ความประมาท จุดตั้งต้นของหายนะ

วันที่ 11 ตค. พ.ศ.2565

ความประมาท จุดตั้งต้นของหายนะ

          หากต้องทำการใหญ่ เรามักจะระมัดระวังเป็นพิเศษเสมอ แต่ถ้าเป็นเรื่องเล็ก ๆ เรื่องทั่ว ๆ ไป เราก็มักจะเผลอประมาท

          พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสถึงความประมาทว่า “ปมาโท มจฺจุโน ปทํ” แปลว่า “ความประมาทเป็นหนทางแห่งความตาย” และ “อปฺปมาโท อมตํ ปทํ” แปลว่า “ความไม่ประมาท เป็นทางอมตะ”

11-10-65--1.jpg

           ปัจฉิมโอวาทของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นโอวาทครั้งสุดท้ายก่อนพระองค์จะเสด็จดับขันธปรินิพพาน พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า

           “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา เธอทั้งหลายจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด”

            ความไม่ประมาทนั้นสำคัญมากในแง่การดำเนินชีวิตของคนทั่วไป ยกตัวอย่าง สมมุติว่าเราเดินอยู่ในที่มืด พื้นไม่เรียบอย่างบนสนามหญ้า มีหลุมมีบ่อบ้าง หากเราเดินอย่างระมัดระวัง เราก็จะปลอดภัย พอรู้สึกว่าพื้นตรงไหนเอียงหน่อย ก็เกร็งขาไว้ ค่อยๆ ก้าวไปอย่างระวัง แต่ถ้าเราเดินในที่มืดอย่างไม่ระวัง เจอหลุมบ่อก็มีโอกาสล้ม ขาแพลงได้

            คนที่ไม่ประมาท กับคนที่ประมาท แตกต่างกันมาก เพราะร่างกายเกิดความกระตือรือร้นในการเตรียมความพร้อมไม่เท่ากัน ถ้ามีการเตรียมความพร้อม มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นนิดเดียว ก็ยับยั้งทันท่วงที เพราะใจจดจ่อตื่นตัวตลอดเวลาอยู่แล้ว

 

11-10-65--2.jpg

             แต่คนที่ประมาท ใจไม่ได้คิดจดจ่ออยู่กับเรื่องที่ตนเองกำลังทำอยู่ พอเผลอไปแล้ว กว่าจะดึงใจกลับมาจดจ่อตรงนั้น ก็ไม่ทันให้รั้งกล้ามเนื้อขึ้นมาแล้ว

             คนขับรถ ถ้ามีความระมัดระวัง ให้ใจจดใจจ่อกับทางที่กำลังไป หากมีเหตุการณ์ไม่คาดคิดเกิดขึ้น เช่น มีสุนัขวิ่งตัดหน้ารถ ก็อาจจะเหยียบเบรกทัน เพราะขับด้วยความระวังอยู่แล้ว จึงทำทุกอย่างได้ทันท่วงที

             คนที่มัวใจลอย คิดเรื่องอื่น กว่าใจจะกลับมาจดจ่อกับเรื่องตรงหน้า กว่าสมองจะตัดสินใจสั่งการอะไร มันก็ช้าไปแล้ว ไม่ทันการณ์เสี้ยวแล้วเพียงแค่เสี้ยววินาทีเท่านั้น เหล่านี้คือความแตกต่างระหว่างคนที่ไม่ประมาทกับคนที่ประมาท

             สรุปว่าวิธีการแก้ไขความประมาทนั้นง่ายดาย  คือ ไม่ประมาทเท่านั้น เพราะความไม่ประมาทจะทำให้ร่างกายเราตื่นตัวทำงานได้อย่างเต็มที่ ส่วนจิตใจของเราก็จะสามารถเชื่อมต่อกับบุญภายในตัวของเรา ทำให้บุญนั้นถูกกระตุ้น แล้วทำงานได้อย่างเต็มที่ ทำให้สิ่งต่าง ๆ ที่ไม่ดีถูกขจัดออกไป แล้วมลายหายสูญไปในที่สุด

             “สติ” เปรียบเสมือนยามที่คอยเฝ้าระวังภัยไม่ให้มาถึงตัวเรา ไม่ประมาทในวัย ไม่ประมาทในเวลา เพราะจะทำให้เราห่างไกลจากการสั่งสมบุญบารมี ให้หมั่นระลึกนึกถึงบุญ และสร้างบุญทวียิ่งขึ้นไป เพื่อเอาไว้เป็นเสบียงบุญติดตามตัวเราไปด้วย

เจริญพร
พระมหาสมชาย ฐานวุฑฺโฒ

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0030061006546021 Mins