วิสาขบูชา ตอนที่ ๒

วันที่ 17 พค. พ.ศ.2546

 


.....พระธรรมราชานุวัตร วัดพระเชตุพนวิมลมังลาราม แสดง ณ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ วันธรรมสวนะ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ วันที่ ๑๓ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๓๘ เวลา ๐๘.๐๐ น.

 

(ต่อจากตอนที่ ๑ ฉบับวันเสาร์ที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๔๖)

.....ก็แลพระเจ้าสุทโธทนมหาราชทรงปรารถนา ให้พระราชกุมารสิทธัตถะสถิตอยู่ในฆราวาสวิสัย ทรงให้จัดสรรสตรีล้วนแต่มีทรวดทรงรูปร่างงดงามเป็นบริวาร เมื่อพระราชกุมารเจริญพระชมนพรรษาได้ ๗ ขวบ ทรงเห็นว่าธรรมดาทารกมีอายุ ๗ ปี พอใจในการเล่นน้ำ ก็ทรงโปรดให้ขุดสระโบกขรณีขึ้น ครั้นพระชนมายุเจริญได้ ๑๖ พรรษา ก็ทรงโปรดให้สร้างปราสาทตามฤดูกาลขึ้น ๓ หลัง แล้วสมเด็จพระเจ้าสุทโธทนมหาราชทรงราชาภิเษกพระมหาบุรุษให้เสวยราชสมบัติ ตั้งพระนางพิมพาเทวีเป็นพระอัครมเหสี

 

.....เมื่อสมเด็จพระบรมโพธิสัตว์มีพระชนม์ ๒๙ พรรษา พระบารมีที่สั่งสมมาแก่กล้า จึงวันหนึ่งเสด็จประพาสพระราชอุทยาน ได้ทอดพระเนตรเห็นเทวทูตทั้ง ๔ ซึ่งเทพยดาบันดาลให้มีขึ้น คือ คนแก่ คนเจ็บ คนตาย ทรงพิจารณาเห็นว่า แม้เราจะต้องเป็นเช่นนี้ ต่อเมื่อทอดพระเนตรเห็นบรรพชิตนักบวช ก็มีพระราชหฤทัยปิติยินดีว่า สมณเพศนี้จะเป็นทางนำเราไปให้หลุดพ้นจากทุกข์นั้นได้


.....เมื่อทรงสดับข่าวว่า พระนางพิมพาประสูติพระโอรสก็มีพระอุทานว่า ราหุลัง ชาตัง ราหุลัง ชาตัง แปลว่า บ่วงเกิดแล้ว ดังนี้ คำว่าราหุลจึงเป็นพระนามพระโอรส แล้วทรงปลงพระทัยเด็ดเดี่ยว ณ บัดนั้นว่า จำจะต้องตัดบ่วงเสียแต่บัดนี้ จึงในคืนวันนั้นพระมหาบุรุษเจ้าได้เสด็จออกบรรพชา โดยทรงม้ากัณฐกะมีนายฉันนะเป็นสหายเท่านั้น เสด็จถึงฝั่งแม่น้ำอโนมานที ทรงเปลื้องเครื่องทรงออกหมดมอบให้นายฉันนะนำกลับพระมหานคร พระองค์ทรงอธิษฐานเพศบรรพชาทรงมีเพียงผ้านุ่ง ผ้าห่มและบาตรเท่านั้นเป็นบริขาร สละแล้วซึ่งราชสมบัติบริการทั้งปวง แล้วเสด็จแสวงหาโมกขธรรม จึงทรงบำเพ็ญเพียรด้วยการบำเพ็ญทุกรกิริยา อันเป็นการทรมานพระกายที่กระทำได้ยากอย่างยิ่ง จนเกือบจะสิ้นพระชนม์ แล้วทรงพิจารณาเห็นว่าการกระทำเช่นนั้นมิใช่ทางหลุดพ้น จึงได้กลับมาเสวยพระกระยาหาร แล้วบำเพ็ญเพียรทางจิต พิจารณาเห็นว่า กายกับจิตจำต้องอาศัยซึ่งกันและกัน และในวันเพ็ญกลางเดือน ๖ ก่อนพุทธศก ๔๕ ปี เวลารุ่งอรุณก็ทรงบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ นับแต่กาลเสด็จออกบรรพชาเป็นเวลา ๖ ปี

 

.....ครั้นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว ก็มีพระหฤทัยเต็มไปด้วยพระมหากรุณาปรารถนาจะให้ผู้อื่นได้ดื่มอมฤตรสพ้นจากทุกข์วัฎสงสาร ได้เสด็จไปโปรดปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน นครพาราณสี ในวันเพ็ญอาสาฬหปุรณมี ทรงแสดงธรรมจักกัปปวัตตนสูตรอันเป็นปฐมเทศนา พระโกณทัญญะได้รับแสงสว่าง มีดวงตาเห็นธรรม ยังพระสังฆรัตนะให้บังเกิดขึ้นครบองค์พระรัตนตรัย

 

.....ต่อแต่นั้นพระบรมศาสดาของเราทั้งหลายก็เสด็จไปเทศนาสั่งสอนชนทุกชั้นวรรณะ ตั้งแต่พระยามหากษัตริย์ ลงไปตนถึงคนทุคตะเข็ญใจ ผู้ที่มีศรัทธาเลื่อมใสทั้งชายหญิงก็ออกบวชเป็นพระภิกษุ ภิกษุณี สามเณร สามเณรี บ้างก็ประกาศตนเป็นอุบาสก อุบาสิกา ซึ่งต่างก็ได้บรรลุมรรคผลกันตามอุปนิสัยวาสนาบารมี เมื่อทรงประดิษฐานบริษัททั้งสี่ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา มั่นคงแล้ว สมเด็จพระผู้ดั่งดวงประทีปแก้วก็เสด็จดับขันธปรินิพพาน ณ พระนคร กุสินารา เมื่อวันเพ็ญกลางเดือน ๖ ก่อนพุทธศก ๑ ปี


.....พระบรมศาสดาของเราทั้งหลาย ประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน วันเพ็ญกลางเดือน ๖ เป็นวันเดือนเดียวกันต่างแต่ปีเท่านั้น

 

.....แม้ปัจจุบันเสด็จดับขันธปรินิพพานมา ณ บัดนี้ เป็นเวลา ๒๕๓๘ ปี ก็ยังคงได้รับความเคารพนับถือจากพุทธศาสนิกชนทั่วโลก ทั้งนี้นอกจากพระคุณอันล้ำเลิศด้วยพระธรรมคำสั่งสอนอันเป็นสัจธรรมแล้ว หากพิเคราะห์ในพุทธประวัติแล้ว จะเห็นว่าพระองค์ทรงเป็นพระบรมศาสดาที่มีพระประวัติอันงดงาม ควรแก่การเคารพบูชา พิจารณาโดยพระฐานะสำคัญ ๓ ประการ คือ พระฐานะทางสังคม เศรษฐกิจและการเมือง…

 

(ติดตามตอนจบ ฉบับวันเสาร์ที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๔๖)

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.024084750811259 Mins