เรื่องทรงแสดงธรรมแก่ภิกษุปัญจวัคคีย์

วันที่ 24 มีค. พ.ศ.2564

24-3-64-4-b.jpg

๔. เรื่องทรงแสดงธรรมแก่ภิกษุปัญจวัคคีย์

              (๑๒) ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จจาริกโดยลำดับ ถึงป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เขตกรุง
พาราณสี แล้วได้เสด็จไปทางที่ภิกษุปัญจวัคคีย์อยู่ ภิกษุปัญจวัคคีย์ได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมาแต่
ไกล ได้นัดหมายกันและกันว่า “ท่านทั้งหลาย พระสมณโคดมนี้เป็นผู้มักมาก คลายความเพียร เวียนมา
เพื่อความเป็นคนมักมาก กำลังเสด็จมา พวกเราไม่พึงกราบไหว้ ไม่พึงลุกต้อนรับ ไม่พึงรับบาตรและจีวร
ของพระองค์ แต่จะจัดอาสนะไว้ ถ้าพระองค์ปรารถนาก็จักประทับนั่ง"

             ครั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมาถึง ภิกษุปัญจวัคคีย์ก็ไม่อาจตั้งอยู่ในกติกาของตนได้ ต่าง
ต้อนรับพระผู้มีพระภาคเจ้า รูปหนึ่งรับบาตรและจีวร รูปหนึ่งปูอาสนะ รูปหนึ่งจัดหาน้ำล้างพระบาท รูปหนึ่ง
จัดตั้งตั่งรองพระบาท รูปหนึ่งนำกระเบื้องเช็ดพระบาทเข้าไปวาง พระผู้มีพระภาคได้ประทับนั่งบนอาสนะที่
ภิกษุปัญจวัคคีย์จัดถวาย แล้วทรงล้างพระบาท แต่ภิกษุปัญจวัคคีย์กลับร้องเรียกพระผู้มีพระภาคเจ้าโดย
ออกพระนาม และใช้คำว่า “อาวุโส”1

              เมื่อภิกษุปัญจวัคคีย์ กล่าวอย่างนั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสห้ามภิกษุปัญจวัคคีย์
ว่า “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธออย่าร้องเรียกตถาคตโดยออกชื่อและใช้คำว่าอาวุโส ภิกษุทั้งหลาย ตถาคตเป็น
อรหันต์ตรัสรู้เองโดยชอบ พวกเธอจงเงี่ยโสตสดับ เราได้บรรลุอมตธรรมแล้ว เราจะสั่งสอน จะแสดงธรรม
พวกเธอเมื่อปฏิบัติตามที่เราสั่งสอน ไม่นานนักก็จักทำให้แจ้งซึ่งประโยชน์อันยอดเยี่ยม อันเป็นที่สุดแห่ง
พรหมจรรย์ ที่เหล่ากุลบุตรผู้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการ ด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเอง
ในปัจจุบันเข้าถึงอยู่”

            เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ภิกษุปัญจวัคคีย์ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าดังนี้
ว่า “อาวุโสโคดม แม้ด้วยจริยานั้น แม้ด้วยปฏิปทานั้น แม้ด้วยทุกกรกิริยานั้น พระองค์ก็ยังมิได้บรรลุ
อุตตริมนุสสธรรม อันเป็นญาณทัสสนะที่ประเสริฐ อันสามารถ บัดนี้พระองค์เป็นผู้มักมาก คลาย
ความเพียร เวียนมาเพื่อความเป็นคนมักมาก ไฉนจักบรรลุอุตตริมนุสสธรรม อันเป็นญาณทัสสนะที่
ประเสริฐ อันสามารถได้เล่า”

              เมื่อภิกษุปัญจวัคคีย์กราบทูลอย่างนั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสกับภิกษุปัญจวัคคีย์
ดังนี้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย ตถาคตไม่เป็นคนมักมาก ไม่ได้คลายความเพียร ไม่ได้เวียนมาเพื่อความเป็นคนมัก
มาก ภิกษุทั้งหลาย ตถาคตเป็นอรหันต์ตรัสรู้เองโดยชอบ พวกเธอจงเงี่ยโสตสดับ เราได้บรรลุอมตธรรม
แล้ว เราจะสั่งสอน จะแสดงธรรม พวกเธอเมื่อปฏิบัติตามที่เราสั่งสอน ไม่นานนักก็จักทำให้แจ้งซึ่ง
ประโยชน์อันยอดเยี่ยม อันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ ที่เหล่ากุลบุตรผู้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดย
ชอบต้องการ ด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่"

แม้ครั้งที่๒ ภิกษุปัญจวัคคีย์ก็ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้า ดังนี้ว่า ฯลฯ

แม้ครั้งที่ ๒ พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ตรัสกับพระปัญจวัคคีย์ดังนี้ว่า ฯลฯ

แม้ครั้งที่ ๓ ภิกษุปัญจวัคคีย์ก็ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “อาวุโสโคดม แม้ด้วย
จริยานั้น แม้ด้วยปฏิปทานั้น แม้ด้วยทุกกรกิริยานั้น พระองค์ก็ยังมิได้บรรลุอุตตริมนุสสธรรม อันเป็น
ญาณทัสสนะที่ประเสริฐ อันสามารถ บัดนี้พระองค์เป็นผู้มักมาก คลายความเพียร เวียนมาเพื่อความเป็น
คนมักมาก ไฉนจักบรรลุอุตตริมนุสสธรรม อันเป็นญาณทัสสนะที่ประเสริฐ อันสามารถได้เล่า”

              เมื่อภิกษุปัญจวัคคีย์ได้กราบทูลอย่างนั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสกับภิกษุปัญจวัคคีย์
ดังนี้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอยังจำได้หรือว่า ถ้อยคำเช่นนี้เราได้เคยกล่าวในกาลก่อนแต่กาลนี้”

               ภิกษุปัญจวัคคีย์กราบทูลว่า “ถ้อยคำเช่นนี้ไม่เคยได้ฟังมาก่อน พระพุทธเจ้าข้า”

               พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ตถาคตเป็นอรหันต์ตรัสรู้เองโดยชอบ พวกเธอ
จงเงี่ยโสตสดับ เราได้บรรลุอมตธรรมแล้ว เราจะสั่งสอน จะแสดงธรรม พวกเธอเมื่อปฏิบัติตามที่เรา
สั่งสอน ไม่นานนักก็จักทำให้แจ้งซึ่งประโยชน์อันยอดเยี่ยม อันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ ที่เหล่ากุลบุตร
ผู้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการ ด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่”

                 พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสามารถให้ภิกษุปัญจวัคคีย์ยินยอมได้เเล้ว

ลำดับนั้น ภิกษุปัญจวัคคีย์ได้ยอมเชื่อฟังพระผู้มีพระภาคเจ้า เงี่ยโสตสดับ ตั้งจิตเพื่อรู้ยิ่ง


เชิงอรรถ

1ในครั้งพุทธกาล คำว่า “อาวุโส” เป็นคำที่คนทั่วไปใช้กล่าวนำทักทายร้องเรียกกัน ไม่แสดงความเคารพเป็นพิเศษ ก่อนจะ
เสด็จดับขันธปรินิพพาน พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้ารับสั่งห้ามพระผู้น้อยเรียกพระผู้ใหญ่โดยใช้คำว่า “อาวุโส และห้ามพูดกับ
ผู้ใหญ่โดยออกชื่อท่านนั้นท่านนี้ แต่ควรเรียกพระผู้ใหญ่โดยใช้คำว่า “ภันเต” หรือ “อายัสมา” ส่วนพระผู้ใหญ่ควรเรียก
พระผู้น้อยว่า “อาวุโส” หรือโดยการระบุชื่อนั้นชื่อนี้

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.013530282179515 Mins