สิกขาบทที่ ๑ ภิกษุเสพเมถุน เป็นปาราชิก

วันที่ 24 ธค. พ.ศ.2564

ปาราชิกมี ๔ สิกขาบท ภิกษุเสพเมถุน เป็นปาราชิก

ปาราชิก ๔

       ปาราชิก เป็นชื่อของอาบัติเรียกว่า อาบัติปาราชิก มีคำแปลที่ท่านแปลกันไว้๓ นัย คือ
       - ถ้าเป็นชื่อของอาบัติ แปลว่า ยังผู้ต้องให้พ่าย
       - ถ้าเป็นชื่อของบุคคลผู้ต้อง แปลว่า ผู้พ่าย
       - ถ้าเป็นชื่อของสิกขาบท แปลว่า ปรับอาบัติปาราชิก
       คำว่า พ่าย นั้นหมายถึง พ่ายจากความเป็นภิกษุ พ่ายจากหมู่ภิกษุ คือขาดจากความเป็นภิกษุไปโดยปริยาย ไม่มีสิทธิอยู่ร่วม ไม่มีสิทธิเข้าร่วมทำสังฆกรรมกับภิกษุทั้งหลายอีก
       ปาราชิก จัดเป็น ครุกาบัติ คือเป็นอาบัติที่มีโทษหนักที่สุดเหมือนโทษประหารชีวิตที่ทำให้พ้นจากความเป็นคน หรือโทษเนรเทศที่ทำให้พ้นจากสิทธิในการเป็นอยู่ในที่นั้น และเป็นอกรณียกิจตามความในอนุศาสน์ที่แสดงไว้แล้ว 

        ปาราชิกมี ๔ สิกขาบท คือ

ปาราชิก สิกขาบทที่ ๑

คำแปลพระบาลีที่เป็นพุทธบัญญัติ

        “อนึ่ง ภิกษุใดถึงพร้อมด้วยสิกขาและสาชีพของภิกษุทั้งหลาย ไม่บอกคืนสิกขา ไม่ทำความเป็นผู้ทุรพลให้แจ้ง เสพเมถุนธรรม โดยที่สุดแม้กับสัตว์ดิรัจฉานเพศเมีย เป็นปาราชิก หาสังวาสมิได้”

เนื้อความย่อในหนังสือนวโกวาท
       “ภิกษุเสพเมถุน เป็นปาราชิก”

อธิบายความโดยย่อ 
       คำว่า สิกขา ในคำว่า ถึงพร้อมด้วยสิกขาและสาชีพ นั้น หมายถึง ข้อที่จะต้องศึกษา, ข้อปฏิบัติสำหรับฝึกอบรม มี๓ อย่าง คือ

       - อธิสีลสิกขา การศึกษาในอธิศีล คือข้อปฏิบัติสำหรับฝึกอบรมในทางความประพฤติชั้นสูง ในที่นี้ได้แก่ปาติโมกขสังวรศีลศีลคือความสำรวมในพระปาติโมกข์เว้นข้อที่พระพุทธเจ้าทรงห้าม ทำตามข้อที่ทรงอนุญาตจัดเป็นศีลที่ยิ่งกว่าศีลทั่วไป

       - อธิจิตตสิกขา การศึกษาในอธิจิต คือข้อปฏิบัติสำหรับฝึกอบรมจิตเพื่อให้เกิดสมาธิชั้นสูง จนถึงขั้นได้ฌาน อันเป็นบาทฐานให้เกิดวิปัสสนา

       - อธิปัญญาสิกขา การศึกษาในอธิปัญญาคือข้อปฏิบัติสำหรับฝึกอบรมปัญญา เพื่อให้เกิดความรู้แจ้งอย่างสูง มองเห็นสภาพของสังขารร่างกายตามเป็นจริง ได้แก่วิปัสสนาญาณ คือปัญญาที่กำหนดรู้อาการของไตรลักษณ์

      คำว่า สิกขา ในคำว่า ถึงพร้อมด้วยสิกขา นี้หมายเอาเฉพาะอธิสีลสิกขา

       คำว่า สาชีพ หมายถึง ข้อที่ทรงบัญญัติไว้เป็นแบบแผนแห่งความประพฤติที่ทำให้มีชีวิตร่วมเป็นวิถีเดียวกัน ซึ่งได้แก่สิกขาบททั้งหลายที่ทรงบัญญัติไว้อันทำให้ภิกษุทั้งหลายผู้มาจากต่างที่ต่างสกุลมีความเป็นอยู่เสมอเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

       คำว่า ไม่บอกคืนสิกขา ไม่ทำความเป็นผู้ทุรพลให้แจ้ง คือ ภิกษุเป็นผู้กระสัน ไม่ยินดีต้องการออกไปจากความเป็นสมณะ อึดอัด เบื่อหน่ายเกลียดชังความเป็นภิกษุปรารถนาจะเป็นคฤหัสถ์จึงบอกคืนพระพุทธเจ้า บอกคืนพระธรรม บอกคืนพระสงฆ์บอกคืนสิกขา บอกคืนปาติโมกข์บอกคืนภิกษุอื่นมีอุปัชฌาย์อาจารย์เป็นต้น โดยใช้คำบอกคืนเป็นปัจจุบันว่า ข้าพเจ้าบอกคืนพระพุทธเจ้า หรือ ขอท่านทั้งหลายจงจำข้าพเจ้าไว้ว่าเป็นคฤหัสถ์เป็นต้นอย่างนี้ชื่อว่าบอกคืนสิกขา และทำความเป็นผู้ทุรพลให้แจ้ง

       แต่ภิกษุที่ยังมิได้บอกคืนในลักษณะนั้น หรือบอกคืนโดยใช้คำไม่เป็นปัจจุบัน เช่นใช้ว่า ไฉนหนอ ข้าพเจ้าพึงเป็นคฤหัสถ์หรือ ก็ถ้าว่า ข้าพเจ้าพึงบอกคืนพระพุทธเจ้า เช่นนี้ชื่อว่า มีการทำความเป็นผู้ทุรพลให้แจ้ง แต่สิกขาไม่เป็นอันบอกคืน

       คำว่า เสพ หมายถึง การสอดอวัยวะเครื่องหมายเพศของตนเข้าไปทางอวัยวะเครื่องหมายเพศ หรือสอดองค์กำเนิดเข้าไปทางองค์กำเนิด โดยที่สุดเข้าไปแม้เพียงชั่วเมล็ดงา

       คำว่า เมถุนธรรม ท่านอธิบายไว้ว่าหมายถึง ธรรมของอสัตบุรุษ อันเป็นเรื่องของชาวบ้าน เป็นธรรมดาของคนชั้นต่ำ เป็นเรื่องชั่วหยาบ มีน้ำเป็นที่สุด ทำกันในที่ลับตาเฉพาะคนสองคน ปฏิบัติกันเป็นคู่ๆ

       การเสพเมถุนธรรมนี้มิใช่เฉพาะกับมนุษย์เท่านั้น แม้เสพกับสัตว์ดิรัจฉานเพศเมีย ก็เป็นปาราชิกเหมือนกัน

       คำว่า เป็นปาราชิก หมายถึง เป็นบุคคลผู้แพ้โดยเคลื่อน คลาดตกหล่น ห่างไกลจากพระสัทธรรม

      คำนี้แม้ในปาราชิกสิกขาบทที่เหลือก็มีความหมายเหมือนกันกับข้างต้นนี้

       คำว่า สังวาส หมายถึง กรรมที่พึงทำร่วมกัน คือกิจกรรมเครื่องอยู่ร่วมกันของสงฆ์ได้แก่ทำสังฆกรรมร่วมกัน สวดปาติโมกข์ร่วมกัน รักษาสิกขาบทเสมอกัน

       คำว่า หาสังวาสมิได้ ก็คือเป็นผู้ไม่อาจทำอุโบสถสังฆกรรมเป็นต้นร่วมกับภิกษุอื่น ขาดสิทธิอันชอบธรรมที่จะได้รับประโยชน์แห่งความเป็นภิกษุ

เจตนารมณ์ของสิกขาบทข้อนี้
       สิกขาบทนี้ทรงบัญญญัติไว้เพื่อให้ภิกษุดำรงตนอย่างเป็นอิสระ ไม่ยึดติดกับโลกียสุขแบบชาวโลก ซึ่งต้องยึดติดจนปล่อยวางไม่ได้ทิ้งไม่ได้ต้องเสพเสวยกามโลกีย์ร่ำไป มีทุกข์ร่ำไป หากปล่อยได้วางได้ก็จะเป็นอิสระ เบาสบาย มีสุขภาพกายและใจดีอยู่ตลอดเวลา และการที่ภิกษุสามารถเสพเมถุนได้ก็จะทำให้เกิดเป็นครอบครัวขึ้น ซึ่งต้องเป็นภาระอันหนักสำหรับหัวหน้าครอบครัวต้องดูแลทั้งภรรยาและลูกซึ่งก็เป็นการยากที่จะทำให้ดีได้เพราะภิกษุเป็นนักบวช ไม่อาจประกอบอาชีพอื่นใดได้นอกจากต้องอาศัยคนอื่นเลี้ยงชีพเลี้ยงชีวิตอยู่ได้ไปวันๆ เท่านั้น

       ด้วยเหตุนี้จึงทรงบัญญัติสิกขาบทข้อนี้เข้าไว้ก็ด้วยมีพระพุทธประสงค์ให้ภิกษุงดเว้นจากการเสพเมถุนโดยเด็ดขาด เพื่อมิให้มีความวิตกกังวล มัวเมาลุ่มหลง ดิ้นรนแสวงหากามสุข หรือต้องรับภาระเลี้ยงดูคนอื่นจนไม่มีเวลาบำเพ็ญเพียรประพฤติพรหมจรรย์เพราะการเสพเมถุนนั้นเป็นไปเพื่อมีโทษ คือ

       - เป็นข้าศึกแก่การประพฤติพรหมจรรย์
       - เป็นเหตุให้วุ่นวาย มีภาระมาก เหมือนคนครองเรือน
       - เป็นไปเพื่อสะสมกิเลสและกองทุกข์
       - เป็นเหตุให้ลุ่มหลงมัวเมา ไม่รู้จักความจริง


อนาปัตติวาร
       อนาปัตติวาร หมายถึงตอนว่าด้วยข้อยกเว้นไม่ต้องอาบัติในเพราะการละเมิดสิกขาบท คือในสิกขาบทแต่ละสิกขาบทท่านได้แสดงลักษณะภิกษุที่แม้จะล่วงละเมิดคือไปทำอย่างนั้นๆ แต่ก็ได้รับยกเว้น ไม่ต้องอาบัติตามสิกขาบทนั้น เพราะสิกขาบทได้ทรงบัญญัตินั้นไว้ทีหลังการทำเช่นนั้น การทำเช่นนั้นก่อนจึงไม่ถือว่าเป็นความผิด คือไม่ต้องอาบัติในเพราะข้อนั้น จึงเรียกว่า อนาบัติ
         ในสิกขาบทนี้ท่านแสดงภิกษุผู้ได้รับยกเว้นไม่ต้องอาบัติไว้คือ
      ๑. ภิกษุผู้ไม่รู้ตัว เช่นหลับสนิทจนไม่รู้สึกตัว เมื่อถูกนั่งทับหรือละเมอแล้วทำลงไปโดยไม่รู้สึกตัว
      ๒. ภิกษุผู้วิกลจริต คือภิกษุบ้าผู้มีความประพฤติหรือกิริยาผิดปกติเพราะไม่มีสติสัมปชัญญะ
      ๓. ภิกษุมีจิตฟุ้งซ่าน คือภิกษุผู้มีจิตไม่สงบ พล่านไป ซัดส่ายไปควบคุมตัวเองไม่ได้
      ๔. ภิกษุผู้กระสับกระส่ายเพราะเวทนา คือภิกษุผู้เร่าร้อนใจทนนิ่งเป็นปกติอยู่ไม่ได้
  ๕. ภิกษุผู้เป็นต้นบัญญัติ คือภิกษุที่กระทำกรรมเป็นครั้งแรก เป็นเหตุให้มีการบัญญัติสิกขาบทข้อนี้ขึ้น จัดเป็นต้นบัญญัติเรียกว่า อาทิกัมมิกะ ในสิกขาบทนี้คือ พระสุทินน์ ซึ่งเสพเมถุนธรรมกับอดีตภรรยาตามคำขอร้องของโยมมารดา เพื่อให้มีบุตรไว้สืบตระกูล

      ในสิกขาบทแต่ละข้อ ท่านจะแสดงอนาปัตติวารไว้ สำหรับเป็นหลักวินิจฉัยตัดสินว่าต้องอาบัติหรือไม่ในเมื่อภิกษุไปล่วงละเมิดสิกขาบทหรือไปทำสิ่งที่ชาวบ้านหรือภิกษุด้วยกันเห็นแล้วตำหนิติติงโพนทะนาว่าไม่เหมาะไม่ควรเข้า โดยเฉพาะภิกษุผู้เป็นอาทิกัมมิกะผู้เป็นต้นบัญญัติจะมีในทุกสิกขาบท และได้รับยกเว้นไม่ต้องอาบัติที่ทรงบัญญัติไว้หลังจากนั้นทุกกรณีในทุกสิกขาบท


วินีตวัตถุ
        วินีตวัตถุ คือเรื่องที่พระพุทธองค์ทรงวินิจฉัยแล้ว หมายถึงเมื่อมีการกระทำอันส่อว่าจะเป็นการล่วงละเมิดข้อบัญญัติเกิดขึ้น โดยมีภิกษุไปทำขึ้นและเรื่องนั้นถูกนำขึ้นกราบทูลให้ทรงทราบ ทรงรับสั่งตรัสถามโดยวิธีเดียวกับวิธีการบัญญัติสิกขาบทแต่ละครั้ง แล้วทรงวินิจฉัยว่าเป็นอาบัติหรือไม่เป็นอาบัติ

          วีนีตวัตถุเช่นนี้ถูกบันทึกไว้ในพระไตรปิฎกในเกือบทุกสิกขาบท ซึ่งสามารถนำมาเป็นตัวอย่างเทียบเคียงตัดสินในการปรับอาบัติของพระวินัยธรได้เป็นอย่างดีและได้ปฏิบัติสืบมาจนทุกวันนี้

        ในสิกขาบทนี้มีวินีตวัตถุจำนวนมาก และพระพุทธเจ้าทรงวินิจฉัยตัดสินไว้ด้วยพระองค์เอง เช่น

         - ภิกษุรูปหนึ่งเสพเมถุนกับลิงเพศเมีย ทรงตัดสินว่าต้องอาบัติปาราชิกแล้ว

         - ภิกษุรูปหนึ่งปลอมตัวเป็นคฤหัสถ์ไปเสพเมถุน ทรงตัดสินว่าต้องอาบัติปาราชิกแล้ว

         - ภิกษุรูปหนึ่งสอดนิ้วมือเข้าไปในองค์กำเนิดของเด็กหญิงจนเธอสิ้นชีวิต ทรงตัดสินว่าไม่ต้องอาบัติปาราชิก แต่ต้องอาบัติสังฆาทิเสส

         - ภิกษุรูปหนึ่งมีหลังอ่อน ก้มตัวอมองค์กำเนิดของตน ทรงตัดสินว่าต้องอาบัติปาราชิกแล้ว

         - ภิกษุรูปหนึ่งมีองค์กำเนิดยาวยกองค์กำเนิดขึ้นอม ทรงตัดสินว่าต้องอาบัติปาราชิกแล้ว

         - ภิกษุรูปหนึ่งสอดองค์กำเนิดเข้าไปในองค์กำเนิดของศพ ทรงตัดสินว่าต้องอาบัติปาราชิกแล้ว

         - ภิกษุรูปหนึ่งใช้องค์กำเนิดเสียดสีกับเครื่องหมายเพศแห่งรูปปั้นทรงตัดสินว่าไม่ต้องอาบัติปาราชิก แต่ต้องอาบัติทุกกฎ

         - ภิกษุรูปหนึ่งใช้องค์กำเนิดเสียดสีกับเครื่องหมายเพศแห่งตุ๊กตาไม้ทรงตัดสินว่าไม่ต้องอาบัติปาราชิก แต่ต้องอาบัติทุกกฎ

         - ภิกษุรูปหนึ่งถูกผู้หญิงชวนให้เสพเมถุนกับตน ภิกษุไม่ยอม นางบอกว่าจะพยายามเอง ขอให้อยู่เฉยๆ จึงยอมให้นางเสพเมถุนทรงตัดสินว่าต้องอาบัติปาราชิกแล้ว

         - ภิกษุรูปหนึ่งเสพเมถุนกับศพซึ่งส่วนใหญ่ยังสมบูรณ์อยู่ยังไม่ถูกสัตว์กิน ทรงตัดสินว่าต้องอาบัติปาราชิกแล้ว

         - ภิกษุรูปหนึ่งเสพเมถุนกับศพซึ่งส่วนใหญ่ถูกสัตว์กัดกินแล้ว ทรงตัดสินว่าไม่ต้องอาบัติปาราชิก แต่ต้องอาบัติถุลลัจจัย

         - ภิกษุรูปหนึ่งเก็บกระดูกของสตรีที่ตนเคยรักซึ่งถูกทิ้งไว้ในป่าช้ามาประกอบกันเข้าจนเป็นรูปร่างแล้วสอดองค์กำเนิดไปตรงช่องเครื่องหมายเพศสตรีทรงตัดสินว่าไม่ต้องอาบัติปาราชิก แต่ต้องอาบัติทุกกฎ

         - ภิกษุรูปหนึ่งเสพเมถุนกับนาคเพศเมีย ทรงตัดสินว่าต้องอาบัติปาราชิกแล้ว

         - ภิกษุรูปหนึ่งเสพเมถุนกับบัณเฑาะก์(กะเทย) ทรงตัดสินว่าต้องอาบัติปาราชิกแล้ว

         - ภิกษุรูปหนึ่งจำวัดอยู่ในป่า สตรีคนหนึ่งเห็นเข้าจึงเปิดผ้าแล้วนั่งทับ ภิกษุรุ้สึกตัวขึ้น ยินดีเมื่อองค์กำเนิดของตนได้สอดเข้าไปในองค์ของนาง ทรงตัดสินว่าต้องอาบัติปาราชิกแล้ว

         - ภิกษุรูปหนึ่งนอนพิงต้นไม้อยู่ในป่าสตรีคนหนึ่งเห็นเข้าจึงเปิดผ้าแล้วเข้าไปนั่งทับ สำเร็จกิจของตนแล้วลุกขึ้นมายืนหัวเราะอยู่ ภิกษุตื่นขึ้นเห็นเข้าจึงถามนางว่าทำอย่างนี้ใช่ไหม นางยอมรับทรงตัดสินว่าเมื่อไม่รู้ตัวก็ไม่ต้องอาบัติ

         - ภิกษุรูปหนึ่งนอนพักอยู่สตรีคนหนึ่งเข้ามานั่งทับองค์กำเนิด ภิกษุรู้สึกตัวขึ้นจึงถีบนางให้พ้นออกไปทรงถามภิกษุว่ายินดีหรือไม่ ทูลว่ามิได้ยินดีจึงทรงตัดสินว่า เมื่อไม่ยินดีก็ต้องไม่อาบัติอะไร

         - ภิกษุรูปหนึ่งฝันว่าได้เสพเมถุนกับอดีตภรรยาจึงเล่าให้พระอุบาลีฟัง พระอุบาลีติดสินว่า อาบัติไม่มีเพราะความฝัน

         - ภิกษุรูปหนึ่งถูกสตรีนางหนึ่งซึ่งมีศรัทธาอ่อนแนะนำให้เสียดสีองค์กำเนิดในระหว่างขาอ่อนของนางทรงตัดสินว่าไม่ต้องอาบัติปาราชิก แต่ต้องอาบัติสังฆาทิเสส

         - ภิกษุรูปหนึ่งถูกสตรีนางหนึ่งซึ่งมีศรัทธาอ่อนชักชวนให้เสียดสีองค์กำเนิดที่สะดือของนาง ทรงตัดสินว่าไม่ต้องอาบัติปาราชิกแต่ต้องอาบัติสังฆาทิเสส

         - ภิกษุรูปหนึ่งถูกสตรีชักชวนให้เสียดสีองค์กำเนิดที่ง่ามมือของนางทรงตัดสินว่าไม่ต้องอาบัติปาราชิก แต่ต้องอาบัติสังฆาทิเสส

         - ภิกษุรูปหนึ่งถูกสตรีชักชวน ยินยอมให้นางใช้มือจับองค์กำเนิดทำให้น้ำอสุจิเคลื่อนออกมา ทรงตัดสินว่าไม่ต้องอาบัติปาราชิกแต่ต้องอาบัติสังฆาทิเสส

         - ภิกษุรูปหนึ่งถูกสตรีชักชวน จึงสอดองค์กำเนิดเข้าไปทางช่องหูทรงตัดสินว่าไม่ต้องอาบัติปาราชิก แต่ต้องอาบัติสังฆาทิเสส

         - ภิกษุรูปหนึ่งเป็นผู้เฒ่า กลับไปเยี่ยมบ้าน พบอดีตภรรยา นางบังคับให้สึกแล้วเข้าไปยึดตัว ภิกษุนั้นล้มหงายหลังลง นางจึงขึ้นคร่อมนั่งทับองค์กำเนิดของภิกษุ ทรงถามว่ายินดีหรือไม่ ภิกษุทูลตอบว่าไม่ยินดีจึงทรงตัดสินว่า เมื่อไม่ยินดีก็ต้องไม่ต้องอาบัติ

         - ภิกษุรูปหนึ่งอยู่ในป่า ถ่ายปัสสาวะอยู่ ลูกเนื้อตัวหนึ่งเข้ามาแล้วอมองค์กำเนิดของเธอดื่มน้ำปัสสาวะ ภิกษุนั้นยินดีทรงตัดสินว่าต้องอาบัติปาราชิกแล้ว

         อาจแสดงโดยสรุปได้ว่า
         ๑. เมื่อภิกษุเสพเมถุนธรรม โดยให้องค์กำเนิดของตนเข้าไปทางทวารหนัก ทวารเบา หรือทางปากของมนุษย์ (ชาย หญิงกะเทย) ของอมนุษย์ คือยักษ์เปรต อสุรกาย ของสัตว์ดิรัจฉานเพศเมีย หรือเป็นพันทางที่ปรากฏเพศชัดเจนว่าเป็นเพศผู้หรือเพศเมีย ต้องอาบัติปาราชิก

         ๒. มนุษย์อมนุษย์หรือสัตว์ดิรัจฉานที่เสียชีวิตแล้ว แต่ซากนั้นยังบริบูรณ์หรือแหว่งวิ่นไปบ้างแต่ยังมีอวัยวะที่จะให้สำเร็จกิจในการเสพอยู่ เมื่อไปเสพเข้า ต้องอาบัติปาราชิก

       ๓. ภิกษุถูกข่มขืน แต่ยินดีในการสัมผัส ในขณะที่องค์กำเนิดกำลังเข้าไปก็ดีถึงที่แล้วก็ดีหยุดอยู่ก็ดีถอนออกก็ดีต้องอาบัติปาราชิก

         ๔. ภิกษุยอมให้ภิกษุอื่นเสพเมถุนในทวารหนักของตน ต้องอาบัติปาราชิก

       ๕. ภิกษุผู้ก้มลงอมองค์กำเนิดของตนก็ดีผู้สอดองค์กำเนิดที่ยาวของตนเข้าไปทางทวารหนักของตนก็ดีต้องอาบัติปาราชิก

         ๖.ภิกษุผู้สั่งให้ผู้อื่นพยายามทำเช่นนั้นแก่ตน ก็ต้องอาบัติปาราชิกเหมือนกัน

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.016863918304443 Mins