เมื่อปล่อยเสียได้หมดเสียเช่นนี้นั้น บัณฑิตทั้งหลายเหล่านั้น ย่อมเป็นผู้ไม่มีอาสวะ กามาสวะ ทิฏฐาสวะ อวิชชาสวะ ไม่มี หลุดหมด ย่อมเป็นผู้โพลงรุ่งเรืองสว่าง ดับสนิทในโลกด้วยประการดังนี้ นี้เป็นผลสุดท้ายของพระสูตรนี้ ประสงค์พระอรหัตต์ตัดกิเลสเป็นสมุจเฉทปหานทีเดียว นี่เป็นหลักเป็นประธานของพระพุทธศาสนา เป็นธรรมทางวิปัสสนา ธรรมนี้เป็นทางวิปัสสนาโดยแท้ กล่าวมานี้ แสดงมานี้ตามปริยัติเทศนา ถ้าว่าจักแสดงตามหลักปฏิบัติให้ลึกซึ้งลงไปกว่านี้ เป็นของที่ลึกล้ำคัมภีรภาพนัก
เมื่อมีธรรมกายปรากฏเห็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ในเบญจขันธ์ทั้ง ๕ เบญจขันธ์ทั้ง ๕ ที่เป็นมนุษย์ก็ดี มนุษย์ละเอียดก็ดี กายทิพย์ กายทิพย์ละเอียดก็ดี กายรูปพรหม กายรูปพรหมละเอียดก็ดี กายอรูปพรหม กายอรูปพรหมละเอียดก็ดี เป็นกายสัตว์เดรัจฉานก็ดี เปรต อสุรกาย สัตว์นรกทั้งหมด ที่เรียกว่า ประกอบด้วยเบญจขันธ์ ขันธ์ทั้งหลายเหล่านั้นแหละเกิดจากธาตุจากธรรม ธาตุธรรมเป็นตัวยืนให้เกิดขึ้นเป็นเบญจขันธ์ เบญจขันธ์ทั้ง ๕ รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ ขันธ์มีเท่าใดกี่ภพกี่ชาติ เท่าใดย่อมเป็น อนิจจัง ทุกขัง ทั้งนั้น แล้วก็ไม่ใช่ตัวด้วย ธรรมที่ทำให้เป็นขันธ์เหล่านั้น ดวงธรรมที่ทำให้เป็นขันธ์เหล่านั้นทุกขันธ์ไปทุกกายไปก็ไม่ใช่ตัวอีกเหมือนกันได้ชื่อว่า เป็นทุกข์แล้ว ไม่ใช่ตัวด้วย เมื่อรู้จักว่าไม่เที่ยงไม่ใช่ตัวละก็ต้องปล่อยปละดังนี้เป็นชั้น ๆ ไปดังแสดงแล้วก่อน ๆ โน้น สละกายเหล่านี้เสียทุกชั้นไป เมื่อวานก็แสดงละเป็นชั้น ๆ ไป ละกายมนุษย์หยาบเข้าหากายมนุษย์ละเอียด ละกายมนุษย์ละเอียดเข้ากายทิพย์ ละกายทิพย์เข้ากายทิพย์ละเอียด อยู่กลางกันเรื่อย ละกายทิพย์ละเอียดเข้าหากายรูปพรหม อยู่กลางกายทิพย์ละเอียด ละกายรูปพรหมเข้าหากายรูปพรหมละเอียด อยู่กลางกายรูปพรหมละเอียด ละกายอรูปพรหม เข้าหากายอรูปพรหมละเอียด ละกายอรูปพรหมละเอียด เข้าหากายธรรม เป็นชั้น ๆ ไปอย่างนี้ เมื่อถึงกายธรรมแล้วถึงขั้นวิปัสสนา
แปดกายข้างต้นกายมนุษย์ไปจนถึงกายอรูปพรหมละเอียดนั่นเป็นกายขั้นสมถะ ถ้าว่าเข้าไปถึงกายเหล่านั้นเป็นสมถะทั้งนั้น เข้าถึงวิปัสสนาไม่ได้ เพราะกายเหล่านั้นเป็นสมถะ ทำไมรู้ว่าเป็นสมถะ ภูมสมถะบอกตำรับตำราไว้ ๔๐ กสิณ ๑๐ อสุภ ๑๐ อนุสสติ ๑๐ เป็น ๓๐ ละ อาหาเรปปฏิกูลสัญญา ๑ กำหนดอาหารเป็นปฏิกูล จตุธาตุวัตถานะ ๑ กำหนดธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ กำหนดธาตุเหล่านี้ ทั้ง ๒ นี้เป็น ๓๒ พรหมวิหาร ๔ เป็น ๓๖ อรูปฌาน ๔ เป็น ๔๐ นี่ภูมิของสมถะ เมื่อเข้ารูปฌานต้องอาศัยมนุษย์ กายมนุษย์ละเอียด กายทิพย์ กายทิพย์ละเอียด กายรูปพรหมเข้ารูปฌาน กายรูปพรหมเข้ารูปฌาน กายอรูปพรหมเข้าอรูปฌาน นี่หลักฐานเหล่านี้ยืนยันว่าตั้งแต่คลอดรูปพรหมอรูปพรหมนี่แหละเป็นภูมิสมถะทั้งนั้น ไม่ใช่วิปัสสนา
ภูมิวิปัสสนา ยกวิปัสสนาขึ้นข่ม ขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ ธาตุ ๑๘ อินทรีย์ ๒๒ อริยสัจ ๔ ปฏิจจสมุปบาทธรรม ๑๒ หกหมวดนี้เป็นภูมิของวิปัสสนา
ขันธ์ ๕ ได้แสดงแล้ว รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณของมนุษย์ มนุษย์ละเอียด กายทิพย์ กายทิพย์ละเอียด กายรูปพรหม กายรูปพรหมละเอียด กายอรูปพรหม กายอรูปพรหมละเอียด แปดกายนี้ขันธ์ ๕ ทั้งนั้น ขันธ์ ๕ เหล่านี้แหละตาธรรมกายเห็นไม่เที่ยง เป็นทุกข์ไม่ใช่ตัวทั้งนั้น เห็นชัด ๆ อย่างนี้ นี้เป็นวิปัสสนา
อายตนะ ๑๒ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ๑๒ นี้ก็ไม่เที่ยงเป็นทุกข์ไม่ใช่ตัวอีกเหมือนกัน เช่นเดียวกัน แปรผันไปตามหน้าที่ของมันเห็นชัด ๆ
ธาตุ ๑๘ จักขุธาตุ รูปธาตุ จักขุวิญญาณธาตุ โสตธาตุ สัททธาตุ โสตวิญญาณธาตุ ฆานธาตุ คันธธาตุ ฆานวิญญาณธาตุ ชิวหาธาตุ รสธาตุ ชิวหาวิญญาณธาตุ กายธาตุ โผฏฐัพพธาตุ กายวิญญาณธาตุ มโนธาตุ ธรรมธาตุ มโนวิญญาณธาตุ ธาตุ ๑๘ สาม ๖ ๑๘ อายตนะหนึ่งแยกออกเป็น ๓ จักขุก็เป็นธาตุ รูปที่มากระทบจักขุก็เป็นธาตุ วิญญาณที่แล่นไปรับรู้รูปที่มา กระทบนัยน์ตาก็เป็นธาตุ หูก็เป็นธาตุ เสียงที่มากระทบก็เป็นธาตุ วิญญาณที่แล่นไปรับรู้ทางหูนั่นก็เป็นธาตุ จมูกก็เป็นธาตุ กลิ่นก็เป็นธาตุ รู้ที่แล่นไป ตามจมูกนั่นก็เรียกว่าธาตุ รสก็เป็นธาตุ ความรู้ที่แล่นไปตามลิ้นนั่นก็เป็นธาตุ กายก็เป็นธาตุ สัมผัสถูกต้องก็เป็นธาตุ วิญญาณก็รู้สัมผัสนั่นก็เป็นธาตุ ใจก็เป็นธาตุ อารมณ์ที่เกิดกับใจก็เป็นธาตุ วิญญาณที่รู้อารมณ์ที่เกิดกับใจนั้นก็เป็นธาตุ รู้ว่าเป็นธาตุ ล้วนแต่เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาทั้งนั้น เมื่อรู้ชัดว่าเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ดังนี้ละก็รู้ชัด ๆ เช่นนี้เห็นชัด ๆ เช่นนี้ นี้ก็ด้วยธรรมกาย ตากายมนุษย์ กายทิพย์ กายอรูปพรหม ทั้งหยาบทั้งละเอียดเห็นไม่ได้ เห็นได้แต่ตาธรรมกาย ธาตุ ๑๘ นี่ก็เห็นได้ชัด ๆ