บทที่ ๒๐
คนจน ๓ ประเภท
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า “ความยากจนเป็นทุกข์ของผู้ครองเรือนในโลก1”
พระเดชพระคุณพระราชภาวนาวิสุทธิ์ หลวงพ่อธัมมชโย เคยให้โอวาทไว้ว่า คนจนมี ๓ ประเภท
ประเภทแรก คนยากจน เพราะในอดีตถูกความตระหนี่เข้าครอบงำ จึงไม่ให้ทาน วิบากแห่งความตระหนี่จึงผลักสมบัติออกไปทำให้ลำบากยากจน
ประเภทที่สอง คนอยากจน หมายถึงคนที่ดำเนินชีวิตด้วยความประมาท ตระหนี่หวงแหนทรัพย์ ไม่สั่งสมทานกุศล แม้มีทรัพย์มากก็ไม่ยอมให้ เพราะกลัวทรัพย์จะหมดไป วิบากแห่งความตระหนี่นี้ จะทำให้กลับเป็นคนยากจนอีก จึงเรียกว่า คนอยากจน
ประเภทที่สาม คนจนยาก หมายถึง คนที่จะกลับมาจนอีก เป็นไปได้ยาก เพราะหมั่นสั่งสมทานกุศลอยู่เป็นนิตย์ บุญจากการให้ทานนี้ จะมีอานุภาพดึงดูดโภคทรัพย์สมบัติให้เกิดขึ้น เป็นเสบียงไว้ใช้ในระหว่างการเวียนว่ายตายเกิด แสวงหาหนทางมรรคผลนิพพาน
ท่านทานบดีทั้งหลาย ชีวิตของผู้สั่งสมทานกุศลอยู่เป็นนิตย์ ย่อมไม่รู้จักกับคำว่า ลำบากยากจน จะมีโภคทรัพย์สมบัติเกิดขึ้นไว้หล่อเลี้ยงชีวิต และรองรับการสร้างบารมี ทั้งยังเป็นแบบอย่างของผู้ดำเนินชีวิตอยู่ด้วยความไม่ประมาท เป็นต้นบุญและต้นแบบของชนทั้งหลายสืบไป
1อิณสูตร มก. ๓๖/๖๖๔, มจ. ๒๒/๕๐๗