พระธรรมกิตติวงศ์ เพชรน้ำเอกแห่งพระพุทธศาสนา

วันที่ 14 กพ. พ.ศ.2549

 

พระธรรมกิตติวงศ์เพชรน้ำเอกแห่งพระพุทธศาสนา

เรืองรองความเลิศล้ำ วิชาชาญ

ปราชญ์เปรื่องภาษาสาร เพริศแพร้วโดยมุ่งมั่นปณิธาน ธรรมสู่

พระ คือ รัตนะแก้ว วิชากล้า เปรียญธรรม.

     เพชร..นับเป็นสุดยอดแห่งอัญมณี รัตนชาติสูงค่าที่ปรารถนาของผู้คนทั้งหลาย และเป็นเครื่องหมายแห่งความมั่งคั่ง ฉันใด พระมหาเถระ ผู้มีคุณูปการอย่างใหญ่หลวงต่อ สังฆมณฑล ย่อมเป็นที่ชื่นชมโสมนัสแก่พุทธบริษัททั้งหลาย และเป็นเครื่องหมายแห่งความรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนา ฉันนั้น

การยกย่อง บุคคลผู้ควรแก่การยกย่อง บัณฑิตนักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวสรรเสริญ

เฉกเช่นพระมหาเถระผู้เปรียบได้กับเพชรน้ำเอกแห่งพระพุทธศาสนา ผู้สูงด้วยสมณศักดิ์ เปี่ยมด้วยคุณธรรม งดงามด้วยศีลาจารวัตร และมีปรีชาสามารถในงานคณะสงฆ์ครบถ้วนทุกด้าน อีกทั้งยังมีเกียรติคุณกว้างไกลทั้งภายในและต่างประเทศ

พระผู้เป็นต้นแบบอันเลิศนี้ คือ พระเดชพระคุณพระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙ ราชบัณฑิต) เจ้าอาวาสวัดราชโอรสาราม

ชาติภูมิ

พระเดชพระคุณพระธรรมกิตติวงศ์ นามเดิมชื่อ ทองดี เป็นบุตรของพ่อออง และแม่สนิด ในตระกูล สุรเดช เกิดเมื่อวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๘๙ ตรงกับวันพฤหัสบดี แรม ๕ ค่ำ เดือน ๓ ณ อำเภอพรานกระต่าย จังหวัดกำแพงเพชร

บรรพชา

วันที่ ๑๓ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๐๓ เมื่ออายุ ๑๔ ปี บรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดไตรภูมิ อำเภอพรานกระต่าย จังหวัดกำแพงเพชร โดยพระครูวิมลวชิรากร เป็นพระอุปัชฌาย์

อุปสมบท

วันที่ ๒๖ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๑๐ อุปสมบท ณ พัทธสีมา วัดไตรภูมิ โดยพระวชิรสารโสภณ วัดหงส์ทอง อำเภอขาณุวรลักษบุรี จังหวัดกำแพงเพชร เป็นพระอุปัชฌาย์

สมณศักดิ์พ.ศ.๒๕๑๕ ประโยค ป.ธ.๙ สำนักเรียนวัดปากน้ำ พ.ศ.๒๕๑๙ เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ที่ พระศรีวิสุทธิวงศ์ และได้เลื่อนสมณศักดิ์เรื่อยมา กระทั่ง พ.ศ.๒๕๓๙ เป็นพระราชาคณะชั้นธรรม ที่ พระธรรมกิตติวงศ์ ด้านการศึกษาพระเดชพระคุณพระธรรมกิตติวงศ์ ได้รับการยกย่องว่าเป็นนักปราชญ์แห่งวงการศึกษาพระปริยัติธรรมแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้สำเร็จการศึกษาชั้นสูงสุด เปรียญธรรม ๙ ประโยค สำนักเรียนวัดปากน้ำ พ.ศ.๒๕๑๕ ได้รับพระราชทานปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย เมื่อ ปี พ.ศ.๒๕๒๔ นอกจากจะเป็นพระอาจารย์สอนปริยัติธรรม เป็นกรรมการตรวจสอบความรู้ประโยคธรรมบาลีสนามหลวง และเป็นพระอาจารย์ใหญ่สำนักเรียนวัดราชโอรสารามแล้ว ปัจจุบันได้ดำรงตำแหน่ง ราชบัณฑิต ประเภทวรรณศิลป์ สาขาวิชาตันติภาษา สำนักศิลปกรรม ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๓๙ ซึ่งถือว่าเป็นฐานะที่มีบทบาทสำคัญในด้านการศึกษาของคณะสงฆ์ ควรค่าแก่การยกย่องเชิดชูอย่างยิ่ง ด้านการเผยแผ่ นอกจากจะได้ชื่อว่า เป็นพระนักเทศน์ เป็นยอดพระธรรมกถึกแห่งยุครูปหนึ่งแล้ว

พระเดชพระคุณพระธรรมกิตติวงศ์ ยังมีบทบาทสำคัญในการเผยแผ่งานพระศาสนาอีกมากมาย ได้เป็นพระอุปัชฌาย์ ให้การบรรพชาอุปสมบทแก่เหล่าธรรมทายาท นับพันนับหมื่นรูป เปรียบได้กับพระบิดรผู้ให้กำเนิดทางธรรมแก่เยาวชนของชาติ ให้โอกาสแห่งการฝึกฝนอบรมตนตามพุทธวิธี ซึ่งเมล็ดพันธุ์แห่งคุณธรรมความดี ได้ถูกหว่านลงในดวงใจของพวกเขาเหล่านั้น เพื่อให้เป็นความหวังใหม่ของคนไทยทั้งชาติ เป็นผู้ประกอบไปด้วย “ความรู้ คู่ คุณธรรม” อันจะนำพาประเทศให้รุ่งเรืองสืบไปในอนาคต

ด้านการปกครอง

นอกจากจะเป็นเจ้าอาวาสพระอารามหลวงขนาดใหญ่ ดังเช่นวัดราชโอรสารามแล้ว

ยังดำรงตำแหน่งเจ้าคณะภาค ๑๖ ปกครองดูแลคณะสงฆ์ในเขตต่างๆ อันเป็นหน้าที่รับผิดชอบของพระมหาเถระผู้มีความรู้ความสามารถ ทั้งในด้านการปกครองและการพัฒนา

ตลอดจนเป็นที่ตั้งศรัทธาแก่มหาชน รวมทั้งเคยดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการมหาเถรสมาคม อันเป็นองค์กรสูงสุดของการปกครองคณะสงฆ์อีกด้วย

จากบทบาทและผลงานด้านต่างๆ ของพระเดชพระคุณพระธรรมกิตติวงศ์โดยย่อ เท่าที่ได้หยิบยกมานี้ ย่อมเพียงพอต่อการกล่าวว่า ท่านคือ เพชรน้ำเอกแห่งพระพุทธศาสนา

ผู้เป็นเสาหลักแห่งสังฆมณฑลในปัจจุบันโดยแท้

ภาพ หรือ ตัวอักษรบนกระดาษ คงเป็นเพียงเศษเสี้ยวในธุลีของพระคุณอันยิ่งใหญ่ และความเมตตาของพระเดชพระคุณที่มีต่อเหล่าผองชนตลอดมา และเนื่องในโอกาสครบวาระวันคล้ายวันเกิดฉลองอายุ ๖๐ ปี ในวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๔๙ นี้ พวกเราเหล่าศิษยานุศิษย์ ขอกราบอภิวาทแด่ท่าน ผู้ควรแก่การทักษิณาทาน ขอน้อมบูชาในฐานะเนื้อนาบุญอันประเสริฐของชาวโลก ผู้ที่เหล่ามนุษย์และเทวดาทั้งหลายต่างแซ่ซ้องสรรเสริญ.

โดย...อุบลเขียว

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.021268300215403 Mins