.....ความคิดที่จะเขียนเรื่องนี้เกิดขึ้น เมื่อได้ขึ้นไปเที่ยวและทำงานไปพร้อมๆ กัน ที่บริเวณป่าสนของศูนย์บำรุงพันธุ์ไม้สนทางตอนใต้ของจังหวัดเชียงใหม่ ไกลออกไปจากความจอแจใดๆ ได้อยู่ใกล้ชิดกับธรรมชาติ ได้ยินเสียงนกเคล้ากับเสียงกระดึงคอควาย ได้พูดคุยกับชาวลั๊วะผู้เคยเป็นเจ้าของวัฒนธรรมอันเก่าแก่ของผู้คนละแวกนี้
.....รู้ตัวได้ทันทีว่า ขณะนั้น เวลานั้น ลืมกรุงเทพฯ เสียสนิทใจ รู้สึกเหมือนได้หลุดออกไปจากพันธนาการของสังคมคนกรุง ที่ร้อยเอารถยนต์หลากหลายราคามาเรียงรายคล้ายลูกประคำหลากสี แล้วยัดเยียดใส่ลงบนถนนเนื้อที่จำกัดทั้งความยาวและความกว้าง แถมด้วยตึกรามบ้านช่องล้อมรอบอีกชั้นดูเหมือนกรงคอนกรีตสูงเสียดฟ้า
…ยังไม่พอแค่นั้น ยังคลุมด้วยมุ้งทึบๆ ของควันพิษจากก๊าชคาร์บอนมอนนอกไซด์มากหลาย…
.....ความคิดที่ว่าคนเมืองกรุงติดสุขขาดกระจุยหมดไป กลายเป็นความสงสัยว่า ทำไมผู้คนถึงต้องทนติดทุกข์อยู่อย่างนั้น
.....อยู่ที่นั่น ธรรมชาติและความเรียบง่ายสอนอะไรต่ออะไรมากมาย คล้ายๆ จะเข้าใจสัจธรรมของธรรมชาติ ว่านี่แหละ คือกุญแจที่จะไขไปสู่ความสงบสบายในจิตใจของมนุษย์ทุกคน แต่เมื่อเราไม่สามารถเข้าไปอยู่กับธรรมชาติได้ตลอดเวลา จึงจำเป็นต้องจำลองธรรมชาติ คือ ความเขียวขจีเข้ามาไว้ใกล้ๆ ตัวเราที่ บ้าน ฉะนั้น เมื่อกลับถึงบ้าน จึงไม่ลังเลใจที่จะปฏิรูปพื้นที่ใหม่ทันที
.....น้ำ และ ความเขียว จึงถูกจัดวางตั้งแต่หน้าบ้านเป็นต้นไป ภาชนะหรือองค์ประกอบที่ใช้เลือกวัสดุธรรมชาติที่ดูเรียบง่าย สบายตา เพื่อหลีกตัวเองให้พ้นจากสิ่งแวดล้อมที่คราคร่ำไปด้วยวัตถุ ปรากฎว่าภายในบ้านหลังน้อยๆ กลับดูโล่งสบายตา ข้าวของจัดไว้ง่ายๆ ไม่ซับซ้อน อะไรไม่ใช้ ไม่เก็บ ไม่ซื้อ ไม่รกรุงรัง ดูสว่าง สะอาด ตัดกับสีเขียวของธรรมชาติและความเย็นจากน้ำ ไม่ว่าจะมองมุมไหนดูดีไปหมด
.....แต่องค์ประกอบของ บ้านสบาย ที่แท้จริง มีเพียงธรรมชาติเท่านั้นคงยังไม่พอ เพราะพระพุทธองค์ท่านตรัสไว้ว่า ปฏิรูปเทส ๔ คือ การอยู่ในถิ่นที่เหมาะสม นอกจากการทำบ้านให้ร่มรื่นน่าอยู่ หรือที่เรียกว่า อาวาสเป็นที่สบายแล้ว ยังต้องมีปัจจัยอย่างอื่นเพิ่มมาอีก ๓ อย่าง คือ อาหารเป็นที่สบาย บุคคลเป็นที่สบาย และธรรมะเป็นที่สบายด้วย ….จึงจะเรียกว่า บ้านสบาย อย่างแท้จริง ….
.....เพราะคงรู้กันอยู่แล้ว …ว่าคับที่อยู่ได้ คับใจอยู่ยาก
.....และถ้าคนที่บ้านไม่มีธรรมะ …อีกทั้งอาหารการกินยังอัตคัต
…คำว่า บ้านสบาย คงหาไม่ได้ในโลกเซลล์ลูลอยด์ตลอดไป …
อุบลเขียว