หลับตาก็ยาก ตื่นก็ยาก เเก้อย่างไร
โยมถาม : เข้านอนหลับตาก็ยาก ตื่นก็ยาก รู้สึกตัวแต่ลืมตาไม่ขึ้น ขยับตัวไม่ได้ ควรแก้ไขอย่างไร ?
พระอาจารย์ตอบ : ก่อนอื่นให้เรากลับไปสำรวจห้องนอนก่อนว่ามีการระบายอากาศดีหรือไม่ ถ้าเรานอนอยู่ในห้องที่อับ ไม่มีการระบายอากาศ คนที่อาศัยอยู่ในห้องนั้นอาจจะได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ
บางทีเราอาจจะรู้สึกว่าตอนหัวค่ำ ก่อนเข้านอนในห้องก็มีออกซิเจนมาก หายใจได้สะดวกไม่อึดอัด แต่พอนอนหลับไปสักพักกลับหายใจไม่ออก เพราะออกซิเจนในห้องมีสัดส่วนลดลงไปเรื่อยๆ แล้วปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์สะสมมากขึ้น
พอเราหายใจเอาออกซิเจนเข้าไปเลี้ยงร่างกายไม่เพียงพอ ออกซิเจนไปเลี้ยงสมองน้อยลง จึงส่งผลต่อร่างกายและสมอง โดยมีอาการคล้ายรู้ตัวแต่ยกแขนขาไม่ขึ้นคล้ายๆ ผีอำ
บางคนไปนอนเฝ้าโบสถ์ตอนกลางคืนเพราะกลัวขโมยจะมางัดเอาของมีค่าไปหมด ปิดประตูหน้าต่างหมด พอตกดึกคาร์บอนไดออกไซด์มากขึ้นทำให้หายใจไม่ออก ขยับแขนขาไม่ได้ ก็ตกใจคิดว่าตนเองถูกผีอำ
บางคนเมาเหล้าเดินโซซัดโซเซไปนอนใต้ต้นไม้ใหญ่ที่มีใบหนาทึบ ก็เกิดอาการหายใจไม่ออก ถ้าเป็นตอนกลางวันนอนหลับใต้ต้นไม้จะรู้สึกสบายหายใจได้เต็มปอดเพราะต้นไม้ปล่อยก๊าซออกซิเจนออกมา แต่พอตกกลางคืนต้นไม้คายคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาแทน ก็ทำให้คนที่อยู่ใกล้หายใจไม่สะดวก
ยิ่งต้นไม้ที่มีใบหนา ยิ่งปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์มาก ในช่วงเวลากลางคืน บริเวณใต้ต้นไม้ใหญ่จึงมีสัดส่วนของคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศมากกว่าบริเวณอื่นๆ เมื่อเราไปนอนอยู่บริเวณนั้น พอหายใจแล้วจะรู้สึกอึดอัดเพราะมีออกซิเจนไม่เพียงพอ เกิดความรู้สึกเหมือนถูกผีอำ
ดังนั้น ให้เราสํารวจห้องนอนของตนเองก่อนว่า หน้าต่างเปิดรับลมบ้างหรือไม่ มีทิศทางลมเป็นอย่างไร การระบายอากาศดีหรือไม่
ต่อมาก็ให้ตรวจสุขภาพร่างกายของตนเองว่า เรามีโรคประจำตัวอะไรหรือไม่ เรากินดีและหมั่นออกกำลังกายให้มีเหงื่อออก มีการไหลเวียนโลหิตสูบฉีดให้หัวใจทํางานได้ดีบ้างหรือไม่
คนในปัจจุบันอยู่แต่ในห้องแอร์ บางคนไม่ค่อยได้ออกกําลังกาย ยิ่งในยุคนี้ที่เกิดโรคระบาดโควิด-19 ต้องอยู่แต่ในบ้านพอไม่ได้ออกกําลังกายร่างกายก็ไม่แข็งแรง ไม่ค่อยได้เดินไปไหนมาไหน เพราะฉะนั้น ควรหมั่นสำรวจสภาพแวดล้อมที่เราอยู่ และดูแลสุขภาพร่างกายไปพร้อมๆ กันด้วย
เจริญพร.