เรื่องของวิบากกรรมหมู่

วันที่ 23 ธค. พ.ศ.2563

เรื่องของวิบากกรรมหมู่

 

                   โลกนี้ ไม่มีคำว่า "บังเอิญ" ทุกชีวิตมีกรรมเป็นของตนเอง แม้แต่กรรมที่เกิดกับคนจำนวนมาก ไม่ว่ากรรมจะมาในรูปของเชื้อโรค สงคราม ต่างๆ ล้วนมีที่มาทั้งสิ้น

 

                     "กฎแห่งกรรม" เป็นคำที่เราคุ้นหูกันดี แต่หากกรรมส่งผลต่อคนจำนวนมากพร้อมๆ กัน กรรมนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไรและส่งผลอย่างไร ยกตัวอย่างเช่นเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ต่างๆ สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นเพราะภัยธรรมชาติ หรือเพราะมีเรื่องของกรรมเข้ามาเกี่ยวข้อง

 

20342-1.jpg

                     ในส่วนของภัยแต่ละอย่างที่เกิดขึ้น ตัวการเกิดขึ้นของภัย เช่น แผ่นดินไหว ลมพายุ น้ำท่วม สึนามิ เชื้อโรค เป็นต้น ล้วนเกิดขึ้นโดยธรรมชาติ แต่มีความเกี่ยวเนื่องกับเรื่องของกรรม

 

                     คนที่จะไปเจอกับภัยนั้นพอดี มีกรรมเป็นตัวชักนำไป เช่น บางคนอยู่คนละประเทศยังต้องมีเหตุให้เผอิญไปที่นั่นพอดี แต่คนในพื้นที่บางคนกลับเผอิญมีเหตุให้ไปธุระที่อื่นจึงรอด เป็นเพราะกรรมเป็นเครื่องชักนำนั่นเอง

 

                     พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า เหตุแห่งแผ่นดินไหวมี 8 อย่าง ซึ่งเราจะคุ้นเคยแค่ “แบบแรก” คือ เรื่องของ “เปลือกโลก” แถบประเทศเนปาลเป็นแผงของรอยเปลือกโลกที่มาชนกันพอดี เมื่อเปลือกโลกมาขบดันกันขึ้นถึงจุดหนึ่งก็เกิดแผ่นดินไหว หรือบางทีเกิดเป็นแรงปะทุทำให้ภูเขาไฟระเบิด ซึ่งเป็นเหตุแห่งการเกิดขึ้นของเทือกเขาหิมาลัยที่สูงมาก

 

20342-2.jpg

                       เนื่องจาก เทือกเขาหิมาลัยเป็นจุดที่เปลือกโลกมาชนกันพอดีจึงดันกันแล้วยกตัวขึ้น พอเวลาผ่านไปหลายล้านปี จึงกลายเป็นที่ราบสูงที่สูงมาก เหล่านี้คือเรื่องราวทางธรรมชาติ ซึ่งศัพท์ทางศาสนาพุทธใช้คำว่า “ลมกำเริบ”

 

                        บางคนอาจจะสงสัยว่า แผ่นดินไหวเกี่ยวกับลมอย่างไร เราต้องเข้าใจก่อนว่า ในทางพระพุทธศาสนาได้แบ่งสิ่งต่างๆ ออกเป็น ธาตุ 4 ได้แก่ ดิน น้ำ ลม ไฟ

 

                      “ธาตุดิน” คือ ธาตุที่เป็นของแข็ง ไม่ได้หมายถึงดินที่เราเหยียบอย่างเดียว แต่เป็นคำเปรียบเปรย ต้นไม้เนื้อแข็งก็เป็นธาตุดิน ถ้าใช้ศัพท์ปัจจุบัน คือ ของแข็ง นั่นเอง เช่นกระดูกคนเรา ก็มีธาตุดินมาก ในเลือดคนเราก็มีธาตุดินเจืออยู่ ถ้าลองนำเลือดไปตากแห้งจะพบว่า มีเกล็ดเลือดอยู่ คนใดเลือดข้นแสดงว่า มีธาตุดินมาก

 

                      ส่วน “ธาตุน้ำ” คือธาตุที่เป็นของเหลว และ “ธาตุลม” คือธาตุที่มีการพัดไปมา ถ้าไม่มีธาตุลม เลือดจะอยู่นิ่ง เลือดมีการไหลเวียนเพราะมีธาตุลมช่วยพัดพาไปอย่างนี้ เป็นต้น ดังนั้น ธาตุลม คือ ธาตุที่ทำให้มีการเคลื่อนไหวนั่นเอง

 

                        คราวนี้พอเปลือกโลกมีการเคลื่อน นั่นจึงหมายถึงธาตุลมกำเริบ ในทางพระพุทธศาสนา ถ้าเปลือกโลกไม่เคลื่อน แผ่นดินก็ไม่ไหว ที่แผ่นดินไหวเพราะว่ามันเคลื่อน แต่มันอั้นจนกระทั่งยันไม่อยู่ ก็ไหวตัวทีหนึ่ง แล้วจากนั้นสะสมแรงกดดันจนกระทั่งยันไม่อยู่ ก็ไหวตัวอีกทีหนึ่ง พอผ่านไป 10 ปี 100 ปี ก็ไหวตัวครั้งใหญ่อีกทีหนึ่ง เหตุการณ์นี้คือธาตุลมกำเริบ

 

                        “แบบที่สอง” เกิดจาก “ผู้มีฤทธิ์” ผู้มีฤทธิ์สามารถทำสมาธิถึงจุดที่ทำให้เกิดแผ่นดินไหวได้ ถึงแผ่นดินจะหนัก พอแผ่นดินไหวครั้งหนึ่ง ตึกรามบ้านช่องที่ใหญ่โตก็กลายเป็นเล็กนิดเดียว บางทีภูเขาทั้งลูกยังเขยื้อน แล้วจะเอาพลังอะไรไปเขยื้อนมันได้ ผู้มีฤทธิ์สามารถทำได้

 

20342-3.jpg

                     เหตุที่เหลืออีก 6 อย่างนั้น เป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องด้วยพระบรมโพธิสัตว์และพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่เหตุเหล่านี้ แผ่นดินไหวแล้วไม่เกิดความเสียหาย แค่พอเป็นสัญลักษณ์ให้รู้ว่า เหตุสำคัญบังเกิดขึ้นแล้วในโลกเท่านั้น

 

                     เช่น เมื่อพระบรมโพธิสัตว์จุติจากสวรรค์ชั้นดุสิตเข้าสู่พระครรภ์มารดา แผ่นดินจะไหวน้อยๆ คล้ายกับดีใจว่าพระบรมโพธิสัตว์ลงมาจากสวรรค์อุบัติขึ้นในครรภ์พระมารดาแล้ว พอทรงประสูติ แผ่นดินก็ไหวอีกครั้งเบาๆ แล้วเมื่อพระองค์ตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แผ่นดินก็ไหวอีก

 

                     ถัดมาประการหนึ่ง เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนาแผ่นดินก็ไหวอีก จากนั้นเมื่อพระสัมมา-สัมพุทธเจ้าทรงปลงพระชนมายุสังขารว่า อีกกี่เดือนนับจากนี้ไปพระองค์จะปรินิพพาน แผ่นดินก็จะไหวอีกเพราะอาลัยรักพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในวันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพาน แผ่นดินก็จะไหวเหมือนกันอีก

 

                     เหตุ 6 ประการหลังล้วนเกี่ยวเนื่องด้วยพระบรม-โพธิสัตว์และพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งนั้น แต่เหตุ 2 ประการแรกเกิดจากธรรมชาติ ลมกำเริบ และผู้มีฤทธิ์ รวมทั้งหมด 8 ประการ

 

                     ตอนนี้โลกเรายังไม่มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาตรัสรู้ เพราะฉะนั้น ข้อ 3-8 ให้เราเว้นไว้ได้ เหลือแต่เพียงเหตุข้อ 1 กับ 2 ซึ่งข้อ 2 นั้น ในยุคนี้จะหาผู้มีฤทธิ์ที่ทำให้แผ่นดินไหวได้คงมีน้อย เหตุหลักๆ จึงเป็นประการแรกคือลมกำเริบ มีการเคลื่อนไหวของเปลือกโลก

 

กรรมเป็นตัวบีบคั้น

 

                     กรรมเป็นตัวจำแนกสัตว์ให้ต่างกันไปว่าใครจะเจออะไร ขึ้นอยู่กับว่า เขาเคยทำกรรมอะไรมา อย่างแผ่นดินไหวมีบางคนบาดเจ็บ บางคนเสียชีวิต เพราะคนที่เสียชีวิตหรือบาดเจ็บในอดีต เคยทำกรรมปาณาติบาตนี้มา

 

20342-4.jpg

                       ถ้าหนักก็รับวิบากกรรมถึงตาย ถ้าเบาบางก็แค่บาดเจ็บ แต่คนใดกรรมเรื่องนี้ไม่มี หรือมีแต่เบาบางมากๆ ก็รอด อาจจะแค่ทรัพย์สินเสียหายแต่ชีวิตปลอดภัย เป็นต้น

 

                       เหตุการณ์ทั้งหมดล้วนมีที่มาที่ไปทั้งนั้น และมีกรรมเป็นตัวกำกับอยู่เบื้องหลัง แผ่นดินไหวเกิดจากปฏิกิริยาธรรมชาติ แต่เมื่อแผ่นดินไหวแล้ว แต่ละคนประสบเหตุหนักเบาต่างกัน เพราะผลแห่งกรรมทำให้แต่ละคนไปอยู่ตรงนั้นตรงนี้ต่างกัน แล้วไปเจอสภาพที่สมควรแก่กรรมที่ตนเองเคยได้ทำไว้

 

                        โรคติดต่อ หรือภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่แล้ว แต่บุคคลใดก็ตามที่ประสบภัยพิบัติในครั้งนั้น ขึ้นอยู่กับว่าบุคคลนั้นได้ทำกรรมมาหรือไม่ กรรมจะเป็นตัวดึงดูดให้บุคคลนั้นประสบกับภัยพิบัติในครั้งนั้นนั่นเอง

 

20342-5.jpg

                        ในเรื่องของกรรมจะเห็นได้ว่าหลายคนมารวมตัวกันแล้วประสบภัยนั้น อาจจะเกิดจากกรรมที่เขาได้ร่วมกันทำมาในประเภทเดียวกัน หรืออาจจะเป็นต่างคนต่างกรรมต่างวาระกัน แต่เป็นประเภทเดียวกันก็สามารถเกิดกรรมแบบเดียวกันได้

 

                        เรื่องของวิบากกรรมน่ากลัวมากจริงๆ เพราะฉะนั้น เราควรร่วมกันทำกรรมดีด้วยการทำหน้าที่กัลยาณมิตร ชักชวนกันทำทาน รักษาศีล เจริญสมาธิภาวนา สร้างบารมีตราบกระทั่งถึงที่สุดแห่งธรรม

 

ขอให้ทุกท่านปลอดภัยจากโรคภัยไข้เจ็บ

 

เจริญพร

พระมหาสมชาย ฐานวุฑฺโฒ

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0010601679484049 Mins