พระราชกรณียกิจ..ด้านการศาสนา

วันที่ 29 พค. พ.ศ.2549

 

        ในด้านศาสนา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯได้ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจหลายประการในการทะนุบำรุงศาสนาต่างๆ ในประเทศไทยมีพระราชจริยวัตรเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา และทรงเป็นพุทธมามกะผู้เคร่งครัดและสม่ำเสมอด้วย ปฏิบัติบูชาทรงพระกรุณาประมวลคำสอนของพระภิกษุผู้เป็นพระอาจารย์ทรงคุณธรรมสูง พระราชทานแก่ข้าราชบริพารและข้าราชการในราชสำนัก ด้วยมีพระราชประสงค์ให้ข้าราชสำนักเป็นผู้ใฝ่ในทางธรรม เพื่อความเจริญของตนเองและหมู่คณะ ทั้งในหน้าที่การงานและชีวิตส่วนตัว การเกื้อกูลข้าราชบริพารเช่นนี้ เป็นวัตรข้อหนึ่งในจักวรรดิวัตร นอกจากนั้น ยังได้พระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์คุ้มครองและให้ความเป็นธรรมแก่ทุกศาสนา

 

......... พระเจ้าอยู่หัวได้ทรงประกอบพระราชกรณียกิจนานัปการ เพื่อส่งเสริมบำรุงให้พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองยิ่ง ๆ ขึ้น เช่น เสด็จพระราชดำเนินบำเพ็ญพระราชกุศลในวันสำคัญทางศาสนา อาทิ วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา โปรดเกล้าฯ ให้จัดประกวดการแต่งหนังสือเกี่ยวกับพุทธศาสนาเนื่องในวันวิสาขบูชา จัดพิมพ์จำหน่ายในราคาถูกเพื่อเผยแพร่แก่สาธารณชน
 

......... เสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐินตามวัดต่าง ๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระพุทธรูปสำคัญ คือ พระพุทธนวราชบพิตรพระราชทานเป็นพระพุทธรูปประจำจังหวัดต่าง ๆ พระพุทธรูปปางประทานพรที่เรียกกันว่าพระ ภ.ป.ร. และพระพิมพ์กำลังแผ่นดิน สมเด็จจิตรลดา นอกจากนั้นยังได้พระราชทานพระราชทรัพย์ปฏิสังขรณ์บำรุงวัดวาอารามและปูชนียสถานต่าง ๆ ทางศาสนา พระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์แก่สามเณรที่สอบไล่ได้เปรียญธรรม ๙ ประโยค อุปสมบทเป็นพระภิกษุและทรงอุปสมบทนาคหลวงทุกปี

 

......... นอกจากพระราชกรณียกิจดังกล่าวข้างต้นแล้ว พระเจ้าอยู่หัวยังได้เสด็จพระราชดำเนินไปในพิธีศาสนาตามที่ประชาชนกราบบังคมทูลอัญเชิญ เช่น ฝังลูกนิมิต ผูกพัทธสีมา ยกช่อฟ้า วางศิลาฤกษ์พระอุโบสถเททองหล่อพระประธาน และหล่อเทียนพรรษา เป็นต้น
 

......... พระราชกรณียกิจที่สำคัญยิ่ง คือ การเสด็จออกทรงพระผนวชระหว่างวันที่ ๒๒ ตุลาคม - ๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๙ รวมเวลา ๑๕ วัน แม้จะเป็นระยะเวลาน้อยเนื่องจากทรงมีพระราชภารกิจอยู่มาก แต่ก็เป็นการแสดงถึงพระราชศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างสมบูรณ์ยิ่ง

 

........ ในฐานะที่ทรงเป็นองค์อัครศาสนูปถัมภก พระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์บำรุงศาสนาอื่น ๆ ในพระราชอาณาจักรโดยทั่วถึงกัน ได้เสด็จพระราชดำเนินไปร่วมงานของศาสนาต่าง ๆ ตามคำกราบบังคมทูลอัญเชิญ เช่น เสด็จพระราชดำเนินในงานเมาลิดกลางของศาสนาอิสลาม และเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธานในงานฉลองครบรอบ ๕๐๐ ปีแห่งศาสนาสิกข์ ณ โรงละครแห่งชาติ เมื่อวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๑๒ เป็นต้น

 

......... นอกจากนั้น ยังได้พระราชทานพระราชทรัพย์อุปถัมภ์บำรุงศาสนาอื่น ๆ พระราชทานพระบรมราโชวาทแก่ผู้แทนขององค์การศาสนาต่าง ๆ

 

......... เพื่อเป็นแนวทางในการอบรมสั่งสอนให้ประชาชนเป็นคนดี ตามหลักการแห่งศาสนาของตน อันจักเป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยส่วนรวมสืบไป กล่าวได้ว่า พระบารมีและบรมราชูปถัมภ์ที่พระเจ้าอยู่หัวพระราชทานแก่ศาสนาต่าง ๆ ทำให้ประชาชนทุกชาติทุกภาษา ทุกศาสนาต่างอาศัยอยู่ร่วมกันในประเทศไทยอย่างสงบสุขราบรื่น โดยไม่ปรากฎความขัดแย้งกัน

 

และทั้งนี้เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี จากที่ประชุม มส.ได้ลงมติเห็นชอบพิจารณาการจัดกิจกรรมร่วมฉลองในงานมหามงคลดังกล่าว โดยจะมีการยกวัดราษฎร์ขึ้นเป็นพระอารามหลวง ซึ่งถือว่าเป็นกิจกรรมหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างมาก โดยวัดราษฎร์ขึ้นเป็นพระอารามหลวงจำนวน 12 วัด ทั่วประเทศประกอบด้วย วัดเทพลีลา เขตบางกะปิ กทม., วัดจองคำ อ.งาว จ.ลำปาง, วัดบางไผ่ อ.บางบัวทอง จ.นนทบรี, วัดตากฟ้า อ.ตากฟ้า จ.นครสวรรค์, วัดพัฒนาราม อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี, วัดกะพังสุรินทร์ อ.เมือง จ.ตรัง, วัดพุทไธสวรรย์ อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา, วัดพระแท่นศิลาอาสน์ อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์, วัดพระธาตุช่อแฮ อ.เมือง จ.แพร่, วัดพระธาตุแช่แห้ง อ.เมือง จ.น่าน, วัดเจ็ดยอด อ.เมือง จ.เชียงใหม่ และวัดลุ่มมหาชัยชุมพล อ.เมือง จ.ระยอง

 

วัดราษฎร์ที่ได้รับการเลื่อนชั้นเป็นพระอารามหลวงได้จะต้องเป็นวัดที่เด่นในเรื่องของการศึกษา จะต้องเป็นวัดที่ส่งเสริมการศึกษาของสงฆ์ทั้งด้านปริยัติธรรมและการปฏิบัติธรรม รวมทั้งจะต้องเป็นวัดที่เกี่ยวเนื่องกับประวัติศาสตร์ของชาติ โดยจะได้รับการยกขึ้นเป็นพระอารามหลวงอย่างเป็นทางการในวันที่ 9 มิ.ย. 2549 นี้

 

ที่มา สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.032646083831787 Mins