แอลกอฮอล์ ช่วง1ส.ค.-3 ก.ย.ใช้โฆษณามากที่สุด
ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา ระบุเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ใช้วิธีโฆษณาแฝงตามรายการโทรทัศน์และถ่ายทอดกีฬามากที่สุด พบงบโฆษณาเคลื่อนที่ พุ่งสูงหลายร้อยเท่า เตรียมเสนอ คบอช. ควบคุมผศ.ดร.วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการสำนักรณรงค์และสื่อสารสาธารณะเพื่อสังคม กล่าวว่า จากการสำรวจรายการทีวีในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม - 3 กันยายน 2548 ในช่วงเวลา 16.00 - 22.00 น. พบว่า ยังมีการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หลุดออกมาให้เห็น ด้วยรูปแบบที่จงใจให้เห็นโดยใช้กลยุทธ์ต่างๆ ทั้งการโฆษณาทางตรง ซึ่งพบในช่วงการคั่นเวลาในการถ่ายทอดสดกีฬา และโฆษณาแฝง ที่จะออกมาในรูปแบบการแสดงตราสัญลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ (โลโก้) ที่แฝงมากับวัตถุ พิธีกร และเนื้อหาของรายการ
ผลการสำรวจจำนวนผลิตภัณฑ์และลักษณะการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในช่วงเวลาห้ามโฆษณานั้น พบว่า สถานีโทรทัศน์ช่อง 5 มีการแสดงโฆษณาแฝงมากที่สุด เฉลี่ย 38 ครั้งต่อวัน รองลงมา ไอทีวี จำนวน 22 ครั้งต่อวัน ช่อง 7 มีจำนวน 11 ครั้งต่อวัน ขณะที่ช่อง 9 และช่อง 11 มีจำนวน 7 ครั้งต่อวัน ส่วนช่อง 3 มีจำนวนน้อยที่สุดคือ 5 ครั้งต่อวัน เท่านั้น โดยเป็นผลิตภัณฑ์ยี่ห้อ ช้าง จำนวน 41 ครั้ง สิงห์ 39 ครั้ง และบรั่นดีรีเจนซี่ 17 ครั้ง โดยในจำนวนดังกล่าว มีการโฆษณาตรงรวมอยู่ด้วยในช่วงการถ่ายทอดสดฟุตบอลช่วงพักครึ่งเวลา ซึ่งพบทางไอทีวี และช่อง 3 ส่วนโฆษณาแฝงที่พบมากที่สุดจะเป็นการใช้ฉากหลังของรายการ ภาพกราฟฟิก โดยเฉพาะในรายการถ่ายทอดสดกีฬา มวย ฟุตบอล และแข่งรถ
“สิ่งที่เกิดขึ้นนั้น ส่วนหนึ่งมาจากปัญหากฎหมายที่ประกาศใช้ห้ามการโฆษณายังสับสน โดยมติคณะรัฐมนตรีกำหนดห้ามโฆษณาในการถ่ายทอดสดกีฬาต่าง ๆ ยกเว้นการถ่ายทอดสดกีฬาอาชีพภายในและต่างประเทศ แต่เมื่อดูประกาศกรมประชาสัมพันธ์ กลับไม่มีคำว่ากีฬาอาชีพ ทำให้ยังพบเห็นการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในการถ่ายทดสดกีฬาเยาวชน เพราะไม่ชัดเจนว่าจะให้ยึดระเบียบใด จึงเป็นช่องว่างให้มีการหลีกเลี่ยง” ผศ.ดร.วิลาสินี กล่าว นพ.บัณฑิต ศรไพศาล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา กล่าวว่า ภาพรวมงบโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในปี 2547 ลดลงร้อยละ 10.6 หลังมีการควบคุมในปี 2546 โดยเหลือเพียง 2,235 ล้านบาท จากเดิมที่เคยเพิ่มขึ้นร้อยละ 7 ในทุก ๆ ปี ตั้งแต่ปี 2544 ซึ่งคาดว่าเป็นผลจากมติ ครม. ห้ามการโฆษณาทางโทรทัศน์ วิทยุ และป้ายโฆษณารอบรัศมีสถานศึกษา 500 เมตร ทำให้งบการโฆษณาทั้ง 3 ชนิด ลดลงจากเดิม คือ งบโฆษณาทางโทรทัศน์ ลดลงจาก 1,727 ล้านบาท เป็น 1,412 ล้านบาท ลดลงจากเดิมร้อยละ 18.2 งบโฆษณาทางวิทยุ ลดลงจาก 172 ล้านบาท เป็น 87 ล้านบาท หรือร้อยละ 49.1 และงบโฆษณากลางแจ้ง จาก 78 ล้านบาท เป็น 62 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 20.7 แต่กลับมีผลให้เกิดการโฆษณาทดแทนในสื่อที่ไม่ได้ถูกควบคุมมากขึ้น โดยสื่อโฆษณาเคลื่อนที่มีงบโฆษณาลงทุนเพิ่มขึ้นจาก 1.7 ล้านบาท ในปี 2546 เป็น 12 ล้านบาท ในปี 2547 เพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 583 สื่อโฆษณาในห้าง ร้านค้าต่าง ๆ เพิ่มขึ้นจาก 3.3 ล้านบาท เป็น 8.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 148 ซึ่งสื่อโฆษณาทั้ง 2 ประเภทนี้ อาจจะเป็นทิศทางใหม่ของการลงทุนโฆษณาธุรกิจของแอลกอฮอล์
นพ.บัณฑิต กล่าวต่อว่า บริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยังใช้กลยุทธ์ต่าง ๆ ในการโฆษณาแฝง อย่างการกำหนดตราสินค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เหมือกับสินค้าน้ำดื่มเพื่อจะได้โฆษณาตราสินค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ในช่วงเวลาที่ถูกห้าม หรือเลี่ยงเงื่อนไขอื่นใดที่ถูกห้ามในการโฆษณา เช่น การโฆษณากลางแจ้งที่ใช้โลโก้สินค้าที่ทำให้ประชาชนทราบ แต่ไม่มีการแสดงภาพเครื่องดื่มแอลกอฮอล์“กลยุทธ์การโฆษณาเพื่อเลี่ยงกฎหมายมีมากขึ้น อย่างป้ายโฆษณาที่ถนนวิภาวดีรังสิต ที่มีภาพดาราชายแสดงการรินน้ำโดยมีโลโก้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พร้อมเขียนข้อความว่า รินเมื่อไร ก็ฉลองได้ไม่รู้เบื่อ แม้ไม่มีการแสดงขวดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่จากการสำรวจความเห็นในป้ายโฆษณาดังกล่าวในนักเรียน 600 คน จาก 3 โรงเรียน ปรากฏว่า นักเรียกร้อยละ 99 ทราบว่าเป็นเครื่องดื่มอะไร” ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา กล่าว
นพ.บัณฑิต กล่าวต่อว่า ทางศูนย์วิจัยปัญหาสุรา จึงเสนอให้มีการกำหนดมาตรการควบคุมการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มเติม คือ 1.การควบคุมการโฆษณาโดยสิ้นเชิง ทั้งการขยายเวลาห้ามโฆษณาเป็น 24 ชั่วโมง ห้ามโฆษณาในสื่อประเภทต่าง ๆ ทุกประเภท 2. ให้มีการโฆษณาต่อต้านการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งจะมีผลต่อการลดจำนวนการดื่ม และ 3. การห้ามใช้ตราสินค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ร่วมกับผลิตภัณฑ์อื่น ๆ อย่างน้ำดื่ม เพื่อป้องกันการโฆษณาแฝง โดยตนจะนำข้อเสนอดังกล่าวต่อคณะกรรมการควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ เพื่อผลักดันเป็นมาตรการต่อไป
พบวิธีรักษาคอทองแดง 2 ทาง ที่ตัวคน-สังคมรอบข้าง
นักวิจัยในโครงการทดลองรักษาผู้ติดสุราของอังกฤษ เปรียบเทียบแนวทางรักษาผู้ป่วยด้วยโรคพิษสุราเรื้อรัง 2 แนวทาง พบว่าทั้งสองแนวทางได้ประโยชน์และให้ผลคุ้มค่าเหมือนกันวารสารการแพทย์อังกฤษฉบับ 10 กันยายน 2548 ตีพิมพ์งานศึกษาที่เปรียบเทียบการรักษาแบบเน้นพฤติกรรมทางสังคม และคนรู้จักกับการรักษาแบบส่งเสริมแรงกระตุ้น การรักษาแบบแรกเน้นที่ตัวบุคคล โดยให้ผู้ป่วยได้อยู่ในสภาพแวดล้อมทางสังคมที่ดีและมีกิจกรรมอื่นให้ทำ ช่วยให้ผู้ป่วยนึกถึงบุคคลที่พวกเขาคบหาสมาคมว่าจะช่วยเปลี่ยนพฤติกรรมได้อย่างไร ใช้เวลาในการบำบัด 8 ครั้ง ครั้งละ 50 นาที ส่วนการรักษาแนวทางที่ 2 เป็นการรักษาที่เน้นแอลกอฮอล์ เพื่อจูงใจให้เปลี่ยนพฤติกรรม เป็นวิธีที่รู้จักกันดีและมีการศึกษาวิจัยอย่างดี ใช้เวลาในการบำบัด 3 ครั้ง
จากการทดสอบพบว่าทั้งสองวิธีได้ผลเหมือนกัน โดยผู้ที่เข้ารับการทดลองสามารถลดการดื่มสุราลงร้อยละ 45 ในเวลา 12 เดือน และลดปัญหาที่เกี่ยว ข้องกับการดื่มสุราลงได้ร้อยละ 50 ทั้งนี้ นักวิจัยระบุว่าเมื่อพิจารณาในแง่ของระยะเวลาการบำบัดและการฝึกฝนผู้บำบัดแล้ว การรักษาแบบเน้นสังคมใช้งบประมาณมากกว่า แต่เมื่อพิจารณาผลด้านค่าใช้ง่ายในการดูแลสุขภาพ การบริการทางสังคม ความเกี่ยวข้องกับระบบยุติธรรมทางอาญาวิธีนี้ใช้งบประมาณน้อยกว่าการบำบัดด้วยแรงจูงใจ อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาโดยภาพรวมแล้วถือว่าให้ผลไม่แตกต่าง อีกทั้งยังประหยัดงบประมาณจากเดิมที่ตั้งไว้ถึง 5 เท่า
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
วันพุธที่ 7 กันยายน พ.ศ.2548
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ปีที่ 56 ฉบับที่ 17402
วันอังคารที่ 13 กันยายน 2548
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต