อุทานคาถา (๔)

วันที่ 25 มีค. พ.ศ.2547

stop490312.jpg

      กายอรูปพรหมนั่นที่จะทำต่อขึ้นไป นิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายอรูปพรหม พอถูกส่วนเข้าก็เดินศีลเทียว เพ่งอยู่ในเนวสัญญานาสัญญายตนะ ดวงธรรมที่ละเอียดจริงนั่นแหละ ก็เห็นดวงศีล วัดผ่าเส้นศูนย์กลางคืบหนึ่ง เท่าดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ หยุดนิ่งอยู่กลางดวงศีลนั่น ถูกส่วนเข้าเห็นดวงสมาธิ วัดผ่าเส้นศูนย์กลางคืบหนึ่ง กลมรอบตัวหยุดนิ่งอยู่กลางดวงสมาธิ พอถูกส่วนเข้าเห็นดวงปัญญา วัดผ่าเส้นศูนย์กลางคืบหนึ่ง กลมรอบตัว หยุดนิ่งอยู่กลางดวงปัญญา ถูกส่วนเข้าก็เห็นดวงวิมุตติ วัดผ่าเส้นศูนย์กลางคืบหนึ่ง กลมรอบตัว หยุดนิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงปัญญา ถูกส่วนเข้าก็เห็นดวงวิมุตติ วัดผ่าเส้นศูนย์กลางคืบหนึ่ง กลมรอบตัว หยุดอยู่ศูนย์กลางดวงวิมุตติ ถูกส่วนเข้าเห็นดวงวิมุตติญาณทัศนะ วัดผ่าเส้นศูนย์กลางคืบหนึ่ง กลมรอบตัว หยุดอยู่ศูนย์กลางดวงวิมุตติญาณทัศนะ พอถูกส่วนเข้าเห็น กายธรรม รูปเหมือนพระปฏิมากร เกตุดอกบัวตูม ใสเหมือนกระจกคันฉ่องส่องเงาหน้า หน้าตักโตเล็กตามส่วน อย่างโตที่สุดหย่อน กว่า ๕ วา อย่างเล็กที่สุดไม่เกินคืบหนึ่งไป นั่นเรียกว่า กายธรรม เกิดเป็นลำดับไปก็รู้ว่า ธรรมเกิดขึ้นได้เพราะเหตุ เหตุที่เรากระทำลงไปนี่เอง เหตุของศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัศนะ นี่แหละ ให้เข้าถึงกายธรรมได้ เข้าถึงได้อย่างนี้ เห็นปรากฏอย่างนี้ทีเดียว กายธรรมโคตรภู กายธรรมพระโสดาทั้งหยาบทั้งละเอียด ก็ทำไปแบบเดียวกันนี้ กายธรรมพระสกทาคาทั้งหยาบทั้งละเอียดก็ทำไปแบบนี้ กายธรรมพระอนาคาทั้งหยาบทั้งละเอียดก็ทำไปแบบนี้ จนกระทั่งเข้าถึงกายธรรมพระอรหัตต์ ก็ทำไปแบบนี้

เมื่อธรรมปรากฏขึ้นเช่นนี้แล้ว พราหมณ์แกก็รู้ว่าธรรมเกิดแต่เหตุ เหตุที่กระทำลงไปอย่างนี้ ไม่กระทำไม่เกิด ถ้าไม่มีเหตุดังนี้เกิดไม่ได้ ต้องมีเหตุอย่างนี้จึงเกิดได้ เมื่อรู้จักเหตุดังนี้ต้องทำลงไปในเหตุ ต้องการธรรมต้องทำลงไปในเหตุ ผิดเหตุละก็ไม่เกิด นี่ชั้นหนึ่ง

ในคาถาที่ ๒ ยทา หเว ปาตุภวนฺติ ธมฺมา อาตาปิโน ฌายโต พฺราหฺมณสฺส อถสฺส กงฺขา วปยนฺติ สพฺพา ยโต ขยํ ปจฺจยานํ อเวทิ เมื่อใดธรรมทั้งหลายปรากฏแก่พราหมณ์ผู้มีความเพียรเพ่งอยู่ เมื่อนั้นความสงสัยทั้งปวงของพราหมณ์นั้นย่อมสิ้นไป เห็นจริงแท้ไม่ต้องสงสัย ยโต ขยํ ปจฺจยานํ อเวทิ เพราะพราหมณ์นั้นได้รู้ความสิ้นไปของปัจจัยทั้งหลาย ตรงนี้สำคัญนัก

พราหมณ์นั้นได้รู้ความสิ้นไปของปัจจัยทั้งหลาย รู้ความสิ้นไปเมื่อพราหมณ์ เดินขึ้นไปเป็นลำดับจนกระทั่งถึงกายพระอรหัตต์ ก็รู้ทีเดียว รู้ชัดทีเดียว ที่จะขึ้นไปเช่นนี้ก็ต้องรู้ชัด เห็นชัดทีเดียว เพราะแกเห็นแล้ว ดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ที่จะชะลอกายมนุษย์ไว้ได้นี้เพราะ อภิชฌา พยาบาท มิจฉาทิฏฐิ บังคับอยู่บังคับธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์อยู่ ทั้งหยาบทั้งละเอียด กายทิพย์เล่า เพราะปัจจัยคือ โลภะ โทสะ โมหะ ทั้งหยาบทั้งละเอียด บังคับกายทิพย์ทั้งหยาบทั้งละเอียดอยู่ กายรูปพรหมทั้งหยาบทั้งละเอียดเล่า ทั้งหยาบทั้งละเอียดก็เพราะปัจจัยคือ ราคะ โทสะ โมหะ ทั้งหยาบทั้งละเอียดบังคับกายรูปพรหมอยู่ ขึ้นไปจากภพไม่ได้ ไปไม่พ้น

กายอรูปพรหมเล่า ทั้งหยาบทั้งละเอียด เพราะกามราคานุสัย ปฏิฆานุสัย อวิชชานุสัย บังคับอรูปพรหมทั้งหยาบทั้งละเอียดอยู่พ้นจากภพไปไม่ได้ กายธรรมเล่าเพราะ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส เป็นสังโยชน์ เป็นปัจจัยคุ้มครองป้องกันไม่ให้หลุดพ้นไปจากโคตรภูบุคคลได้ทั้งหยาบทั้งละเอียด เมื่อเข้าถึงพระโสดา เป็นพระโสดาบันบุคคลแล้ว ทั้งหยาบทั้งละเอียดเพราะ กามราคะ พยาบาทอย่างหยาบ บังคับอยู่ ทั้งหยาบทั้งละเอียด กายพระสกทาคาทั้งหยาบทั้งละเอียดเล่าเพราะ กามราคะ พยาบาทอย่างละเอียด มันบังคับอยู่ ทั้งหยาบทั้งละเอียด

พระสกทาคาไปไม่ได้ติดอยู่เพียงแค่พระสกทาคานี้ เมื่อเข้าถึงพระอนาคา ทั้งหยาบทั้งละเอียดก็ รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา สังโยชน์ เบื้องบนนี่เอง นี่เป็นปัจจัยคุ้มครองป้องกันไม่ให้เป็นพระอรหัตต์ได้ เป็นลิ่ม เป็นสลักอยู่อย่างนี้ ท่านก็อุตส่าห์พยายามให้เข้าถึงพระอรหัตต์ เดินทางศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัศนะ พอบรรลุเป็นพระอรหัตต์ หลุดจากรูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา เรียกว่า ขีณาสโว ผู้มีอาสวะสิ้นแล้ว กามาสวะ ภวาสวะ อวิชชาสวะ ทิฏฐาสวะ ไม่มีในพระอรหัตต์ เมื่อไม่มีในพระอรหัตต์เห็นชัดเช่นนี้ ท่านก็รู้นะซี รู้ชัด เห็นชัดทีเดียวว่านี่แหละ ยโต ขยํ ปจฺจยานํ อเวทิ พราหมณ์นั้นได้รู้ความสิ้นไปของปัจจัยทั้งหลาย ไม่มีปัจจัยเลย ปัจจัยฝ่ายที่จะตรึงไว้ไม่มีเลย หลุดจากปัจจัยหมด เป็นพระอรหัตต์ เป็นสมุจเฉทปหาน แน่นอนในพุทธศาสนา

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.027004464467367 Mins