เรื่องพระมหาโมคคัลลานเถระ 

วันที่ 05 พย. พ.ศ.2562

เรื่องพระมหาโมคคัลลานเถระ 
เอตทัคคะในทาง “ผู้มีฤทธิ์มาก”

 

พระมหาโมคคัลลานะ มีชื่อเดิมว่า “โกลิตะ” เป็นบุตรพราหมณ์ท้ายบ้านผู้หนึ่ง ซึ่งอยู่ไม่ห่างจากกรุงราชคฤห์ โกลิตมาณพเป็นเพื่อนสนิทกับอุปติสสมาณพ หรือ พระสารีบุตร ทั้งสองคนอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน เป็นบุตรแห่งสกุลผู้มั่งคั่งเหมือนกัน เบื่อชีวิตการครองเรือนที่วุ่นวาย จึงพาบริวารไปขอบวชอยู่ในสำนักสัญชัยปริพพาชก เรียนลัทธิของสัญชัยได้หมด จนได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยสอนหมู่ศิษย์ต่อไป ทั้งสองมาณพยังไม่พอใจในคำสอนของสัญชัยปริพาชก เพราะไม่ใช่แนวทางที่ตนต้องการ จึงตกลงกันที่จะแสวงหาอาจารย์ที่สามารถชี้แนะแนวทางที่ดีกว่านี้ หากใครได้โมกขธรรม ก็ขอให้บอกแก่อีกฝ่ายหนึ่ง

* ได้ดวงตาเห็นธรรมและอุปสมบทเป็นภิกษุ

เมื่ออุปติสสมาณพได้ไปพบพระอัสสชิในกรุงราชคฤห์ ได้ฟัง "พระคาถาเย ธัมมา" จากพระอัสสชิ ทำให้ได้ดวงตาเห็นธรรม คือ บรรลุโสดาบัน อุปติสสมาณพได้นำคำสอนของพระอัสสชิไปแจ้งให้โกลิตมาณพทราบ โกลิตมาณพก็ได้ดวงตาเห็นธรรมเช่นดียวกัน ทั้งสองมาณพได้ไปเฝ้าพระพุทธเจ้าที่วัดเวฬุวนาราม และได้ทูลขออุปสมบทต่อพระพุทธเจ้า พระองค์ก็ได้ทรงอนุญาตให้อุปสมบทเป็นภิกษุ โกลิตมาณพซึ่งอุปสมบทเป็นพระมหาโมคคัลลานะ บำเพ็ญความเพียงได้ 7 วัน ก็สำเร็จพระอรหันต์ ส่วนอุปติสสมาณพ ซึ่งอุปสมบทเป็นพระสารีบุตร อุปสมบทได้กึ่งเดือน จึงสำเร็จพระอรหันต์

* อุบายแก้ง่วง ๘ ประการ

พระมหาโมคคัลลานะเมื่ออุปสมบทแล้วไปทำความเพียรอยู่ที่บ้านกัลลวาลมุตตคาม แขวงมคธ ถูกนิวรณ์ คือ ถีนมิทธะ ได้แก่ ความหดหู่ซึมเซาเข้าครอบงำ มีอาการนั่งโงกง่วง พระบรมศาสดาเสด็จไปที่นั่น ทรงสั่งสอน และแสดงอุบายสำหรับระงับความง่วง ๘ ประการ คือ 
     ๑. โมคคัลลานะ เมื่อเธอมีสัญญาอย่างไร ความง่วงนั้นย่อมครอบงำได้ เธอควรทำในใจถึงสัญญานั้นให้มาก จะละความง่วงนั้นได้ 
     ๒. หากยังละไม่ได้ เธอควรตรึกตรองพิจารณาถึงธรรมตามที่ตนได้ฟังและได้เรียนมาแล้วด้วยใจของเธอเอง จะละความง่วงได้ 
     ๓. หากยังละไม่ได้ เธอควรสาธยายธรรมตามที่ตนได้ฟังและได้เรียนมาโดยพิสดาร จะละความง่วงได้ 
     ๔. หากยังละไม่ได้ เธอควรยอนหูทั้งสองข้างและลูบด้วยฝ่ามือ จะละความง่วงได้ 
     ๕. หากยังละไม่ได้ เธอควรลุกขึ้นยืน ลูบนัยน์ตาด้วยน้ำ เหลียวดูทิศทั้งหลาย แหงนดูดาวนักษัตรฤกษ์ จะละความง่วงได้ 
     ๖. หากยังละไม่ได้ เธอควรทำในใจถึงอาโลกสัญญา คือความสำคัญในแสงสว่าง ตั้งความสำคัญว่ากลางวันไว้ในใจ ให้เหมือนกันทั้งกลางวันและกลางคืน มีจิตใจแจ่มใสไม่มีอะไรห่อหุ้ม ทำจิตอันมีแสงสว่างให้เกิด จะละความง่วงได้ 
     ๗. หากยังละไม่ได้ เธอควรอธิษฐานจงกรม กำหนดหมายว่าจะเดินกลับไปกลับมา สำรวมอินทรีย์ มีจิตไม่คิดไปภายนอก จะละความง่วงได้ 
     ๘. หากยังละไม่ได้ เธอควรสำเร็จสีหไสยาสน์ คือนอนตะแคงเบื้องขวา ซ้อนเท้าเหลื่อมกัน มีสติสัมปชัญญะ ตั้งใจว่าจะลุกขึ้น พอเธอตื่นแล้วควรรีบลุกขึ้น ด้วยการตั้งใจว่าจะไม่ประกอบสุขในการนอน จะไม่ประกอบสุขในการเอนหลัง จะไม่ประกอบสุขในการเคลิ้มหลับ
 
ครั้นตรัสสอนอุบาย สำหรับระงับความง่วง ได้ทรงสั่งสอนให้สำเหนียกอย่างนี้ว่า "เราจักไม่ชูงวง (คือการถือตัว) เข้าไปสู่ตระกูล จักไม่พูดคำที่เป็นเหตุให้คนเถียงกัน เข้าใจผิดต่อกัน และตรัสสอนให้ยินดีด้วยที่นั่งที่นอนอันเงียบสงัด และควรเป็นอยู่ตามลำพังสมณวิสัย” ท่านพระโมคคัลลานะได้ปฏิบัติตามโอวาท ที่พระบรมศาสดาตรัสสั่งสอน ก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ในวันนั้น

* ได้รับการแต่งตั้งเป็นอัครสาวก

ครั้นได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว พระโมคคัลลานะได้เป็นกำลังสำคัญของพระบรมศาสดาในการดำเนินกิจการต่าง ๆ ตามที่พระองค์ทรงดำริให้สำเร็จ เพราะท่านเป็นผู้มีฤทธิ์มาก จึงได้รับการยกย่องจากสมเด็จพระบรมศาสดาว่า "เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายในทางเป็นผู้มีฤทธิ์" และทรงยกย่องว่าเป็นคู่พระอัครสาวก คู่กันกับพระสารีบุตรในการอุปการะภิกษุผู้เข้ามาบวชในพระธรรมวินัย 

ดังกล่าวในประวัติพระสารีบุตรว่า สารีบุตรเปรียบเหมือนมารดาผู้ยังบุตรให้เกิด โมคคัลลานะเปรียบเหมือนนางนมผู้เลี้ยงทารกที่เกิดแล้ว สารีบุตรย่อมแนะนำให้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล ส่วนโมคคัลลานะแนะนำให้ตั้งอยู่ในคุณเบื้องบน ที่สูงกว่านั้น ด้วยเหตุนี้จึงมีคำยกย่องว่าพระสารีบุตรเป็นพระอัครสาวกฝ่ายขวา พระโมคคัลลานะเป็นพระอัครสาวกฝ่ายซ้าย
  
ในมัชฌิมนิกายกล่าวว่า ท่านพระโมคคัลลานะเข้าใจในนวกรรม คือการก่อสร้าง เพราะฉะนั้นเมื่อนางวิสาขามหาอุบาสิกาสร้างบุพพาราม ในเมืองสาวัตถี พระบรมศาสดารับสั่งให้ท่านเป็นนวกัมมาธิฏฐายี คือ ผู้ควบคุมการก่อสร้าง

* เป็นผู้มีอภิญญา

พระมหาโมคคัลลานะเป็นอัครสาวกผู้มีอภิญญา ซึ่งแปลว่าความรู้ยิ่งยวด อภิญญามี ๖ ประการ ดังนี้
๑. อิทธิวิธี แสดงฤทธิ์ได้ เช่น คนเดียวนิรมิตเป็นหลายคนได้ ล่องหนผ่านไปในวัตถุกั้นขวางอยู่ เช่น ฝา กำแพงได้ ดำดินคือไปใต้ดินได้ เดินบนน้ำ ดุจเดินบนพื้นดินได้ เหาะไปในอากาศได้
๒. ทิพพโสต มีหูทิพย์ ล่วงหูของสามัญมนุษย์ ฟังเสียง ๒ อย่างได้ คือทั้งเสียงทิพย์และเสียงมนุษย์ได้ ทั้งเสียงไกล ทั้งเสียงใกล้
๓. เจโตปริยญาณ กำหนดใจคนอื่นได้ รู้ได้ซึ่งใจของบุคคลอื่นอันบริสุทธิ์หรือเศร้าหมองอย่างไร
๔. ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ระลึกชาติได้ตั้งแต่ชาติหนึ่งสองชาติ จนตั้งหลายๆ กัป ว่าในชาติที่เท่านั้น ได้มีชื่อโคตร ผิวพรรณ มีอาหารอย่างนั้น ๆได้เสวยสุข ได้เสวยทุกข์อย่างนั้น ๆ มีอายุเท่านั้น ๆ จุติจากชาตินั้นแล้ว เกิดในชาติที่เท่านั้น ได้เป็นอย่างนั้น ๆ แล้วมาเกิดในชาตินี้
๕. ทิพพจักขุ มีตาทิพย์ มีชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า จุตูปปาตญาณ มีจักษุทิพย์ บริสุทธิ์ล่วงจักษุสามัญมนุษย์ เห็นเหล่าสัตว์กำลังจุติก็มี กำลังเกิดก็มี เลวก็มี ดีก็มี ผิวพรรณงามก็มี ผิวพรรณไม่งามก็มี ได้ดีก็มี ตกยากก็มี รู้ชัดว่าสัตว์เป็นไปตามกรรม
๖. อาสวักขยญาณ ทำให้อาสวะสิ้นไป รู้ชัดตามความจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกข์สมุทัย นี้ทุกข์นิโรธ คามินีปฏิปทาเหล่านี้ อาสวะนี้เหตุเกิดอาสวะนี้ ความดับอาสวะนี้ ทางไปถึงความดับอาสวะ เมื่อรู้เห็นอย่างนี้จิตพ้นแล้วจากกามาสวะ ภวาสวะ อวิชชาสวะ รู้ชัดว่าชาตินี้พ้นแล้ว พรหมจรรย์ได้อยู่จบแล้ว กรณียะทำเสร็จแล้ว กิจอื่นอันจะต้องทำเช่นนี้ไม่มีอีก

อภิญญา ๕ ข้อแรก เป็นโลกิยอภิญญา ข้อ ๖ สุดท้ายเป็นโลกุตตรอภิญญา ผู้ที่จะบรรลุอรหันต์ จะต้องได้โลกุตตรอภิญญา คือ อาสวักขยญาณ ได้อภิญญา ๕ ข้อแรก ยังไม่บรรลุพระอรหันต์

* ปราบนันโทปนันทะนาคราช

ในคาถาพาหุง บทที่ ๗ มีข้อความเป็นภาษาบาลี และคำแปลเป็นไทยมีใจความว่า "พระจอมมุนี ทรงโปรดให้พระมหาโมคคัลลานะเถระพุทธชิโนรส (นิรมิตกายเป็นนาคราช) ไปทรมานพระยานาคราชชื่อนันโทปนันทะ ผู้มีความเห็นผิด มีฤทธิ์มาก ด้วยวิธีอันให้อุปเท่ห์แห่งฤทธิ์แก่พระเถระ ขอชัยมงคลทั้งหลาย จงเกิดมีแก่ท่านด้วยเดชแห่งพระพุทธชัยมงคลนั้น"

พระพุทธชัยมงคลในบทนี้ กล่าวถึงพระผู้มีพระภาคทรงมีชัยแก่นันโทปนันทะนาคราช ซึ่งมีเนื้อเรื่องดังนี้
ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่วิหารเชตวัน เมืองสาวัตถี เช้าวันหนึ่งก่อนที่พระผู้มีพระภาคจะเสด็จไปรับภัตตาหารที่บ้านของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เวลาใกล้รุ่ง พระผู้มีพระภาคทรงตรวจดูสัตว์โลก ก็ทรงเห็นนันโทปนันทะนาคราชปรากฏอยู่ในข่ายพระญาณ ในตอนเช้าพระผู้มีพระภาคตรัสสั่งพระอานนท์ให้บอกสงฆ์ทราบว่า พระองค์จะเสด็จไปเทวโลก และได้ทรงพาพระสาวกผู้มีอภิญญาเหาะไปยังเทวโลก นันโทปนันทะนาคราชเห็นพระผู้มีพระภาคและพระสาวกเหาะมาก็โกรธ โดยถือว่าตนเป็นผู้มีอานุภาพมาก ถ้าสมณะเหล่านั้นเหาะข้ามไป ฝุ่นละอองที่ติดเท้าก็จะล่วงหล่นมาบนหัว จะต้องหาทางไม่ให้เหาะข้ามไป จึงเอาหางรัดเขาพระสุเมรุไว้ ๗ รอบ และบันดาลให้เป็นหมอกควันมืดมัวไปหมด

มีสาวกหลายองค์ทูลอาสาที่จะปราบพระยานาค แต่พระผู้มีพระภาคไม่ทรงอนุญาต ครั้นเมื่อพระมหาโมคคัลลานะทูลอาสา พระผู้มีพระภาคจึงทรงอนุญาต พร้อมทั้งทรงให้พรให้มีชัยชนะแก่พระยานาค พระมหาโมคคัลลานะได้เนรมิตกายเป็นพระยานาคที่มีร่างกายยาวใหญ่กว่าพระยานันโทปนันทะถึง ๒ เท่า แล้วรัดกายพระยานาคให้แน่นเข้ากับเขาพระสุเมรุมิให้เคลื่อนไหว ฝ่ายพระยานาคถูกนาคพระมหาโมคคัลลานะรัดจนแทบกระดูกแตก ก็โกรธเกรี้ยวยิ่งนัก จึงพ่นพิษให้เป็นควันแผ่ไปโดยรอบ พระมหาโมคคัลลานะก็บันดาลให้ควันเกิดขึ้นมากยิ่งกว่า ปราบฤทธิ์ของพระยานาคนั้นเสีย พระยานาคจึงพ่นควันพิษเป็นเปลวไฟอันร้ายแรง พระมหาโมคคัลลานะก็เนรมิตไฟที่ร้อนแรงกว่าให้เกิดขึ้น ไฟของพระยานาคไม่อาจทำอันตรายแก่พระมหาโมคคัลลานะได้ แต่ไฟที่พระมหาโมคคัลลานะเนรมิตขึ้นกลับรุมล้อมพระยานาคทั้งภายนอกภายในให้รุ่มร้อนกระสับกระส่ายเป็นกำลัง

พระยานาคคิดว่าสมณะนี้ชื่อใด จึงมีฤทธิ์มากอย่างนี้ คิดแล้วก็ถามชื่อ พระมหาโมคคัลลานะก็บอกให้ทราบว่า เป็นอัครสาวกเบื้องซ้ายของพระผู้มีพระภาค พระยานาคได้กล่าวว่า ท่านเป็นสมณะเหตุใดจึงมาทำร้ายข้าพเจ้า การกระทำของท่านไม่สมควรแก่สมณะ พระมหาโมคคัลลานะได้ตอบว่า เราไม่ได้โกรธและลงโทษท่าน แต่ที่ทรมานท่านก็เพื่อจะช่วยท่านให้พ้นจากความเห็นผิดและพยศร้าย ให้ท่านอยู่ในทางตรงคือ อริยมรรค

ในที่สุดพระมหาโมคคัลลานะก็ได้ปราบนันโทปนันทะนาคราชจนยอมจำนน พ้นจากการเป็นมิจฉาทิฏฐิ รู้จักบาปบุญคุณโทษ เกิดศรัทธาในพระพุทธศาสนา พระยานาคได้กราบนมัสการพระผู้มีพระภาคและขอบูชาพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งตลอดไป พระผู้มีพระภาคได้ทรงประทานศีล ๕ ให้รักษา จากนั้นพระผู้มีพระภาคก็ได้พาพระสาวกไปเรือนของอนาถบิณฑิกเศรษฐีเพื่อรับภัตตาหาร
 

* ปรินิพพานก่อนพระบรมศาสดา 

มีเรื่องเล่าว่า ครั้งเมื่อท่านพำนักอยู่ ณ ตำบลกาฬศิลา แคว้นมคธ พวกเดียรถีย์ปรึกษากันว่า บรรดาลาภสักการะ ทั้งหลายที่เกิดขึ้นแก่พระบรมศาสดาในครั้งนั้น ก็เพราะอาศัยพระโมคคัลลานะ เพราะสามารถนำข่าวในสวรรค์และนรกมาแจ้งแก่มนุษย์ ชักนำให้ประชาชนเกิดความเลื่อมใส ถ้าพวกเรากำจัดพระโมคคัลลานะเสียได้แล้ว ลัทธิของพวกเราก็จะเจริญรุ่งเรืองขึ้น ลาภสักการะต่าง ๆ ก็จะมาหาพวกเราหมด 

เมื่อปรึกษากันดังนั้นแล้วจึงจ้างโจรผู้ร้ายให้ลอบฆ่าพระโมคคัลลานะ เมื่อโจรมาท่านพระโมคคัลลานะทราบเหตุนั้นจึงหนีไปเสียสองครั้ง ครั้งที่สามท่านพิจารณาเห็นว่ากรรมตามทันจึงไม่หนี พวกโจรผู้ร้ายจึงได้ทุบตีจนร่างกายแหลกเหลว ก็สำคัญว่าตายแล้ว จึงนำร่างท่าน ไปซ่อนไว้ในพุ่มไม้แห่งหนึ่งแล้วพากันหนีไป 

ท่านพระโมคคัลลานะยังไม่มรณะ เยียวยาอัตภาพให้หายด้วยกำลังฌานแล้วเข้าไปเฝ้าสมเด็จพระบรมศาสดา แล้วทูลลากลับปรินิพพาน ณ ที่เกิดเหตุ ในวันเดือนดับ เดือน ๑๒ หลังพระสารีบุตร ๑๕ วัน สมเด็จพระบรมศาสดาได้เสด็จไปทำฌาปนกิจแล้วรับสั่งให้นำอัฐิธาตุ มาก่อเจดีย์บรรจุไว้ ณ ที่ใกล้ประตูวัดเวฬุวัน

Cr เนื้อหา : http://www.dhammathai.org/monk/monk59.php

http://www.dharma-gateway.com/monk/great_monk/pra-mokkalana.htm
Cr ภาพ: Line Official โรงภาพยนตร์ 3 มิติ

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.03885498046875 Mins