยอมตัวทำงานให้กับบิดามารดา ของนางทีฆตาลาโดยไม่ได้รับค่าตอบแทน สุดแต่จะใช้สอย หนักเอาเบาสู้ ไม่มีบ่ายเบี่ยง ทำอยู่จนครบ ๗ ปี ก็ได้รับบำเหน็จสมความปรารถนา ได้นางมาเป็นคู่ครอง
(*มก. มโหสถบัณฑิต เล่ม ๖๓ หน้า ๓๔๐)
.....ต่อมาชายหนุ่มคิดถึงบิดามารดา เนื่องจากได้จากมาเป็นเวลานานปี เขาปรารถนาจะไปเยี่ยมบ้าน จึงได้อำลาพ่อตาแม่ยาย และชวนภรรยาสาวออกเดินทาง กลับบ้านเกิด ระหว่างทางมีแม่น้ำขวางหน้าอยู่ น้ำในแม่น้ำไม่ลึกนัก พอเดินข้ามได้ แต่ทั้งสองไม่กล้าเดินข้ามเพราะว่ายน้ำไม่เป็น กลัวว่าน้ำเชี่ยวจะพัดตัวเองจมลง ในแม่น้ำ จึงยืนรอคอยหาวิธีการที่จะข้ามแม่น้ำนั้น
.....ขณะนั้นเอง มีชายเข็ญใจคนหนึ่งชื่อ ทีฆปิฏฐิ เดินเลียบมาตามริมฝั่งแม่น้ำ เห็นสามีภรรยายืนรออยู่ สังเกตดูท่าทางก็รู้ว่าเป็นคนกลัวน้ำจึงนึกในใจว่า “คงเป็นโอกาสดีของเราที่จะได้ค่าจ้าง” และเมื่อมองเห็นนางทีฆตาลา ก็เกิดความรู้สึกหลงใหล ได้แสร้งบอกว่า น้ำในแม่น้ำนี้ลึกมาก ถ้าท่านทั้งสองอยากข้ามไป เราจะอาสาช่วยพาท่านข้ามไปทีละคน ทั้งสามตกลงกันว่า จะให้นางทีฆตาลาข้ามไปก่อน แล้วค่อยย้อนมารับนายโคฬกาฬ
.....ทีฆปิฏฐิให้นางทีฆตาลาขึ้นขี่คอของตน พร้อมทั้งขนเสบียงอาหาร และของฝากที่จะนำไปให้มารดาบิดาของนายโคฬกาฬไปด้วย เมื่อเดินลงสู่แม่น้ำ ยิ่งห่างฝั่งก็แสร้งย่อตัวลงเพื่อแสดงให้โคฬกาฬเห็นว่าน้ำลึกมาก ทำให้โคฬกาฬเกิดความหวาดกลัวว่า แม่น้ำนี้ลึกอย่างที่ชายแปลกหน้าบอก เมื่อถึงกลางแม่น้ำ นายทีฆปิฏฐิเอ่ยเกี้ยวพาราสีนางทีฆตาลาว่า “การอยู่คู่กันของชายหญิง เป็นวิสัยธรรมดาของสัตวโลก เหมือนแมลงภู่คู่กับดอกไม้” จากนั้นทั้งสองเริ่มสนทนากันด้วยความสนิทสนม ทีฆปิฏฐิเอ่ยขึ้นว่า “นางผู้เจริญใจ คนอย่างโคฬกาฬ นอกจากจะนำความขี้ริ้วขี้เหร่มา ทำให้ความสวยงามของนาง ต้องอับเฉาลงแล้ว ยังไม่สามารถให้การบำรุงบำเรอนางได้สมภาวะของนางอีกด้วย นางไม่ควรจะเป็นคู่กับเขาเลย” เขาพูดเกลี้ยกล่อมหมายจะได้นางมาเป็นภรรยา นางทีฆตาลาฟังแล้วเกิดคล้อยตามคำของทีฆปิฏฐิ เมื่อข้ามถึงฝั่งก็ออกเดินทางต่อไป โดยไม่ได้สนใจสามีของตนเลย
.....โคฬกาฬเห็นท่าทีของคนทั้งสองในตอนแรก ก็คิดระแวงแคลงใจอยู่แล้ว ครั้นทั้งสองปล่อยให้ตนคอยอยู่อีกฝั่งหนึ่ง จึงเกิดความแค้นจนลืมกลัวน้ำไปเสียสนิท ถึงกับกล้าวิ่งกระโจนลงไปในแม่น้ำตามแรงโกรธ เมื่อถึงกลางแม่น้ำจึงรู้ว่าโดนหลอก เพราะแม่น้ำตื้นนิดเดียว ครั้นวิ่งขึ้นฝั่งก็ไล่กวดตามคนทั้งสอง ได้ทัน ได้ร้องตะโกนบอก ให้หยุด แล้วขอภรรยาคืน แต่ต่างคนต่างไม่ยอมกัน ได้แต่ทะเลาะกันมาเรื่อยๆ กระทั่งถึงศาลาของมโหสถ
.....มโหสถให้คนไปเรียกทั้งสามคนเข้ามาในศาลา สอบถามเรื่องราวที่เกิดขึ้น ท่านสามารถเข้าใจเรื่องราวได้อย่างแจ่มแจ้ง เหมือนไปพบเห็นเหตุการณ์มา ด้วยตาตนเอง แต่เพื่อจะแสดงปัญญาให้มหาชนได้เห็น จึงบอกว่าจะช่วยวินิจฉัย ให้อย่างยุติธรรม จากนั้นก็ให้พาคนทั้งสาม ไปรออยู่ ณ ที่แห่งหนึ่งห่างจากที่วินิจฉัย และให้อยู่แยกกันคนละแห่ง โดยเรียกนายทีฆปิฏฐิเข้ามาก่อน เมื่อมาถึงก็ทำการไต่สวน
.....เมื่อทีฆปิฏฐิถูกถามชื่อภรรยา ตัวเองยังไม่เคยถามชื่อของนาง จึงตอบส่งเดชไป เมื่อถามถึงชื่อของพ่อแม่ฝ่ายหญิงก็อํ้าอึ้งอยู่ครู่หนึ่ง แล้วตอบโกหกไป มโหสถให้ บริวารคนหนึ่งจดถ้อยคำของทีฆปิฏฐิไว้เป็นหลักฐาน แล้วให้เขาออกไปรอข้างนอก จากนั้นให้เรียกโคฬกาฬเข้ามาถามทำนองเดียวกัน โคฬกาฬตอบได้โดยไม่อํ้าอึ้ง มโหสถรู้ได้ทันทีว่าเป็นสามีตัวจริง แต่ให้คนจดชื่อไว้ แล้วให้ออกไปรออยู่ที่เดิม
.....จากนั้นได้เรียกให้นางทีฆตาลาเข้ามาถามถึงชื่อของสามีและบิดามารดาของนาง นางตอบโกหกมโหสถตามที่นึกชื่อได้ หลังจากการไต่สวน มโหสถจึงลงความเห็นว่า “ไม่น่าจะเป็นไปได้ วิสัยหญิงชายที่เป็นสามีภรรยากัน ต้องรู้จักวงศ์สกุลของแต่ละฝ่าย แสดงว่านางทีฆตาลาคิดจะนอกใจสามีจึงโกหก ส่วนนายทีฆปิฏฐินั้นไม่รู้จริงจึงโกหก ฉะนั้นนายโคฬกาฬก็คือ สามีของนางทีฆตาลาอย่างแน่นอน”
.....ทีฆปิฏฐิหมดทางที่จะโต้แย้ง ยอมสารภาพว่าตัวเองเป็นตัวปลอม โคฬกาฬจึงได้ภรรยาของตนคืนมา ด้วยการวินิจฉัยอันเที่ยงธรรมของมโหสถกุมาร โคฬกาฬดีใจกล่าวชมมโหสถว่า “พ่อเจ้าประคุณเอ๋ย เทพบุตรจุติมาจากฟากฟ้า ลงมากำเนิดในเมืองมนุษย์เป็นแน่ หากมิได้พ่อแล้วไฉนเลยข้าพเจ้าจะได้ภรรยาคืน ขอให้พ่อจงจำเริญ ๆ เป็นมิ่งขวัญของประชาชนชั่วกาลนานเทอญ” แล้วอำลามโหสถ เพื่อพาภรรยาไปยังถิ่นฐานของตน
.....มโหสถบัณฑิตได้อบรมภรรยาของนายโคฬกาฬว่า ไม่ควรนอกใจสามี ควรให้ความเคารพบูชาสามีเหมือนพราหมณ์บูชาไฟ เพราะโทษของการนอกใจนั้น มีแต่นำทุคติมาให้ และได้สั่งสอนทีฆปิฏฐิว่า “เป็นชายชาตรีมีร่างกายสมประกอบ ไม่ควรแย่งคู่ครองเขา จะทำให้ผิดศีล และเป็นเหตุให้ครอบครัวเขาแตกแยก ตนเองจะไม่ได้รับความสุขทั้งในปัจจุบันและอนาคต จงเลิกทำอย่างนี้เสียเถิด” ครั้นตักเตือนแล้วก็ปล่อยตัวไป
.....นี่เป็นเหตุการณ์ที่แสดงถึงปัญญาอันสุขุมลุ่มลึกของพระโพธิสัตว์ของเราจะเห็นได้ว่า ผู้ฉลาดในการวินิจฉัยต้องรู้จัก พิจารณาวิเคราะห์ข้อมูล ช่างสังเกตและไม่มีอคติ ไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง จึงจะดำรงความยุติธรรมไว้ได้ ดังนั้น ให้พวกเรา ทุกคนหมั่นอบรมตนให้เป็นผู้มีความบริสุทธิ์ มีความยุติธรรม เมื่อถึงคราวปฏิบัติธรรม จะได้วางใจได้เป็นกลาง ๆ มีความบริสุทธิ์ตั้งมั่นหยุดนิ่งได้อย่างสบายๆ ได้เข้าถึงพระธรรมกายอย่างง่ายดายกันทุก ๆ คน