ภาวนามยปัญญาเป็นกรณียกิจ
ชาวโลกโดยทั่วไปนั้น มีความรู้แค่เพียง ๒ ระดับเท่านั้น คือ สุตมยปัญญา เป็นความรู้ที่เกิดจากการอ่าน ได้ยิน ได้ฟัง และจากการศึกษาเล่าเรียน และจินตามยปัญญา คือ ความรู้ที่เกิดจากการนึกคิด จินตนาการ
แต่ยังมีความรู้ในระดับที่สูงกว่านั้นขึ้นไปอีก เป็นความรู้แจ้งที่เกิดจากความเห็นแจ้งจากภายใน เป็นความรู้ที่รู้ได้รอบตัว เห็นได้รอบตัว ความรู้นี้เรียกว่า "ภาวนามยปัญญา" คือ ปัญญาที่เกิดจากการรู้แจ้งเห็นแจ้งจากภายใน ซึ่งเห็นได้ด้วยธรรมจักขุของพระธรรมกาย และเป็นสิ่งที่เราจะต้องทำให้มี ให้เป็น ให้ได้ ถ้าไม่มีไม่เป็น เราจะไม่มีวันเข้าใจสัจธรรมของชีวิตเลยว่า “เราเกิดมาทำไมอะไรคือเป้าหมายของชีวิต"
ภาวนามยปัญญา เป็น "กรณียกิจ" คือ กิจที่ควรทำ...ที่ยิ่งกว่ากิจอย่างอื่นทั้งหมด เป็นความรู้ที่ควรรู้ ไม่รู้ไม่ได้ ถ้าหากไม่รู้ก็ไม่ปลอดภัย เพราะเราจะไม่ทราบเลยว่า เราตายแล้วไปไหน หรือไม่ทราบว่า...ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว แม้เราไม่ทราบเพียงแค่นี้ชีวิตก็ไม่ปลอดภัยแล้ว เพราะจะทำให้เราอยู่ในโลกนี้ด้วยความประมาท จะทำตามความพอใจของกิเลสเป็นหลัก ซึ่งจะเป็นเหตุให้เราต้องทนทุกข์ทรมานในนรก ต้องเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารอย่างไม่มีวันจบสิ้น
เพราะฉะนั้น...ในการดำเนินชีวิตให้ปลอดภัย เราจึงจำเป็นต้องรู้แจ้งในสรรพสิ่งต่าง ๆ ตามความเป็นจริง ซึ่งความรู้แจ้งจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเราเข้าถึงพระธรรมกาย เพราะพระธรรมกายเป็นผู้รู้ผู้เห็น และเป็นหลักชีวิตของทุกคน
คุณครูไม่ใหญ่
จากหนังสือ ง่ายที่สุดคือหยุดได้ เล่มที่ ๔