.....สิ่งที่เป็นความปรารถนาของมนุษย์ในการดำรงชีวิต คือ ความสุขและความสำเร็จสมหวัง ไม่อยากพบเจออุปสรรค หรือสิ่งบั่นทอนกำลังใจ อันจะนำมาซึ่งความโศกเศร้าเสียใจ ต่างเสาะแสวงหาในสิ่งที่ตนเองคิดว่า จะเพิ่มเติมความสุขหรือส่วนบกพร่องในชีวิตให้เต็มเปี่ยมบริบูรณ์ โดยที่ยังไม่รู้ว่า หนทางของความสุขที่แท้จริงอยู่ที่ตรงไหน จะเข้าถึงได้อย่างไร พระบรมศาสดาทรงค้นพบว่า วิธีการที่จะทำให้เข้าถึงความสุขที่แท้จริงได้นั้น ต้องเริ่มต้นจากใจที่หยุดนิ่ง สุขอื่นนอกจากใจหยุดนิ่งไม่มี ใจที่สงบหยุดนิ่งจะเป็นต้นทางแห่งความสุข และความสำเร็จสมปรารถนาในชีวิต
มีวาระพระบาลีใน ขุททกนิกาย สุตตนิบาตว่า
“ธีรํ ปสฺเส สุเณ ธีรํ ธีเรน สห สํวเร
ธีเรนลฺลาปสลฺลาปํ ตํ กเร ตญฺจ โรจเย
บุคคลพึงเห็นนักปราชญ์ พึงฟังถ้อยคำของนักปราชญ์
พึงอยู่ร่วมกับนักปราชญ์ พึงกระทำการสนทนาปราศรัยกับนักปราชญ์
และพึงชอบใจในการสนทนากับนักปราชญ์นั้น”
.....การคบหาสมาคมกับบัณฑิตนักปราชญ์ เป็นทางมาแห่งความเจริญรุ่งเรืองในชีวิต บัณฑิตจะคอยชี้แนะสิ่งที่เป็นประโยชน์ สิ่งที่ถูกต้องดีงาม เนื่องจากเป็นผู้ที่มีใจใสเป็นปกติ มีความเห็นถูกต้องตรงไปตามความเป็นจริง รู้ว่าอะไรถูก อะไรผิด อะไรเป็นบุญ อะไรเป็นบาป อะไรเป็นประโยชน์ และอะไรไม่เป็นประโยชน์ การอยู่ร่วมกับบัณฑิตจึงเป็นสุข เมื่อเราคบกับใคร จะเคารพเลื่อมใสในบุคคลใด หรือจะเชื่อฟังถ้อยคำของใคร เราควรพิจารณาให้ถ่องแท้ เพราะการสูญเสีย หรือได้โอกาสในการสร้างบารมี อยู่ที่การเลือกคบคนนั่นเอง
.....สำหรับตอนนี้มีตัวอย่างการเลือกคบคนของมโหสถบัณฑิตมาให้เรียนรู้กัน แต่การเลือกคบคนของมโหสถในครั้งนั้น คือ เลือกสุภาพสตรีที่จะมาเป็นคู่ครอง ปกติของบัณฑิตนั้น ท่านรักกันที่ความดี เอาความดีนำหน้า การจะแต่งงานกัน ต้องศึกษาอัธยาศัยของกันและกันก่อน เหมือนนางอมราที่รู้ว่ามโหสถนี้เป็นบัณฑิต ต่างจากบุรุษหนุ่มคนอื่น ๆ ที่นางเคยพบเห็นมา จึงปรารถนาที่จะอยู่ร่วมชีวิตกับมโหสถบัณฑิต ปรารถนาที่จะได้ยินคำแนะนำที่ดีจากมโหสถ เพียงแต่เก็บความรู้สึกที่ดีนั้นไว้ในใจ ไม่ได้แสดงออกจนเกินงาม
.....ฝ่ายมโหสถก็ปรารถนาหญิงที่ฉลาด มีศีลและทิฏฐิเสมอกันกับตน ก่อนจะตกลงปลงใจเลือกนางเป็นศรีภรรยา จึงต้องการทดลองนางก่อนว่า พอจะมาเป็นภรรยาที่ช่วยกันสร้างวงศ์สกุลให้เจริญได้หรือไม่ โบราณได้กล่าวไว้ว่า ภรรยาของชายใดมีวัยเสมอกัน อยู่ร่วมกันด้วยความปรองดอง ประพฤติตามใจกัน เป็นคนใคร่ธรรม ไม่เป็นหญิงหมัน มีศีลอันงาม รู้จักปรนนิบัติสามี บัณฑิตทั้งหลายกล่าวคุณความดีในภรรยาของชายนั้นว่า เป็นสวัสดิมงคลในภรรยาทั้งหลาย
.....*มโหสถได้ไปเยี่ยมมารดาของนางอมราที่บ้าน และขอพักอาศัยสักคืนสองคืน มารดาของนางอมราเห็นว่า มโหสถเป็นคนที่มีความเคารพนอบน้อม มีคุณสมบัติของผู้ที่ได้รับการฝึกตัวมาดี จึงยินดีต้อนรับมโหสถ อีกทั้งนางเองก็รักมโหสถเหมือนลูกชาย เมื่อมีโอกาส มโหสถจึงอยากจะทดลองนางอมราว่า จะเป็นผู้มีความอดทนหรือไม่ มโหสถบอกนางอมราให้นำข้าวสารครึ่งทะนานไปต้มข้าวต้ม ทำขนม และหุงข้าวสวยด้วย
(*มก. มโหสถบัณฑิต เล่ม ๖๓ หน้า ๓๘๕)
.....นางอมรารับคำสั่งแล้วก็ตำข้าวสาร นางเป็นคนฉลาดในเรื่องการทำครัวอยู่แล้ว จึงนำข้าวสารที่ไม่ค่อยมีเมล็ดหักหุงเป็นข้าวสวย มีเมล็ดหักมากก็นำมาต้มเป็นข้าวต้ม ส่วนที่เป็นปลายข้าวสารก็นำมาป่นทำขนม หลังจากนั้นนางได้จัดข้าวต้มมาให้มโหสถ ทันทีที่ข้าวต้มถึงปาก ข้าวต้มนั้นก็แผ่ซ่านไปสู่เส้นประสาททั้งเจ็ดพัน แต่ถึงแม้จะมีรสอร่อย มโหสถก็แสร้งทำเป็นไม่อร่อย
.....นางอมราฟังแล้ว ก็มิได้โกรธเคืองอะไร แต่เอาอกเอาใจมโหสถว่า “ถ้าข้าวต้มไม่อร่อย ท่านก็กินขนมที่กำลังร้อนๆ นี้เถิด” พลางส่งขนมให้มโหสถ มโหสถชิมดูแล้ว รู้สึกชื่นใจในรสขนมของนาง แต่แสร้งบ่นว่า “ไม่อร่อย เป็นขนมที่ไม่มีรสชาติเอาเสียเลย” นางอมราก็ไม่ว่าอะไร คอยทำหน้าที่ที่ดีต่อไป นางบอกว่า “ถ้าขนมไม่อร่อย ท่านลองกินข้าวสวยดูเถอะ” นางได้นำข้าวสวย มาให้มโหสถอีก มโหสถก็ทำอาการเหมือนเดิม แสร้งพูดจาให้นางขุ่นเคือง อย่างไรก็ตามนางยังสามารถรักษาภาวะปกติของตนไว้ได้ ทำให้มโหสถพอใจนางมาก
.....มโหสถได้เห็นการต้อนรับขับสู้ของนางอมรา และบิดามารดาของนาง รู้สึกเหมือนได้อยู่บ้านของตัวเอง อีกทั้งได้สังเกตกิริยามารยาททุกอย่างของว่าที่ภรรยาแล้ว รู้สึกพอใจความเป็นผู้มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด กิริยามารยาทก็พอเหมาะพอสม ส่วนตัวเองก็แสดงความสามารถในการชุนผ้าที่หาใครเทียบไม่ได้ เพียงวันเดียวเท่านั้นสามารถเย็บผ้าที่ชาวบ้านขนมาให้ปักชุนจนหมด ทำให้ได้เงินค่าจ้างถึง ๑,๐๐๐ กหาปณะ
.....เมื่อมโหสถพิสูจน์ความเป็นกุลสตรีของอมราจนมั่นใจแล้ว ก็เอ่ยปากบอกบิดามารดาของนางว่า จะขอลูกสาวไปเป็นคู่ชีวิตด้วย บิดามารดาซึ่งพอใจในตัวมโหสถอยู่แล้ว ก็ไม่ขัดข้อง มโหสถจึงนำผ้าสาฎกเนื้อดีที่ติดตัวมาด้วยมอบให้นางอมราได้สวมใส่ พร้อมกับมอบเงินอีก ๑,๐๐๐ กหาปณะ แก่บิดามารดาของนาง เพื่อใช้ดูแลตัวเองในยามยาก จากนั้นทั้งสองได้อำลาเพื่อออกเดินทางกลับสู่เคหะสถานของมโหสถ
.....ในระหว่างทางมโหสถอยากทดลองความเป็นผู้มีใจซื่อสัตย์ของว่าที่ภรรยา จึงพานางอมราเข้าไปขอพักอาศัยอยู่กับคนเฝ้าประตูเมือง ระหว่างนั่งพัก มโหสถแสร้งบอกนางอมราว่า จะขอเข้าไปทำธุระข้างนอกสัก ๒-๓ ชั่วโมง แล้วจะกลับมา จากนั้นได้แอบไปบอกภรรยาของคนเฝ้าประตูว่า จะมีชายหนุ่ม ๓-๔ คน เข้ามาเกี้ยวพาราสีนางอมรา ขอให้นางอย่าได้ขัดขวาง เพราะท่านต้องการลองใจว่าที่ภรรยาว่า จะเป็นผู้มั่นคงในความรักหรือไม่ จากนั้นท่านได้เดินทางกลับบ้านพักในพระราชนิเวศน์
.....มโหสถได้สั่งให้ชายหนุ่ม ๔ คน ซึ่งเป็นหนุ่มนักรัก เจ้าชู้มีเสน่ห์ที่หาตัวจับยาก ถือได้ว่าเป็นนักเลงหญิงประจำเมืองกันเลยทีเดียว ชายหนุ่มทั้งสี่ถูกส่งให้ไปจีบสาวแล้ว ยังได้รับเงินอีกคนละ ๑,๐๐๐ กหาปณะ ต่างหน้าชื่นตาบาน รีบเดินทางไปหานางอมราที่บ้านของคนเฝ้าประตู แต่ละคนต่างมีวาทะที่สามารถ โน้มน้าวใจให้ฝ่ายหญิงหลงรัก และหลงใหลได้โดยไม่ยาก แต่ไม่น่าเชื่อว่า ชายหนุ่มทั้งสี่ที่ทยอยเข้าไปพูดจาเกี้ยวพาราสีนางอมรานั้น ต้องถอยกลับออกมาด้วยความผิดหวัง และพ่ายแพ้กันทุกคน
.....ชายหนุ่มทั้งสี่กลับมารายงานมโหสถว่า นางเป็นยอดหญิงที่งดงามทั้งกายและใจจริง ๆ พวกตนไม่สมควรล่วงเกิน นางแม้ด้วยวาจา มโหสถยังคงสั่งให้ไปเกี้ยวนางให้ได้ ชายหนุ่มเจ้าสำราญทั้งสี่ได้ไปจีบนางอีกถึง ๓ ครั้ง แต่ไม่สำเร็จ นางอมราถือว่า แม้ชายหนุ่มเหล่านี้จะมีเงินทองมากมายมาล่อ แต่ไม่ได้เศษเสี้ยวของสามีนางผู้เป็นนักปราชญ์ อยากฟัง และอยากอยู่ร่วมกับช่างชุนผู้เป็นนักปราชญ์เท่านั้น เมื่อมโหสถรู้ว่า นางอมราเป็นหญิงที่มีความซื่อตรงต่อตนจริงๆ จึงออกไปรับตัว ฝ่ายพระราชาทรงจัดพิธีวิวาหมงคลให้กับทั้งสองอย่างสมเกียรติทีเดียว
.....นี่เป็นตัวอย่างของยอดหญิงผู้มั่นคงทั้งต่อความดี และบุคคลที่ตนรัก ผู้มีความเชื่อว่า หากได้อยู่ใกล้บัณฑิต ชีวิตย่อมมีแต่ความเจริญอย่างเดียว และชีวิตของนางก็เปลี่ยนไปจริง ๆ นางได้ทั้งลาภ ยศ สรรเสริญ เพราะคุณความดีของตน และมโหสถบัณฑิตนั่นเอง ให้พวกเราหมั่นอยู่ใกล้กับบัณฑิตนักปราชญ์ หลีกเว้นจากคนภัยคนพาล เราอยู่ใกล้คนเช่นใด เราก็จะเป็นเช่นนั้น และอย่าลืมบัณฑิตภายใน ให้นำใจกลับมาไว้ที่ศูนย์กลางกายในตัวของเรา ทำใจให้หยุดนิ่ง จะได้พบกับบัณฑิตภายใน คือ พระธรรมกายกันทุก ๆ คน