นักสร้างบารมี ต้องสู้ ตอนที่ ๒

วันที่ 21 ธค. พ.ศ.2564

641221_%E0%B9%80%E0%B8%99%E0%B8%B7%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%AB%E0%B8%B2-1.jpg

นักสร้างบารมี ต้องสู้ ตอนที่ ๒

       ในการจัดงานบุญวันอาทิตย์ สมัยก่อนที่บอกมาแต่ต้นว่า เราจะจัดงานบุญกันอยู่ที่ศาลาจาตุมหาราชิกาแล้วก็บริเวณลานหญ้ารอบๆ ถ้าเป็นอาทิตย์ต้นเดือน งานบุญใหญ่ก็เอาเต็นท์มากางเพิ่ม เอาร่มกลดมาตอกเสริม ถ้าอาทิตย์ธรรมดาไม่ต้องใช้เต็นท์ งานก็เบาหน่อย ถ้ามีธรรมทายาทมาช่วยกันเยอะ งานเราก็เสร็จเร็ว แต่ถ้าคนช่วยมาน้อยก็เลสร็จช้าหน่อย

          และถ้าวันหนึ่งวันใดมีภัยธรรมชาติ ซึ่งก็คือฝนตกน่ะแหละ ในสมัยก่อนฝนตกหน้าฝน และชอบตกวันเสาร์ต้นเดือน ตกได้ทุกเสาร์ต้นเดือน ฝนตก งานก็เพิ่มคนเราก็น้อย งานที่เตรียมไว้เสร็จแล้วก็ต้องเตรียมใหม่หมด ฝนตกก็แฉะต้องมาขุด มาเซาะร่องนํ้า ทำทางเดินฉุกเฉินให้ญาติโยม เตรียมไว้สำหรับวันอาทิตย์ ถ้าวันไหนฝนตกแรง มีพายุเข้า ต้นไม้โค่น เต็นท์พัง ต้องไปกู้เต็นท์กัน เต็นท์ไหนไม่พัง ก็ไปปลดผ้าใบเสีย ผ้าใบมันรองรับน้ำฝน ถ้าเยอะไปเดี๋ยวผ้าใบจะขาดและช่วยกันเก็บกิ่งไม้ ใบไม้ที่ร่วงหล่นตามถนนให้เรียบร้อย

          มิหนำซํ้า เขตนี้ก็แปลกจัง ฝนตกทีไร ไฟฟ้าดับทุกที ไฟดับสมัยก่อน ดับนานนะ ครึ่งวันค่อนวัน ยิ่งดับตอนค่ำไปรอเช้าได้เลย ไม่มิช่างมาแก้หรอก ไฟดับงานก็เพิ่มอีก ไม่มีเครื่องปั่นไฟ เพราะฉะนั้นต้องจุดเทียนและใช้ไฟฉายทำงานกัน ถังนํ้าบาดาลของเราก็ใบนิดเดียว ไฟดับแล้ว จับเวลาได้เลยอีก ๒๐ นาทีน้ำหมด

          เพราะฉะนั้นพอไฟดับปุ๊บ อาตมาต้องวิ่งรองนํ้าทันที ถ้าไม่ทันล่ะก็ต้องเหนื่อยกันละ ถ้ายิ่งเป็นวันอาทิตย์ต้นเดือนนี่ ต้องใช้นํ้าเยอะมากในการล้างภาชนะ ล้างจาน หรือในการทำภารกิจ ใช้นํ้าเยอะมาก ถ้าไฟดับหมด ภาชนะทั้งหลาย ไม่ว่าตุ่ม ถัง กะละมัง หม้อ หงายขึ้นมารองนํ้าบาดาลเก็บตุนๆ ไว้ให้หมด

          แต่บางทีก็ไม่ทันเหมือนกัน เราไม่ได้เฉลียวใจ คุณยายถาม นํ้าในห้องนํ้าญาติโยมมีตุนไว้หรือยัง อ้าว ไม่มีเลย ๒๐ นาทีแล้ว นํ้าหยุดไหลแล้ว คราวนี้ท่านก็จะบอกว่า งั้นไปตักนํ้าในคู ใส่ตุ่มทุกๆ ใบตุนไปก่อน นี่...ปฏิภาณของท่านนะ แป๊บเดียว ใส่เต็มทุกห้องนํ้าเลย สำรองใส่ตุ่มไว้อีก หน้าห้องน้ำอีกหลายๆ ตุ่ม

          เพราะฉะนั้น ตั้งแต่คุณยายบอก พอเมื่อไหร่เหตุการณ์ไฟดับ นํ้าไม่มีเมื่อไหร่ละก็ ตักนํ้าในคลองทุกทีแหละ ใครไม่เคยตักนํ้าด้วย ฝนตกด้วย มันทั้งหนาวด้วย เหนื่อยด้วย ต้องตากฝนด้วย คนก็มีไม่กี่คน แล้วยังไฟฟ้าดับมืดอีกต่างหาก เราก็พยายามเตรียมงานบุญใหญ่กันมาได้ทุกอาทิตย์ต้นเดือน แล้วก็ทุกปีไม่ขาด รุ่นพี่ๆ สมัยก่อน อุบาสกสมัยก่อนแข็งขันกันดี เรียกว่าอึดเข้าว่าแหละ เดี๋ยวนี้ก็บวชกันมาแล้วหลายรูป บวชกันหมดแล้ว

           สมัยก่อนรุ่นแรกๆ พี่สมบุญ (ปัจจุบันเป็นพระมหาสมบุญ สมมาปุญฺโญ) จะแข็งแรงกว่าใครเพื่อน เพราะฉะนั้นถ้าต้นไม้โค่น ต้องมารุมช่วยกันหมด หรือถ้าต้องยกของหนัก ทุกคนจะบอกว่า พี่สมบุญต้องไปช่วยทำ ไปช่วยยก เป็นหัวแรง ซึ่งท่านก็ไม่เคยบ่นเลย ท่านมีอุปนิสัยว่าไงว่าตามกัน บอกแต่ว่าเอาเลย ลุย ทุกคนช่วยกันหมด

           อาตมาเอาบรรยากาศเก่าๆ มาเล่าให้ทุกท่านฟัง เพี่อให้รู้ว่า เมื่อมาถึงรุ่นพวกเราก็ยังโชคดีที่หลวงพ่อธัมมชโยตัดสินใจให้สร้างสภาธรรมกายสากล หลังคาจากในปี พ.ศ. ๒๕๒๙ ได้เริ่มใช้ ปัญหาเรื่องภัยธรรมชาติก็เบาลง เรื่องการต้องต่อสู้กับฝน ไม่ใช่หมดนะ เบาลง  เพราะว่าหลังจากที่ญาติโยมมามากขึ้น สภาธรรมกายสากลหลังคาจากก็เต็มอีกน่ะแหละ ก็เลยต้องสร้างสภาธรรมกายสากลขึ้นใหม่อีกในพื้นที่ ๒,๐๐๐ ไร่นี้

           สิ่งที่เราได้ช่วยกันมานี้ เป็นสิ่งที่ประทับใจ เป็นสิ่งที่หลายๆ คนได้เอาไว้บอกไว้สอนรุ่นน้องต่อไปว่า สิ่งเหล่านี้เราเคยทำมาแล้ว เป็นแบบอย่างให้ทุกคนได้ทำต่อไป

641221_%E0%B9%80%E0%B8%99%E0%B8%B7%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%AB%E0%B8%B2-2.jpg

          เรื่องนํ้าของวัดสมัยก่อน อย่างที่บอกไว้แต่ตอนต้นว่า ถ้าพอมีปัญหานํ้าไม่ไหลก็ตาม ท่อแตกหรืออะไรก็ตาม พอนํ้าหมดแท็งก์ เราก็ต้องใช้นํ้าจากคูคลองนั่นแหละ ใช้สารพัด ตั้งแต่ล้างภาชนะ ล้างพื้น จนกระทั่งใช้ในห้องนํ้า คุณยายเคยเล่าว่า สมัยท่านอยู่วัดปากนํ้า ที่บ้านธรรมประสิทธิ์ ท่านใช้นํ้าคลอง ไม่ได้ใช้น้ำประปาอย่างที่เราคิด ใช้น้ำคลองใส่ตุ่มเก็บไว้ ท่านมีตุ่มเยอะเลย รอบบ้านสิบกว่าใบ ตุ่มส่วนหนึ่งเอาไว้ใส่น้ำฝน เป็นน้ำดื่ม ท่านจะแยกไว้มุมหนึ่ง ส่วนที่เป็นน้ำใช้ ท่านก็จะแยกไว้กลุ่มหนึ่ง

           พอถึงช่วงค่ำ คุณยายจะรู้นะว่า ช่วงเวลากี่โมงนํ้าในคลองภาษีเจริญจะขึ้นสูงสุด พอนํ้าขึ้นสูงสุดท่านจะชวนหลานๆ ของท่านไปช่วยกันตักนํ้า โดยใช้ถังผูกเชือกหย่อนลงไปตักนํ้าแล้วดึงสาวขึ้นมา ท่านจะบอก เอ้า นํ้าขึ้นให้รีบตัก ไปช่วยกันตักเร็ว ท่านตักนํ้าเอามาตุนไว้ในตุ่ม แล้วตอนเช้าก็เอานํ้าที่ตักแล้ว มาสู่กระบวนการของท่าน ท่านจะแบ่งตุ่ม ๑๐ กว่าใบเป็นกลุ่มๆ ไว้ ๓ กลุ่ม 

            ตุ่มกลุ่มแรก ๓-๔ ใบ ท่านตักนํ้าดิบจากคลองขึ้นมาตุนๆ เอาไว้ พอดึกนํ้าเต็มทุกตุ่มก็หยุด แล้วทิ้งให้มันตกตะกอน ทิ้งไว้ค้างคืน พอตอนเช้า ท่านจะค่อยๆ ช้อนเอานํ้าส่วนหน้ากรองด้วยผ้า แล้วก็ไปตักถ่ายเทสู่ตุ่มชุดที่ ๒ มีประมาณ ๓-๔ ใบ กรองเอาไว้ นํ้าที่เหลือจากการกรอง ก้นตุ่มมันขุ่นหน่อย ก็เอาไว้ล้างพื้น ซักผ้าถูบ้านบ้าง รดนํ้าต้นไม้บ้าง ท่านใช้นํ้าประหยัดอย่างนี้

            หลังจากกรองเสร็จแล้ว ก็แกว่งสารส้ม ทิ้งไว้พักใหญ่ๆ หลายชั่วโมงทีเดียว ท่านก็จะตักช้อนเอานํ้าข้างหน้าที่ใสแจ๋ว ไปสู่ตุ่มชุดที่ ๓ แล้วก็เอานํ้าก้นตุ่มชุดที่ ๒ นั้น ซึ่งมีพวกสารแขวนลอยจากสารล้มต่างๆ เอามาล้างพื้น ทำอะไรต่ออะไรไป ท่านทำอย่างนี้ พอได้น้ำใสจากตุ่มชุดที่ ๓ ก็เก็บไว้ใช้ได้ทั้งวัน ตุ่มชุด ๑ ชุด ๒ ก็ว่างพอที่จะใส่น้ำชุดใหม่ได้อีก วนเวียนอยู่อย่างนี้แหละ ท่านก็ได้น้ำสะอาดใช้อยู่ตลอดปี ท่านใช้น้ำอย่างนี้ ไม่ต้องไป เสียค่าน้ำประปา ถึงน้ำประปาจะขึ้นราคา ท่านก็ไม่เดือดร้อน นี่แหละความประหยัดของคุณยาย สมัยนั้นอาตมาไปวัดปากน้า ยังทึ่งในความสามารถ และความขยันของคุณยาย เคยแอบไปเปิดตุ่มของคุณยายดู โอ้ คุณยายกรองน้ำได้สะอาดถึงขนาดนี้ ใช้น้ำประหยัดขนาดนี้ มีความเพียรพยายามมาก ไม่ค่อยกล้าใช้น้ำของท่าน กลัวท่านจะลำบาก มาคอยนั้งกรองน้ำให้เราใช้

641221_%E0%B9%80%E0%B8%99%E0%B8%B7%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%AB%E0%B8%B2-3.jpg

            เพราะความประหยัด สมัยแรกที่ได้แผ่นดิน ๑๙๖ ไร่มาใหม่ๆ ท่านก็พยายามรวบรวมเงินทองเก็บเอาไว้ แล้วก็ประหยัดเรื่องค่าใช้จ่ายทุกอย่าง เพื่อจะเอาเงินมาใช้ในการก่อสร้างวัด สร้างศูนย์พุทธจักรฯ ที่ปทุมธานีน่ะแหละ คุณยายบอกว่า ยายไม่คิดอะไร รีบๆ ทำให้มันเสร็จๆ สร้างวัดให้เขาอยู่สร้างบุญบารมีกัน ยายขออาศัยมีข้าวกิน ๒ มื้อ มีกุฏิเอาไว้คุดหัวนั่งเข้าที่ตามสมบัติในที่ เอามาให้เขากินเขาใช้ทำงานให้พอ ก็พอใจแล้ว

           สมัยก่อนแม้แต่จานข้าวของคุณยาย ดูเหมือนจะเป็นจานที่เขาแถมมากับผงซักฟอกที่ซี้อมา เป็นจานสีชมพู ใข้มา ๒๐ กว่าปีแล้ว ตั้งแต่สมัยอยู่ที่วัดปากนํ้าจนกระทั่งย้ายมาที่วัดพระธรรมกาย ก็ใช้ใบนั้น สมัยอาตมาบวชแล้ว ก็ยังใช้ใบนั้น ใช้จนสีชมพูมันจางเกือบจะเป็นสีขาวแล้ว บางครั้งเคยจะเปลี่ยนให้ท่าน ท่านก็จะเรียกหาจานข้าวยายอยู่ไหน ก็ต้องกลับไปเอาใบเดิมนั้นมาให้ท่านอีก ตกลงท่านก็อยากจะใช้ใบนั้น จานใบเก่าของท่าน ใช้ให้คุ้ม

641221_%E0%B9%80%E0%B8%99%E0%B8%B7%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%AB%E0%B8%B2-4.jpg

           อยากให้สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งสอนลูกหลานต่อไปว่า สิ่งที่ท่านสอน เรื่องความประหยัด ท่านทำให้ดูเป็นตัวอย่างด้วย เพราะฉะนั้น อุบาสก อุบาสิกาวัดพระธรรมกายทั้งหลายพยายามเอาแบบอย่างคุณยาย ช่วงนี้เป็นฤดูแห่งความประหยัด บ้านญาติโยมทั้งหลายตอนนี้เขาประหยัดกันเต็มที่แล้ว ว่ากันสุดตัวทีเดียว น้ำมันก็ขึ้นราคา น้ำประปาก็ขึ้นแล้ว ไฟฟ้าก็ขึ้นอีก สินค้าต่างๆ ขึ้นราคาตามมาเป็นแถวๆ แต่ว่าเงินเดือนไม่ค่อยจะขึ้นเท่าไหร่ ญาติโยมเหล่านั้นอุตส่าห์เจียดเงินส่วนหนึ่งมาทำบุญได้นี่ โอ้โฮ กัดฟันกันจริงๆ นะ เพราะรักในการสั่งสมบุญ

            เพราะฉะนั้น เราแต่ละคนต้องพยายามช่วยกันทีเดียว อะไรประหยัดได้ต้องประหยัด ประหยัดให้สุดตัวทีเดียว ใช้จ่ายทรัพย์อะไรที่ไม่สมควร ก็อย่าไปจ่าย อะไรที่ไม่ควรซื้อหา ก็ไม่ต้องไปซื้อ คิดวางแผนซะก่อนที่จะซื้อ ก่อนจะเดินทาง ช่วงนี้ภัยเศรษฐกิจมีทุกแห่งทั่วโลก

            คุณยายจะสอนว่า ระวังนะใช้ทรัพย์ไม่เป็นก็จะเป็นขี้ข้าทรัพย์ ใช้เงินไม่เป็นก็จะเป็นขี้ข้าเงิน เราใช้ทรัพย์ไม่สมควร มันก็เหมือนใช้ทรัพย์บนหัวคน เพราะก่อนที่โยมเขาจะทำบุญเขาเอาเงินจบท่วมหัวเชียวนะ อีกหน่อยเดี๋ยวได้ไปเกิดเป็นขี้ข้ารับใช้เขานะ ท่านจะเน้นอย่างนี้เรื่อยๆ กับอุบาสกเด็กวัดสมัยก่อน ทำให้พวกเราเวลาจะใช้ทรัพย์ ใช้สิ่งของต่างๆ จะใช้ด้วยความระมัดระวัง อะไรที่เสียพอจะซ่อมใช้ได้ก็ซ่อมใช้ไปก่อน ก่อนที่จะต้องไปซื้อใหม่ ของหายก็ให้หา ของเสียให้ซ่อม แต่ว่า ณ ปัจจุบันเรามีคนมากขึ้น คนที่ปล่อยปละละเลยเรื่องนี้ก็เริ่มจะมี ต้องช่วยกันตักเตือน

641221_%E0%B9%80%E0%B8%99%E0%B8%B7%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%AB%E0%B8%B2-5.jpg

            ญาติโยมทั้งหลายที่เคยได้ยินได้ฟังจากคุณยายล่ะก็ ถ้าเจอเหตุการณ์อย่างนี้ ช่วยกันบอก ช่วยกันเตือนลูกหลาน อุบาสก อุบาสิกา ให้โอกาสเตือนได้ทั้งนั้นแหละ สิ่งของอะไรก็ตามที่เราเก็บเอาไว้ ไม่ได้ใช้ประโยชน์ เอาไปบริจาคให้แผนกข้างเคียงหรือวัดข้างเคียงก็ได้ เพื่อเขาจะได้ใช้ประโยชน์ จะได้ไม่ต้องซื้อไม่ต้องหาให้เสียสตางค์ และเป็นบุญกุศลแก่ตัวเราด้วย

641221_%E0%B9%80%E0%B8%99%E0%B8%B7%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%AB%E0%B8%B2-6.jpg

            คุณยายเคยบอกอาตมาไว้หลายปีแล้วว่า ให้ระวังนะ คอยดูให้ดี หลังจากยายละโลกแล้ว หลวงพ่อธัมมะท่านแบกภาระทั้งวัดเชียวนะ เพราะฉะนั้นถ้าไม่ช่วยกันแบ่งเบาภาระของท่านลงไปบ้างละก็ ท่านก็จะหนักอย่างนี้เรื่อยๆ พวกเรามาอยู่รวมกันต้องช่วยกัน นอกจากช่วยกันกินช่วยกันใช้แล้ว ต้องช่วยกันหา ช่วยกันรักษาของ ช่วยกันประหยัดด้วย ให้พยายามบอกสอนรุ่นน้องๆ ต่อไป สอนไปอย่างที่ยายสอน

           บางครั้งคุณยายท่านก็รำพึง ท่านพูดคุยกับอาตมา คุยกันเล่นๆ ท่านใช้ภาษาของท่าน เออ กูนะแก่ป่านนี้แล้วจะ ๙๐ ปีแล้ว ยังต้องตามบอกตามสอน ตามจํ้าจี้จํ้าไชเรื่องเหล่านี้ มันแยกกันไม่ออกหรือไง อะไรบุญ อะไรบาป อะไรดี อะไรชั่ว อะไรควรทำ ไม่ควรทำ อะไรเป็นประโยชน์ ไม่ใช่ประโยชน์ สงสัยอย่างนี้ ยายจันทร์ ชาตินี้เหนื่อยทั้งชาติเลย สร้างวัดให้เขาอยู่แล้วยังต้องตามดูแลรักษา ตามหาสมบัติให้เขาอีก ให้เขากินให้เขาใช้ ยังต้องไปปราบไอ้พวกเลอะเทอะทั้งหลาย ไม่ช่วยกันเลย อย่างนี้ยายก็หนักอยู่คนเดียว ไอ้ที่ยายบอก ยายสอน จะเอาไปให้ได้สักขี้เล็บยังทำไม่ได้เลย

641221_%E0%B9%80%E0%B8%99%E0%B8%B7%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%AB%E0%B8%B2-6.jpg

          บางทีคุณยายก็อธิษฐานว่า ภพต่อไป ยายเกิดเป็นมนุษย์ ยายจะเป็นผู้ชายแล้ว ยายจะไปสร้างวัดอีก จะหอบเอาลูกหลานไปเกิดด้วยกัน ไอ้พวกดีๆ ก็จะเอามาเกิดไว้ใกล้ๆ แหละ แต่ไอ้พวกที่มันยังติดเลอะเทอะ ใจไม่สู้ หนักไม่เอา เบาไม่ไหว พวกนี้ให้ไปเกิดไกลๆ อย่างนี้ดีไหม

641221_%E0%B9%80%E0%B8%99%E0%B8%B7%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%AB%E0%B8%B2-7.jpg

           เพราะฉะนั้น พวกเราพิจารณาตัวให้ดีนะ เราเป็นพวกไหน ถ้าอยากเกิดอยู่ใกล้คุณยาย ก็ เลิกเสียนะ อะไรที่ไม่ดี เลิกเสีย แล้วก็พยายามชำระใจให้สะอาดบริสุทธิ์ กาย วาจา ใจ พวกเราลองคิดดู ตลอดชีวิตของคุณยาย ท่านทำเพื่อพวกเรามาตลอด ถ้าลำพังตัวของท่านเอง เอาตัวรอดด้วยวิชชาของท่านที่เรียนมา ฝึกฝนมาจากหลวงพ่อวัดปากนํ้า ท่านจะเอาตัวของท่านรอดไปคนเดียวน่ะ สบายเลย สบายมาก

641221_%E0%B9%80%E0%B8%99%E0%B8%B7%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%AB%E0%B8%B2-8.jpg

            แต่ท่านยอมลำบากอยู่ทุกวันนี้ก็เพื่อพวกเรา เหนื่อยก็เพื่อพวกเราแหละ ต้องไปปราบกับคนพาล ปราบกับพญามาร ปราบไป หาสมบัติอะไรต่ออะไรมาให้ ก็เพื่อพวกเราแหละ สร้างวัดให้เราอยู่ สร้างพื้นที่ปฏิบัติธรรมให้เรานั่งธรรมะกันอย่างสบาย สร้างโรงครัวให้เรามีอาหารกินกันไม่อดไม่อยาก กระทั่งสร้างกลุ่มคนปฏิบัติธรรม กลุ่มกัลยาณมิตรขึ้นเยอะแยะ ผู้มีศีล ผู้มีธรรมเยอะแยะ แล้วก็เอาวิชชาธรรมกายมาสอน ซึ่งเป็นวิชชาอันเลิศที่สุด สร้างความเป็นสัปปายะครบทั้ง ๔ อย่าง ให้เกิดขึ้น ทั้งที่อยู่สัปปายะ อาหารสัปปายะ บุคคลสัปปายะ และธรรมะสัปปายะ ให้พวกเราได้ใช้ สิ่งเหล่านี้ เป็นชัยภูมิในการสร้างบารมีของเรา เพื่อจะได้พ้นจากความเป็นบ่าวเป็นทาสของพญามาร ไปสู่หนทางพระนิพพาน

641221_%E0%B9%80%E0%B8%99%E0%B8%B7%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%AB%E0%B8%B2-10.jpg

            เพราะฉะนั้น เราลองถามตัวเองนะ คุณยายทุ่มให้เราขนาดนี้ เราทำอะไรเพื่อท่านบ้าง ความจริงคุณยายก็ไม่ได้หวังอะไรนะ หวังอยากจะเห็นอย่างเดียวว่า ให้พวกเราเป็นคนดีที่โลกต้องการน่ะแหละ ให้เราได้ฝึกฝนตัวเอง อยากให้เราเลิกละความไม่ดีทั้งหลาย ให้เข้าถึงพระธรรมกายภายใน แล้วก็ทำตัวให้ดีๆ ส่วนดีๆ นั้นจะเป็นยังไงเราก็ลองไปเปิดอ่านดูในหนังสือของหลวงพ่อทัตตชีโว เรื่องคนดีที่โลกต้องการ เขาเป็นอย่างไร นั่นแหละคุณยายก็ปรารถนาให้พวกเราเป็นอย่างนั้น แล้วสิ่งเหล่านี้เอง เมื่อเราฝึกตัวของเราได้ก็แบ่งเบาภาระของคุณยาย ของหลวงพ่อไป พวกเราจะได้ไปบอก ไปเตือน ไปเป็นกัลยาณมิตรให้กับคนอื่นอีก วงบุญของเราก็จะขยายวงกว้างออกไปอีก

            เพราะฉะนั้น ในการที่คุณยายอยากจะหอบหิ้วทุกคนไปสู้หนทางพระนิพพานมันก็ง่ายเข้า คือ เราทำตัวให้ท่านพาไปง่ายขึ้น ไม่ใช่ว่า บางทีทำเหลวไหลบ้าง บางทีก็เอาจริงบ้าง ไม่เอาจริงบ้าง อย่างนี้ก็ไปกันยาก เดี๋ยวก็ไปเกิดในที่ที่ไกลจากท่าน คุณยายบอกว่า ใครอยากจะเกิดใกล้ๆ ยาย อะไรที่ยายสอนไว้ต้องพยายามประพฤติปฏิบัติ ทำให้สม่ำเสมอ ไม่ใช่ว่ามีอารมณ์ก็ทำที ไม่มีอารมณ์ก็หยุดไปเสียบ้าง อะไรทำนองนี้ แล้วเราก็จะได้ติดตามไปอยู่ใกล้ๆ คุณยายทุกภพทุกชาติตราบถึงที่สุดแห่งธรรม

จากหนังสือ เกิดด้วยสองมือยาย 

พระรังสฤษดิ์ อิทฺธิจินฺตโก

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.015191316604614 Mins