ทนอะไรหนอ ทนยากที่สุด
คำว่า “อดทน” เราได้ยินมาบ่อย ๆ เสมอ ๆ แต่เราไม่รู้ว่าคำว่าอดทนนั้น มีคำจำกัดความ หรือมี ความหมายกว้างแค่ไหน ในที่นี้ถ้าจะแยกลักษณะของสิ่งที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเรียกว่าอดทนหรือขันติ นั้น มีอยู่ ๔ ลักษณะด้วยกันคือ
๑. ทนต่อความลำบากตรากตรำ เกิดเป็นคนต้องยอม ทนลำบากตรากตรำ เดี๋ยวเจอะอุปสรรค หรือปัญหาเกิดมาอีกเยอะแยะ คําว่าทนต่อความลำบากตรากตรำหมายถึงอะไร หมายถึง ทนต่อสภาพดินฟ้าอากาศ สภาพธรรมชาติบีบคั้น ก็เป็นเรื่องที่เราจะต้องทนสำหรับกรณีนี้แล้ว ใครที่ร่างกายแข็งแรงก็ค่อนข้างจะได้เปรียบสักหน่อย
๒. ทนต่อทุกขเวทนา แปลกนะ บางคนมีความทนทานต่อความลำบากตรากตรำดี แต่ว่าไม่ทนต่อทุกขเวทนา เจ็บไข้ได้ป่วยนิดหน่อยทำอย่างกับจะตาย โธ่เอ๊ย! แค่ยุงกัดทำยังกับหมากัด ยุงกัดขณะนั่งสวดมนต์ พลิกแล้วก็พลิกอีก หงุดหงิด ๆ แค่ยุงกัดเท่านั้นน่ะไม่ใช่มันงับเนื้อติดไปเป็นก้อน แต่เราให้ไปดูเถอะ คนที่ไม่ค่อยได้สวดมนต์ เวลาสวดมนต์แล้วยุงกัดนี่กระสับกระส่ายทีเดียวแหละ
๓. อดทนต่อการกระทบกระทั่ง คนเราที่อยู่ร่วมกันมาก ๆ ย่อมมีการกระทบกระทั่งกันเป็นธรรมดา เนื่องจากแต่ละคนย่อมมีความคิดเห็นแตกต่างกัน พฤติกรรมที่แต่ละคนแสดงออกมาอาจจะยอมรับซึ่งกันและกันไม่ได้ความขัดแย้งและการกระทบกระทั่งจึงเกิดขึ้น ถ้าเราทนไม่ได้ ก็อาจจะไปพลาดท่าต่อการรบกวนด้วยเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ประเภทหมัดแย็บ แต่ถ้าเราทนต่อการ กระทบกระทั่งได้ก็จะสามารถทนต่อเรื่องหนักหนาสาหัสประเภทหมัดหนักได้
๔. อดทนต่อความยั่วเย้า นี่แหละยากที่สุด เพราะเราต้องทนต่อกิเลสในตัวและสิ่งยั่วเย้าภายนอก โดนจ๊ะ ๆ จำๆ ไม่กี่ทีหรอก ขนาดเป็นเจ้าคุณยังสึกเสียเลย
เมื่อหลวงพ่อกราบลาพระอุปชฌาย์จะมาสร้างวัด พระอุปชฌาย์บอกว่า เผด็จ ฉันขอฝากไว้ ๒ ส นะ ส หนึ่งคือสตรี อีก ส หนึ่ง คือสตางค์ ท่านบอกให้ระวังให้ดี ทั้งพระทั้งเณรพลาดกันตรงยั่วเย้าด้วยสตรีกับสตางค์นี่แหละ
สำหรับในคนธรรมดา ๒ ส ก็ได้แก่ สตรีหรือสุภาพบุรุษ กับ ส สตางค์ ท่านหญิงท่านชายก็ระวังก็แล้วกัน จะพลาดโดนจ๊ะ ๆ จ๋า ๆ ครับผม ๆ จะทำให้ใจเขวเผลอไปผิดศีลกาเมฯ เข้า ตกนรกเสียย่ำแย่ พ้นจากนรกก็ยังต้องมารับเศษกรรมเป็นมะเร็งเข้าอีก มันไม่คุ้มนะ กับการตามใจตัวตามใจกิเลสตัวเองแบบนี้