ความเป็นไปของพระอาทิตย์และพระจันทร์
พระอาทิตย์ มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๕๐ โยชน์ พระจันทร์ประมาณ ๔๙ โยชน์พระอาทิตย์อยู่ข้างบน พระจันทร์อยู่ข้างล่างห่างกัน ๑ โยชน์ ทั้งคู่โคจรรอบเขาสิเนรุในระดับยอดเขายุคันธร
ระยะทางจากพื้นแผ่นดินมนุษย์ถึงพระอาทิตย์ ๔๒,๐๐๐ โยชน์ พระอาทิตย์เดินเวียนรอบเขาสิเนรุ ๑ รอบเป็นเวลา ๒๔ ชั่วโมง เป็นระยะทางประมาณ ๓,๐๐๐,๐๐๐ โยชน์ พระจันทร์เดินทางช้ากว่าพระอาทิตย์ประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ โยชน์ใน ๒๔ ชั่วโมง
ดังนั้นพระอาทิตย์จะเดินห่างออกไปจากพระจันทร์อยู่ตลอดเวลา เมื่อห่างออกไป ๆ พระจันทร์จะปรากฏชัดขึ้นเรื่อย ๆ จนเต็มดวงคือเวลาขึ้น ๑๕ ค่ำ เรียกว่าข้างขึ้น
ส่วนเวลาข้างแรม เป็นเพราะพระอาทิตย์หมุนเวียนไล่หลังพระจันทร์ เข้ามาปิดบังปริมณฑลพระจันทร์ทีละน้อย ๆ จนมิด เรียกว่าแรม ๑๔ ค่ำ หรือ ๑๕ ค่ำ
วิถีโคจรของพระอาทิตย์ และพระจันทร์ จะโคจรไปในระหว่างกลางภูเขาจักรวาลกับภูเขาสิเนรุ โดยถ้าแบ่งระยะทางออกเป็น ๔ ส่วน จะโคจรอยู่ในส่วนที่ ๒, ๓ ส่วนที่ใกล้ภูเขาทั้งสองไม่ใช่วิถีโคจร ส่วนที่ ๒, ๓ มีความกว้างประมาณ ๒๗๙,๘๖๒ โยชน์กับ ๒ คาวุต (๔ คาวุตเท่ากับ ๑ โยชน์)
ในส่วนที่ ๒, ๓ อันเป็นทางโคจรนี้ ยังแบ่งออกเป็น ๓ ระยะ โคจรออกจากด้านในใกล้ภูเขาสิเนรุออกมา เป็นฤดูฝน เมื่อโคจรถึงระยะตอนกลาง เป็นฤดูร้อน พอถึงด้านนอกใกล้ภูเขาจักรวาล เป็นฤดูหนาว เรียกว่าโคจรชนิดเดินออก ๖ เดือน แล้วเดิน เข้าอีก ๖ เดือน รวม ๑ ปี
ขณะที่พระอาทิตย์และพระจันทร์เดินประทักษิณไปรอบ ๆ ภูเขาสิเนรุ จะส่องแสงสว่างไปได้ทั่วทุกทิศในรัศมีด้านละ ๙๐๐,๐๐๐ โยชน์ แสงสว่างจะส่องได้คราวละ ๓ ทวีป พร้อมกัน เช่น ถ้าพระอาทิตย์ขึ้นที่ชมพูทวีป ที่ปุพพวิเทหทวีป เป็นเวลาเที่ยง อุตตรกุรุทวีปเป็นเวลาเย็น ส่วนอปรโคยานทวี เป็นเวลาเที่ยงคืน แล้วค่อยโคจรเลื่อนเวลาตามทวีปต่าง ๆ ต่อไป
ส่วนเรื่องสุริยคราสและจันทรคราส เป็นเพราะสาเหตุมาจากอสูรตนหนึ่งชื่อ อสุรินทราหู ซึ่งมีร่างกายใหญ่โตมาก เกิดมีใจริษยาในรัศมีอันรุ่งโรจน์ของพระอาทิตย์และพระจันทร์ จึงพาร่างกายอันโตใหญ่ของตนไปคอยดักจับอยู่ระหว่างทางเพื่อจะกลืนกินเสีย เมื่อพระอาทิตย์พระจันทร์โคจรมาถึง ไม่มีที่จะหลบหนี ก็พลัดเข้าไปในปากเทพยดาทั้งหลายพากันตกใจโกลาหล อสุรินทราหูเอามือบังไว้บ้าง เอาคางกดไว้บ้าง แลบลิ้นออกปกปิดไว้บ้าง อมไว้ในกระพุ้งแก้มบ้าง แต่ก็แกล้งได้เพียงชั่วครู่ชั่วคราว ไม่สามารถหยุดยั้งการโคจรของดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ไว้ได้อยู่ดี ท้ายที่สุดก็ต้องปล่อยให้โคจรรอบภูเขาสิเนรุ ต่อไปตามเดิมเป็นปกติ
หลักฐานที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสเรื่องภูมิ ๓๑ มีอยู่ดังต่อไปนี้
ในภูมิทั้ง ๓๑ ที่กล่าวมาแล้ว ถ้าจะเรียกเป็นภาพเรียกว่า ภพ ๓ (ได้แก่กามภพ รูปภพ และอรูปภพ) สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสกับพระอานนท์ว่า* ถ้ากรรมที่อำนวยผลให้เกิดตามธาตุมีอยู่ กามภพย่อมเกิด ถ้ากรรมอำนวยผลให้รูปธาตุมีอยู่ รูปภพย่อมเกิด ถ้ากรรมที่อำนวยผลให้อรูปธาตุมีอยู่ อรูปภพย่อมเกิด
ด้วยเหตุนี้ กรรมจึงเป็นเหมือนไร่นา
วิญญาณ เป็นเหมือน พืช
ตัณหา เป็นเหมือน ยาง (ยางเหนียวในเมล็ดพืช สามารถทำให้สืบพืชพันธุ์ได้ต่อไป)
เจตนา เป็นความปรารถนาเกิด
เมื่อมีความปรารถนาในการเกิดเป็นตัวเจตนา มีธาตุอย่างเลว (กามธาตุ) ธาตุอย่างกลาง (รูปธาตุ) และธาตุอย่างประณีต (อรูปธาตุ) ของสัตว์ที่มีอวิชชา เป็นเครื่องสกัดกั้น (กั้นไม่ให้เห็นพระนิพพาน) มีตัณหา เป็นเครื่องผูกใจ ครบ ๓ ประการ เหล่าสัตว์จึงมีการเกิดในภพใหม่ต่อไป ไม่มีวันสิ้นสุด
เกี่ยวกับเรื่องภูมิ ๓๑ จักรวาล โลกธาตุ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกับพระอานนท์ ต่อไปว่า**
จักรวาลหนึ่งมีบริเวณเท่าที่พระจันทร์ พระอาทิตย์โคจรส่องสว่างไปถึง ในจักรวาลหนึ่งมีพระอาทิตย์ พระจันทร์อย่างละ ๑ ดวง และมีเขาสิเนรุ ชมพูทวีป อปรโคยานทวีปอุตตรกุรุทวีป ปุพพวิเทหทวีป มีมหาสมุทร ๔ แห่ง ท้าวมหาราช ๔ องค์ เทวโลกจาตุมหาราชิกา ๑ ดาวดึงส์ ๑ ยามา ๑ ดุสิต ๑ นิมมานรดี ๑ ปรนิมมิตวสวัตตี ๑ และพรหมโลก ๑
จำนวนจักรวาล ๑,๐๐๐ จักรวาลรวมกัน เรียกว่า โลกธาตุอย่างเล็กโลกธาตุอย่างเล็ก
จำนวน ๑,๐๐๐ เรียกว่า โลกธาตุอย่างกลาง ซึ่งมี ๑,๐๐๐,๐๐๐ จักรวาล
โลกธาตุอย่างกลางจำนวน ๑.๐๐๐ เรียกว่า โลกธาตุอย่างใหญ่ ซึ่งมีประมาณแสนโกฏิจักรวาล
ในการเกิดขึ้นของโลกธาตุครั้งแรก มีเพียง ๑,๐๐๐ จักรวาลก่อน แล้วจึงเกิดต่อๆกันมา จนมีโลกธาตุอย่างใหญ่ (ในปัจจุบันมีจักรวาลอยู่นับจำนวนไม่ถ้วน เรียกว่าอนันตจักรวาล)
สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราทรงสามารถแผ่รัศมีไปทั่วโลกธาตุอย่างใหญ่ ประมาณแสนโกฏิจักรวาลนี้ พร้อมทั้งเปล่งพระสุรเสียงให้สัตว์เหล่านั้นได้ยินได้
พระอานนท์ฟังแล้วเลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคเจ้ายิ่งนัก กราบทูลว่า เป็นลาภของตนที่มีพระศาสดาที่มีฤทธิ์ มีอานุภาพมากดังนี้ พระภิกษุอีกองค์หนึ่ง ชื่ออุทายีกล่าวท้วงพระอานนท์ว่า การมีพระศาสดามีฤทธิ์มีอำนาจมากนั้นได้ประโยชน์อะไรกัน พระพุทธเจ้าทรงชี้แจงว่าการที่พระอานนท์มีจิตใจเลื่อมใสนั้นเป็นบุญกุศลยิ่ง ถ้าตายลงในขณะมีราคะอยู่ดังนี้ จะได้ไปเกิดในสุคติภูมิ เป็นใหญ่ในหมู่เทวดา ๗ ครั้ง เป็นพระเจ้าจักรพรรดิในชมพูทวีปอีก ๗ ครั้ง แต่สำหรับพระอานนท์นั้นจะเป็นผู้สิ้นกิเลสในชาตินี้เอง
ในภูมิทั้ง ๓๑ ที่ได้กล่าวมาแล้ว มีกล่าวถึงมนุษย์โลก เทวโลก พรหมโลก รวมอยู่ด้วย แต่ยังมีอีก ๒ เรื่องที่อยู่นอกเหนือจาก ๓๑ ภูมิ นั่นคือ มารโลก และพระนิพพาน
มารโลก เปรียบได้กับโลกของผู้เป็นเจ้าของธรรมะฝ่ายดำ มีกิเลสและอกุศลธรรมทั้งปวง อันเป็นประดุจเสนาและอาวุธ แม้แต่กุศลธรรมบางส่วนที่เป็นไปเพื่อการเวียนว่ายตายเกิดในภูมิทั้ง ๓๑ ก็นับเป็นการตกอยู่ภายใต้อำนาจของมารด้วยเหมือนกัน
ตรงข้ามกับพระนิพพาน อันเป็นธรรมะฝ่ายขาวบริสุทธิ์ ผู้ปฏิบัติในธรรมะฝ่ายนี้ย่อมเป็นไปเพื่อให้หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด ในวัฏฏสงสารนั้นโดยถ่ายเดียว
โลกทั้งสองนี้คือ ฝ่ายมาร และฝ่ายพระนิพพาน จึงเหมือนผู้เป็นปฏิปักษ์ซึ่งกันและกัน มีหน้าที่ยื้อแย่งปวงสรรพสัตว์ให้พ้นจากอำนาจของอีกฝ่าย เป็นอยู่ดังนี้ตลอดระยะเวลาอันยาวนานนับประมาณมิได้
เมื่อใดพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอุบัติขึ้นในโลกมนุษย์ครั้งใด เมื่อนั้นธรรมะฝ่ายขาวย่อมสามารถพาเหล่ามนุษย์ เทวดา พรหม ให้พ้นจากอำนาจของมารได้จำนวนมิใช่น้อยอย่างไรก็ดีสรรพสัตว์ที่ยังเหลือ และตกอยู่ในอำนาจของมารก็ยังมีจำนวนมากมาย นับประมาณมิได้ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มาอุบัติขึ้นต่อไปภายหน้าอยู่เรื่อยไปไม่สิ้นสุด และมีจำนวนนับไม่ถ้วนอีกเช่นกัน
เมื่อภูมิทั้ง ๓๑ ตกอยู่ในอำนาจของมารโลก ฝ่ายนั้นย่อมตกแต่งความเป็นไปในภูมินั้น ๆ ตามความพอใจ โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญยิ่งดังกล่าวคือ มุ่งให้เหล่าสรรพสัตว์หลงทางตกอยู่ภายใต้อำนาจ สัตว์ที่มีปัญญาโดยถ่องแท้เท่านั้นจึงจะสามารถรู้เท่าทัน และแสวงหาหนทางทําให้คนหลุดพ้นจากอำนาจของมาร
อำนาจของมารนั้นใหญ่หลวงยิ่งนัก สามารถบิดเบือน แปรปรวน ให้เหล่าสรรพสัตว์เห็นผิดไปจากความเป็นจริงโดยสิ้นเชิง เห็นความทุกข์เป็นความสุข เห็นสิ่งน่าเกลียดชังเบื่อหน่ายเป็นสิ่งน่ารักใคร่สวยงาม เห็นสิ่งควรสละละทิ้งเป็นของควรยึดถือแสวงหาดังนี้เป็นต้น ฝ่ายมารสามารถทำสิ่งลวงตาต่าง ๆ ทั้งเรื่องเล็กและเรื่องใหญ่ เช่นแยกพื้นแผ่นดินชมพูทวีปออกจากป่าหิมพานต์ เพื่อให้มนุษย์ไม่สามารถศึกษาสภาวะของโลกตามจริง ให้พากันเข้าใจผิดไขว้เขวไปเสีย
แม้แต่ในเทวภูมิทั้งปวง ยกเว้นดุสิตาภูมิ (สวรรค์ชั้นที่ ๔) ฝ่ายมารก็ปรุงแต่งให้มีกามคุณอันประณีต ให้สัตว์ในภูมินั้น ๆ หลงใหลยึดติดส่วนในพรหมภูมิ (ยกเว้นสุทธาวาสภูมิ) ก็แทรกให้เกิดมิจฉาทิฏฐิ ถือมั่นในตัวตนว่าเที่ยงแท้เป็นต้น ทำให้ไม่สามารถพ้นจากอ้านาจมารไปได้
พอจะเขียนแผนผังการเดินทางของชีวิตเราโดยสังเขปได้ดังนี้
การสร้างฌาน
(การเพ่งใจไว้ในอารมณ์เดียว)
สร้างได้ด้วยการเจริญสมถะภาวนา เป็นการทำจิตให้สงบจากอำนาจกิเลสชั่วคราวสมถะภาวนา คือการทำสมาธิ มี ๓ ชนิด ชนิดเอาใจไว้นอกตัว เอาใจไว้ในตัว และเอาใจไว้กลางตัว กลางตัว เรียกว่า ศูนย์กลางกายเป็นที่ตั้งของจิตใจ
การสร้างปัญญา (ญาณ)
สร้างด้วยการบำเพ็ญวิปัสสนาภาวนา
การเจริญสมถภาวนาเป็นพื้นแล้วจึงเจริญวิปัสสนาภาวนาต่อ เรียกว่า ปัญญา
ชนิดทั้งรู้ทั้งเห็น เป็นปัญญาชนิดสูงสุด
ถ้าเจริญวิปัสสนาล้วน ๆ เรียกว่าปัญญาชนิดที่รู้แต่ไม่เห็น
• ผู้ใดสำรวมจิต ที่ไปได้ในที่ไกล
มีถ้ำเป็นที่อาศัย
ไปตามลำพัง หารูปร่างไม่ได้
ผู้นั้นย่อมพ้นจากเครื่องผูกของมาร
* เรื่องภวสูตร ในพระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต พระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับหลวงเล่ม ๒๐ หน้า ๒๗๐
** จูฬนีสูตร ว่าด้วยแสนโกฏิจักรวาล เล่มเดียวกัน หน้า ๒๗๓ - ๒๗๖