สังฆคุณ ๒

วันที่ 27 มิย. พ.ศ.2548

 

 

 

 

.....ชั้นพระสกทาคา นอกจากกิเลส ๓ อย่าง ดั่งที่พระโสดาละได้แล้วนั้น ยังละกามราคะ พยาบาทอย่างหยาบได้อีก ๒ อย่าง

 

กามราคะ ได้แก่ความกำหนัด ยินดีในวัตถุกามและกิเลสกาม พยาบาทคือการผูกใจโกรธ

 

พระอนาคาละกามราคะพยาบาทขั้นละเอียดได้

 

พระอรหันต์ละกิเลสทั้ง ๕ ดังกล่าวมาแล้วนั้นได้โดยสิ้นเชิง แล้วยังละสังโยชน์เบื้องบนได้อีก ๕ คือ รูปราคะความกำหนัดยินดีในรูปฌาน อรูปราคะความกำหนัดยินดีในอรูปฌาน มานะความถือตน อุทธัจจะความฟุ้งซ่าน อวิชชาความมืด ความโง่ ไม่รู้อดีต ปัจจุบัน และอนาคตของสังขาร ไม่รู้ปฏิจจสมุปบาทธรรม และอริยสัจจึงรวมเป็น ๑๐ ที่พระอรหันต์ละได้

 

พระอริยบุคคลทั้ง ๘ ดังกล่าวมาข้างต้นนี้ได้ชื่อว่า อริยสาวก

 

สุปฏิปันโน ท่านปฏิบัติแล้วดี คือปฏิบัติไปตามแนวมัชฌิมาปฏิปทาเป็นทางสายกลาง ตามที่สมเด็จพระบรมศาสดาดำเนินมาแล้ว ไม่หย่อนเกินไป ไม่ตึงเกินไป จึงได้ชื่อว่าปฏิบัติดี

 

อุชุปฏิปันโน ปฏิบัติแล้วตรง คือความปฏิบัติท่านมุ่งตรงต่อพระนิพพาน ไม่วอกแวกไปทางอื่น

 

ญายปฏิปันโน ปฏิบัติมุ่งเพื่อรู้ธรรมที่จะออกจากภพ ๓ โดยแท้

 

สามีจิปฏิปันโน ปฏิบัติอย่างดีเลิศ

 

เพราะท่านปฏิบัติเพื่อบรรลุถึงพระนิพพานจริง ๆ ไม่ใช่เพื่อเหตุอื่น จึงสมควรนับว่าเป็นการปฏิบัติอย่างดีเลิศ

 

อาหุเนยโย จึงเป็นผู้ควรเคารพสักการะ

 

ปาหุเนยโย จึงเป็นผู้ควรต้อนรับ

 

ทักขิเณยโย จึงเป็นผู้ควรรับของที่เขาทำบุญ

 

อัญชลีกรณีโย จึงสมควรกราบไหว้

 

อนุตตรัง ปุญญักเขตตัง โลกัสสะ เป็นเนื้อนาบุญอันเลิศไม่มีอื่นจะดีกว่าอีกแล้ว นี่เป็นเรื่องสังฆคุณ

 

เมื่อเรารู้แนวปฏิบัติของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระสาวกดังกล่าวมาข้างต้นนี้แล้ว เรามีหน้าที่จะต้องพิจารณาไตร่ตรองดูว่า เราจะทำอย่างไร เราเพียงท่องจำ อิติปิโส ภควา ไว้กระนั้นหรือ หรือจะพยายามนึกคำแปลไว้ให้เข้าใจด้วย และระลึกถึงพระคุณเหล่านี้เนือง ๆ ดังนี้หรือ เราไม่พึงกระทำอะไรยิ่งไปกว่านี้หรือ ในปัญหาเหล่านี้ขอให้เราส่งใจไประลึกถึงพระโอวาทในเรื่องบูชา บูชามี ๒ อย่าง อามิสบูชา คือ บูชาด้วยเครื่องสักการะอย่างหนึ่ง ปฏิบัติบูชา คือบูชาด้วยการปฏิบัติอย่างหนึ่ง ในการบูชาทั้ง ๒ อย่างนี้พระองค์ทรงสรรเสริญว่าปฏิบัติบูชาดีอามิสบูชา เมื่อคิดทบทวนดูเหตุผลในพระโอวาทข้อนี้แล้ว เราจะเห็นได้ชัดทีเดียวว่าพระองค์มีพระประสงค์จะให้พวกเรามีความเพียรพยายาม ปฏิบัติเจริญรอยตามพระองค์มากกว่าที่จะมามัวบูชาพระองค์อยู่ หาไม่พระองค์จะตรัสเช่นนั้นทำไม และโดยนัยอันนี้เอง จึงเป็นที่เห็นได้ว่าแม้เวลานี้จะเป็นกาลล่วงมาช้านานจากที่พระองค์เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานไปแล้ว ก็ไม่มีอะไรเป็นข้อห้ามว่าผู้ที่ปฏิบัติตามจะไม่ได้รับผลอย่างที่ท่านได้รับ นอกจากคำกล่าวอ้างของคนเกียจคร้านข้อนี้มีคำว่าอกาลิโก ในบทธรรมคุณนี้เองเป็นหลักฐานยันอยู่ว่าธรรมของพระองค์ผู้ใดปฏิบัติตามย่อมจะเกิดผลทุกเมื่อ ไม่มีขีดขั้น พระอริยสาวกทั้งหลายนั้นฐานะเดิมก็เป็นมนุษย์ปุถุชนนี้เอง แม้องค์สมเด็จพระบรมศาสดาก็เช่นกัน มิใช่เทวดา อินทร์ พรหม ที่ไหน แค่ที่เลื่อนชั้นฐานะเป็นพระอริยะได้ก็เพราะการปฏิบัติเท่านั้น แนวปฏิบัติอย่างไหนถูกพระองค์สอนไว้ละเอียดหมดแล้ว ปัญหาจึงเหลือแต่ว่าพวกเราจะปฏิบัติกันจริงหรือไม่เท่านั้น

 

ดังที่พรรณนามานี้ ก็จะเห็นคำตอบในปัญหาข้างต้นได้แล้วว่า เพียงแต่จะท้องจำอิติปิโส ภควาฯ ไว้ หรือเพียงแต่ระลึกถึงพระคุณเหล่านั้นไว้ จะยังไม่พอแก่พระประสงค์ของพระองค์ กิจที่เราควรทำอย่างยิ่งจึงอยู่ที่การปฏิบัติของท่านตามแนวปฏิบัติของท่าน

 

ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา นี้เรียกว่า อิทธิบาท ๔ เป็นหัวใจแห่งความสำเร็จทั้งมวล แปลอย่างจำได้ง่ายว่า ปักใจ, บากบั่น, วิจารณ์, ทดลอง, ไม่ว่าจะทำกิจการใด ถ้าประกอบด้วย ๔ อย่างนี้เป็นสำเร็จทั้งสิ้น ว่าโดยเฉพาะในการบำเพ็ญภาวนา ๑. ต้องปักใจรักการนี้จริง ๆ ประหนึ่งชายหนุ่มรักหญิงสาว ใจจดจ่อต่อหญิงคู่รักฉะนั้น ๒. ต้องบากบั่นพากเพียรเอาจริงเอาจัง ๓. วิจารณ์ตรวจดูการปฏิบัติให้ถูกต้องตามแนวสอนของอาจารย์ให้ดีที่สุด ๔. ทดลองในที่นี่ได้แก่หมั่นใคร่ครวญสอดส่องดูว่า วิธีการที่ทำไปนั้นมีอะไรขาดตกบกพร่องบ้างรีบแก้ไข อย่างนั้นไม่ดีเปลี่ยนอย่างนี้ลองดูใหม่ เช่นนั่งภาวนาในที่นอนมักจะง่วงก็เปลี่ยนมานั่งเสียที่อื่น เป็นต้น ข้อสำคัญให้ยึดแนวสอนเป็นหลักไว้ อย่าออกนอกทาง ๔ อย่างนี้เรียกว่า อิทธิบาท เป็นเครื่องที่จะช่วยให้เกิดความสำเร็จในกิจทั้งปวง

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.01962616443634 Mins