กุรุงคมิคชาดก ชาดกว่าด้วยการรู้เท่าทันเล่ห์เหลี่ยมคน

วันที่ 27 พค. พ.ศ.2546

ID2549_650911.jpg

กุรุงคมิคชาดก
ชาดกว่าด้วยการรู้เท่าทันเล่ห์เหลี่ยมคน

 

.....สถานที่ตรัสชาดก

.....เวฬุวันมหาวิหาร นครราชคฤห์

.....สาเหตุที่ตรัสชาดก

.....ในสมัยพุทธกาล หลังจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ได้ไม่นาน ก็ทรงออกประกาศพระศาสนา พร้อมด้วยบรรดาพระสงฆ์สาวกไปทั่วชมพูทวีป

.....ครั้งนั้นมีผู้เลื่อมใสศรัทธาออกบวชปฏิบัติธรรมตามพระองค์จนบรรลุอรหัตผลเป็นจำนวนมาก
แต่มีพระญาติของพระองค์ท่านหนึ่งคือ พระเทวทัต ถึงแม้จะบวชแล้วก็ไม่อาจซึบซับเอาพระธรรมอันวิเศษเข้าไปชำระล้างจิตใจอันมากด้วยความอิจฉาริษยา มักใหญ่ใฝ่สูง อยากเด่นอยากดังให้เบาบางลงได้ กลับคิดจองล้างจองผลาญพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ตลอดเวลา เช่น ยุยงให้คณะสงฆ์แตกแยก จ้างนายขมังธนูให้มาลอบยิงพระพุทธองค์ ปล่อยช้างธนบาลที่ตกมันและถูกมอมเหล้าจนคลุ้มคลั่งให้เข้าทำร้าย จนกระทั่งท้ายที่สุดลงมือลอบปลงพระชนม์ด้วยตนเอง โดยขึ้นไปกลิ้งหินบนภูเขาให้ตกลงมาทับพระผู้มีพระภาคเจ้า แต่ไม่ว่าจะใช้วิธีใดๆ ก็ไม่สำเร็จ

.....เรื่องที่พระเทวทัตลอบทำร้ายพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยวิธีการต่างๆ เป็นที่ล่วงรู้กันทั่วเมือง ประชาชนพากันสาปแช่ง พระภิกษุทั้งหลายต่างพากันตำหนิติเตียนกล่าวโทษพระเทวทัต แต่ก็ไม่รู้จะทำประการใดจึงจะให้ท่านสำนึกผิด
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงระลึกชาติหนหลัง ตรัสแก่พระภิกษุเหล่านั้นว่า พระเทวทัตจองล้างจองผลาญพระองค์มาหลายภพหลายชาติแล้ว จึงทรงตรัสเล่าชาดก ดังนี้

.....เนื้อหาชาดก

.....ครั้งหนึ่งในอดีต ณ ป่าใหญ่ใกล้นครพาราณสี มีกวางหนุ่มตัวหนึ่งเป็นกวางเฉลียวฉลาด ปราดเปรียว ทะมัดทะแมงและตื่นตัวอยู่เสมอ มันระมัดระวังตัวเป็นอย่างดีตลอดมา จึงรอดพ้นจากการถูกล่ามาได้

.....ครั้นถึงต้นฤดูฝน ไม้ผลผลิดอกออกผลเต็มต้น กวางนั้นก็ออกมาหาผลมะรื่นกิน แต่เนื่องจากพื้นดินเปียกชื้น เวลาย่ำไปที่ใดก็ปรากฏรอยเท้าชัดเจนที่นั้น วันหนึ่งนายพรานป่าผู้หนึ่งสังเกตเห็นรอยเท้ากวางที่ใต้ต้นมะรื่น จึงปีนขึ้นไปขัดห้างไว้บนต้นไม้นั้น พอเช้ามืดวันรุ่งขึ้น ก็ถือหอกปีนขึ้นไปนั่งคอยท่าอยู่บนต้นมะรื่น

.....ฝ่ายกวางนั้น พอรุ่งเช้าก็ออกจากที่อาศัยตรงไปยังต้นมะรื่นเพื่อกินผลของมันเช่นเคย แต่เนื่องจากเป็นกวางที่ฉลาดรอบคอบไม่ประมาท จึงไม่ด่วนผลุนผลันเข้าไปทันที เฝ้าวนเวียนสังเกตอยู่ห่างๆ เพื่อดูว่าจะมีอันตรายบ้างหรือเปล่า ครั้นเห็นอะไรอย่างหนึ่งผิดสังเกตอยู่บนต้นไม้จึงยืนอยู่ห่างๆ ไม่ยอมเข้าไปใกล้ นายพรานคอยอยู่นานเห็นกวางไม่เข้ามาแน่ จึงเด็ดผลมะรื่นขว้างไปให้ตกลงหน้ากวาง หวังจะให้กวางเดินเข้ามาใกล้อีกสักนิดพอที่ตนจะพุ่งหอกไปถึง กวางเห็นดังนั้นจึงคิดว่า โดยปกติผลไม้ที่ตกเองจะหล่นลงมาตรงๆ แต่ผลนี้กลับกลิ้งมาหาตน สงสัยว่าจะมีพรานดักอยู่เป็นแน่

.....จึงชำเลืองมองขึ้นไปบนต้นไม้ เห็นนายพรานแต่แสร้งทำเป็นไม่เห็น แล้วเดินหลีกห่างออกไป แต่ก่อนไปก็แกล้งพูดขึ้นดังๆ ว่า

....."เฮ้ย.. เจ้าลูกไม้ เมื่อก่อนนี้เจ้าเคยตกลงมาตรงๆ แต่เดี๋ยวนี้เจ้ามันผิดธรรมชาติเสียแล้ว กลิ้งมาหาเราได้เอง เจ้าล่อเราด้วยอุบายใด กวางกุรุงคะรู้อุบายนั้นแล้ว เพราะฉะนั้นเราจะไปหาไม้มะรื่นต้นอื่น ผลของเจ้าเราไม่ชอบแล้ว" ฝ่ายนายพรานนั่งอยู่บนห้างได้ยินดังนั้นก็แค้นใจ จึงพุ่งหอกออกไปจนสุดแรงเกิด หวังจะให้ถูกกวางนั้น หอกนั้นพุ่งไปไม่ถึงตัวกวางเพราะอยู่ไกลเกินไป กวางนั้นหันกลับมาพูดเย้ยนายพรานอีกว่า

....." พรานเอ๋ย ถึงท่านจะฆ่าเราได้ แต่ท่านก็ต้องลงไปใช้กรรมในนรกแน่ๆ " แล้วจากไป

.....ประชุมชาดก

.....พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประชุมชาดกว่า

.....นายพรานขัดห้าง ในครั้งนั้น ได้มาเป็นพระเทวทัตผู้มากด้วยความพยาบาท

.....กวางกุรุงคะ ได้มาเป็นพระสัมมาสัมมาพุทธเจ้าเอง

 

.....ข้อคิดจากชาดก

.....๑. จงอย่าเป็นคนเห็นแก่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเห็นสิ่งใดที่รู้สึกว่าเป็นลาภลอยได้มาง่ายๆ อย่าไปฉวยเอา เพราะจะถูกล่อลวงด้วยลูกไม้ต่างๆ โดยง่าย โบราณจึงพูดเตือนสติไว้เสมอๆ ว่า "ถ้ามีใครชี้แนะว่า สิ่งใดจะทำให้รวยเร็ว ๆ เก่งเร็วๆ มีชื่อเสียงเร็วๆ โดยไม่ต้องลงทุนลงแรง ให้ตั้งข้อสังเกตไว้เลยว่านั่นคือ ลูกไม้ "

.....๒. หมั่นสั่งสมบุญมากๆ ถ้ามากเต็มที่จริงๆ แล้ว ใครก็ทำอันตรายไม่ได้ ใส่ความไม่ได้ บุญของเราที่มีอยู่จะตามเตือนสติไม่ให้หลงลูกไม้ใคร จนเกิดโลภ โกรธ หลง เห็นแก่ได้ เห็นแก่เกียรติยศ

.....๓. จากชาดกเรื่องนี้จึงทำให้รู้ว่า คำว่า ลูกไม้ ได้กลายมาเป็นสำนวนไทย หมายถึง เล่ห์เหลี่ยม ชั้นเชิง

jtk460527.jpg

 

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0014909307161967 Mins