เราควรจัดการกับอารมณ์ตนเองให้นิ่ง ไม่ใจร้อนและขี้หงุดหงิดได้อย่างไร

วันที่ 27 มีค. พ.ศ.2567

27-3-67--1b.JPG

เราควรจัดการกับอารมณ์ตนเองให้นิ่ง ไม่ใจร้อนและขี้หงุดหงิดได้อย่างไร


                การที่เรารู้ตนเองแล้วคิดจะแก้ไขนั้นถือว่าชนะไปครึ่งหนึ่งแล้ว มีโอกาสที่จะแก้ไขปรับปรุงอารมณ์ตนเองได้ จากนี้เหลือเพียงเริ่มต้นกระบวนการแก้ไขเท่านั้น ให้เริ่มจากนิ่ง ไม่พูด เพราะปากคนนั้นเร็ว พอเกิดอารมณ์หงุดหงิดขึ้นมาปากก็จะพูดโพลงออกไปแบบไม่ทันคิดทันที ต้องมานึกเสียใจทีหลัง


                เพราะฉะนั้น พอเราเริ่มรู้ตัวว่าหงุดหงิด ควรตั้งสติให้ดี อย่าเพิ่งพูดอะไรออกไป ต่อให้เราอยากจะพูดมากขนาดไหนก็ตาม เพราะพูดแล้วไม่เกิดสิริมงคล


                 หักห้ามความคิดที่ว่า “ไม่พูดแล้วเขาจะรู้ได้อย่างไรว่าเขาทําผิด เขาหาไม่ดี เขาทําให้เราหงุดหงิดใจ” หรือ “ไม่พูดแล้วจะสอนเขาได้อย่างไร”


                 ความจริงแล้ว ไม่มีใครต้องการจะรับฟังคำพูดที่กลั่นออกมาจากอารมณ์หงุดหงิดฉุนเฉียว และผู้ฟังมักจะเกิดความรู้สึกกลัว หรือรําคาญ ดังนั้น ทุกคําพูดของเราที่กล่าวออกไปตอนที่มีอารมณ์โมโหไม่ได้เข้าไปในใจของคนฟังเลย


                 แต่เมื่อไรที่ใจเรานิ่ง โปร่ง โล่ง สบาย คำแนะนําที่เกิดจากจิตอันประกอบด้วยเมตตา เสียงพูดที่อ่อนโยนจะเข้าไปในใจของคนฟังได้อย่างง่ายดายไม่ใช่เพียงเนื้อหาเท่านั้นที่สําคัญ แต่อารมณ์ในการพูดก็สําคัญไม่แพ้กันด้วย


                 น้ำเสียงที่เจือปนความหงุดหงิดไม่ได้ชวนให้ผู้ฟังอยากรับฟังแล้วพิจารณาไตร่ตรองตาม เพราะฉะนั้น การพูดตอนที่เรากำลังหงุดหงิดฉุนเฉียวมีแต่เสียกับเสีย หาข้อดีไม่มีเลย

 

27-3-67--2b.JPG
                พอเราเข้าใจอย่างนี้แล้วให้เงียบไว้ก่อนเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลร้าย ต่อไปให้ดับที่เหตุ เหตุคือใจ ก็ไปทําใจให้สงบด้วยการสวดมนต์ นั่งสมาธิ


                  อาตมภาพก็เคยมีความรู้สึกโกรธบ้างนานทีปีครั้ง เมื่อครั้งที่ยังเป็นนักศึกษาแพทย์ปีที่ 4 เพื่อนทำเรื่องที่เกิดความเสียหายแล้วไม่รับผิดชอบ อาตมภาพจึงรู้สึกหงุดหงิดมากแต่ก็ไม่พูดอะไรเลย เพราะรู้ว่าพูดไปตอนนั้นต้องไม่ดีแน่ ช่วงนั้นอาตมภาพเข้าวัดแล้วพอจะรู้หลักปฏิบัติบ้าง ก็ยับยั้งชั่งใจได้นิดหน่อย

 
                 ถึงตอนพักกลางวันมีเวลาว่างก็รีบเข้าห้องพักแล้วสวดมนต์ทำวัตรประมาณ 15 นาที สวดมนต์ออกเสียงดังหนึ่งจบ แล้วกลับมาสำรวจใจตนเอง ความโกรธหายไปประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ ความหงุดหงิดยังเหลืออีก 70 เปอร์เซ็นต์ ยังไม่พอจึงเริ่มสวดมนต์ใหม่อีกรอบหนึ่ง


                 ในขณะที่เรากําลังหงุดหงิดใจมาก ๆ จะนั่งสมาธิเลยใจก็ยังไม่นิ่งพอจึงต้องสวดมนต์ช่วยก่อน พอสวดมนต์ทำวัตรจบไปสองรอบ กลับมาสํารวจใจตนเองความหงุดหงิดนั้นหายไปแล้วประมาณ 80 สิบเปอร์เซ็นต์ สบายใจขึ้น ใจปลอดโปร่งขึ้น แล้วจึงเปิดประตูห้องออกไป ปรากฏว่าเพื่อนมายืนรออยู่หน้าห้องแล้ว ระหว่างที่เขายืนอยู่หน้าห้องก็ได้ยินเสียงเราสวดมนต์ด้วย  เขารู้ตนเองแล้วว่าทำผิด พอเราไม่พูดเขาก็ยิ่งรู้สึกเกรงใจ


                  บางทีการที่เราพูดโพลงออกไปเลยว่าเราไม่พอใจตรงไหน เขาอาจจะรู้สึกเสียหน้าแล้วมีปฏิกิริยาต่อต้านได้ คิดว่านิดหน่อยจะอะไรนักหนา ก็เกิดแรงปะทะกลายเป็นเรื่องราวใหญ่โตไปอีก


                  แต่ถ้าเราโกรธแต่ไม่พูดต่อว่าเขาในทันที เขาก็จะยิ่งเกิดความรู้สึกเกรงใจ  แล้วยอมรับข้อผิดพลาดของตนเองโดยเราไม่ต้องพูดต่อว่าเขาเลย ความบกพร่องเขาเราไม่ต้องพูด เขาพิจารณาตนเองเรียบร้อย ส่วนเรานั่งสวดมนต์สบายใจมากกว่า


เจริญพร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.030543696880341 Mins