สู้กับวิบากกรรม.
เรามีกรรมเป็นของตน เรามีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ เราทำกรรมใดไว้ จะต้องได้รับผลของกรรมนั้น...
คำพิจารณาเหล่านี้ดูเหมือนจะเป็นที่มาของคำว่า เกิดมาชดใช้กรรม (กรรมคือการกระทำ ทั้งกรรมดีกรรมชั่ว ที่มีผลเป็นวิบากกรรม มีผลสุขหรือทุกข์)
แม้แต่ พระอรหันต์ พระพุทธเจ้าผู้ตรัสรู้แล้วรู้แจ้งเห็นจริง ไปรู้วงจรการทำงานของกฎแห่งกรรม ที่เริ่มต้นด้วย กิเลส ทำให้เกิดการกระทำคือกรรม กรรมการกระทำมีผลเป็นวิบากกรรม ตราบใดยังไม่ดับขันธปรินิพพาน ยังโปรดเวไนยสัตว์บนโลก วิบากกรรมย่อมส่งผลได้เสมอ.
เช่น พระโมคคัลลานะ โดนโจรทุบตีก่อนปรินิพพาน เพราะ วิบากกรรมที่เคยทุบตีพ่อแม่ตามมาส่งผล พระพาหิยะบวชเอหิภิกขุฯไม่ได้ไม่มีอัฐบริขาร เพราะไม่เคยถวายไว้ในอดีต สุดท้ายโดนนางยักษ์แปลงเป็นวัวแม่ลูกอ่อนขวิดตายเพราะผูกเวรกันไว้ในอดีต
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเองก็มีวิบากกรรม ถึง 14 ครั้งมาส่งผล เช่น ต้องบำเพ็ญทุกข์กิริยาทรมานตนถึง 6 ปี เพราะ เคยกล่าวกับพระกัสสปะพุทธเจ้า ว่าทำไมตรัสรู้ช้า
กรรมที่โดนนางจิญจมาณวิกา กล่าวตู่ชู้สาวด้วยความเท็จ เพราะกรรมที่พระองค์ เคยกล่าวตู่พระเถระสาวกของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งด้วยเรื่ิองชู้สาว.
ต้องดื่มน้ำขุ่นเพราะเคยแกล้งโคไม่ให้ดื่มน้ำ
โดนพระเทวทัตกลิ้งหินใส่ เพราะเคยลวงน้องชายต่างมารดาไปฆ่าที่ซอกเขา เป็นต้น.
แม้ท้ายสุดก่อนดับขันธปรินิพพาน ก็ต้องเสวยสุกรมัททวะทำให้เป็นโรคท้องร่วงก่อนดับขันธปรินิพพาน เพราะ กรรมที่เคยเป็นหมอจงใจให้ยาถ่ายคนไข้ ถ่ายจนตายมาส่งผล.
เมื่อมีวิบากกรรมส่งผล พุทธองค์ทรงเห็นกรรมเหตุที่ทำให้เกิดวิบาก ก็ทรงพิจารณาตามเหตุและปัจจัย และอดทน เพราะทรงทราบดีว่า วิบากกรรมนั้นย่อมส่งผลจนอ่อนกำลังหมดแรงกรรมไป วิบากกรรมนั้นหมดไปจากการแผ่เมตตาอโหสิกรรม หรือให้อานิสงส์ผลแห่งบุญมีกำลังแรงแซงวิบากกรรมไม่ให้มีโอกาสส่งผล.
ดังนั้นในชีวิตจริงของพระของฆารวาส ปุถุชนคนทั่วไปก็ย่อมหนีวิบากกรรมเก่า และการส่งผลอานิสงส์แห่งบุญ ไปไม่ได้เช่นกัน แต่สู้ได้ด้วยหลักวิชชา
ในฐานะคนมีปัญญาได้เรียนธรรมะ เวลามีวิบากรรมเก่าตามมาส่งผล เราต้องรู้เท่าทัน ต้องทำใจให้ผ่องใส ไม่หวั่นไหว แผ่เมตตาอโหสิกรรมกันไป ทำบุญมากๆให้อานิสงส์ผลบุญแซงหน้าวิบากกรรม เพราะ การสั่งสมบุญจะนำสุขมาให้ พุทธองค์ทรงตรัสไว้.
หากเจอวิบากมาร ก็ต้องทำใจหยุดนิ่ง ดิ่งเข้าสู่สภาวะธรรมภายใน เหมือนตอนพระพุทธเจ้าผจญมาร หยุดในหยุด นิ่งในนิ่ง นิ่งไม่ลดละอยู่บนรัตนบัลลังก์ใต้ต้นศรีมหาโพธิ์ จนทัพพญามารล่าถอยไป.
หากเจอคนพาล ก็หลีกเลี่ยงให้ห่างไกล ไม่ใช่ว่ากลัวภัย แต่คนพาลไม่ต้องการเหตุผล และกลัวใจตนที่จะเผลอไปผูกเวรอาฆาตพยาบาทกัน เป็นอันตรายต่อการดำเนินชีวิตของบัณฑิตในสังสารวัฎอันยาวไกล.
สู้กับวิบากกรรมแบบวิธีทางโลก ย่อมทุกข์โศกอยู่ร่ำไป สู้แบบทางธรรมไม่มีเพลี่ยงพล้ำ มีแต่ชัยชนะทุกครั้งไป...สวัสดี/เจริญพร
มนวีโร ภิกฺขุ
10 มิถุนายน พุทธศักราช 2561
ณ วัดพระธรรมกายสต็อกโฮม สวีเดน