ความสุขที่เกิดจากสมาธิ...จะเป็นแรงจูงใจให้เราอยากนั่งต่อไป เหมือนเป็นรางวัลเบื้องต้นสำหรับผู้ทำความเพียร เราจะไม่อิ่ม ไม่เบื่อในการนั่งสมาธิ หรือทำสมาธิในอิริยาบถอื่นฉันทะจะเกิดขึ้นมาเอง ด้วยความสมัครใจ อยากจะอยู่กับอารมณ์นี้นาน ๆ อยากหยุด อยากนิ่งมีเวลาว่าง ๕ นาที ๑๐ นาที ก็อยากจะอยู่กับตนเองตรงกลางกาย อยู่กับอารมณ์ชนิดนี้ที่หาไม่ได้จากคน สัตว์ สิ่งของ จากธรรมชาติ หรือสถานที่ใด ๆ เลยหากทำได้อย่างนี้แสดงว่า ทำถูกหลักวิชชาแล้ว ใจมันจะนิ่ง ๆ นุ่ม ๆ ไปเรื่อย ๆจนกระทั่งนิ่งแน่น แน่นในระดับที่ความคิดอื่น ๆ ไม่สามารถดึงใจหลุดจากอารมณ์นี้ได้จะนิ่ง ๆ มีอารมณ์เดียว อารมณ์เป็นสุข เป็นกลาง ๆ บริสุทธิ์บริสุทธิ์จากมลทินของใจ จากความโลภ ความโกรธ ความหลงในระดับหนึ่งจากความหงุดหงิด งุ่นง่าน ฟุ้งซ่าน รำคาญใจ จากการตรึกในเรื่องกาม เรื่องเพศเรื่องรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ เรื่อง ลาภ ยศ สรรเสริญ หรือเรื่องอะไรต่าง ๆ
ความโกรธ ความพยาบาท ขัดเคืองใจ น้อยใจ โศกเศร้า เสียใจคับแค้นใจ ร่ำพิไรรำพัน อะไรต่าง ๆ มันหายไป ใจมันจะสบาย จะบริสุทธิ์และจนกระทั่งเรามีความรู้สึกเหมือนกายวาจาใจเราบริสุทธิ์สะอาดเกลี้ยงเกลาจากสิ่งที่เราเคยทำผิดพลาดในชีวิตที่ผ่านมาคล้าย ๆ บาปได้ถูกขจัดล้างออกไปด้วยกระแสธารแห่งบุญ
มันจะมีความรู้สึกขึ้นมาเองว่า เหมือนเราหลุดจากข้อผิดพลาดที่มันทำให้เกิดวิบากกรรมใจเราจะปีติ ภาคภูมิใจ เบิกบานใจว่า เราได้หลุดจากกระแสวิบากกรรมที่ทำผ่านมาซึ่งจะเกิดขึ้นมาเองตอนนั้น แม้ความจริงนั้นอาจจะหลุดจากวิบากกรรมไปในระดับหนึ่ง๕ เปอร์เซ็นต์ ๑๐ เปอร์เซ็นต์ ๒๐ เปอร์เซ็นต์ โดยความรู้สึกของเรา เราจะรู้สึกว่ามันสูงส่งว่าบาปอกุศลกรรมได้ถูกถอดออกจากใจ
มันจะยิ้ม ๆ อยู่ภายในลึก ๆ จนกระทั่งมันขยายมาสู่บนใบหน้าและกระแสที่ออกไปรอบตัวไปในบรรยากาศ และเราจะเข้าใจคำว่า “ใจใส ๆ ”ที่หลวงพ่อบอกว่า “ให้ทำใสใจใส ๆ” ถ้าเราไปถึง ณ ตรงนี้ เราก็เข้าใจในระดับหนึ่งแต่อารมณ์ใสนั้นมันยังไม่เกิดขึ้นแต่ถ้าถึงจุดที่หยุดนิ่ง ในระดับที่เห็นดวงใส ๆ ขึ้นมา แม้จะเล็กขนาดดวงดาวในอากาศก็ตามเราจะรู้และเข้าใจว่า ให้ทำใจใส ๆ นั้นมันเป็นอย่างนี้ เพราะใจที่ใส มันจะปราศจากนิวรณ์ใจจะเกลี้ยง โปร่ง เบา สบาย บริสุทธิ์ ในระดับหนึ่ง จนกระทั่งมีความมั่นใจว่าเราบริสุทธิ์ หลุดพ้นจากวิบากกรรม และมีความรักและปรารถนาดีต่อสรรพสัตว์ทั้งหลายมันก็จะเกิดขึ้นเองตรงนี้
เรียบเรียงจากโอวาทพระราชภาวนาวิสุทธิ์
๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๑๕๔๙