เบียร์เหล้าเข้าตลาดหุ้น จุดคุ้มทุนอยู่ตรงไหน?

วันที่ 29 สค. พ.ศ.2548

 

 

ประเด็นร้อนๆ เรื่องเบียร์ช้าง ไม่ใช่กระทบเฉพาะรถติดเท่านั้น เพราะเมื่อเขาเลิกชุมนุม รถก็เลิกติดแล่นฉิวได้เหมือนเดิม คนกรุงเทพฯไม่ค่อยคิดมาก ไม่นานก็ลืม เพราะมีเรื่องงาน เรื่องปากท้องให้คิดเยอะแยะ

แต่ฝ่ายที่ยังเกาะติดก็ยังคงทำหน้าที่อย่างต่อเนื่อง ทั้งฝ่ายเบียร์ช้าง ก็ตกแต่งหน้าตาใหม่ ใช้ชื่อ “ไทยเบฟเวอเรจ” ไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องน้ำเมาล้วนๆ ก็เป็นกลยุทธ์เป็น “ที.ซี.ซี โฮลดิ้ง” ขยายไลน์ธุรกิจไปสู่สถาบันการเงินและธุรกิจประกันภัย ภายใต้ชื่อ “ที.ซี.ซี. แคปปิตอล” และ “ที.ซี.ซี. แลนด์” สำหรับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ทั้งหมด ไมว่าจะเป็นที่ดิน โรงแรม คอนโดมิเนียม และอพาร์ตเมนต์

ล่าสุด ควักเงิน 70 ล้าน ซื้อโรงแรมเจ๊งแล้วในนราธิวาสก็ยอมทำ เพื่อหวัง เพิ่ม option ให้ตัวเองว่า มีหลากหลายธุรกิจและภารกิจที่ช่วยชาติ แม้แต่ผ้าห่มกันหนาวและธงชาติที่แจก 30,000 โรงเรียน ยังนำกลับมาใช้ในแผนโฆษณาได้

แต่ประเด็นทางสังคมนั้น ดูผิวๆ เหมือนว่า จะใช้ “กลยุทธ์สร้างภาพลักษณ์” จัดการได้ แต่ลึกๆ แล้ว ความชอบธรรมต่างหากที่สังคมยอมรับ และภาพลักษณ์จึงจะดีได้ด้วยตัวของมันเอง

 

สร้างบรรทัดฐานน้ำเมาเข้าตลาดหุ้น

ประเด็นที่ฝ่ายต่อต้านเบียร์เข้าตลาดฯ หยิบยกมา เป็นนัยยะทางสังคมที่เกี่ยวเนื่องกับเศรษฐกิจชัดเจนโดยฉพาะกรณีเรื่องของ การสร้างบรรทัดฐานใหม่ทางธุรกิจ

เพราะถ้าเบียร์ช้างเข้าได้ ... แน่นอนว่า เบียร์สิงห์ก็เข้าได้

ถ้าน้ำเมา ซึ่งเป็น ๑ ในอบายมุขทั้ง ๖ เข้าได้ ... ทำไมบ่อนคาสิโน ที่อาจได้รับรองให้ทำแบบถูกกฎหมายจะเข้าไม่ได้

ถ้าคาสิโนเข้าได้ ... ทำไม สถานเริงรมย์ และซ่องโสเภณี ที่ตีทะเบียนถูกกฎหมายจะเข้าไม่ได้

... ที่เขากลัวกันนะก็เรื่องนี้แหละ

และที่ฝ่ายสนับสนุนเขาบอกว่า เข้ามาแล้วประเทศจะร่ำรวย ตลาดหุ้นจะโต บริษัทเบียร์จะโต คนไทยจะร่ำรวย

อย่างอื่นยังไม่แน่ใจ แต่ถ้าบริษัทโตและร่ำรวยขึ้น แสดงว่า คนไทยทั้งประเทศจะต้องแบ่งส่วนรายได้ของตนไปอีกมากมายมหาศาลที่ต้องไปจ่ายเป็นค่าเหล้าค่าเบียร์ เพื่อไปเพิ่มรายได้ กำไร และเงินปันผลให้กับบริษัท และที่สำคัญ ให้กับ ผู้ถือหุ้นน้ำเมาทั้งหลาย ซึ่งนับเป็นเพียง ๑ เปอร์เซ็นต์ของคนทั้งประเทศเท่านั้น !!

ผลประกอบการ ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและธุรกิจผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อาจดีขึ้น แต่ผลร้ายกลับไปตกอยู่ที่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ

 

ไม่แก้ปัญหาด้วยวิธีการยอมแพ้

สำหรับการอ้างว่าหลายประเทศยอมรับให้มีธุรกิจสุราในตลาดหลักทรัพย์ แลมีการกล่าวกันว่าถ้าไม่อนุญาตให้เข้าตลาดหลักทรัพย์ในประเทศ ประเทศไทยจะเสียโอกาส เพราะธุรกิจเหล่านี้สามารถไประดมทุนในต่างประเทศได้ หรือเหตุผลที่อ้างกันว่า ไม่ว่าจะเข้าตลาดหุ้นหรือไม่คนไทยก็ยังดื่มเหล้าเบียร์มากอยู่แล้ว ดังนั้น ควรอนุญาตให้จดทะเบียนในประเทศไทยดีกว่า

เหล่านี้ ไม่ใช่เหตุผลที่จะอนุญาตให้เข้าในตลาดหุ้นไทย เพราะเมื่อตระหนักชัดว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นสาเหตุของปัญหาแล้ว ภาครัฐควรมีนโยบายแก้ปัญหาที่ต้นเหตุอย่างจริงจัง คือควบคุมการผลิตและโฆษณาชวนดื่ม งดการส่งเสริมการขาย จำกัดอายุ เวลา สถานที่ในการซื้อขายและบริโภค

แต่ไม่ใช่แก้ปัญหาแบบการยอมแพ้ ด้วยการยอมให้ขยายตัว เพราะควบคุมไม่ได้แล้ว

 

ได้ไม่คุ้มเสีย

เพราะถึงแม้ว่าภาครัฐจะสามารถเก็บภาษีสรรพสามิตได้ปีละจำนวนมาก ดังเช่น ในปี พ.ศ.๒๕๔๖ รัฐบาลได้เงินภาษีจากธุรกิจสุราและเบียร์รวมถึง ๖๒,๖๓๓ ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินที่มาจาก ๒๐๐,๐๐๐ ล้านบาท ที่ประชากรทั้งประเทศจ่ายเป็นค่าเบียร์ค่าเหล้าให้กับบริษัทเหล้าเบียร์ แทนการนำไปลงทุนให้เกิดประโยชน์งอกเงยหรือเก็บออมเพื่ออนาคต

และความเสียหายอันเกิดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เฉพาะที่คำนวณเป็นตัวเงินได้ มีมูลค่าประมาณ ๓๓,๕๒๕.๕๐ ล้านบาท โดยยังไม่รวมความเสียหายที่คำนวณเป็นเงินไม่ได้อีกมากมาย เช่น ความเสียหายที่เกิดกับครอบครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่เกิดปัญหากับหัวหน้าครอบครัว ความรุนแรงทางสังคม ปัญหาอาชญากรรม การสูญเสียรายได้และอนาคตจากความพิการ ความเสียหายทางด้านทรัพย์สิน ความเสียหายทางด้านจิตใจ และภาระการดูแลผู้เจ็บป่วยของคนในครอบครัว รวมทั้งปัญหาเยาวชนที่เกิดจากภาวะการเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสมเนื่องจากปัญหาครอบครัว ซึ่งเรื่องนี้เปรียบเสมือนการวางระเบิดเวลาให้กับสังคม

คุ้มค่าหรือไม่? กับการที่ประเทศไทยเหลือเงินส่วนต่างจำนวนไม่ถึง ๓๐,๐๐๐ ล้านบาท แลกกับปัญหาและภาระทางสังคมที่เกิดขึ้นสืบเนื่องมาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์? และประเทศไทยจะต้องเสียเงินและเวลาไปอีกมากเพียงไร? จึงจะสามารถสะสางปัญหาเหล่านี้ให้หมดไปได้?

 

ประเทศไทยแข็งแรง คนไทยต้องแข็งแรง

ด้วยปัญหาทั้งหลายเหล่านี้ ฝ่ายเครือข่ายงดเหล้าจึงยังคงเดินหน้า เสนอให้มีการสั่งห้ามไม่ให้ บริษัท ไทยเบฟเวอร์เรจส์ จำกัด (มหาชน) เสนอขายหุ้นให้แก่ประชาชนทั่วไปและดำเนินการจดทะเบียนเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ และยกเลิกมติคณะกรรมการ กลต. ปี พ.ศ.๒๕๓๘ รวมทั้งออกกฎหมายห้ามธุรกิจอบายมุขทุกชนิด เสนอขายหุ้นให้แก่ประชาชนทั่วไปและดำเนินการจดทะเบียนเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ด้วยเช่นกัน

งานนี้ต้องใช้หลักคิดแบบบูรณาการ และแบบองค์รวม โดยดูทั้งภาคเศรษฐกิจและภาคสังคม จึงจะสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของประเทศ เพราะความอยู่ดีมีสุขของคนทั้งประเทศ คือ พ้นจากภาวะยากจน รวมทั้ง แข็งแรงทั้งร่างกายและใจ ให้สมกับนโยบาย “ประเทศไทยแข็งแรง คนไทยแข็งแรง”

 

- ดร.สังคม -

[email protected]

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.093363332748413 Mins