.....สงฆ์เหล่าใด ผู้ถึงพร้อมด้วยศีลาจารวัตรอันงดงาม บริสุทธิ์ บริบูรณ์ในพระธรรมวินัย ย่อมดำรงฐานะสังฆบดีคู่แผ่นดิน แห่งพระมหาธรรมราชาผู้ประเสริฐ และย่อมดำรงฐานะเนื้อนาบุญอันเลิศของเหล่าพุทธศาสนิกชน คุณสมบัติอันน่าสรรเสริญเหล่านี้ ประชุมรวมอยู่ในพระมหาเถระผู้เป็นปฐมสมเด็จแดนล้านนา มงคลนามว่า สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ ( สุวรรณ สุวณฺณโชโต) เปรียญธรรม ๗ ประโยค
ชาติภูมิ นามเดิม สุวรรณ เขื่อนเพชร มารดา นางขันแก้ว เวียงมูล บิดา นายจี๋ วงศ์เรืองศรี เกิดเมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน พ. ศ. ๒๔๖๓ ที่บ้านนางแล ตำบลนางแล จังหวัดเชียงราย
พ. ศ. ๒๔๗๗ ได้บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดนางแล โดยมีพระครูสุตาลังการ วัดกลางเวียง ตำบลในเวียง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย เป็นพระอุปัชฌาย์ แล้วเดินทางเข้ามาอยู่วัดเบญจมบพิตร ในปี พ. ศ. ๒๔๗๙
พ. ศ. ๒๔๘๓ อุปสมบท ณ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม มีพระพรหมมุนี ( สมเด็จพระสังฆราช กิตฺติโสภโณ) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระสรภาณกวี ( คอน นนฺทิโย ต่อมาเป็นพระมงคลวัตรกวี) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระราชเทวี ( ดอกไม้ อุตฺอุตภทฺโท) วัดเบญจมบพิตร เป็นพระอนุสาวนาจารย์
เมื่อุปสมบทแล้วได้ศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมต่อมา จนสอบไล่ได้เป็นเปรียญธรรม ๗ ประโยค ในปี ๒๔๙๐ ต่อมาปี พ. ศ ๒๔๙๓ โปรดแต่งตั้งเป็นพระราชาคณะที่ พระกิตติวงศ์เวที และได้เลื่อนสมณศักดิ์ขึ้นเป็นลำดับ จนถึงสมณศักดิ์สุดท้ายที่ สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ ในปี พ. ศ. ๒๕๓๒
ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้รับเลือกให้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดเบญจมบพิตรฯ เมื่อปี พ. ศ. ๒๕๐๖ นับเป็นเจ้าอาวาสรูปที่ ๓ ต่อจาก เจ้าประคุณสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลสังฆปรินายกกิตติโสภโณมหาเถระ ( ปลด กิตฺติโสภโณ เปรียญธรรม ๙ประโยค )
สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ ( สุวรรณ สุวณฺณโชโต) เป็นพระมหาเถระรูปแรกของถิ่นล้านนา ได้รับพระราชทานสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะชั้นสุพรรณบัฏ พระผู้อุทิศแรงกายแรงใจทำหน้าที่เสาหลักแห่งสังฆมณฑลอย่างสุดความสามารถ ผลงานการเผยแผ่ธรรมของท่าน มีชื่อเสียงขจรขจายไปไกลทั้งในประเทศและต่างประเทศ
อุดรมหาคณปธานาดิศร
ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ดำรงหน้าที่แห่งเจ้าคณะใหญ่หนเหนือ ผู้ให้การปกครองดูแลพระภิกษุสงฆ์ในภาคเหนือทั้งหมด ๑๖ จังหวัด เป็นกรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าคณะภาค และเป็นแม่กองบาลีสนามหลวง ผู้ให้การส่งเสริมการศึกษาปริยัติธรรม แผนกบาลีอย่างกว้างขวาง ซึ่งถือเป็นหลักสำคัญ ในการรักษาพระธรรมคำสอนแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ถูกต้องและสืบทอดยาวนาน
งานพัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขา
ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ เป็นปูชนียภิกขุผู้ให้การสงเคราะห์แก่หมู่สงฆ์และชนทั้งผองด้วยเมตตาธรรม โดยเฉพาะกลุ่มชนชาวเขาที่อาศัยอยู่ตามป่าลึกในท้องถิ่นทุรกันดาร ตามชายแดนภาคเหนือ และภาคตะวันตกของประเทศไทย ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้นประมาณ ๕๐๐ , ๐๐๐ คน ท่านเปรียบเสมือนเทียนเล่มแรกที่เปล่งแสงสว่าง ท่ามกลางความมืดมิดในจิตใจของชาวเขาเหล่านี้
จนบัดนี้ได้เกิดผลดี มีชาวเขาประกาศตนเป็นพุทธมามกะจำนวนมาก ในทุกชุมชนที่เจ้าประคุณสมเด็จฯ ย่างเหยียบไปถึง ได้นำพาความร่มเย็นไปสู่ดินแดนแห่งนั้น บิดามารดาต่างพาบุตรหลานเข้ามาบวชเป็นพระภิกษุสามเณร จนถึงปัจจุบันมีชาวเขาเข้ามาบรรพชาอุปสมบทจำนวน ๓ , ๐๒๑ คน
ผลงานด้านพัฒนาของท่านปรากฏมาจนทุกวันนี้ คือเป็นผู้ก่อตั้งและเป็นประธานพระธรรมจาริก ส่งภิกษุสามเณรไปเผยแพร่พระพุทธศาสนาแก่ชาวเขา ตั้งแต่ ปี ๒๕๒๘ เป็นต้นมา จนบัดนี้ งานพระธรรมจาริกเป็นหลักฐานมั่นคง เป็นประโยชน์อย่างยิ่งแก่ชุมชนไทยภูเขา
พระอุปัชฌาย์ของเหล่าธรรมทายาท
พระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรฯ ได้ชื่อว่าเป็นโบสถ์หินอ่อนที่งดงามที่สุดในประเทศไทย ในขณะเดียวกันถือว่าเป็นพระอุโบสถที่มีกุลบุตรเข้ามาบรรพชาอุปสมบทมากที่สุดในประเทศไทย
ดังนั้น ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ จึงเป็นพระอุปัชฌาย์ที่มีสัทธิวิหาริกมากที่สุดในประเทศไทย แม้กระทั่งทั่วโลก
ท่านเป็นเล็งเห็นการณ์ไกลในการที่จะพัฒนาเยาวชนผู้ที่จะเป็นอนาคตอันสำคัญของชาติ ปรารถนาจะให้บัณฑิตที่เรียนจบออกไป เป็นผู้มี “ ความรู้คู่คุณธรรม” ดังนั้น ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ จึงให้การอุปถัมภ์ และสนับสนุนโครงการอบรมธรรมทายาท บรรพชาอุปสมบทหมู่ให้แก่นักเรียน นิสิตนักศึกษาจากทั่วประเทศเป็นเวลาถึง ๑๑ ปี ทำให้มีคนดีเกิดขึ้นในสังคมมากมาย เมล็ดพันธุ์แห่งคุณธรรม ได้ถูกหว่านลงในดวงใจของพวกเขา เพื่อจะเติบโตไปเป็นความหวังใหม่ของคนไทยทั้งชาติต่อไป
ในด้านการต่างประเทศ สมเด็จฯ ได้เดินทางไปปฏิบัติศาสนกิจในต่างประเทศถึง ๒๒ ครั้งสนับสนุนให้พระภิกษุในปกครองได้มีการศึกษาในระดับสูงถึงปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอกจำนวนมาก ทั้งยังส่งไปเป็นพระธรรมทูตในต่างประเทศ และที่สำคัญได้เป็นประธานอุปถัมภ์สร้างวัดพุทธรังสี ที่รัฐไมอามี่ สหรัฐอเมริกา และเป็นประธานอุปถัมภ์สร้างวัดศรีนครินทราบรมราชชนนี ประเทศสวิตเซอร์แลน
ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ ( สุวรรณ สุวณฺณโชโต ป. ธ. ๗) ได้ถึงแก่มรณภาพ เมื่อวันที่ ๒๒ กันยายน ๒๕๓๗ รวมชนมายุได้ ๗๔ ปี
ปฏิปทาของท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ดังที่ได้พรรณนามานี้ยังเป็นส่วนน้อย เมื่อเทียบกับผลงานอันยิ่งใหญ่ที่ท่านฝากไว้ให้กับสังคมไทย ด้วยความซาบซึ้งในคุณูปการอันประเสริฐ เหล่าศิษยานุศิษย์
จึงขอน้อมนบมือพนมต่างธูปเทียน พวงมาลัยดอกไม้ แด่ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ผู้ควรแก่การอภิวาทยิ่งด้วยเศียรเกล้า