พระธรรมคุณาภรณ์ เทพเจ้าของชาวกาญจน์ (ตอนที่ ๒)

วันที่ 01 พค. พ.ศ.2547


 

.....ในปีรุ่งขึ้นไปเรียนบาลีที่วัดใต้ ซึ่งในขณะนั้น มีพระมหายิ้ม พุ่มน้อย เป็นอาจารย์ใหญ่ ในปีนั้นมีนักเรียนบาลีทั้งหมด ๒๑ รูป เรียนอยู่ ๑ ปี ทางสำนักเรียนไม่มีครูสอน ความหวังที่จะเป็นมหาริบหรี่ลงไปอีก จึงชวนพระณรงค์เดินทางเข้าไปเรียนที่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ขณะนั้นพระมงคลเทพมุนี (สด) เป็นเจ้าอาวาส หลังจากเข้าไปเรียนได้ ๒ ปี สามารถสอบได้เปรียญธรรม ๓ ประโยค จึงเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อว่า “พระมหา” ดีใจที่การศึกษาสำเร็จตามที่มุ่งหวัง ผู้คนที่รู้จักต่างแสดงความยินดี รวมทั้งพระอุปัชฌาย์ก็พลอยมุทิตากับศิษย์ พร้อมทั้งให้สติว่า ท่านมหา นิวาโต นิวาโต เอาไว้นะ คำว่า นิวาโต นี้ มีความหมายว่า ไม่พองลม หรือให้ถ่อมตน เป็นคำสอนที่ผู้ใหญ่มักใช้เตือน หรือให้สติลูกศิษย์ไม่ให้ทำตัว “กร่าง” ทำตัวยกตนข่มท่าน หลงลืมตัวจนขาดความอ่อนน้อม ขาดความมีสัมมาคาราวะ ดังพระบาลีบทหนึ่งว่า

 

“ยโส ลัทธา นะ มัชเชยยะ”
แปลความว่า คนได้ยศไม่พึงมัวเมา

 

.....อยู่ที่วัดปากน้ำ สอบได้เปรียญธรรม ๗ ประโยค ท่านจึงกลับมาอยู่ที่วัดใต้ ในฐานะลูกวัด เพื่อจะได้ฟื้นฟูด้านการศึกษา ทั้งนักธรรมและบาลี นอกจากนั้นยังรับหน้าที่ช่างก่อสร้างเสนาสนะและถาวรวัตถุ เป็นการแบ่งเบาภาระหน้าที่ของเจ้าอาวาส ซึ่งขณะนั้นคือพระครูวัตตสารโสภณ (ก้าน นาคพันธ์) ที่ชราภาพมาก และมีโรคประจำตัวไปไหนไม่ค่อยไหว ดังนั้นการมาอยู่ที่วัดใต้จึงเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่เจ้าอาวาสไปโดยปริยาย รับผิดชอบทั้งการเรียนการก่อสร้างและการบริหาร ทำให้การเรียนของท่านเองไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย กระนั้นก็ตามท่านยังสามารถสอบเปรียญธรรม ๘ ประโยคได้ ในสำนักเรียนคณะจังหวัดกาญจนบุรีเป็นพระรูปเดียวของจังหวัดที่เป็นเปรียญธรรมสูง เป็นที่นิยมของพระสังฆาธิการในจังหวัดโดยทั่วไป

.....มีเรื่องเล่ากันเมื่อคราวที่ท่านสอบเปรียญธรรม ๘ ประโยคได้ ในครั้งนั้นมีญาติโยมนำอาหารคาวหวานมาถวายพระภิกษุสามเณรทั้งวัด เพื่อเป็นการแสดงมุทิตาสักการะ ไม่บ่อยนักที่จะมีโอกาสเช่นนี้กับเขา ที่วัดใต้ยามนั้นสามเณรปรุงอาหารเองทุกวัน แต่ละองค์เป็นพ่อครัวสมัครเล่นและจำใจ อาหารทุกมื้อจึงฉันกันชนิดกินเพื่ออยู่ น้ำปลาอย่างดีคือ เกลือละลายน้ำ เมื่อมีญาติโยมนำอาหารมาถวายจึงฉันกันเพลินจนลืมข้อโภชเนมัตตัญญูตา กลายเป็นมัตตัญญุตื้อไป มีของหวานชนิดหนึ่งที่เป็นของสมัยใหม่คือ ไอศกรีม เป็นของชอบสามเณรมาก ปรากฏว่าบางรูปฉันเกินขนาด มีอาการปากเขียว พุงเขียว ต้องผิงไฟที่เตาถ่านกันทีเดียว นี่เป็นเรื่องเล่าขานกันมาผู้เขียนไปไม่ทันเหตุการณ์ที่ว่าที่ปีท่านสอบ ป.ธ.๙ ยังเอาใจช่วยลุ้นอยู่เลย เพื่อว่าท่านสอบได้เราจะได้มีโอกาสผิงไฟกับเขาบ้าง จนแล้วจนรอดท่านก็สอบไม่ได้สักที จึงได้แต่เอาน้ำลูบท้องไปพลาง ๆ คอยจนท่านหมดสิทธิ์ในการสอบ เนื่องจากเป็นพระราชาคณะในกาลต่อมา ท่านบ่นเสียดายที่ไม่ได้และไม่ได้สอบ ดังนั้นท่านจึงสนับสนุนศิษย์ในสำนักให้สอบเปรียญธรรมสูง ๆ ให้ได้ ต่อมาศิษย์ของสำนักก็ไม่ทำให้ผิดหวังเลย สามารถสอบเปรียญธรรม ๙ ประโยคได้ทั้งเป็นพระภิกษุและสามเณร เรื่องนี้ท่านมีความสุขใจมากที่เห็นผลการเรียน โดยเฉพาะศิษย์ของสำนักคนแรกคือพระมหาสำเนียง ยสินธโร (เมืองนิล) และสามเณรวัชระ งามจิตรเจริญ (แซ่เจ็ง)

.....ความเป็นอยู่ของพระภิกษุสามเณรวัดใต้สมัยนั้นและในสมัยปัจจุบันนี้ มีความเป็นอยู่ที่คล้าย ๆ กันคือ ต้องทำงานโยธา ก่อสร้าง พร้อมทั้งเรียนหนังสือควบคู่กันไป ทั้งนี้เพื่อพัฒนาวัดที่ชำรุดทรุดโทรมเป็นอย่างมาก หลวงพ่อเองที่เราเห็นในปัจจุบันอย่างไร สมัยนั้นก็เหมือนกัน ทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กับลูกน้อง แต่การเรียนการสอนยกเป็นงานหลัก เป็นหัวใจสำคัญ ยกย่องฐานะพระภิกษุสามเณรที่เป็นเปรียญ หากสามเณรเป็นเปรียญ ได้รับการยกเว้นไม่ต้องล้างจาน ทำเวรหอฉันและสิทธิพิเศษอื่น ๆ การก่อสร้างเสนาสนะ และถาวรวัตถุภายในวัดที่เห็นในปัจจุบัน สำเร็จในสมัยท่านทั้งนั้นมีไม่ใช่อยู่สิ่งเดียวคือ มณฑป มีบารมีอยู่ในวัดท่านทำในวันต่อ เมื่อเป็นเจ้าคณะจังหวัดแล้ว จึงได้รับผิดชอบทั่วไป ได้ทำการก่อสร้างโรงพยาบาล สะพานข้ามแม่น้ำ อาคารเรียน อุโบสถ ศาลา โรงเรียน ฯลฯ เหล่านี้คือสิ่งที่ทำในบั้นปลายชีวิต ซึ่งศึกษาได้จากผลงานของท่าน

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.034198900063833 Mins