โรคร่วมสมัย มาพร้อมกับโทรศัพท์มือถือ

วันที่ 22 สค. พ.ศ.2549

       โทรศัพท์มือถือ" กลายเป็นส่วนหนึ่งของคนยุคโลกาภิวัตน์ที่จะขาดเสียมิได้ มีบ้างบางคนที่มี "มือถือ" ตั้งแต่ยังเป็นเด็กเล็ก เพราะพ่อแม่มีวิตามินเอ็ม ที่จะเสริมให้แต่เยาว์วัย ข้อดีของโทรศัพท์มือถือมีอยู่ไม่น้อย ทำให้เราสามารถสื่อสารถึงกันและกันได้ตลอดเวลา และแทบทุกสถานที่ (ที่สัญญาณไปถึง) หรือในบางสถานที่ที่ไม่มีโทรศัพท์สาธารณะ กระนั้นก็ตาม สิ่งใดมีคุณอนันต์ สิ่งนั้นก็มักมีโทษมหันต์ หากผู้ใช้นำไปใช้ในทางที่ผิดหรือใช้ไม่เป็น โทรศัพท์มือถือก็เช่นกัน โทษของมันก่อให้เกิดโรคใหม่ๆ หลายประการ งานนี้ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม มีความคิดนำเสนอแก่คุณผู้อ่าน ดังนี้โรคเห่อตามแฟชั่น สมัยก่อนการจะมีโทรศัพท์สักเครื่องเป็นเรื่องที่ขอยากขอเย็น กว่าจะขอคู่สายมาติดตั้งที่บ้านได้บางทีต้องรอเป็นปีๆ ผู้มีโทรศัพท์ใช้แรกๆ จึงมักเป็นพวกที่ทำธุรกิจ พวกมีเงิน มักต้องมีงาน มีเรื่องจำเป็นหรือเร่งด่วนจริงๆ กระทั่งธุรกิจมือถือกลายเป็นแหล่งทำเงินให้แก่ผู้ประกอบการอย่างมหาศาล การแข่งขันมีมากขึ้น จากผู้ซื้อกลุ่มนักธุรกิจ ผู้มีอันจะกินมาสู่ตลาดคนชั้นกลาง คนวัยทำงาน แม่ค้า ประชาชน และกลุ่มวัยรุ่นเพิ่มขึ้น

        นี่เองจึงเป็นเหตุให้มีการพัฒนาเทคนิค และออกแบบมือถือเป็นแฟชั่นรุ่นใหม่ๆ มาดึงดูดใจลูกค้าตลอดเวลา และทำให้หลายๆ คน โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่น ผู้ทำงานด้านเทคโนโลยี เศรษฐี ตลอดจนนักธุรกิจระดับต่างๆ นิยมเปลี่ยนมือถือไปตามแฟชั่นเพื่อให้อินเทรนด์ ดูทันสมัย ไม่ตกรุ่น บ้างก็เปลี่ยนเพื่อให้ดูเป็นคนมีระดับ มีฐานะ ทั้งที่ฟังก์ชั่นหรือประโยชน์ที่เสริมขึ้นมาของแต่ละแบบ บางคนแทบไม่ได้ใช้เพิ่มเติมจากเดิม

มือถือจึงได้กลายเป็นเครื่องประดับที่บ่งบอกสถานภาพอีกทางหนึ่ง

โรคทรัพย์จาง การเห่อตามแฟชั่น ทำให้หลายคนต้องหาเงินเพิ่มเพื่อหาซื้อมือถือรุ่นใหม่อยู่ บางคนรสนิยมดีเกินฐานะ จึงเกิดสภาวะทรัพย์จาง ต้องหาดิ้นรนหาเงินเพิ่มหรือไปกู้หนี้ยืมสินมาซื้อมือถือที่ตัวอยากได้ โรคเห่อตามแฟชั่นส่วนใหญ่มักจะเกิดกับเด็กวัยรุ่น วัยเรียน แล้วมีผลข้างเคียงทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองเกิดโรคทรัพย์จางตามมา เพราะต้องหาเงินไปซื้อหาให้ลูก กลัวลูกน้อยหน้าเพื่อน หรือสงสารลูกหรือทนลูกออดอ้อนวอนขอไม่ได้

แล้วยังความถี่ของการใช้มือถือ ที่ไหน เมื่อไรก็ได้ ทำให้หลายๆ คน พ่อแม่มีบัญชีรายจ่ายในเรื่องนี้เดือนๆ หนึ่งจำนวนไม่น้อย ยิ่งคนไหนที่มี "กิ๊ก" จำนวนการใช้ก็ยิ่งมีมากขึ้น แม้มีโปรโมชั่นลดแลก แจก แถมต่างๆ หากไม่รู้จักควบคุมการใช้ให้ดี แนวโน้มเกิดโรคนี้ก็มีสูงขึ้น

โรคขาดความอดทนและใจร้อน อันนี้เป็นข้อเสียที่ทำให้คนเราขาดความอดทน และใจร้อนขึ้นเช่นกัน เพราะความสะดวกสบายในการใช้โทรศัพท์มือถือ กดปุ๊บ ติดปั๊บ ทำให้กลายเป็นคนที่ทนรอใครนานไม่ได้ หรือไม่ยอมทนแม้แต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ อีกต่อไป เช่น นัดเพื่อนไว้ และเพื่อนมาช้าแค่ 5 นาที ก็ต้องโทร.ตามจิกตามล่าแล้ว คิดอะไรไม่ออก แทนที่จะค่อยๆ ใช้สมองครุ่นคิดทบทวนเอง ก็รีบโทร.หาเพื่อน หาคนถามทันที ทำให้กลายเป็นคนเร่งรีบ ร้อนรน และไม่รอบคอบ เพราะไม่ทันได้ใช้ความคิด หรือขี้เกียจใช้ความคิดอีกต่อไป

โรคขาดกาละเทศะ และมารยาท ความไม่ค่อยอดทนรอ และใจร้อนที่ว่า หลายๆ ครั้ง เมื่อนึกอะไรขึ้นมาได้ก็จะกดโทรศัพท์ไปหาบุคคลที่เราอยากจะพูด อยากถามในทันที ซึ่งบางครั้งอาจจะเป็นเวลาประชุม เวลานอน เวลารับประทานอาหาร เวลาพักผ่อน หรือเป็นวันหยุด การโทร.ไปเช่นนั้น โดยไม่ดูเวลาหรือกาละเทศะที่ควรโทร. แม้เขาจะบอกว่าไม่เป็นไร แต่จริงๆ แล้วเขาก็อาจจะไม่พอใจ หรือโกรธที่เราไปขัดจังหวะเขาอยู่ก็ได้ หรือบางคนไม่รู้จักมักจี่กับเจ้าของเบอร์ แต่ได้เบอร์โทร.มาจากคนอื่น แล้วโทร.เข้ามือถือ หรือนำเบอร์มือถือของคนหนึ่งไปบอกคนอื่นโดยเจ้าตัวไม่ทราบหรือไม่อนุญาต ก็เป็นเรื่องไม่ควร ขาดมารยาทที่ดี เพราะบางคนได้เบอร์แล้วโทร.ไปขายประกัน ขายเครื่องกรองน้ำ เชิญชวนสมัครสมาชิกบัตรเครดิต ฯลฯ ทั้งที่ไม่รู้จักกันมาก่อน ทำให้ผู้รับสายเกิดความเดือดร้อน รำคาญใจ

เป็นสภาวการณ์ปัจจุบันคือ ใช้มือถือโดยไม่เลือกเวลา และสถานที่ เช่น ในห้องประชุม โรงหนัง โรงมหรสพ บนรถ/เรือโดยสาร ระหว่างพิธีการต่างๆ เป็นต้น เสียงโทรศัพท์มือถือมักจะดังขึ้น ทำให้รบกวนสมาธิของผู้อื่น แถมบางคนก็คุยเสียงดัง แบบไม่เกรงใจใคร ลืมตัวว่าอยู่ในที่สาธารณะ อาจใช้ภาษาไม่สุภาพ หรือพูดๆ แล้วเกิดอารมณ์โกรธก็ด่าว่าอีกฝ่ายทางโทรศัพท์ ซึ่งโดยมารยาททางสังคมนั้น ไม่ควรทำอย่างยิ่ง

โรคขาดมนุษยสัมพันธ์ คนส่วนใหญ่จะใช้มือถือพูดคุยกับญาติสนิท มิตรสหายที่ใกล้ชิด ทำให้ขาดความใส่ใจที่จะสร้างสัมพันธ์กับผู้อื่น เช่น เมื่อไปงานเลี้ยงสังสรรค์ แทนที่เราจะไปทำความรู้จักกับคนใหม่ๆ ในงาน สร้างมิตรภาพให้เกิดขึ้น หลายคนกลับหลบมุมโทร.ไปคุยกับเพื่อน หรือวัยรุ่นอยู่บ้าน แทนที่จะพูดคุยกับพ่อแม่ผู้ปกครองหรือทำกิจกรรม กินข้าวปลาอาหารร่วมกับญาติพี่น้อง ก็มักรีบกินรีบหนีขึ้นห้องโทร.ไปหาเพื่อน และใช้เวลาพูดคุยกันเป็นชั่วโมงๆ

นานๆ ไปความสัมพันธ์ในบ้านก็ห่างเหิน ต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างใช้โทรศัพท์โทร.หาเพื่อนหรือติดต่อธุรกิจของตน โดยไม่สนใจผู้อื่นอีกต่อไป หากวันไหนไม่ได้โทรศัพท์ไปหาเพื่อน ก็อาจจะเกิดอาการเฉาหรือเหงาหงอย กลายเป็นคนแยกตัวออกจากสังคม มีโลกของตัวเองต่างหาก และเป็นโรคติดโทรศัพท์ในที่สุด

โรคไม่จริงใจ การพูดคุยทางโทรศัพท์ไม่ต้องเห็นหน้าตา ท่าทาง สายตาและปฏิสัมพันธ์ที่มีต่อกัน ทำให้หลายคนใช้คำหวานหลอกลวง พูดโกหกผู้อื่น หรือนิยมส่ง sms ไปยังอีกฝ่าย ทำเสมือนรักใคร่ ผูกพันหรือห่วงใย แต่ใจจริงมิได้คิดเช่นนั้น นอกจากโรคดังกล่าวแล้ว โทรศัพท์มือถือยังมีผลข้างเคียงทำให้เสียสุขภาพด้านอื่นๆ อีก เช่น ทำให้เกิดอาการอ่อนเพลีย ไม่สดชื่น เพราะมัวแต่คุยทั้งวันทั้งคืนจึงนอนดึก นอนไม่พอ ทำให้หูตึงหรือมีโรคเกี่ยวกับหู เกิดอาการปวดหัว ไมเกรนหรือมีปัญหาทางเส้นประสาท เพราะคลื่นจากมือถือที่มีกำลังส่งแรงสูง

ทั้งยังทำให้เกิดพวกโรคจิตเพิ่มขึ้น คือพวกที่ชอบแอบถ่าย บางคนก็ถ่ายภาพหวิวของตัวเองไปลงตามอินเตอร์เน็ต เพราะทำได้ง่าย หลายครั้งมือถือทำให้ขาดความระมัดระวัง ขับไปพูดไป จนเกิดอุบัติเหตุรถชนกัน หรือชนคนอื่น นอกจากนี้ มือถือยังก่อให้เกิดอาชญากรรม ถูกคนร้ายติดตามมาทำร้ายร่างกายหรือแย่งชิงทรัพย์ได้ง่ายอีกด้วย

สิ่งเหล่านี้ คือโรคร่วมสมัยที่มาพร้อมกับโทรศัพท์มือถือ ซึ่งเราควรรู้จักฉลาดใช้ โทรศัพท์มือถือ" ให้เป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์ต่อตัวเราทั้งด้านส่วนตัว การเรียน และหน้าที่การงาน อย่าทำให้โทรศัพท์มือถืออยู่เหนืออิทธิพลจิตใจของเรา โดยไม่รู้ตัว

ที่มา อมรรัตน์ เทพกำปนาท

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.026574913660685 Mins