มองญี่ปุ่นเเลดูคนไทย ตอนจบ

วันที่ 27 ตค. พ.ศ.2563

มองญี่ปุ่นเเลดูคนไทย ตอนจบ

ต่อจากตอนที่แล้ว

               นอกจากญี่ปุ่นจะมีปัจจัยพื้นฐานที่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาประเทศแล้ว สาเหตุที่ทำให้ญี่ปุ่นพัฒนาประเทศได้อย่างรวดเร็วยังมีอีกหลายประการ ในที่นี้จะขอยกตัวอย่างที่สำคัญ 5 ประการ คือ

20229-1.jpg

1.มีความเชื่อมั่นและมีอุดมการณ์ที่มั่นคงชัดเจน เมื่อประมาณ 200 ปีที่แล้ว เป็นยุคที่ชนผิวขาวออกล่าอาณานิคมยึดดินแดนส่วนต่าง ๆ ของโลกเป็นเมืองขึ้น ด้วยอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัย เทคโนโลยีที่ก้าวหน้ากว่าอย่างเทียบกันไม่ได้โลกเกือบทั้งโลกจึงตกอยู่ในอุ้งมือของชนผิวขาว ในยุคนั้นชนชาติต่าง ๆ

                 ในเอเชียและแอฟริกา ส่วนใหญ่มีความรู้สึกในใจลึก ๆ ว่า ตนสู้ชนผิวขาวไม่ได้ มีความยำเกรงชนผิวขาว คิดว่าตนนั้นต่ำต้อยกว่า... ในขณะที่ชาวญี่ปุ่นไม่ได้คิดอย่างนั้นเลย เขามีความภูมิใจในเชื้อชาติของตนและมั่นใจว่าชาติของตนต้องเป็นหนึ่งในโลกได้ ญี่ปุ่นจึงไม่เคยท้อถอย ไม่เคยคิดยอมแพ้มาตั้งแต่ต้น

                เมื่อรู้ตัวว่าขณะนั้นยังมีความสามารถน้อยกว่า มีความพร้อมน้อยกว่าก็ทุ่มเททำงานหนักขึ้น

"โอยซึคิ โอยโคะเซะ" คือวลีปลุกใจซึ่งแปลว่า

"ไล่ให้ทัน(ฝรั่ง) และแซงให้ได้"

                 ยังฝังแน่นอยู่ในใจของชาวญี่ปุ่นทุกคน ถือเป็นอุดมการณ์ร่วมกันของคนทั้งชาติ

 

2.สนใจแก่นมากกว่าเปลือก คนส่วนใหญ่ชอบเรียนลัด ติดที่เปลือกมากกว่าแก่น แต่คนญี่ปุ่นมักจะสนใจที่แก่นมากกว่าเปลือก เช่นเมื่อเห็นฝรั่งมีรถยนต์ขับ คนญี่ปุ่นก็คิดว่า ทำอย่างไรตนจึงจะผลิตรถได้อย่างฝรั่ง

20229-2.jpg

                เพราะเขาคิดว่าความเจริญก้าวหน้าไม่ได้อยู่ที่ความสามารถในการซื้อรถสวย ๆ มาใช้ แต่อยู่ที่ความสามารถในการผลิตรถออกมาสู่ตลาดได้ ในเรื่องอื่น ๆ คนญี่ปุ่นก็มีวิธีคิดในทำนองเดียวกันนี้ ต่างจากประเทศไทยซึ่งมีรายได้ประชาชาติต่ำกว่าญี่ปุ่นเกือบสิบเท่า แต่ประเทศไทยของเรากลับมียอดนำเข้ารถยนต์ราคาแพงจากต่างประเทศติดอันดับต้น ๆ ของโลก คิดเป็นเปอร์เซ็นต์แล้วสูงกว่าญี่ปุ่นหลายสิบเท่า...

                ถ้าเราได้หันมาพิจารณาเรื่องเปลือกกับแก่นกันให้มากกว่านี้บางทีประเทศไทยของเราอาจจะมีสภาพเศรษฐกิจดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่

 

3.มีขั้นตอนการทำงานที่ดี จุดเด่นประการหนึ่งของคนญี่ปุ่นคือ สามารถมองออกอย่างชัดเจนว่า งานแต่ละงานควรมีลำดับขั้นตอนในการทำงานอย่างไรจึงจะมีประสิทธิภาพสูงสุด ครั้งหนึ่งได้คุยกับคนญี่ปุ่นที่เคยมาเที่ยวเมืองไทย

               เขาบอกว่า "กรุงเทพฯรถติดจังเลยนะ ทำไมไม่สร้างรถไฟขนส่งมวลชนล่ะ "

ได้ตอบไปว่า

                เรากำลังเตรียมการที่จะสร้างอยู่ คิดกันมานานเกือบยี่สิบปีแล้ว ตอนนี้กำลังถกกันอยู่ว่าจะสร้างแบบลอยฟ้าดีหรือขุดลงใต้ดินดี เขาฟังแล้วก็หัวเราะ เพราะญี่ปุ่นสร้างรถไฟใต้ดินสายแรก คือ สายกินซ่า เมื่อเกือบร้อยปีมาแล้ว

20229-3.jpg

                   ขั้นตอนการทำงานของเขาก็คือ ส่งทีมผู้เชี่ยวชาญไปศึกษาดูว่ามหานครใหญ่ ๆ ชองโลกที่มีรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน เขาใช้ระบบรถไฟฟ้าแบบไหน เพราะเหตุใดจึงเลือกใช้ระบบนั้น แต่ละแห่งมีสภาพภูมิประเทศและเงื่อนไขอื่น ๆ ต่างกันอย่างไร จากนั้นจึงรวบรวมข้อมูลทั้งหมด

                   มาพิจารณาตัดสินใจว่าประเทศญี่ปุ่นควรใช้ระบบรถไฟฟ้าแบบใด เมื่อได้ข้อสรุปที่แน่ชัดแล้ว จึงเปิดประมูลเพื่อว่าจ้างบริษัทที่สามารถดำเนินการก่อสร้างได้ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ งานก็ลุล่วงไปได้ด้วยดี

                  ตรงกันข้ามกับการทำงานแบบลัดขั้นตอนไม่ได้ศึกษาให้ดีก่อน ย่อมไม่สามารถตัดสินใจในเรื่องของระบบรถ เส้นทางการเดินรถ หรือเทคนิคต่าง ๆ ได้อย่างขัดเจน ยิ่งไปกว่านั้นหากเปิดประมูลสัมปทานไปก่อน แล้วค่อยคิดแก้ปัญหาที่ตามมาภายหลัง ด้วยเหตุที่มีเรื่องผลประโยชน์ต่าง ๆ มาเกี่ยวข้อง ก็ย่อมทำให้การตัดสินใจยิ่งยากขึ้นไปอีก ต้องสูญเสียเวลาและทรัพยากรต่าง ๆ ไปโดยใช่เหตุ

 

4.มีการวางแผนระยะยาว คนญี่ปุ่นจะตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ โดยใช้กระบวนการกลุ่ม ทำร่วมกันเป็นทีม มีการรวบรวมข้อมูลวิเคราะห์ปัญหา กำหนดแนวทางการพัฒนาอย่างชัดเจน จึงสามารถวางแผนระยะยาวได้เนื่องจากมีฐานข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วน นำไปสู่ขั้นตอนการปฏิบัติอย่างเป็นระบบต่อเนื่อง

20229-4.jpg

                   แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหาร ระบบงานก็ยังดำเนินต่อไปได้ ส่วนของไทยเราการตัดสินใจมักจะมาจากผู้มีอำนาจ จึงสามารถสั่งงานได้รวดเร็วแต่แผนงานก็ถูกเปลี่ยนแปลงได้ง่ายเช่นกัน เมื่อมีการเปลี่ยนผู้บริหาร เปลี่ยนคณะรัฐบาล แผนงานก็ถูกรื้อแก้ไปเรื่อย ๆ ตามความคิดและความต้องการของผู้มีอำนาจ

                 ผู้รับนโยบายมาปฏิบัติจึงถนัดทำงานเฉพาะหน้ากันเป็นส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้คิดมองอะไรไกล ๆ เพราะเห็นแล้วว่า คิดไปก็เปล่าประโยชน์ เพียงไม่นานก็ต้องเปลี่ยนอีก แผนระยะยาวจึงไม่ค่อยมี ทิศทางการพัฒนาจึงไม่ชัดเจน ต่างคนต่างคิดต่างคนต่างทำไปในทิศทางที่ตนคิดว่าถูกต้อง ซึ่งบางครั้งก็ขัดแย้งกันเอง ไม่รวมพลังเป็นหนึ่ง หลายสิ่งหลายอย่างจึงขาดความยั่งยืน เหมือนต้นไม้ล้มลุก...

 

5.ให้ความสำคัญกับการศึกษา เมื่อเริ่มพัฒนาประเทศ สิ่งที่คนญี่ปุ่นให้ความสำคัญอย่างยิ่งก็คือ การศึกษา และใช้เวลาเพียง 5 ปีก็สามารถประกาศใช้พระราชบัญญัติประถมศึกษาแห่งชาติ มีคำขวัญว่า

                 "โยมี คะขิ โซโรบัง" แปลว่า "อ่านออก เขียนได้ คำนวณเป็น"

                  คือความรู้พื้นฐานขั้นต่ำที่สุดที่คนญี่ปุ่นต้องมี ส่วนการพัฒนาด้านการศึกษาขั้นสูงขึ้นไปนั้น

                 ญี่ปุ่นได้ใช้วิธีการคล้ายคลึงกับไทยคือ ส่งคนไปศึกษาต่อยังต่างประเทศเพื่อสร้างบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ แต่ก่อนจะส่งไปนั้นญี่ปุ่นได้ศึกษาเป็นอย่างดีแล้วว่า วิชาการแต่ละสาขามีกี่แขนง

20229-5.jpg

                 ควรจะส่งคนไปศึกษากี่คนจึงจะสามารถนำความรู้มาใช้งานได้จริง จากนั้นก็หาคนที่มีคุณสมบัติเหมาะสมส่งไปเรียนยังประเทศที่มีความเชี่ยวชาญที่สุดในแต่ละสาขาวิชา เช่น การแพทย์และทหารบกต้องเยอรมัน กฎหมายต้องฝรั่งเศส ทหารเรือต้องอังกฤษ การค้าต้องอเมริกา เป็นต้น เรียกว่าไปเรียนแบบเป็นทีม

                ทุกคนรู้หน้าที่ของตนเองชัดเจนทุ่มเทเรียนอย่างจริงจัง ระหว่างเรียนก็มีการปรึกษาหารือ ติดตามความคืบหน้า ถ้ามีเรื่องใดที่มีแนวโน้มจะเป็นปัญหาอุปสรรคต่อการทำงานในอนาคต ก็หาทางแก้ไขแต่เนิ่น ๆ เรียกว่า พอเรียนจบกลับมาก็ทำงานได้ทันที และยังสามารถถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้อื่นต่อไปได้อีกด้วย

               การสร้างคนโดยมีการวางแผนไว้ล่วงหน้าอย่างดีเช่นนี้ทำให้ญี่ปุ่นสามารถพัฒนาประเทศได้อย่างรวดเร็ว จากเดิมที่เป็นประเทศด้อยพัฒนาล้าหลังอย่างยิ่ง

               ขนาดที่ว่าเมื่อเปิดประเทศใหม่ ๆ เจ้าของโรงงานทอผ้าที่ซื้อเครื่องทอผ้าจากต่างประเทศ ไม่สามารถหาคนมาทำงานได้

20229-6.jpg

                  เพราะมีข่าวลือว่า เครื่องจักรทอผ้ากินคนได้ ทำให้ไม่มีคนกล้ามาทำงานด้วย แต่ภายในเวลา 30 ปี ญี่ปุ่นมีโรงงานอุตสาหกรรมเกิดขึ้นเป็นดอกเห็ด มีโรงงานถลุงเหล็ก มีโรงต่อเรือรบที่มีเทคโนโลยีก้าวหน้าสามารถสร้างกองเรือรบที่ทรงอานุภาพ

                   จนรบชนะรัสเซียซึ่งเป็นมหาอำนาจตะวันตกชาติหนึ่งในยุคนั้นได้ ทำให้โลกต้องตะลึงในความเป็นชาติเอเชียเพียงชาติเดียว ที่สามารถก้าวขึ้นมายืนเคียงบ่าเคียงไหล่กับมหาอำนาจตะวันตกได้อย่างเต็มภาคภูมิ

                  กาลเวลาหมุนเวียนผ่านไป ประวัติศาสตร์ยังคงคลี่เปิดหน้าใหม่อยู่เสมอ สิ่งที่เราทำในวันนี้ ก็จะเป็นประวัติศาสตร์ในวันต่อไป

เราควรศึกษาบทเรียนจากประวัติศาสตร์ แล้วตั้งใจปรับปรุงการทำงานของตนเอง ของหมู่คณะ และประเทศชาติให้เกิดประสิทธิภาพ เพื่อประวัติศาสตร์ที่เราร่วมกันสร้างในวันนี้จะได้เป็นแบบอย่างที่ดีแก่อนุชนรุ่นหลัง ให้พวกเขาได้รำลึกถึงด้วยความชื่นชมและภาคภูมิใจต่อไป

เจริญพร

พระมหาสมชาย ฐานวุฑฺโฒ

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0015447338422139 Mins