สองปัญหาที่ขัดแย้งในตัวเอง

วันที่ 24 มค. พ.ศ.2550

 

      ปัจจุบันโรงเรียนต่างๆ จำนวนมาก ขาดครูผู้มีความรู้มา สอนวิชาทางพุทธศาสนา ต้องขอให้ครูที่จบการศึกษาทางสาขาอื่นมาสอนพระพุทธศาสนา ซึ่งหลายท่านก็ทำด้วยใจรักด้วยความทุ่มเท และทำได้ดีอย่างน่าชมเชย แต่อีกจำนวนไม่น้อยเลยที่จำใจทำ สอนเพียงพอให้ผ่านไป ทำให้การเรียนการสอนไม่ได้ผลเท่าที่ควร เป็นเหตุผลหนึ่งที่มีผู้ยกมาอ้างเสมอ เมื่อต้องการให้ถอดวิชาพระพุทธศาสนาออกไปจากระบบการศึกษาในโรงเรียน

 

 

     นอกจากนี้วัดต่างๆ ในชนบทก็ขาดแคลนพระอาจารย์ผู้มีความรู้ความสามารถที่จะอบรมประชาชนจำนวนมาก แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีพระนักศึกษาที่จบการศึกษาพระปริยัติธรรม มีความรู้จำนวนไม่น้อยในตัวเมือง โดยเฉพาะในเมืองหลวง เมื่อเรียนจบแล้วไม่มีงานทำ จะสอนบาลี สอนวิชาทางพระพุทธศาสนาก็หานักเรียนไม่ค่อยได้ หรือมีผู้รับผิดชอบอยู่แล้ว จึงไม่ได้ใช้วิชาความสามารถของตัวเต็มที่ ที่เบื่อลาสิกขาไปก็มาก

 

    หากสามารถจัดระบบที่สนับสนุนให้พระนักศึกษาที่มีความรู้ทางพระปริยัติธรรมออกไปทำงานในหัวเมือง โดยมีการประสานงานให้มีการสนับสนุนยกย่องให้กำลังใจแก่ผู้ปฏิบัติหน้าที่ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา สร้างแรงจูงใจในด้านต่างๆ ให้มากขึ้น ก็คงจะเป็นประโยชน์แก่พระพุทธศาสนาไม่น้อย

 

    ครั้งหนึ่งได้เคยพบพระอาจารย์รูปหนึ่งที่อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี จบการศึกษานักธรรมเอก และเปรียญธรรมประโยคชั้นต้น ได้ทุ่มเทสอนพระพุทธศาสนาแก่เยาวชนของชาติอย่างเต็มกำลัง รับเป็นครูสอนศีลธรรมถึง ๘ โรงเรียน ปัจจัยที่ได้มาจากกิจนิมนต์เกือบทั้งหมดก็ใช้ไปในการทำอุปกรณ์การสอนแก่เด็กๆ และทำมานานร่วมสิบปี เด็กทุกคนเคารพรักท่าน การเรียนวิชาศีลธรรมเป็นไปอย่างคึกคัก

 

    ท่านบอกว่าที่ทำได้เพราะเจ้าอาวาส เจ้าคณะปกครองให้การสนับสนุน เป็นเรื่องที่น่ายินดี น่าอนุโมทนา สมควรที่จะเร่งขยายงานในลักษณะนี้ให้กว้างขวาง ครอบคลุมไปทุกพื้นทีความขาดแคลนศาสนทายาท ปัญหาใหญ่ในอนาคตอันใกล้

 

     พระภิกษุสงฆ์ที่บวชระยะยาวเป็นผู้สืบทอดอายุพระพุทธ-ศาสนาในประเทศไทยปัจจุบัน ส่วนใหญ่มาจากผู้ที่บวชตั้งแต่อายุยังน้อย บรรพชาเป็นสามเณร ศึกษาพระปริยัติธรรม มีความซาบซึ้งในคำสอน เมื่อสำเร็จการศึกษาในชั้นต่างๆ แล้วก็ไม่ลาสิกขา บวชต่อเนื่องเรื่อยมา

 

      แต่ปัจจุบันเมื่อทางราชการปรับการศึกษาภาคบังคับถึงชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น และมีนโยบายปรับจนถึงมัธยมศึกษาตอนปลายในอนาคตอันใกล้ ผู้สำเร็จการศึกษาภาคบังคับนี้ก็จะมีอายุเกิน ๑๕ ปี เป็นผู้ใหญ่พอจะไปทำงานยังที่ต่างๆ ได้ ผู้ที่จะมาบวช เป็นสามเณรก็จะลดน้อยลงอย่างมาก ซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหาการขาดแคลนศาสนทายาทอย่างมากในระยะยาว

 

      มีบางท่านมองในอีกมุมหนึ่งว่า จะเป็นผลดีที่ทางคณะสงฆ์จะได้ไม่ต้องทำหน้าที่สังคมสงเคราะห์อุปถัมภ์ให้การศึกษาแก่เด็กในชนบท ที่ฐานะยากจนขาดโอกาสทางการศึกษา แล้วต้องมาบวชเป็นสามเณรอีกต่อไป ในทางตรงกันข้าม หากผู้มาบวชจะเป็นผู้มีศรัทธาจริงๆ ก็จะทำให้การอบรมเป็นไปได้อย่างเต็มที่ เมื่อเรียนจบแล้วโอกาสลาสิกขาก็จะน้อยลง

 

     แต่ปัญหาใหญ่ก็คือว่า ทางคณะสงฆ์เองมีความพร้อมในการอบรมสั่งสอนประชาชน ทำให้ประชาชนเกิดศรัทธาออกบวชเป็นจำนวนมากพอที่จะรักษาวัด รักษาศีลธรรมของประชาชน และรักษาพระพุทธศาสนาให้มั่นคงได้แล้วหรือยัง?

 

     หากดูตัวอย่างจากประเทศที่เป็นเมืองพุทธ มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่รุดหน้าไปก่อนไทยเรา และไม่มีประเพณีการบวชตั้งแต่ยังเด็ก ปรากฏผลดังนี้

ประเทศไต้หวันมีพลเมือง ๒๑ ล้านคน เป็นชาวพุทธประมาณ ๘๐% ตกประมาณ ๑๖ ล้านคน มีนักบวชประมาณ ๑๐,๐๐๐ รูป และส่วนใหญ่เป็นภิกษุณี สัดส่วนของนักบวชต่อพุทธศาสนิกชน คิดเป็น ๑ : ๑,๖๐๐

 

เกาหลีใต้มีประชากร ๔๕ ล้านคน เป็นชาวพุทธประมาณ ๒๐ ล้านคน มีภิกษุและภิกษุณีรวมประมาณ ๑๐,๐๐๐ รูป สัดส่วนของนักบวชต่อชาวพุทธ คิดเป็น ๑ : ๒,๐๐๐ (ในญี่ปุ่น พระภิกษุสงฆ์มีครอบครัวเกือบทั้งหมด เมื่อเจ้าอาวาสมรณภาพ พระลูกชายก็เป็นเจ้าอาวาสต่อ หากไม่มีลูกชายก็อาจเป็นพระลูกเขย หรือภรรยาเป็นเจ้าอาวาสแทน คนทั่วไปไม่มีสิทธิ์ไปขอบวชตามวัดต่างๆ จึงไม่นับในกรณีนี้)

 

ปัจจุบันประเทศไทยมีพระภิกษุสามเณรประมาณ ๓๐๐,๐๐๐ รูป มีประชากรประมาณ ๖๒ ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนพระภิกษุสามเณรต่อชาวพุทธประมาณ ๑ : ๒๐๐ ขอให้ลองคิดดูว่า ในอนาคตหากจำนวนพระภิกษุสงฆ์ต่อพุทธศาสนิกชนไทยน้อยลงจนเหลือประมาณ ๑ : ๒,๐๐๐ พอๆ กับเกาหลี ไต้หวันแล้วละก็ ทั้งประเทศไทยจะมีพระภิกษุสงฆ์เหลือเพียงประมาณ ๓๐,๐๐๐ รูปซึ่งเท่ากับ ๑ ใน ๑๐ ของปัจจุบัน ซึ่งวัดในปัจจุบันอาจกลายเป็นวัดร้างถึง ๘๐-๙๐ % เมื่อเป็นเช่นนั้นอะไรจะเกิดขึ้น?

 

การวางแผนสร้างศาสนทายาทที่มีทั้งปริมาณและคุณภาพ จึงเป็นภารกิจสำคัญที่รออยู่ในขณะนี้ (ติดตามต่อในตอนหน้า)

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0012189507484436 Mins