การวันทาเสมา

วันที่ 19 ตค. พ.ศ.2562

การวันทาเสมา

การวันทาเสมา

      คำว่า เสมาหรือสีมา แปลว่า "เขตแดน" หมายถึง เขตกำหนดที่พระสงฆ์ทำพิธีผูกพัทธสีมา กำหนดไว้เป็นเขตแดนพิเศษ สำหรับพระสงฆ์ประชุมทำสังฆกรรม เปรียบเทียบได้เหมือนเขตบ้านเรือน ซึ่งมีรั้วหรือมีกำแพงไว้เป็นเขตแดน

      การที่นิยมกำหนดให้นาคไปวันทาเสมา ก็เพื่อให้นาคไปทำความเคารพเขตอุโบสถ อันเป็นเขตแดนพิเศษสำหรับพระสงฆ์ประชุมทำสังฆกรรม และเป็นสถานที่ประดิษฐานพระพุทธ รูป ซึ่งเป็นองค์แทนพระพุทธเจ้า ที่ยิ่งไปกว่านั้นคือ เป็นกิริยาอาการแสดงความอ่อนน้อมถ่อมตนต่อพระรัตนตรัย โดยเริ่มทำความเคารพมาตั้งแต่ถึงเขตที่ประทับของพระพุทธเจ้าเลยทีเดียว

      ประเพณีนิยมการวันทาเสมานี้ ในส่วนภูมิภาคนิยมปฏิบัติกันทั่วไปส่วนในเมืองหลวงไม่ค่อยนิยมทำกัน เมื่อพิจารณาตามเหตุผลแล้ว จะเห็นว่า "ควรทำดีกว่าไม่ทำ"

      ถ้าจะเปรียบก็เหมือนการเข้าไปหาท่านผู้ควรเคารพ พอไปถึงเขตที่อยู่ของท่าน ก็เริ่มแสดงความเคารพนอบน้อมต่อท่านผู้เป็นเจ้าของสถานที่ทันทีโดยการถอดหมวก ลดร่ม เป็นต้น ท่านเจ้าของสถานที่ได้เห็นกิริยาอาการแสดงความเคารพนอบน้อมถ่อมตนอย่างนั้น ย่อมจะเกิดความเมตตาปรานีต่อบุคคลนั้นมากกว่าบุคคลที่ไม่ยอมถอดหมวกแสดงความเคารพฉะนั้น ๆ

 

กล่าววันทาเสมา

      เมื่อแห่นาคเวียนโบสถ์ครบ ๓ รอบแล้ว พิธีกรพึงนำนาคไปที่สีมาหน้าโบสถ์ก่อน ปูเสื่อแล้วให้นาคยืนบนเสื่อนั้น จุดธูปเทียนแล้วปักไว้ข้างหน้าสีมา พร้อมทั้งวางดอกไม้ลงบูชา แล้วนั่งคุกเข่าประนมมือกราบด้วยเบญจางคประดิษฐ์ ๓ ครั้ง แล้วลุกขึ้นยืน พิธีกรพึงกล่าวนำคำวันทาเสมาเป็นระยะๆ ไป ดังนี้

      อุกาสะ วันทามิ ภันเต, สัพพัง อะปะราธัง ขะมะถะ เม ภันเต,มะยา กะตัง ปุญญัง สามินา อะนุโมทิตัพพัง สามินา กะตัง ปุญญังมัยหัง ทาตัพพัง, สาธุ สาธุ อนุโมทามิ ฯ

      นาคนั่งคุกเข่าลงประนมมือกล่าวว่า

      สัพพัง อะปะราธัง ขะมะถะ เม ภันเต, อุกาสะ ทะวารัตตะเยนะ กะตัง, สัพพัง อะปะราธัง ขะมะถะ เม ภันเต ฯ

      นาคกราบลง ๑ ครั้ง แล้วกล่าวว่า

      อุกาสะ ขะมามิ ภันเต ฯ แล้วกราบแบบเบญจางคประดิษฐ์ ๓ ครั้ง

      เป็นการเสร็จพิธี ฯ

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.021778798103333 Mins