วิธีกำราบความคิดติดลบ

วันที่ 21 มีค. พ.ศ.2565

วิธีกำราบความคิดติดลบ

ความรู้สึกเหนื่อยหน่าย ท้อแท้สินหวัง และโดดเดี่ยวอ้างว้างมีแต่จะทำให้คุณค่าในตัวเราลดลง จนอาจจะนำไปสู่การเก็บตัว แล้วกลายเป็นโรคซึมเศร้าในที่สุด

ความรู้สึกไร้ค่าเกิดขึ้นมาจากการที่เรานำตนเองไปเปรียบกับคนอื่น พอเราสู้เขาไม่ได้ก็เกิดความรู้สึกต้อยต่ำ น้อยใจในชีวิต ต่อว่าโชคชะตาว่าทำไมเราสู้เขาไม่ได้ แล้วเริ่มไม่อยากออกไปพบเจอคนรอบข้าง

01.jpg

บางกรณีเกิดขึ้นเพราะได้รับกระแสกดดันจากสังคมรอบตัว ยิ่งอยู่ในสังคมแวดล้อมที่มีแต่คนเหยียดหยามกันทั้งด้วยสายตา คำพูด หรืออากัปกริยาที่แสดงออกต่อกัน ก็ยิ่งสร้างให้เกิดความกดดันมากขึ้นไปอีก ดังนั้น ความรู้สึกไร้ค่าจะเกิดมากหรือเกิดน้อยขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมของสังคมที่เราอยู่ด้วย

เนื่องจาก คุณค่านั้นมีหลายมิติ ยกตัวอย่าง เด็กวัยเรียน คุณค่าที่เห็นเด่นชัดมากที่สุดคือเรียนเก่ง เด็กคนไหนเรียนสู้เพื่อนไม่ได้ สอบได้เกรดน้อยกว่าคนอื่นๆ ในห้องเรียน ก็อาจจะถูกตำหนิจากคุณครู จากคุณพ่อคุณแม่ จากคนรอบข้าง กระทั่งถูกเพื่อนที่เรียนดีกว่าดูถูก ส่งผลให้เกิดความรู้สึกกดดันได้

ความจริงคุณค่าของเด็กวัยเรียนไม่ได้วัดกันเพียงเรื่องของผลการเรียนเท่านั้น เด็กบางคนอาจจะเล่นกีฬาเก่ง เล่นดนตรีเก่ง มีอัธยาศัยไมตรีดี มีมนุษยสัมพันธ์ดี ในขณะที่เด็กเรียนเก่งอาจจะยังด้อยด้านอื่นๆ

ซึ่งถ้าสังคมให้ค่ากับสิ่งเหล่านี้ด้วยก็จะเกิดความสมดุล ยิ่งถ้าคุณพ่อคุณแม่ หรือคนในครอบครัวกดดันจนเด็กไม่มีทางออก ย่อมเกิดปัญหารุนแรงได้ในที่สุด

ยกตัวอย่าง สังคมในประเทศญี่ปุ่นมีการแข่งขันสูง แตกต่างจากสังคมส่วนใหญ่ในประเทศไทยที่ถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน สมมติว่าในชั้นเรียนมีนักเรียนทั้งหมด 40 คน เด็กไทยมักจะรู้สึกว่าคนในห้องทั้งหมดคือเพื่อน แต่ในประเทศญี่ปุ่นเด็กๆ ไม่ได้รู้สึกว่าทุกคนในชั้นเรียนทั้งหมดคือเพื่อนของเขา

เด็กญี่ปุ่นมักจะคลุกคลีกันเป็นกลุ่มเพื่อนที่สนิทกันเท่านั้น คนอื่นไม่ใช่เพื่อน เป็นเพียงคนอื่นที่มานั่งเรียนในห้องเดียวกันเท่านั้น

สังคมที่มีการแข่งขันมักจะมีการจับกลุ่มแบ่งแยกกันค่อนข้างสูง ส่วนคุณพ่อคุณแม่ก็ใส่ใจในเรื่องการศึกษาของลูกดีมาก คุณพ่อคุณแม่ชาวญี่ปุ่นมักจะรู้ว่าลูกของตนเองมีความคืบหน้าในด้านการเรียนอย่างไรบ้าง สมาคมผู้ปกครองในญี่ปุ่นเข้มแข็งมาก พอถึงเวลาเรียนหนังสือก็จะมีการจัดชั่วโมงให้ผู้ปกครองมายืนหลังห้องเพื่อสังเกตการเรียนการสอนของลูกตนเอง

พอคุณครูถามคำถามแล้วลูกตนเองตอบได้ คุณพ่อคุณแม่ก็จะรู้สึกภูมิใจ แต่ถ้าลูกตอบคำถามคุณครูไม่ได้ พอกลับบ้านไปอาจจะถูกคุณพ่อคุณแม่ตำหนิกันยกใหญ่ เด็กๆ อยู่บ้านก็โดนผู้ปกครองกดดัน พออยู่ที่โรงเรียนก็ถูกเพื่อนๆ กดดัน สังคมแข่งขันกันรอบตัว

02.jpg

พอเรียนถึงระดับชั้นมัธยมต้น ซึ่งเป็นช่วงที่เริ่มเปลี่ยนจากวัยเด็กสู่วัยรุ่น สรีระร่างกายเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง จังหวะนี้มักจะเกิดโรคฮิกิโกโมริ (Hikikomori) คือ เด็กเกิดอาการดึงตัวออกห่าง ถอนตัวจากสังคม เก็บตัวไม่ยอมเจอใคร อยู่แต่ในห้องไม่ยอมไปโรงเรียน ต่อต้านคุณพ่อคุณแม่

พอลูกเกิดอาการต่อต้านอย่างนี้ คุณพ่อคุณแม่ก็เริ่มพยายามปรับเปลี่ยนตนเอง จากที่เคยกดดันลูกให้พยายามเรียนเก่งก็ลงโทษบ้าง เชียร์ลูกบ้าง พอไม่ได้ผลก็ต้องปล่อยเลยตามเลย

สุดท้ายลูกไม่ได้ไปโรงเรียน บางคนต่อต้านด้วยการหยุดตนเองอยู่นานเป็นปี บางคนอยู่อย่างนั้น 20-30 ปี จนอายุ 40-50 ปี ก็ยังอาศัยให้พ่อแม่เลี้ยงดูไปเรื่อยๆ

พอคุณพ่อคุณแม่แก่ชราก็เริ่มเลี้ยงดูลูกไม่ไหว เงินบำเหน็จบำนาญที่มีเก็บก็ค่อยๆ หมดไป ถึงเวลาต้องหาคนมาดูแลลูกต่อไป กลายเป็นปัญหาใหญ่ในสังคมญี่ปุ่น

ในประเทศญี่ปุ่นมีคนป่วยด้วยโรค Hikikomori ประมาณล้านกว่าคน กลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ปะทุขึ้นในสังคม มีผู้ป่วยบางคนก่อความรุนแรงเพื่อต่อต้านสังคม เช่น ถือมีดออกไปทำร้ายคนบนท้องถนนบ้าง ทำร้ายเด็กนักเรียนบ้าง เชือดคอตายโดยไม่มีเหตุผลบ้าง เพราะเขารู้สึกว่าชีวิตตนเองไร้ค่า จึงเกิดพฤติกรรมต่อต้านสังคม

ทั้งหมดนี้เกิดจากการนำตนเองไปเปรียบกับคนอื่นในสังคมที่ให้ค่านิยมเพียงมิติเดียว ความกดดันสูงจนเกิดความรู้สึกไร้ค่า พอไม่มีทางออกก็ใช้ความรุนแรงต่อต้านสังคม หรือไม่ก็ถอยหนีออกจากสังคม เก็บตัวเงียบซึ่งไม่เกิดผลดีเลย

เมื่อเกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้ขึ้น คือ คนเกิดความรู้สึกว่าตนเองไร้ค่า แล้วเราควรจะโทษสังคม หรือโทษผู้ป่วยดี...

ความจริงแล้วเหตุประกอบกันทั้งสองสิ่ง ทั้งระบบสังคมที่ให้ค่านิยมมิติเดียว ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญ แต่ในขณะเดียวกันคนในสังคมบางคนก็ดำเนินชีวิตได้ตามปกติ ในขณะที่บางคนกลับรู้สึกด้อยค่า

03.jpg

 

ผู้ป่วยล้านกว่าคน เทียบเป็น 1 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมด แต่ไม่ได้หมายความว่าคนอีก 99 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือเรียนหนังสือเก่งทั้งหมด เพียงแต่เขาอดทนได้ ดังนั้น คนส่วนหนึ่งที่สู้ไม่ไหวจึงเลือกวิธี ถอยหนีออกจากสังคม ระบบสังคมจึงมีผลด้วย

ในประเทศอื่นๆ มีผู้ป่วยด้วยโรค Hikikomori ไม่มากเท่ากับญี่ปุ่น เพราะระบบสังคมในแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน ส่วนในประเทศไทยยังมีผู้ป่วยด้วยโรค Hikikomori ไม่มากนัก เพราะระบบสังคมของเราให้ค่านิยมแบบหลากหลาย ไม่สุดโต่งทางใดทางหนึ่งเท่านั้น

ความจริงแล้วเราไม่สามารถการันตีได้ว่า เด็กที่เรียนเก่งพอเติบโตขึ้นจะมีความสุขในชีวิต บางคนเรียนหนังสือไม่เก่ง แต่พอโตไปทำงานแล้วประสบความสำเร็จ กลายเป็นเศรษฐีก็มีให้เห็นมากมาย

04.jpg

 

คนไทยส่วนใหญ่ยังเล็งเห็นความจริงเช่นนี้ พวกเราจึงยังให้ค่านิยมที่หลากหลายคือ ให้ความสำคัญกับความดี ความมีน้ำใจ การกล้าแสดงออก รวมทั้งความสามารถด้านกีฬาและศิลปะแขนงต่างๆ ด้วย เด็กไทยจึงไม่ได้รับความกดดันเท่ากับเด็กๆ ในประเทศญี่ปุ่น เราจึงไม่มีปัญหาด้านนี้มากนัก

เพราะฉะนั้น ระบบสังคมที่ให้ค่านิยมที่ถูกต้องและหลากหลายนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่ง ในขณะเดียวกัน เราก็ต้องสร้างภูมิคุ้มกันในตนเองขึ้นมาด้วย

แม้แต่เด็กเรียนเก่งแต่ด้อยด้านกีฬา เขาก็อาจจะเกิดความรู้สึกว่าตนเองไร้ค่าได้เหมือนกัน ดังนั้น ไม่มีใครเก่งทุกเรื่อง ทุกคนล้วนมีพรสวรรค์บางเรื่อง และมีอีหลายเรื่องที่ต้องฝึกฝน ที่สำคัญต้องสร้างภูมิต้านทานให้ตนเองด้วย โดยเริ่มจากการยอมรับความจริงว่าตนเองยังด้อยในด้านใด ไม่ไปมุ่งหวังให้ตนเองเป็นที่หนึ่งในทุกเรื่อง ซึ่งเป็นไปไม่ได้

เราควรค้นหาด้านที่ตนเองมีความถนัด ชูความโดดเด่นชดเชยจุดด้อยให้ได้ เราก็จะภูมิใจในตนเองได้ ดังนั้น นอกจากจะให้ค่าคนในสังคมที่หลากหลายแล้ว เราก็ต้องสร้างภูมิคุ้มกันให้ตนเองด้วย

เจริญพร
พระมหาสมชาย ฐานวุฒฺโฑ

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.061625834306081 Mins