.....เรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้ เพื่อแสวงหาสิ่งที่ทำให้ใจเราบริสุทธิ์ บริสุทธิ์จนกระทั่งเข้าไปถึงเอกันตบรมสุข ที่เป็นสุขอย่างแท้จริง เป็นอมตะไม่มีการเปลี่ยนแปลง พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพบว่า พระรัตนตรัยเป็นแหล่งกำเนิดแห่งความสุข เป็นที่พึ่งอันประเสริฐ มีอยู่แล้วในตัวของพวกเราทุกคน เป็นธรรมที่ละเอียดประณีต สะอาดบริสุทธิ์ เราสามารถเข้าถึงได้ด้วยการทำใจให้หยุดนิ่งที่ศูนย์กลางกาย ปรับใจที่หยาบให้ละเอียดยิ่งๆ ขึ้นไปตามลำดับ จนกระทั่งเข้าไปถึงแหล่งของความบริสุทธิ์ภายในที่อยู่ตรงกลางกาย เราจะได้รู้เห็นธรรมทั้งหลายไปตามความเป็นจริง
.....ครั้งพระบรมโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็น พญานกแขกเต้า ได้กล่าวถึงคุณธรรมของมิตรแท้ไว้ใน ขุททกนิกาย ชาดก ว่า
“เย เว สขีนํ สขาโร ภวนฺติ
ปาณาจฺจเย สุขทุกฺเขสุ หํส
ขีณํ อขีณนฺติ น ตํ ชหนฺติ
สนฺโต สตํ ธมฺมมนุสฺสรนฺตา
.....คนที่คบเป็นเพื่อนได้จนตลอดชีวิต ทั้งในยามสุขและยามทุกข์ ถึงเพื่อนจะสิ้นเนื้อประดาตัวหรือไม่ก็ตาม ก็ไม่ทอดทิ้งกัน นึกถึงคุณธรรมของคนดีเสมอ ผู้นั้นแหละ จัดว่าเป็นคนดีแท้”
.....กัลยาณมิตร มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับชีวิตการสร้างบารมี ที่ต้องสร้างความดีเคียงบ่าเคียงไหล่กันไปเป็นหมู่คณะ ดังนั้นนักสร้างบารมีทั้งหลายในกาลก่อน ไม่ว่าจะไปเกิดเป็นอะไร ก็ตาม จึงยังคงคุณธรรมของกัลยาณมิตรหรือมิตรแท้เป็นแบบอย่างอันดีงามของมหาชน อยู่เสมอ ดังเช่นในสมัยพระบรมโพธิสัตว์ครั้งเสวยพระชาติเป็นพญาเนื้อ
.....*ครั้งนั้น พระโพธิสัตว์ได้บังเกิดเป็นพญาเนื้อ มีสีดังทองคำ อาศัยอยู่ในป่าหิมพานต์ มีน้องชายและน้องสาว ทั้งสองมีสีดังทองคำเหมือนกัน และมีบริวารถึง ๘๐,๐๐๐ ตัว (*มก. โรหนมิคชาดก เล่ม ๖๑ หน้า ๘๖)
.....วันหนึ่งพระนางเขมา อัครมเหสีของพระเจ้าพรหมทัต ทรงพระสุบินว่า มีพญาเนื้อสีทองยืนอยู่บนแท่นทองคำ มาแสดงธรรมแด่พระนางด้วยเสียงอันไพเราะ แต่ยังไม่ทันจบ พญาเนื้อลุกเดินหายไป พระนางตื่นขึ้นจากบรรทม แม้จะรู้ว่าเป็นเพียงพระสุบิน แต่ก็ยังคงนึกเสียดาย และมั่นใจว่าพญาเนื้อนั้นต้องมีตัวตนอยู่จริง จึงได้ออกอุบายเพื่อที่จะให้พระราชานำเนื้อสีทองมาแสดงธรรมแก่ตน
.....รุ่งขึ้น พระนางจึงแกล้งทำเป็นประชวร เมื่อพระราชาเสด็จมาเยี่ยม และตรัสถามถึงพระอาการ พระนางก็ตรัสตอบว่า ทรงแพ้พระครรภ์ ปรารถนาจะฟังธรรมจากพญาเนื้อที่มีสีเหมือนทอง ถ้าไม่ได้ก็จะยอมนอนตายอยู่ตรงนี้แหละ พระราชาจึงเรียกประชุมเหล่าอำมาตย์และข้าราชบริพาร เมื่อทราบว่ามีอยู่จริง จึงเรียกให้ประชุมพวกนายพราน
.....นายพรานคนหนึ่งกราบทูลว่า เมื่อบิดาของตนยังมีชีวิตอยู่ ได้บอกถึงสถานที่อยู่ของพญาเนื้อสีทองที่เคยไปพบมา พระราชา จึงมีรับสั่งให้นายพรานคนนั้นไปนำพญาเนื้อสีทองมาให้ได้ นายพรานกราบทูลว่า ถ้านำพญาเนื้อสีทองมาถวายไม่ได้ ก็จะนำหนังของมันมา แต่ถ้านำหนังมาไม่ได้ ก็จะนำขนทองมาแทน จากนั้นเขาได้ออกเดินทางไปยังที่อยู่ของพระโพธิสัตว์ทันที
.....เมื่อไปถึงนายพรานได้คอยสังเกตอยู่ที่สระแห่งหนึ่งซึ่งฝูงเนื้อจะต้องลงมาดื่มน้ำ เขาฟั่นเชือกทำเป็นบ่วงดักไว้ ในวันรุ่งขึ้นพระโพธิสัตว์พาบริวารทั้ง ๘๐,๐๐๐ ตัว ไปหาอาหาร แล้วเดินลงไปดื่มน้ำที่สระแห่งนั้น ทันทีที่พระโพธิสัตว์ก้าวลงไปเท่านั้น เท้าก็ติดบ่วง ท่านจึงคิดว่า ถ้าหากร้องขึ้นในตอนนี้ บริวารทั้ง ๘๐,๐๐๐ ตัว ก็จะพากันแตกตื่น จะวิ่งหนีไปโดยที่ไม่ได้ดื่มน้ำ ท่านจึงได้ยืนเอาตัวบังกับดักไว้ แกล้งทำทีเป็นดื่มน้ำ
.....หลังจากฝูงเนื้อดื่มน้ำแล้ว พระโพธิสัตว์จึงกระชากเชือกที่ผูกอยู่ กระชากครั้งแรกหนังขาดหลุด กระชากครั้งที่ ๒ เนื้อหลุด กระชากครั้งที่ ๓ เอ็นขาด บ่วงได้บาดลึกเข้าไปจนถึงกระดูก เมื่อเห็นว่าไม่สามารถทำให้บ่วงขาดได้ จึงได้ร้องขึ้นเพื่อให้บริวารทราบว่าที่นี่มีอันตราย หมู่เนื้อทั้งหลายต่างตกใจกลัว พากันวิ่งหนีเอาตัวรอดไปหมด
.....เนื้อที่เป็นน้องชายพระโพธิสัตว์ เมื่อวิ่งหนีไปได้ระยะหนึ่ง มองไม่เห็นพี่ชาย ก็คิดว่าพี่ชายคงจะติดบ่วง ซึ่งธรรมดาของสัตวโลกจะมีความกลัวต่อมรณภัย แต่เนื้อน้องชายตัวนี้กลับไม่กลัวตาย ด้วยความรักพี่ชาย จึงวิ่งกลับไปยังสระน้ำอีกครั้ง เมื่อพระโพธิสัตว์เห็นน้องชายกลับมา ท่านรีบบอกให้น้องชายกลับหนีไปโดยเร็ว
.....เนื้อน้องชายไม่ยอมไป มายืนอยู่ข้างๆ พี่ชายนั่นเอง ส่วนน้องสาวของพระโพธิสัตว์วิ่งหนีไปสักครู่ เมื่อไม่พบพี่ชายทั้งสองจึงคิดว่า พี่ชายทั้งสองคงจะติดบ่วง จึงกลับไปที่สระน้ำใหม่อีกครั้ง พระโพธิสัตว์บอกให้รีบหนีไป ก็ไม่ยอมไป มายืนอยู่ข้างๆ พี่ชายอีกเช่นกัน
.....เมื่อนายพรานเห็นฝูงเนื้อวิ่งหนีไป คิดว่าพญาเนื้อคงติดบ่วงแล้ว จึงถือหอกวิ่งไปที่สระน้ำ เห็นสัตว์ทั้งสามยืนอยู่ด้วยกัน ก็บังเกิดความอัศจรรย์ใจ คิดว่าพญาเนื้อติดบ่วงเราเพียงตัวเดียว แต่เนื้อทั้งสองนี้ติดอยู่ด้วยคุณธรรม แม้มีโอกาสที่จะหนีไปแต่ก็ไม่ยอมหนี
.....นายพรานจึงถามพญาเนื้อว่า เนื้อทั้งสองตัวนี้เป็นอะไรกับท่าน เมื่อรู้ว่าเป็นพี่น้องกัน และจะไม่หนีไปไหน จะยอมตายด้วยกัน นายพรานก็มีใจอ่อนโยน เกิดหิริโอตตัปปะ ได้คิดว่า “รางวัลและยศจากพระราชาจะมีประโยชน์อะไร ถ้าเราทำร้ายสัตว์ผู้มีคุณธรรมเช่นนี้ แผ่นดินจะต้องสูบเรา หรือสายฟ้าจะต้องฟาดลงบนกระหม่อมของเราเป็นแน่” เขาจึงตัดบ่วงและช่วยทำแผลที่ข้อเท้าให้พญาเนื้อ ด้วยอำนาจแห่งเมตตาจิตของนายพรานและบารมีธรรมของพระโพธิสัตว์ที่ได้บำเพ็ญมา แผลนั้นก็หายเป็นปกติอย่างอัศจรรย์
.....เมื่อแผลหายดีแล้ว พระโพธิสัตว์จึงถามถึงสาเหตุที่นายพรานมาจับตน พลางคิดจะช่วยเหลือนายพราน โดยจะยอมไปแสดงธรรมให้พระเทวีฟัง แต่นายพรานได้ห้ามไว้ เพราะเกรงว่าพระราชาจะทำร้ายเอา
.....พระโพธิสัตว์จึงบอกให้เขาเอามือลูบหลังของตน เมื่อนายพรานทำตาม ขนสีทองก็หลุดติดมือของเขาไป พระโพธิสัตว์จึงบอกให้เขานำขนนี้ไปถวายแด่พระราชาและพระเทวี และให้เป็นตัวแทนไปแสดงธรรม จากนั้นพระโพธิสัตว์ก็สอนราชธรรมให้แก่นายพราน
.....เมื่อนายพรานกลับไปถึงพระนคร ได้เล่าเรื่องทั้งหมดถวายพระราชา พร้อมกับนำขนสีทองของพญาเนื้อมาถวาย พระราชาจึงให้นายพรานขึ้นนั่งบนราชบัลลังก์เพื่อแสดงธรรม เมื่อนายพรานแสดงราชธรรมจบ พระราชาและพระราชเทวีก็ได้ให้สาธุการ ทรงมีพระทัยปีติยินดีเป็นอย่างยิ่ง ทรงมอบยศใหญ่ให้กับนายพราน และทั้งสองพระองค์ได้ตั้งอยู่ในราชธรรมด้วยดีตลอดมา
.....แม้ในยามคับขัน มีมรณภัยมาอยู่ตรงหน้า เนื้อพี่น้องทั้งสามก็ยังกล้าหาญ ยืนหยัดอยู่ด้วยกัน เคียงบ่าเคียงไหล่กัน ทำให้ทั้งหมดรอดชีวิตมาได้ เพราะประพฤติมั่นคงในคุณธรรมของมิตรแท้นั้นเอง
.....เราทุกคนก็เช่นเดียวกัน ต้องคอยเป็นกัลยาณมิตร ให้กำลังใจซึ่งกันและกัน ชักชวนกันสร้างบุญสร้างบารมี ให้กล้าหาญในการทำความดีไม่หยุดยั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการปฏิบัติธรรม ฝึกฝนใจให้หยุดนิ่ง ให้เข้าถึงแหล่งกำเนิดแห่งบุญ แล้วบุญในตัวเรานี่แหละ ที่จะคอยเป็นเกราะคุ้มครองป้องกันผองภัยทั้งหลาย ทั้งภัยในอบายภูมิ ภัยในสังสารวัฏ ชีวิตเราจะได้ปลอดภัยทั้งในโลกนี้และโลกหน้า