มุทิตาสักการะ เปรียญธรรม ๙ ประโยค ๗ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๔๘

วันที่ 07 สค. พ.ศ.2548

เปรียญเก้า..เปรียญแก้ว

         วันนี้.. สายตาทุกคู่กำลังจับจ้องมองมายังพระมหาเปรียญแต่ละรูปด้วยความชื่นชมยินดี ในแววตาแต่ละดวงได้ถ่ายทอดความรู้สึกในใจออกมาให้เห็นอย่างเด่นชัด

          ในแววตาของ พระอุปัชฌาย์อาจารย์ เจ้าสำนักเรียน ได้บ่งบอกถึงความปีติสมหวังในความสำเร็จของศิษย์รัก “ ต้องให้ได้อย่างนี้สิ จึงจะสมกับเป็นลูกศิษย์ของอาตมา มิเสียแรงที่สู้อุตส่าห์สนับสนุนมาทุกทาง ทั้งทุ่มเทแรงกายแรงใจ ถ่ายทอดความรู้ที่มีอยู่ทั้งหมดมาให้โดยไม่ปิดบัง ก็เพื่อหวังจะให้เธอได้เป็นกำลังของพระศาสนาและนำชื่อเสียงมาสู่หมู่คณะ ในที่สุดเธอก็ทำได้

         ในแววตาของ พระเถรานุเถระ เจ้าคณะพระสังฆาธิการ ทั่วทั้งสังฆมณฑลที่เมตตาเดินทางมาร่วมพิธี ต่างก็ฉายแววแห่งความพึงพอใจออกมาให้เห็น “…พวกเราอุตส่าห์มาทั้ง ๆ ที่อยู่ไกล ก็เพื่อจะเป็นกำลังใจให้แก่พวกเธอ พอได้มาเห็นคลื่นลูกใหม่ที่ทยอยเข้ามาแทนคลื่นลูกเก่าก็เบาใจ อยากจะให้มี “มหา” เกิดขึ้นมามาก ๆ มีกันให้ทันใช้ ชาวโลกทั้งหลายกำลังเฝ้ารอ เพราะทุกคนต่างก็หิวธรรมะกันทั้งนั้น รอคอยว่าเมื่อไหร่จะมีผู้นำธรรมะไปมอบให้ นี่คือภาระหน้าที่ของพวกเธอทั้งหลาย จงจำไว้ว่าเธอจะสามารถทำสิ่งนี้ได้อย่างสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อ เธอรู้จักน้อมนำความรู้จากภาคปริยัติไปสู่ภาคปฏิบัติจนเกิดผลเป็นปฏิเวธ แล้วนำไปเทศนาสั่งสอนพวกเขา เมื่อเป็นเปรียญเก้าแล้วก็ขอให้เป็นเปรียญแก้วด้วย”

          ในแววตาของบรรดา ญาติโยมสาธุชน บ่งบอกถึงความชื่นชมยินดีที่ได้เห็นการปรากฏขึ้นอย่างมากมายของนักปราชญ์ทางพระพุทธศาสนา “โยมทุกคนต่างก็ดีใจอิ่มใจที่รู้ว่าข้าวปลาอาหารและปัจจัยทั้งหลายที่ถวายไปนั้นได้มีส่วนช่วยสนับสนุนให้ท่านมีกำลัง มีเรี่ยวมีแรงในการศึกษาเล่าเรียนจนสำเร็จมาถึงประโยคเก้า ช่างเก่งจริง งามจริง พ่อคุณเอ๋ย… ขออาราธนาให้ท่านทุกรูปจงอยู่เป็นศรีสง่า เป็นกำลังของพระศาสนาต่อไปนาน ๆ เถิด…”

             ในแววตาของคณะผู้จัดงาน (มูลนิธิธรรมกายและวัดพระธรรมกาย) ทั้งฝ่ายพระและฆราวาส ต่างก็บ่งบอกถึงความมุ่งหวังและความมีมุทิตาจิตอย่างจริงใจ “… การที่หมู่คณะของเราได้ทุ่มเทจัดงานใหญ่ ๆ อย่างนี้ ให้มีต่อเนื่องกันมาเกือบ ๒๐ ปี ก็เพื่อจะได้ช่วยกันยอยกพระพุทธศาสนา เชิดชูให้กำลังใจแก่มหาเปรียญผู้ยิ่งใหญ่ อยากให้ท่านเกิดความมั่นใจว่า บนเส้นทางนี้ยังมีผู้คนพร้อมที่จะให้การสนับสนุนท่านอีกมากมาย ขอให้ท่านตั้งใจทำหน้าที่สืบสานงานของพระพุทธศาสนาต่อไป ตามแบบอย่างที่บูรพาจารย์ทั้งหลายได้ทำมา …

          อีกทั้งการจัดงานใหญ่ที่มีพุทธบริษัทมาประชุมพร้อมกันมากมายอย่างนี้ ก็เพื่อจะให้ทุกท่านได้มองเห็นความสำคัญของการรวมกันเป็นหนึ่ง เพราะงานเผยแผ่พระพุทธศาสนา เพื่อนำสันติสุขไปสู่มวลมนุษยชาตินั้น เป็นงานใหญ่เกินกว่าที่ผู้หนึ่งผุ้ใดหรือคณะหนึ่งคณะใดจะทำเพียงลำพัง มิใช่ต่างคนต่างทำ แต่ต้องพร้อมเพรียงกันทำ เพื่อให้พระพุทธศาสนาดำรงอยู่คู่โลกตลอดไป

นั่นคือ “พุทธบุตรต้องเป็นหนึ่งเดียวกัน

เหมือนดวงตะวันที่มีดวงเดียว”

           การศึกษาภาษาบาลี ภาษาแห่งธรรมะ ภาษาสวรรค์ ที่จะเป็นดุจประทีปส่องนำทางผู้ศึกษาให้ศึกษา เรียนรู้พระธรรมคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้อย่างลุ่มลึกและถูกต้อง เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติและปฏิเวธสืบไป

          ดังนั้น โอกาสและความสำเร็จของพระภิกษุสามเณรที่ได้สำเร็จการศึกษาภาษาบาลีชั้นสูงสุด คือ เปรียญธรรม ๙ ประโยค เป็นสิ่งที่ไม่ได้เกิดขึ้นได้ง่ายดายนัก

          ปีนี้ก็เช่นกัน ที่มีผู้สำเร็จเป็นมหาเปรียญผู้ยิ่งใหญ่จำนวน ๖๗ รูป เป็นพระภิกษุ ๕๑ รูป และสามเณร ๑๖ รูป

           ขอแสดงมุทิตาจิตมาด้วยความยินดีเป็นอย่างยิ่งกับทุก ๆ ท่าน รวมถึงผู้อยู่เบื้องหลังแห่งความสำเร็จนี้ ก็คือ เจ้าสำนักเรียนและสำนักเรียนเกียรติยศด้วยเช่นกัน

         และนับเป็นวโรกาสพิเศษอีกวาระหนึ่ง ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ผู้ทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก ได้พระราชทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทยที่ศึกษาภาษาบาลี และในมหาวิทยาลัยสงฆ์ไทย

******************

รางวัลเกียรติยศ ยอดสำนักเรียนบาลี        การสอบบาลสนามหลวง ถือเป็นมาตรการสำคัญในการวัดภูมิปัญญาและผลการศึกษาทางด้านพระปริยัติธรรมของคณะสงฆ์ไทย ผลการสอบที่ประกาศออกมาแต่ละปี นับว่ามีความหมายทั้งต่อตัวผู้สอบและสำนักต้นสังกัดเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากทางแผนกบาลีสนามหลวงได้กำหนดกฎเกณฑ์การสอบได้ไว้ค่อนข้างสูง แต่ละปีจึงมีจำนวนผู้สอบได้น้อยกว่าผู้สอบตก ยิ่งประโยคสูง ๆ ขึ้นไปก็ยิ่งมีผู้เรียนและผู้สอบได้น้อยลงไปเป็นลำดับ โดยเฉพาะประโยค ๙ อันเป็นประโยคสูงสุดด้วยแล้ว ในปีหนึ่ง ๆ จะมีผู้สอบได้เพียงแค่ไม่กี่สิบรูปเท่านั้น

        เหตุนี้ จึงเป็นที่น่ายินดีว่า ผลการสอบบาลีสนามหลวงในปี พ.ศ.๒๕๔๘ นี้ได้มีผู้สอบชั้นประโยค ๙ ได้มากที่สุดเป็นประวัติการณ์ถึง ๖๗ รูป และยังเป็นปีที่มีสามเณรสอบได้มากที่สุดถึง ๑๖ รูป เรียกว่าเป็นการสร้างสถิติใหม่ขึ้นในวงการศึกษาของคณะสงฆ์ไทยถึงสองรายการเลยทีเดียว สำหรับวัดที่สอบชั้นประโยค ๙ ได้มากที่สุดคือ วัดพระธรรมกาย ๘ รูป รองลงมาได้แก่ วัดเทพลีลา ๗ รูป วัดสร้อยทอง ๕ รูป วัดโมลีโลกยาราม ๔ รูป และวัดจองคำ ๓ รูป ตามลำดับ

          ปีนี้นับเป็นปีแรกที่เปิดโอกาสให้มีการสอบครั้งที่สอง สำหรับประโยคชั้น ป.ธ.๕ ลงมา ซึ่งปรากฏว่ามีผู้สอบได้เพิ่มขึ้นอีก ๑,๕๓๙ รูป หรือเพิ่มขึ้นอีกเกือบ ๑๐%

          จากผลสอบดังกล่าว เป็นที่น่าชื่นชมยินดีว่า การศึกษาของคณะสงฆ์ได้กระจายความเจริญออกไปอย่างน่าพอใจ เพราะสำนักเรียนที่มีผลงานอยู่ในระดับแนวหน้าทั้ง ๕ แห่ง ล้วนเป็นสำนักเรียนในส่วนภูมิภาคทั้งสิ้น และส่วนใหญ่ก็มีผลงานเป็นที่คุ้นหน้าคุ้นตาต่อเนื่องกันมาหลายปี

       เป็นที่น่าชื่นชมและอนุโมทนาสาธุการต่อครูบาอาจารย์และสำนักเรียนต่าง ๆ ที่ได้ทุ่มเทให้การสนับสนุนส่งเสริมการเรียนการสอนพระปริยัติธรรมแผนกบาลีโดยมีส่วนช่วยกันสร้าง “มหาเปรียญ” ไว้ให้แก่โลกอย่างไม่ขาดสาย เพราะการศึกษาภาษาบาลีนั้น นับเป็นประตูเปิดทางไปสู่การศึกษาพระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ถูกบันทึกไว้ด้วยภาษาที่ละเอียดลึกซึ้ง ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่ช่วยรักษาคำสอนของพระบรมศาสดาให้สืบทอดยั่งยืนมาได้จนถึงทุกวันนี้ อาจกล่าวได้ว่า ความเจริญก้าวหน้าของการศึกษาภาษาบาลี มีผลโดยตรงต่อความเจริญมั่นคงของพระพุทธศาสนาด้วยเช่นกัน.

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.00102858543396 Mins