อารมณ์ชั่ววูบ ส่งผลชั่วชีวิต

วันที่ 17 พย. พ.ศ.2563

อารมณ์ชั่ววูบ ส่งผลชั่วชีวิต

                  อารมณ์ชั่ววูบ คือ เมื่ออารมณ์อยู่เหนือเหตุผล เราจึงทำอะไรลงไปโดยไม่ทันยั้งคิด พอเกิดอารมณ์ชั่ววูบ เหตุร้ายต่างๆ ก็มักจะตามมา

                  คำว่า “อารมณ์ชั่ววูบ” มีลักษณะตามชื่อเรียกคือพอเกิดอารมณ์วูบขึ้นมา ไม่ว่าด้านดีหรือไม่ดีก็ตาม แล้วส่งผลให้เราไปทำสิ่งต่างๆ ตามที่อารมณ์นั้นชักนำไป

                   อารมณ์ชั่ววูบสามารถเป็นได้ทั้งด้านบวกและด้านลบ ด้านบวก เช่น เราผ่านไปเห็นใครกำลังลำบาก เหลียวไปเห็นเขาแค่เสี้ยววินาทีเดียว ความรู้สึกสงสารก็เกิดวูบขึ้นมา ทำให้เราเข้าไปช่วยเหลือเขาทันที

20286-1.jpg

                 ยกตัวอย่าง หญิงจีนคนหนึ่งเหลียวไปเห็นคนพิการแก่ๆ นั่งบนกระดานเลื่อน เขากำลังจะข้ามถนนในขณะที่ฝนกำลังตกหนัก ความรู้สึกสงสารเกิดวูบขึ้นมาในใจทันที หญิงคนนั้นรีบเดินเข้าไปเอาร่มกางให้เขา ตนเองจะเปียกฝนก็ยอม เพราะความรู้สึกวูบขึ้นมาในใจว่าสงสาร มันแทบจะไม่ต้องคิดอะไรมาก ปฏิกิริยาธรรมชาติบอกว่าอยากไปช่วยในทันที

                   พอมีคนถ่ายภาพนี้ได้จากข้างหลัง รู้แต่เพียงว่าเป็น ผู้หญิง ในภาพร่มบังฝนได้เพียงศีรษะของเธอ ตัวของผู้หญิงเปียกไปหมด แต่ร่มในมือของเธอก็บังฝนให้กับผู้เฒ่าคนนั้นได้

                  ภาพนี้ใครเห็นก็เกิดความรู้สึกสะเทือนใจไปพร้อมๆ กับรู้สึกดี เท่ากับว่าสิ่งที่ผู้หญิงคนนี้ทำด้วยอารมณ์ชั่ววูบเกิดเป็นผลดีไม่เฉพาะต่อตัวเธอ ใจเธอ และผู้เฒ่าพิการเท่านั้น แต่กระตุ้นจิตสำนึกด้านดีของผู้คนอีกเป็น 10 ล้านคนทั่วโลกที่ได้เห็นภาพนั้น นี่คืออารมณ์ชั่ววูบในอีกด้านหนึ่ง

20286-2.jpg

                  แต่อารมณ์ชั่ววูบที่เราใช้กันบ่อยๆ คืออารมณ์โกรธ วูบมาทีหนึ่งก็เผลอไปทำอะไรไม่ดีทีหนึ่ง ต้องมานึกเสียใจภายหลังว่าเราไม่น่าทำอย่างนั้นเลย แบบนี้ก็ชั่ววูบเหมือนกัน

                  ยิ่งในยุคปัจจุบัน ข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์มีให้เห็นบ่อยๆ ว่าวัยรุ่นยกพวกตีกันบ้าง ทะเลาะเบาะแว้งกันบ้าง บางครั้งทำร้ายร่างกายกันจนกระทั่งเสียชีวิตบ้าง คนนี้ไปทำร้ายคนอื่นสุดท้ายก็ถูกจับ เสียอนาคตตลอดชาติ อารมณ์ชั่ววูบแบบนี้สร้างผลเสียมาก เราแก้ไขอารมณ์ชั่ววูบไม่ให้เกิดความโกรธนี้ได้ โดยเริ่มที่ตนเองก่อน

                   ถ้าเราได้ฝึกให้ทาน รักษาศีล และเจริญสมาธิภาวนาอย่างสม่ำเสมอ สติ ความยับยั้งชั่งใจของเราจะเกิดขึ้น หากเราฝึกการให้ทาน มีความเอื้อเฟื้อเป็นปกติ พอมีอะไรนิดหน่อยมากระทบ เราจะรู้สึกว่าเรารับได้

                   อารมณ์ชั่ววูบ เช่น เราขับรถอยู่ พอมีคนขับรถปาดหน้าก็โกรธ แล้วตามล่าเขา เอาปืนยิงจนเขาตาย บางทีเขายิงสวน กลายเป็นคนที่ตามล่าเขาต้องตาย สุดท้ายเดือดร้อนด้วยกันทั้งคู่

                  ดังนั้น ให้เราหยุดนิดเดียว พอตั้งหลักได้ก็จะรู้สึกว่าแค่เขาขับรถปาดหน้าหน่อยก็ไปตามไล่ล่าฆ่าเขาแล้ว ไม่ควรทำเพราะสุดท้ายไม่คุ้มเสีย

                  บางคนยืนอยู่ป้ายรถเมล์ เขามองมาธรรมดาๆ กลับรู้สึกว่าเขามองหน้าหยามศักดิ์ศรีจึงไปชกเขา มันไร้สาระมาก

                  เพราะฉะนั้น เราต้องอยู่ในศีลธรรม หมั่นให้ทาน รักษาศีลอยู่เนืองนิตย์ นั่งสมาธิเป็นประจำสม่ำเสมอ สติเราจะอยู่กับเนื้อกับตัว แล้วสามารถควบคุมอารมณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในใจได้ อาจจะยังไม่ถึงกับทำให้ไม่เกิดอารมณ์ คือเกิดอารมณ์ขุ่นมัวบ้าง แต่อยู่ในเกณฑ์ที่ควบคุมได้

                   ในยุคปัจจุบันคนไม่น้อยชอบระบายโทสะลงในโซเชียลเน็ตเวิร์กต่างๆ เช่น เฟซบุ๊ก จนบางครั้งกลายเป็นปัญหาลุกลามใหญ่โตถึงขั้นฟ้องร้องกันเลยก็มี ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวังมาก ยิ่งเทคโนโลยีก้าวไปไกลเท่าใด เรายิ่งต้องมีสติมากขึ้นเท่านั้น เพราะมีเรื่องราวเข้ามาถึงเรามาก แล้วเรื่องราวที่เราบอกกล่าวไป ก็ไปถึงคนหมู่มากได้อย่างรวดเร็วเช่นกัน

20286-3.jpg

                ลองคิดดูว่าบางทีมีเรื่องราวที่เราไม่ได้เป็นคนส่งข้อมูล คนอื่นส่งมาให้เราทั้งภาพและข้อความ เนื่องจากทุกวันนี้มีข้อมูลต่างๆ เข้ามาถึงเรามาก พอส่งมาถึงปั๊บ บางทีเราอ่านนิดเดียวพอผ่านตา 2-3 วินาที บางคนแค่ดูยังไม่ได้อ่านข้อความก็กดแชร์ส่งต่อข้อความไปแล้ว

                ถ้าเรื่องนั้นเป็นเรื่องไม่ดี ไม่จริง ยิ่งถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับพระภิกษุสงฆ์ หรือพระพุทธศาสนาด้วยแล้ว พอเราแชร์ต่อก็เท่ากับเรามีส่วนร่วมในการกระจายข่าวไม่ดีให้ไปถึงคนอีกมากมาย สิ่งที่เกิดขึ้นคือเราแบกบาปมหาศาลโดยไม่รู้ตัว

                ในปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าจึงเพิ่มอัตราความเร็วในการสร้างบาป หรือสร้างบุญให้เราอย่างมาก เราจึงต้องตั้งสติดีๆ เริ่มต้นโดยการยึดหลักไว้ว่าอะไรเป็นข่าวไม่ดีเราไม่แชร์ต่อเด็ดขาด เพราะเราไม่รู้ว่าจริงหรือไม่จริง

                อย่าคิดเองว่าจริงแน่ๆ แล้วแชร์เลย เราป้องกันตนเองจากการแบกบาปมหันต์ได้ ด้วยการกดแชร์ส่งต่อเฉพาะเรื่องดีๆ เพื่อกระจายความดีต่อเท่านั้น อะไรไม่ดีเราไม่แชร์ ไม่ว่ามันจะจริงหรือไม่ก็ตาม ถ้าทำได้อย่างนี้เราจะรอดตัว

                 สรุปก็คือ อารมณ์ชั่ววูบคือสิ่งต่างๆ ที่เราได้เจอ แล้วเกิดอารมณ์ขึ้นมาอย่างฉับพลัน ซึ่งอารมณ์ชั่ววูบมีทั้งอารมณ์สงสาร อารมณ์โกรธ มีทั้งด้านบวกและด้านลบ

20286-4.jpg

                     สำหรับวิธีการป้องกันและแก้ไขไม่ให้เกิดอารมณ์ชั่ววูบคือการฝึกสติ โดยเริ่มต้นจากการทำทาน รักษาศีล และเจริญสมาธิภาวนา

 

เจริญพร

พระมหาสมชาย ฐานวุฑฺโฒ

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.072760931650798 Mins