.....มนุษยชาตินั้น ได้ผ่านพ้นภาวะผันผวนทางเศรษฐกิจมาอย่างโชกโชน ไม่ว่าจะเป็นภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในรูปแบบใด ปัญหาเหล่านี้ผ่านการศึกษาหาวิธีแก้ไข ผ่านการระดมความคิด ลองผิดลองถูกของมนุษย์ผู้มีปัญญามาอย่างยาวนาน จนในที่สุดมนุษย์ก็ค้นพบสูตรสำเร็จที่สามารถรับมือกับปัญหาเหล่านี้ได้ และสูตรสำเร็จนั้นก็คือ "ศีล" นั่นเอง
.....วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ ณ แคว้นกาลิงคะ เป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง ซึ่งอานุภาพแห่งศีลได้สยบพิษภัยทางเศรษฐกิจลงได้อย่างราบคาบ
.....กุรุธรรม *
.....ในสมัยหนึ่ง แคว้นกาลิงคะได้เกิดเหตุการณ์ข้าวยากหมากแพง เพราะความแห้งแล้งกันดาร ซ้ำยังเกิดโรคระบาด พระเจ้ากาลิงคะทรงทำทานและรักษาศีล ๘ เป็นเวลา ๗ วันติดต่อกัน แต่ก็ยังแก้ไขไม่ได้ พระองค์ทรงทราบว่า ณ แคว้นกุรุ บ้านเมืองสงบร่มเย็นอุดมสมบูรณ์ อาจเป็นเพราะมีช้างมงคล พระองค์จึงส่งพราหมณ์ไปแคว้นกุรุเพื่อขอช้างมงคล แต่เมื่อได้ช้างมงคลมาก็ยังแห้งแล้งเหมือนเดิม พระองค์จึงส่งพราหมณ์นำช้างมงคลไปคืน และขอจารึกกุรุธรรมลงแผ่นทองคำ
.....พราหมณ์เข้าเฝ้าพระเจ้าธนัญชัยโกรัพยราช และกราบทูลขอพระราชทานกุรุธรรม แต่พระองค์ทรงเกรงว่ากุรุธรรมของพระองค์จะไม่บริสุทธิ์ เพราะครั้งหนึ่งพระองค์ได้ยิงธนูไป แต่ธนูลูกหนึ่งได้ตกลงไปในน้ำ ไม่แน่ใจว่าจะโดนปลาหรือไม่ จึงให้พวกพราหมณ์ไปขอกุรุธรรมจากพระราชมารดา
.....พวกพราหมณ์พากันกราบทูลว่า พระองค์มิได้มีเจตนาจะฆ่าสัตว์ตัดชีวิต และขอพระราชทานกุรุธรรม พระราชาจึงพระราชทานกุรุธรรมให้ โดยตรัสว่า
....."จงอย่าฆ่าสัตว์ อย่าลักทรัพย์ อย่าประพฤติผิดในกาม อย่ากล่าวเท็จ อย่าดื่มน้ำเมา"
....เมื่อได้จารึกกุรุธรรมลงบนแผ่นทองแล้ว พราหมณ์พากันไปเข้าเฝ้าพระราชมารดา เพื่อทูลขอกุรุธรรม แต่พระนางตรัสว่า ครั้งหนึ่งพระนางได้รับแก่นจันทน์ซึ่งมีค่าถึงหนึ่งแสน และได้รับดอกไม้ทองซึ่งมีค่าเพียงหนึ่งพัน พระนางเห็นว่าสะใภ้ผู้เป็นอัครมเหสีมีสมบัติมาก จึงมอบดอกไม้ทองให้แก่นาง แล้วมอบแก่นจันทน์ให้กับสะใภ้คนเล็กซึ่งมีสมบัติน้อย พระนางลำเอียงเพราะความสงสาร กุรุธรรมของพระนางคงจะด่างพร้อยไปเสียแล้ว พระนางจึงให้ไปขอกุรุธรรมจากพระอัครมเหสี
.....พราหมณ์ทั้งหลายจึงพากันกราบทูลว่า ทรัพย์เป็นของพระนาง ย่อมให้ได้ตามความพอใจ เมื่อทูลขอและจารึกกุรุธรรมของพระราชมารดาแล้ว พวกพราหมณ์ก็ไปเข้าเฝ้าพระอัครมเหสี เพื่อทูลขอกุรุธรรม พระนางกลับตรัสด้วยความกังวลว่า
....."ครั้งหนึ่งเราเคยหลงผิดเผลอคิดไปว่า เมื่อพระราชาสวรรคต หากเราได้ร่วมภิรมย์ชมชิดกับพระมหาอุปราช ตำแหน่งพระมเหสีก็จะเป็นของเราอีกครั้ง เรามองดูชายอื่นด้วยอำนาจกิเลสเช่นนี้ กุรุธรรมของเราคงจะไม่บริสุทธิ์เสียแล้ว พวกท่านจงไปขอกุรุธรรมจากพระมหาอุปราชเถิด"
....พราหมณ์จึงทูลว่าพระนางเพียงแค่เผลอคิดไป แต่แล้วก็ทรงกลับมายึดมั่นในความดีเช่นเดิม ดังนั้นกุรุธรรมของท่านย่อมบริสุทธิ์ เมื่อทูลขอกุรุธรรมของพระอัครมเหสีและจารึกบนแผ่นทองเรียบร้อยแล้ว จึงทูลลาไปเข้าเฝ้าพระมหาอุปราช เพื่อทูลขอกุรุธรรม
.....พระองค์ตรัสว่า "ครั้งหนึ่งเราไปเข้าเฝ้าพระราชา แล้วฝนตกลงมาอย่างหนัก บริวารทั้งหลายที่รอเราอยู่ภายนอก ต้องตากฝนเป็นเวลานาน เราทรมานผู้คนให้ลำบากเช่นนั้น กุรุธรรมของเราคงไม่บริสุทธิ์เสียแล้ว" และให้พราหมณ์ไปขอจากท่านปุโรหิต
.....เมื่อพราหมณ์ทูลขอกุรุธรรมของพระองค์และจารึกแล้ว ได้พากันไปขอกุรุธรรมจากท่านปุโรหิต ซึ่งก็ได้รับคำตอบในทำนองเดียวกันว่า ท่านไม่พอใจในกุรุธรรมของท่าน เพราะว่าวันหนึ่ง ท่านได้เห็นราชรถคันงามของพระราชา จึงคิดว่าหากพระองค์พระราชทานให้ ท่านจะนั่งรถเที่ยวไปให้สบาย แต่เมื่อพระองค์พระราชทานให้จริงๆ ท่านก็ไม่อาจรับได้ ด้วยละอายใจในความโลภ กุรุธรรมของท่านคงไม่บริสุทธิ์ จึงให้พราหมณ์ไปขอจากอำมาตย์ผู้ทำหน้าที่รังวัด
.....เมื่อพราหมณ์ขอและจารึกกุรุธรรมแล้ว พากันไปพบอำมาตย์ผู้ทำหน้าที่รังวัดที่ดิน อำมาตย์ก็ไม่มั่นใจในกุรุธรรมของตน กล่าวว่าครั้งหนึ่งไปวัดที่นาในเขตชนบท ระยะที่วัดสิ้นสุดลงตรงรูปูพอดี หากปักไม้ล้ำไปข้างหน้า เนื้อที่ของหลวงก็จะขาดไป แต่ถ้าปักไม้ร่นเข้ามา เนื้อที่ของพ่อค้าก็จะขาดไป ท่านคิดว่าถ้าปูอยู่ในรูก็คงเห็นตัวมันแล้ว จึงตัดสินใจปักไม้ลงไป ปรากฏว่าได้ยินเสียงร้อง ท่านได้ทำให้ปูนั้นตาย กุรุธรรมของท่านจึงไม่บริสุทธิ์เสียแล้ว และแนะให้พราหมณ์ไปขอจากนายสารถี
....เมื่อพราหมณ์จารึกแล้ว จึงพากันไปหานายสารถี…(อ่านต่อตอนจบ ฉบับวันศุกร์ที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๔๖)