ทำอย่างไรดีกับการดื่มสุราของสังคม

วันที่ 22 พย. พ.ศ.2548

        

 

  

       โดย วรากรณ์ สามโกเศศ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ [email protected]  .th

ทุกครั้งเมื่อใกล้สงกรานต์ ประเด็นอุบัติเหตุทางรถยนต์อันเกิดจากเมาสุราก็จะเป็นเรื่องสำคัญขึ้นมา ภาครัฐปรารถนาที่จะทำให้ตัวเลขผู้ตายและบาดเจ็บลดน้อยลง แต่ก็ยังไม่ประสบ ผลสำเร็จเท่าที่ควรสักปี มีความเป็นไปได้มากว่าเป็นเพราะสังคมของเราขาดความรู้ในเรื่องพฤติกรรมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ดังนั้น นโยบายที่คิดว่าได้ผลจึงกลับเป็นกระสุนด้านไป

          เมื่อปลายเดือนมีนาคม 2548 นักวิจัยทีมหนึ่งจากคณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ นำโดย ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักเศรษฐศาสตร์และนักวิจัยผู้มีความสามารถและมีความซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพอย่างน่าชื่นชม ได้เสนอผลงานต่อเวทีนโยบายสาธารณะอย่างน่าสนใจ ผมขอยกบางประเด็นมาขยายความ
คณะผู้วิจัย(ประกอบด้วยหัวหน้าทีมและ ดร.สิทธิศักดิ์ ลีลหานนท์ ดร.สมชาย สุขสิริเสรีกุล ดร.เอื้อมพร ตสาสีดา จากธรรมศาสตร์ และนายเศก เมธาสุรารักษ์ และนายสมเกียรติ เรืองจันทน์ จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย) ใช้เศรษฐมิติ และการวิเคราะห์เชิงพรรณนา โดยใช้ข้อมูลระดับชาติและข้อมูลการสำรวจผู้บริโภค 1,295 คน จาก 5 จังหวัดใน 4 ภาค ระยะเวลาสำรวจ คือ ตุลาคม-พฤศจิกายน 2547

          ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสุราโดยทั่วไป ทีมวิจัยพบว่า (1) ปริมาณการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของคนไทยต่อหัวสูงขึ้นเรื่อยๆ อันเป็นผลจากการที่ผู้บริโภคมีรายได้มากขึ้น ราคาเครื่องดื่มลดลงอย่างต่อเนื่องอันเป็นผลมาจากการแข่งขันด้านราคาของผู้ผลิต (2) ผู้ดื่มมีการทดแทนกันระหว่างสุรา 5 ประเภท (สุราสี สุราขาว เบียร์ สุรานำเข้า ไวน์) สูง ถ้าราคาของสุราใดสูงก็จะบริโภคสุราชนิดอื่นทดแทน ดังนั้น ถ้าจะใช้มาตรการภาษีเพื่อลดการบริโภคต้องเพิ่มภาษีสุราทุกประเภทพร้อมกัน (3) การรณรงค์โดยภาครัฐบาลและองค์กรต่างๆ เช่น เมาไม่ขับ งดเหล้าเข้าพรรษา ฯลฯ ไม่ทำให้ปริมาณการบริโภคต่อหัวลดลง แต่อาจมีผลในการลดอุบัติเหตุอยู่บ้าง (4) นโยบายจำกัดหรือห้ามการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไม่มีผลต่อการลดความต้องการบริโภค ยกเว้นในกรณีของเครื่องดื่มนำเข้าเท่านั้น (5) การรณรงค์ประชาสัมพันธ์ที่ผู้บริโภคคิดว่าจะเป็นผลก็คือ การเน้นถึงผลกระทบต่อคนที่รัก และสถาบันครอบครัว
ในเรื่องพฤติกรรมของการบริโภคสุรา ทีมงานวิจัยพบว่า (1) สาเหตุสำคัญที่สุดของการดื่มสุราครั้งแรกคือเพื่อนชักชวน ความจำเป็นในการเข้าสังคม และอยากทดลองด้วยตนเอง (2) จากข้อมูลกลุ่มตัวอย่าง คนไทยดื่มสุราเฉลี่ย 7 ครั้งต่อเดือน ใช้เงินซื้อสุราเฉลี่ย เดือนละ 1,063 บาท หรือร้อยละ 12 ของรายได้เฉลี่ยต่อหัว คนกรุงเทพฯ มีค่าใช้จ่ายสุราสูงสุดเฉลี่ยเดือนละ 1,354 บาทต่อเดือน (3) การหาซื้อสุราเป็นเรื่องที่สะดวกมาก เพราะร้านอยู่ใกล้บ้าน โดยเฉลี่ยผู้ซื้อใช้เวลาเพียง 7.5 นาที (อีสานใช้เวลาน้อยที่สุดเพียง 5.8 นาที เพราะในหมู่บ้านมีร้านค้าหลายร้าน) (4) ปัจจัยสำคัญที่สุดที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจดื่มสุราคือ จำนวนสมาชิกที่ดื่มสุราในครอบครัว(ยิ่งมีคนดื่มกันมาก ยิ่งมีอิทธิพลมาก) (5) ในเรื่องความถี่ในการดื่ม ผู้มีการศึกษาสูง ผู้ดื่มเบียร์และไวน์จะดื่มน้อยครั้งกว่าผู้ดื่ม สุราสี สุราขาว เหล้าขาวที่ผลิตในประเทศ ส่วนรายได้ไม่ใช่ตัวกำหนดความถี่ในการดื่ม ที่น่าสนใจก็คือหากอยู่ใกล้ร้านจำหน่าย หรือร้านอาหาร บาร์ ความถี่จะสูงขึ้น

          คณะผู้วิจัยกล่าวว่าในช่วงเวลา 30 ปีที่ผ่านมา แนวคิดของรัฐบาลต่างประเทศเกี่ยวกับ "การควบคุมปริมาณการบริโภค" ที่มีมาแต่ดั้งเดิม ได้เปลี่ยนไปเป็น "การลดความเสียหายที่เกิดจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์" เนื่องจากแนวคิดเดิมมิได้คำนึงถึงพฤติกรรมของคน ไม่แยกแยะการบริโภคที่ก่อและไม่ก่อความเสียหาย ไม่คำนึงถึงเรื่องวัฒนธรรมและสิทธิในการเลือกของบุคคล
แนวคิดใหม่ที่มุ่งลดความเสียหายนั้นครอบคลุมทั้งการป้องกันผลเสีย การบำบัด และการปกป้องบุคคลและสังคมจากการบริโภคซึ่งเป็นที่ประจักษ์ว่าได้ผลมากกว่าแนวคิดเดิม เพราะสอดคล้องกับโลกแห่งความเป็นจริง(เมื่อห้ามมันไม่ได้ก็พยายามลดความเสียหาย) แนวทางการแก้ไขใช้ 5 มาตรการหลักคือ (ก) การเข้าถึง (การซื้อ) ด้วยวิธีการด้านราคาและภาษี (จำกัดอายุ/สถานที่ซื้อขาย) (ข) ให้ความรู้สาธารณชนและเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการบริโภคสุรา (ค) จำกัดเนื้อหาการโฆษณาผ่านสื่อ (ง) เข้มงวดมาตรการดื่มและขับรถ (ลดอัตราแอลกอฮอล์ในเลือดของผู้ขับขี่เพื่อลงโทษได้ง่ายขึ้น) และ (จ) บำบัดรักษาผู้ดื่มสุรา

           การดำเนินการในบ้านเราที่ได้ผลอยู่แล้วควรดำเนินการต่อไป ได้แก่ (1) บังคับการใช้กฎหมาย พ.ร.บ. จราจรทางบกในเรื่องห้ามคนเมาสุราขับรถให้เข้มข้นขึ้น เช่น มีการตั้งด่านตรวจคนเมาสุราขับรถด้วยเครื่องมือตรวจวัดที่ทันสมัยอย่างกว้างขวาง ออก พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่ไม่ให้มีการจำหน่ายสุรากับเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ห้ามจำหน่ายสุราใกล้สถานศึกษาและวัด ห้ามโฆษณาสุราทางสื่อ โทรทัศน์ในบางช่วงเวลา (2) การรณรงค์ต่างๆ ให้เห็นผลเสียของสุรา ตลอดจนชี้นำไม่ให้ขับรถเมื่อ ดื่มสุรา ฯลฯ
ข้อเสนอเพิ่มเติมของคณะผู้วิจัย ได้แก่ (1) รัฐควรขึ้นภาษีสรรพสามิตสุราทุกประเภทพร้อมกันเพื่อทำให้สุราแพงขึ้น เพื่อจะได้บริโภคน้อยลง (2) ตรวจจับแอลกอฮอล์ในลมหายใจผู้ขับขี่โดยเน้นตรวจสอบใกล้สถานบันเทิง และขยายเวลาการตรวจในช่วงหัวค่ำ (20.00-22.00 น.) และลดระดับแอลกอฮอล์ในลมหายใจสำหรับเยาวชน (อายุไม่เกิน 25 ปี) ให้ต่ำกว่าผู้ใหญ่พร้อมกับเพิ่มค่าปรับผู้กระทำผิด ให้ทำงานบริการสังคม และประกาศชื่อในสื่อสาธารณะ (3) กำหนดเขตที่อยู่อาศัยปลอดบันเทิง และเขตสถานบันเทิงอย่างมีหลักเกณฑ์ พร้อมเข้มงวดในการออกใบอนุญาตสถานบันเทิงและร้านค้าสุรา (ปัจจุบันกรมสรรพสามิตมีบริการ one-stop-service แก่ผู้ผลิตและผู้ขออนุญาตขายปลีกสุรา กล่าวคือร้านค้าที่ขออนุญาตขายสุราสามารถดำเนินได้เสร็จใน 1 วัน) (4) เก็บภาษีธุรกิจพิเศษสถานบันเทิงและเพิ่มค่าธรรมเนียมจำหน่ายสุรา (5) สร้างกลไกตรวจสอบร้านจำหน่ายสุราให้ปฏิบัติตามกฎหมาย โดยอาศัยภาคประชาสังคมและมีการจัดทำประวัติร้านค้าที่ทำผิดกฎหมาย (6) บังคับให้บริษัทผู้ผลิตและขายสุราต้องซื้อเวลาและพื้นที่โฆษณาให้แก่สำนักการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เช่น หากซื้อโฆษณาสินค้า 1 นาที ต้องจ่ายเงินซื้อเวลาให้ สสส. 1 นาที เช่นกัน เพื่อลดต้นทุนทางสังคมที่อาจเกิดขึ้นจากการบริโภคเพิ่มขึ้นเพราะการโฆษณา (7) สสส. ควรสนับสนุนให้มีการรายงานสถานการณ์บริโภคสุราในระดับชาติ ท้องถิ่น พร้อมทั้งให้ท้องถิ่นร่วมกันคิดหาวิธีลดผลเสียหายจากการดื่มสุราในชุมชน รวมทั้งสนับสนุนให้ประชาชนทำกิจกรรมสันทนาการด้านต่างๆ แทนการดื่มสุรา

          หากใช้ผลงานวิจัยจากการศึกษานี้เพื่อลดสถิติอุบัติเหตุในช่วงสงกรานต์นี้ จะต้องพยายามลดความสะดวกในการซื้อหา (ห้ามขายริมถนน บังคับการใช้กฎหมายเรื่องค้าขายเข้มข้น) ตรวจจับแอลกอฮอล์ในเลือดอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะบนถนนหลวงตั้งแต่หัวค่ำ บังคับใช้กฎหมายในเรื่องการบริโภคสุราในรถและในสถานที่สาธารณะที่ไม่ได้รับอนุญาต
คณะผู้บริโภคได้ประเมินว่ามีความเสียหายจากการดื่มสุรามูลค่า 13,000-33,653 ล้านบาทต่อปี ในมูลค่านี้ร้อยละ 38 เป็นต้นทุนส่วนบุคคลจากการดื่มสุรา ได้แก่ การเจ็บป่วยจากโรค ซึ่งประกอบด้วยค่าใช้จ่ายในการบำบัดรักษาโรค ต้นทุนเวลาในการบำบัดและขาดงาน และมูลค่าการสูญเสียชีวิตจากการเจ็บป่วย ส่วนอีกร้อยละ 62 เป็นต้นทุนต่อสังคมจากการดื่มสุรา การตายและบาดเจ็บจากอุบัติเหตุของบุคคลต่างๆ ที่เกิดจากบุคคลผู้ดื่มสุรา ซึ่งประกอบด้วยมูลค่าการสูญเสียชีวิตและบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางจราจรที่มาจากการดื่ม มูลค่าการรักษาอุบัติเหตุและมูลค่าการสูญเสีย รายได้จากการรักษาพยาบาลอุบัติเหตุ

          ถ้าสามารถคิดมูลค่าน้ำตาของครอบครัว และผลเสียต่อจิตใจและชีวิตของคนใน ครอบครัวอันเกิดจากการดื่มสุราได้ ตัวเลขนี้เมื่อนำไปรวมกับความเสียหายข้างต้นแล้วต้องมากกว่าหมื่นๆ ล้านบาทอย่างแน่นอน
แอลกอฮอล์ทำร้ายตับได้ฉันใด น้ำตาที่เกิดจากผลของแอลกอฮอล์ก็บั่นทอนหัวใจที่ปรารถนาจะมีชีวิตอยู่บนโลกนี้อย่างมีความสุขฉันนั้น


 

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน ปีที่ 28 ฉบับที่ 9,889 วันที่ 7 เมษายน 2548 หน้า 6

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0014912168184916 Mins