ใต้ร่มพระบารมี

วันที่ 21 สค. พ.ศ.2549

ใต้ร่มพระบารมี 60 ปีแห่งการครองราชย์ ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ

    เมืองไทย คนไทยมีบุญวาสนามาตั้งแต่บรรพกาล ด้วยมีพระมหากษัตริย์ทรงพระปรีชาสามารถมาตลอดช่วงสมัย ทรงนำนาวาชาติไทยรอดพ้นเงื้อมมืออริราชศัตรูที่มาในรูปกองกำลังทหารและสนธิสัญญาอยุติธรรมได้ด้วยพระอัจฉริยภาพมากมายนับครั้งไม่ถ้วน ยิ่งในปัจจุบันประเทศไทยถูกกระหน่ำจากกระแสทุนนิยม-โลกานุวัตรอย่างหนักจนเกือบจะเสียศูนย์หลายครั้ง ทว่าก็รอดพ้นมาได้ด้วยยังมีพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่คอยเตือนสติ ให้ข้อคิดคนไทย รัฐบาลไทยมาโดยตลอด โดยเฉพาะเรื่อง ‘ความพอเพียง’

     เกือบหกทศวรรษแล้วที่ปวงชนคนไทยอยู่เย็นเป็นสุขด้วยพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดังพระปฐมบรมราชโองการที่ว่า ‘เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม’ ซึ่งในวันที่ 9 มิถุนายน 2549 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติครบ 60 ปี จึงเป็นโอกาสดีที่ประชาชนชาวไทยจะได้แสดงความจงรักภักดีและน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงบำเพ็ญประโยชน์ต่อประเทศและประชาชนชาวไทยอย่างอเนกอนันต์

ในมหามงคลสมัยพิเศษยิ่งนี้ การได้ชื่นชมพระอัจฉริยภาพของพระพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอย่างใกล้ชิดในนิทรรศการพระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (The Life History of His Majesty King Bhumibol Adulyadej) ณ หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ปวงชาชาวไทยจึงไม่เพียงจะได้รับทราบพระราชประวัติของพระองค์อย่างละเอียดเท่านั้น แต่ยังจะได้รับรู้ถึงพระราชกรณียกิจบางด้านที่ไม่เคยรับรู้มาก่อนด้วย

ทิพย์วรรณา ชุ่มเพ็งพันธุ์ ผอ.หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ เปิดเผยว่า หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ จัดตั้งขึ้นเนื่องในโอกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทำหน้าที่รวบรวม เก็บรักษา จัดแสดง ให้บริการสืบค้นข้อมูล และอนุรักษ์เอกสารจดหมายเหตุที่เกี่ยวเนื่องในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และพระบรมวงศานุวงศ์ อาทิ พระราชหัตถเลขา พระบรมฉายาลักษณ์ พระบรมราโชวาท พระราชดำรัส พระราชนิพนธ์ ภาพเขียนฝีพระหัตถ์ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โครงการเฉลิมพระเกียรติ แถบบันทึกพระสุรเสียง แถบวิดีทัศน์ ภาพยนตร์ แบบแปลน แผนที่ แผนผัง โดยเอกสารจดหมายเหตุทั้งหมดจะจัดเก็บ จัดแสดงและให้บริการค้นคว้าด้วยระบบเทคโนโลยีทันสมัย

สำหรับนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติฯ ที่จัดขึ้นครั้งนี้ จะครอบคลุมพระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตั้งแต่เสด็จพระราชสมภพ ทรงพระเยาว์ พระราชพิธีราชาภิเษกสมรส พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระราชพิธีทรงพระผนวช พระราชพิธีรัชดาภิเษก พระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก พระราชพิธีกาญจนาภิเษก และพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ โดยทั้งหมดจะเป็นพระราชพิธีที่เกี่ยวเนื่องในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ถูกเก็บรักษาอยู่ในหอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ ทั้งสิ้น

“นับเป็นโอกาสดีที่คนไทย และคนต่างชาติจะได้รับรู้พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอย่างละเอียด โดยข้อมูลส่วนใหญ่มาจากหน่วยงานราชการ ซึ่งจะต้องนำมาประเมินคุณค่า จัดหมวดหมู่ และจัดทำเครื่องมือช่วยค้นคว้า รวมทั้งอนุรักษ์เอกสารในรูปแบบไมโครฟิล์มและดิจิตอล ด้วยโปรแกรมระบบงานสารสนเทศด้านจดหมายเหตุ ซึ่งประชาชนทั่วไปสามารถเข้ามาศึกษาค้นคว้า เพื่อนำไปใช้อ้างอิงได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ยกเว้นในกรณีที่ต้องการทำสำเนา”


“มีเอกสารจดหมายเหตุหลายชิ้นที่คนไทยส่วนใหญ่ยังไม่เคยเห็น เช่น เอกสารจดหมายเหตุประกาศเฉลิมพระนามพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพล ซึ่งเป็นเอกสารก่อนที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะขึ้นครองราชย์ และเอกสารจดหมายเหตุที่เกี่ยวเนื่องกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ครั้งทรงประสบอุบัติเหตุเมื่อปี 2491 ที่ประเทศสหรัฐเอมริกา และทะเบียนราชาภิเษกสมรส รวมทั้งเหรียญ แสตมป์ที่เกี่ยวเนื่องกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้วย”

ผอ.หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ ยังเผยด้วยว่าถ้ามาเป็นหมู่คณะ นอกจากจะได้ชมห้องนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติฯ แล้ว ยังจะได้ชมฉายภาพยนตร์ที่เกี่ยวเนื่องกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้วย

ขณะที่อารักษ์ สังหิตกุล อธิบดีกรมศิลปากร เสริมว่าเอกสารเหล่านี้ถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมสำคัญของชาติ ที่ช่วยเสริมสร้างค่านิยม ความภาคภูมิใจ ความศรัทธา และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทย

“หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ นี้ครอบคลุม สมบูรณ์มากสุด เพราะเมื่อก่อนแต่ละหน่วยงานจะแยกกันเก็บ ครั้นตั้งหอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ ขึ้น ข้อมูลเหล่านั้นก็ถูกรวบรวมมาเก็บไว้ที่นี่ เป็นหมวดหมู่มากขึ้น และสามารถเข้าถึงได้ด้วย เทคโนโลยีทันสมัย ซึ่งในอนาคตจะเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ได้ทางอินเทอร์เน็ตด้วย”อธิบดีกรมศิลปากรให้ข้อมูล

(หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ ตั้งอยู่ที่ ต. คลองห้า อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี เปิดทำการวันจันทร์ - ศุกร์ ในเวลาราชการ โทรศัพท์ 0-2902-7940 ต่อ 111, 113)

-อ้างอิง ฝ่ายข้อมูลฯ

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.015506132443746 Mins