ตอบโจทย์มนุษย์เงินเดือน ด้วยหลักธรรมในพระพุทธศาสนา

วันที่ 01 กย. พ.ศ.2563

1-9-63-6-br.jpg

ตอบโจทย์มนุษย์เงินเดือน ด้วยหลักธรรมในพระพุทธศาสนา


สิ่งที่ผู้ศึกษาจะได้รับจากพระพุทธศาสนา

                  คำสอนในพระพุทธศาสนาแบ่งใหญ่ ๆ เป็น “ปริยัติ” กับ “ปฏิบัติ” ปริยัติ คือ หลักธรรมคำสอนที่นำมาใช้เป็นข้อคิด เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต ถ้าศึกษาธรรมะมาเวลาที่เราเจอกับปัญหาเราจะไม่งง จะเข้าใจว่าเมื่อเจอปัญหาอย่างนี้เราจะแก้อย่างไร

               

                  ก่อนศึกษาธรรมะ เมื่อมีปัญหาเรื่องครอบครัว มีปัญหาเรื่องเพื่อน มีปัญหาเรื่องมนุษยสัมพันธ์ หรือมีปัญหาเรื่องการงาน เรามักจะคิดวกไปวนมา ไม่รู้ว่าควรจะทำอย่างไรดี แต่เมื่อได้ศึกษาธรรมะจะพบหลักในการแก้ปัญหา ผู้ใดทำได้อย่างนี้จะมีลักษณะที่เรียกว่าเป็น “ผู้หลักผู้ใหญ่” คือ เป็นผู้ใหญ่ที่มีหลักในการดำเนินชีวิต หากมีลูกก็มั่นใจว่าสอนลูกได้ หากเป็นหัวหน้าก็มั่นใจว่าสอนลูกน้องได้ หากเป็นผู้นำในองค์กรใดก็มั่นใจว่าสามารถนำองค์กรนั้นไปในทิศทางที่ถูกต้องได้ เพราะมีหลักธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นประทีปส่องสว่างนำทางชีวิต นี่คือประโยชน์ของพระปริยัติธรรม

 

                  อีกด้านหนึ่งคือด้านปฏิบัติซึ่งเป็นจุดเด่นของพระพุทธศาสนา เพราะถ้าถามว่าธรรมะภาคปริยัติทั้งหมดนั้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เอามาจากไหน พระองค์นั่งคิดแบบนักปราชญ์ หรือผู้เชี่ยวชาญทางการศึกษาทั้งหลาย แล้วเอามาสอนเราหรือไม่ ตอบว่า “ไม่ใช่”

 

                  ความรู้ที่พระองค์ได้ พระองค์ไม่ได้ไปเข้าห้องแล็บอื่นใดที่ไหนเลย แต่ว่าเข้าห้องแล็บในตัวด้วยการทำสมาธิใต้ต้นศรีมหาโพธิ์ในคืนวันวิสาขบูชา จนกระทั่งได้วิชชา 3 ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ปราบกิเลสในตัวหมด แล้วก็เข้าถึงขุมคลังใหญ่ของความรู้ภายใน ท่านเรียกว่าเป็น “ภาวนามยปัญญา” คือ ปัญญาที่เกิดจากการทำสมาธิ (ความรู้แจ้ง) ซึ่งเป็นสัจธรรมความจริง ถูกต้องเสมอไม่ว่ายุคสมัยใดก็ตาม (อกาลิโก) เพราะไม่ใช่ “จินตามยปัญญา” ปัญญาที่เกิดจากความคิดตรึกตรองค้นคว้าอย่างนักวิทยาศาสตร์ ซึ่งแม้เก่งเพียงใดก็ยังมีโอกาสผิด
ทฤษฎีต่าง ๆ ตั้งขึ้นมาแล้วก็มีการล้มล้างแก้ไขใหม่อยู่เรื่อย ๆ

 

                หลักการปฏิบัติในพระพุทธศาสนาเป็นแก่นเป็นแกน และเป็นหัวใจที่เราชาวพุทธจะต้องศึกษาคู่ขนานกันไป ถ้าผู้ใดศึกษาแต่ภาคปริยัติ (ทฤษฎี) อย่างเดียวแต่ไม่ปฏิบัติ อาจจะเกิดลักษณะที่เรียกว่า “ปริยัติงูพิษ” คือ ตีความตามความคิดซึ่งอาจเข้าใจผิดก็ได้ แล้วยึดมั่นในความเข้าใจของตนนั้น ยิ่งมีความรู้มาก ทิฐิมานะยิ่งแรงกล้า แล้วมีโอกาสชักนำคนอื่นให้เข้าใจผิดตาม หรือแม้เข้าใจถูกต้องก็อาจมีลักษณะ “รู้แต่ทำไม่ได้” แต่ถ้าลงมือปฏิบัติคู่ขนานไปด้วยก็จะ “รู้แล้วทำได้” เพราะสมาธิเป็นการฝึกใจเราเองให้สงบนิ่งแล้วมีพลัง เห็นสิ่งใดว่าดีก็สามารถทำได้จริง ๆ อะไรไม่ดีก็สามารถยับยั้งได้จริง ๆ จะเป็นประโยชน์อย่างไพศาลต่อการครองชีวิตในปัจจุบันของทุกคน

 

                หากมองไกลออกไป การปฏิบัติธรรมจะเป็นหนทางที่นำตัวเราไปสู่การพ้นทุกข์อย่างเที่ยงแท้ถาวรตามแบบอย่างพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระอรหันต์ทั้งหลายด้วย เพราะฉะนั้นเราจึงควรศึกษาทั้งภาคปริยัติและปฏิบัติควบคู่กันไป

 

การศึกษาพระพุทธศาสนาแบ่งได้ 3 แบบ

แบบที่ 1 การศึกษาพุทธแบบชาวบ้าน

              การศึกษาพุทธแบบชาวบ้าน คือ ใครสนใจก็ไปขวนขวายหาความรู้เอง เช่น ไปค้นข้อมูลในเว็บไซต์ โดยพิมพ์คำว่า “พุทธ” หรือ Buddhist (พุทธมามกะ) เข้าไป แล้วไล่เรียงว่ามีอะไรที่น่าสนใจบ้าง บ้างก็ไปหาหนังสือธรรมะมาอ่าน ซึ่งตอนนี้หนังสือพุทธเป็นหนังสือขายดีในเมืองนอก ในร้านหนังสือใหญ่ ๆเขาต้องจัดมุมหนังสือพุทธขึ้นมาเลย ซึ่งนี่ก็คือการขวนขวายหาความรู้ทางพระพุทธศาสนา และการปฏิบัติตามความสนใจของตัวเอง

แบบที่ 2 การศึกษาพุทธแบบวิชาการเชิงคัมภีร์

            การศึกษาพุทธแบบวิชาการเชิงคัมภีร์นี้มีจำนวนคนศึกษาไม่มาก มักจะอยู่ในมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก เรียนปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอกทางพุทธศาสตร์ (Buddhist Studies) แล้วก็วิเคราะห์วิจัยเจาะลึก มุ่งแสวงความจริง คือ วิเคราะห์สืบค้นประเด็นต่าง ๆ ในพระพุทธศาสนาว่ามีความจริงอย่างไร เช่น พระพุทธเจ้าตรัสสอนด้วยภาษาบาลีจริงหรือไม่ พระไตรปิฎกเกิดขึ้นในยุคใด เป็นต้น โดยอาศัยหลักฐานต่าง ๆ ที่ปรากฏในคัมภีร์พระไตรปิฎก อรรถกถา และคัมภีร์อื่น ๆ มาวิเคราะห์เชื่อมโยงกันเพื่อแสวงหาคำตอบ

แบบที่ 3 การศึกษาพุทธแบบสังคมวิทยา

            การศึกษาพุทธแบบสังคมวิทยา คือ ศึกษาว่าปัญหาที่โลกกำลังเผชิญอยู่ขณะนี้ เช่น ปัญหาโลกร้อน การโคลนนิ่งมนุษย์ควรทำหรือไม่ การคุมกำเนิดถูกหรือไม่ ตามหลักคำสอนพระพุทธศาสนาแล้วปัญหาเหล่านี้ควรจะทำอย่างไรถึงจะถูกต้อง

            กล่าวง่าย ๆ คือ อาศัยคำสอนพระพุทธศาสนาเป็นแนวทางส่องว่า สังคมควรจะเดินไปในทิศทางใดซึ่งตรงนี้มีเรื่องที่น่าสนใจ คือ คนทั่วไปมักจะสนใจปัญหาเฉพาะหน้าว่าทำอย่างไร จะให้ตัวเองมีรายได้ดี เศรษฐกิจดี การงานมั่นคง แต่ประโยชน์เฉพาะหน้าของผู้คนทั้งหลาย ความจริงตั้งอยู่บนแนวคิดหลักในการพัฒนาโลก

            ปัจจุบันแนวความคิดที่มีอิทธิพลครอบงำโลกอยู่ คือ ลัทธิทุนนิยม ลัทธิบริโภคนิยม ซึ่งเกิดขึ้นมาบนพื้นฐานความคิดของคริสต์ศาสนาว่า สิ่งต่าง ๆ นั้นพระเจ้าสร้างขึ้นมาให้มนุษย์ใช้มนุษย์มีสิทธิ์ที่จะฆ่าสัตว์เพื่อนำมาเป็นอาหารได้ หรือหาทางเอาชนะธรรมชาติ ดัดแปลงธรรมชาติเพื่อนำมาตอบสนองความต้องการของมนุษย์ให้มากที่สุด

             ซึ่งในยุคหนึ่ง ตอนที่ยังมีมนุษย์อยู่ไม่มาก วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยียังไม่ก้าวหน้ามากนัก ระบบนิเวศของโลกก็ยังพอรับได้ แต่ ณ ปัจจุบัน ที่ประชากรโลกมีมาก เทคโนโลยีก้าวหน้าจึงมีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างถล่มทลาย ปล่อยของเสียออกมามหาศาล ผู้ทรงภูมิปัญญาต่างเล็งเห็นแล้วว่า หากปล่อยให้ทิศทางของโลกดำเนินต่อไปเช่นนี้โลกจะไปต่อไม่ไหว

            เมื่อมนุษย์บริโภคมาก ปล่อยของเสียออกมามาก ทั้งคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon dioxide) และแก๊สต่าง ๆ ทำให้เกิดปฏิกิริยาเรือนกระจก เกิดภาวะโลกร้อน เกิดพายุที่รุนแรงขึ้นกว่าเก่า น้ำแข็งขั้วโลกกำลังละลาย น้ำจะต้องท่วมใหญ่ แล้วอะไรจะเกิดขึ้น

             ทุกคนต่างเป็นห่วงว่าโลกเริ่มจะรับไม่อยู่ ความตื่นตัวค่อย ๆ เริ่มเกิดขึ้นทีละนิด ๆ แต่คนที่รู้ก่อนและชี้นำไปก่อนคือกลุ่มนักปราชญ์เหล่านี้ที่รู้แล้วว่า แนวความคิดพื้นฐานเดิมใช้ไม่ได้แล้ว ถ้าเดินตามแนวทางนั้นต่อไปโลกจะรับไม่อยู่ มนุษยชาติจะเดือดร้อนกันหมด จึงต้องหาแนวความคิดใหม่มารองรับการพัฒนาโลกอย่างยั่งยืน แล้วก็มาพบว่าแนวความคิดในพระพุทธศาสนานี้ใช้ได้

            พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนว่า คนกับสัตว์ถือว่าเป็นเพื่อนรวมโลก เราเองก็เคยเกิดเป็นสัตว์ พอหมดวิบากกรรมเป็นคน ถ้าไปทำบาปทำกรรมอีกหน่อยก็ลงอบายตกนรกบ้าง เป็นเปรต อสุรกายบ้าง เป็นสัตว์เดรัจฉานบ้าง พอพ้นวิบากกรรม ก็มีสิทธิมาเกิดเป็นมนุษย์ได้อีก มันหมุนวนเวียนอยู่อย่างนี้

           เพราะฉะนั้น พระพุทธศาสนามองสัตว์อื่นในฐานะเป็นเพื่อนร่วมทุกข์ เกิดแก่เจ็บตายด้วยกันหมดทั้งสิ้น อย่าเบียดเบียนกันจนเกินไป

           มนุษย์กับธรรมชาติก็เหมือนกัน แนวคิดของพระพุทธศาสนามองว่าต้องอยู่แบบพึ่งพาอาศัยกัน ไม่ใช่อยู่แบบมนุษย์ตั้งตัวเป็นเจ้า มุ่งเอาธรรมชาติมาตอบสนองความต้องการของตัวเองอยู่ร่ำไป

            ท่านสอนให้รู้จักพอ อยู่อย่างเรียบง่ายแต่ว่าแสวงหาความสุขที่แท้จริงของชีวิต แล้วให้ทุกคนมีน้ำใจต่อกัน เอื้อเฟื้อกันไม่ใช่มือใครยาวสาวได้สาวเอา นักปราชญ์เหล่านั้นจึงมองเห็นเลยว่าแนวความคิดของพระพุทธศาสนานี้เองที่สามารถเป็นพื้นฐานรองรับความเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนของโลกได้ จะนำความสุขที่แท้จริงมาสู่มนุษยชาติ นี้เป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้คนในโลกนี้ โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีความรู้มีการศึกษาสูง เริ่มหันมาสนใจศึกษาพระพุทธศาสนามากขึ้นทุกที

 

ทำอย่างไรจึงจะได้เข้าถึงหลักธรรมะทั้งที่ไม่มีเวลา?

           จริง ๆ แล้วหลักธรรมสำคัญของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น “ยิ่งไม่มีเวลา ยิ่งควรศึกษา” เพราะหากพิจารณากันจริง ๆ แล้วเราจะพบว่า ใน 1 วัน มี 24 ชั่วโมง แต่ชีวิตคนทั่วไป บางทีค่อนข้างสับสน คือ ใช้ประสิทธิภาพเวลายังไม่เต็มที่ แต่ถ้าได้ศึกษาธรรมะ ได้ลงมือฝึกสมาธิ ความคิดจะเป็นระเบียบแล้วมีประสิทธิภาพ เราก็จะบริหารเวลา 24 ชั่วโมงได้อย่างดี

         โดยเราอาจจะแบ่งเวลาศึกษาธรรมะวันละ 1 ชั่วโมง สวดมนต์ นั่งสมาธิ ศึกษาธรรมะเพียงชั่วโมงเดียว แต่จะทำให้อีก 23 ชั่วโมงที่เหลือใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผลคือเวลาจะได้เพิ่มขึ้น เเละมีเวลาเหลือ

          ที่สำคัญต้องถามตัวเองก่อนว่า พวกเราที่คิดว่าไม่มีเวลาเข้าวัด แต่ถ้ามีคอนเสิร์ตที่สนใจก็มักจะมีเวลาไปดู หรือมีหนังที่ชื่นชอบก็มักจะมีเวลาไปดู มีเวลาเล่นเกม เพราะฉะนั้นคำว่า “ไม่มีเวลา” จริง ๆ เป็นเพียงข้ออ้าง ประเด็นจริง ๆ อยู่ที่ว่า เราตระหนักคุณค่าของการศึกษาธรรมะแล้วหรือยัง

          ถ้าได้ศึกษาธรรมะอย่างจริงจังเมื่อใด เราจะพบว่าดีมาก ๆ คนทั่วไปยังขาดครูบาอาจารย์ ขาดผู้ชี้แนะ จึงอาจยังไม่เห็นคุณค่าของธรรมะ แต่ถ้าได้พบครูบาอาจารย์แล้วได้ลงมือปฏิบัติอย่างจริงจัง เขาก็จะได้รับคำตอบว่าธรรมะดีจริง อาตมภาพกล้ายืนยัน เพราะหนึ่งเจอมากับตัวเอง สองคือมีญาติโยมที่มาวัด ซึ่งแต่เดิมก็ไม่รู้เรื่องอะไร แต่พอได้มาศึกษาธรรมะ ลงมือปฏิบัติธรรมจริงจัง ได้ประโยชน์แก่ชีวิตตนเองเป็นที่ประจักษ์ เขาก็มาวัดสม่ำเสมอและชวนคนอื่นมาด้วย เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เป็นหมื่น เป็นแสนเป็นล้านคน

           บุคคลเหล่านี้เป็นพยานยืนยันได้ว่า ถ้าลงมือศึกษาธรรมะจริง ๆ เมื่อใดก็จะเห็นประโยชน์ และเกิดความซาบซึ้ง เมื่อถึงตอนนั้นไม่ต้องเคี่ยวเข็ญให้มาวัด เขาจะมาเองด้วยความสมัครใจเพราะเห็นประโยชน์ด้วยตัวของตัวเอง แล้วชีวิตเขาก็ดีขึ้น


ดีชั่วรู้หมด แต่อดไม่ได้

            อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า หลักธรรมในพระพุทธศาสนา พระพุทธองค์ตรัสว่า ต้องมีทั้ง “ปริยัติ” (ภาคทฤษฎี) และ “ปฏิบัติ” ลงมือฝึกสมาธิอย่างจริงจัง ถึงจะนำไปสู่ “ปฏิเวธ” (ผลลัพธ์ที่ดี) เปรียบเสมือนเราจะล้างมือ ถ้าใช้มือข้างเดียวถูก็ไม่ถนัด ต้องใช้สองมือช่วยกันมือถึงจะสะอาดเกลี้ยงดี

           เมื่อรู้หลักปริยัติแล้วฝึกสมาธิด้วยก็จะมีกำลังใจในการทำความดี เมื่อใจสงบนิ่งก็จะผ่องใส มีความสุข มีประสิทธิภาพในการทำงาน จะทำอะไรก็ดีหมด สำเร็จได้อย่างง่าย ๆ เย็น ๆ เพราะฉะนั้นทั้งสองส่วนจะต้องเสริมสานซึ่งกันและกัน

 

           มีตัวอย่างของเด็กวัยรุ่นที่เขาต้องการศึกษาหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา แต่ปรากฏว่าในช่วงกลางคืนก็ใส่กางเกงขาสั้นเสื้อกล้ามออกไปเที่ยว กลับมาก็เช้าแล้ว พอตอน 6 โมง เช้าก็ไปตักบาตรทำบุญ ซึ่งนี่เป็นตัวอย่างจริง ๆ ในชีวิตมนุษย์ ซึ่งแต่ละคนอาจจะมีรูปแบบแตกต่างกันไปบ้าง เราอย่าไปหัวเราะเขาว่าอย่างนี้ก็มีด้วย


           บางคนอาจจะนึกสงสัย เพราะความจริงตัวของเราก็อาจจะคล้าย ๆ อย่างนี้เหมือนกัน คือ แต่ละคนก็มีดีบ้าง ไม่ดีบ้างถามว่าที่ทำไม่ดีมีไหม เบี้ยว ๆ บูด ๆ บ้างมีไหม... มันก็มี

 

            แล้วถามต่อไปว่า ที่เราเองรักดีอยากจะทำความดี เห็นใครลำบากก็สงสารอยากจะช่วยเขามีไหม... ก็มีอีกเหมือนกัน คือในตัวมนุษย์ทุกคนมีทั้งความดีและกิเลสผสม ๆ กันอยู่ เเละจริง ๆ แล้วลึก ๆ ในใจมนุษย์ทุกคน ล้วนแล้วแต่อยากจะเป็นคนดีทั้งนั้น อยากจะให้ชีวิตของตัวเองดีขึ้น อยากจะให้สังคมดีขึ้น ใคร ๆ ก็หวังอย่างนั้น แต่ว่าถูกอำนาจกิเลส หรือความอยากเฉพาะหน้ามาดึงใจให้ไปทำในสิ่งที่ตัวเองจริง ๆ ก็ไม่อยากจะทำแต่ว่ามัน “แพ้ความอยาก” ถ้าถามว่าลึก ๆ แล้วอยากให้ตัวเองเป็นอย่างนั้นไหม ก็ไม่อยาก คนติดยาเสพติดรู้ทั้งรู้ว่า ติดยาเสพติดไม่ดี แต่ว่ายังไปเสพก็เพราะว่ายัง “แพ้ใจตัวเอง” บางท่านสรุปไว้ว่า “ดีชั่วรู้หมด แต่อดไม่ได้”

 

              จากตัวอย่างของเด็กวัยรุ่นเที่ยวกลางคืน อย่างน้อยเด็กเหล่านี้ไปเที่ยวมาแล้วยังคิดจะทำบุญใส่บาตร ก็ถือเป็นเชื้อดีอยู่ อย่าไปหัวเราะเยาะเขา ให้ทำเถอะ แล้วให้เพิ่มจากทานมาเป็นศีล แล้วเพิ่มเป็นสมาธิภาวนา ถึงตอนนั้นการจะไปเที่ยวกลางคืนดึก ๆ ดื่น ๆ ก็จะค่อย ๆ ลดลง แล้วก็หายไปโดยปริยาย กลายเป็นเด็กดีของคุณพ่อคุณแม่ได้อีกครั้งหนึ่ง

 

             ตอนนี้เราก็ทราบแล้วว่าเรื่องราวของพระพุทธศาสนาไม่ใช่เป็นความลับ จากการไขข้อปัญหาต่าง ๆ ที่เป็นความลับไปแล้ว และการศึกษาพระพุทธศาสนาก็ไม่ใช่เรื่องยากด้วย


             อีกทั้งตอนนี้โลกก็ถือว่ามีความเปลี่ยนแปลงไป เทคโนโลยีก็เข้ามาสู่ชีวิตของคนทั่วไปมากขึ้น ซึ่งมีทั้งคุณและโทษ แต่ว่ามีสิ่งหนึ่ง
ที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลง และให้แต่คุณล้วน ๆ แก่เราก็คือ “คำสอนของพระพุทธศาสนา” ซึ่งเป็น “ศาสนาแห่งสากลจักรวาล”นั่นเอง

จาก หนังสือเปิดประตูใจ สร้างสุขจากภายใน
พระมหาสมชาย ฐานวุฑโฒ


 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0012687166531881 Mins