วิชาจักรวาลวิทยาเป็นส่วนหนึ่งของธรรมะ

วันที่ 26 กพ. พ.ศ.2557


 

 วิชาจักรวาลวิทยาเป็นส่วนหนึ่งของธรรมะ

 

       วิชาจักรวาลวิทยาเป็นส่วนหนึ่งของธรรมะ

           เรื่องจักรวาลวิทยานี้ เป็นส่วนหนึ่งของความรู้ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงค้นพบ การค้นพบสรรพสิ่งทั้งหลายนั้น พระองค์ทรงทราบว่าสรรพสัตว์ทั้งหลายนั้นเกิดขึ้นจากกฎธรรมชาติที่เรียกว่า ธรรมนิยาม ดังที่กล่าวมาแล้ว

           เรื่องธรรมนิยาม นี้พระองค์ตรัสไว้เพียงบางส่วน ไม่ได้ลงรายละเอียด ซึ่งภายหลังพระอรรถกถาจารย์ผู้มีความรู้แตกฉานในธรรมะได้ขยายความเพิ่มเติม ให้ละเอียดยิ่งขึ้น ในอรรถกถาแห่งทีฆนิกาย อรรถกถาจารย์ได้จำแนกนิยามออกได้ 5 ประการ คือ

         1. อุตุนิยาม (Physical Laws ) คือ กฎธรรมชาติที่ครอบคลุมความเป็นไปของปรากฏการณ์ในธรรมชาติ เกี่ยวกับวัตถุที่ไม่มีชีวิตทุกชนิด เช่น ปรากฏการณ์ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า แม้กระทั่งการเกิดและการดับสลายของโลกก็เป็นไปตามกฎธรรมชาติข้อนี้ ในตำราพุทธศาสนาที่เขียนโดยชาวตะวันตก มักใช้คำว่าคนอินเดียในสมัยพุทธกาลสงสัยกันว่า อะไรคือสิ่งกำหนดให้มีความสม่ำเสมอคงที่ในธรรมชาติ ส่วนที่เกี่ยวกับวัตถุ เช่นความสม่ำเสมอของฤดูกาล ซึ่งทางพระพุทธศาสนาตอบปัญหานี้ว่าสิ่งที่กำหนด คืออุตุนิยาม

          2. พีชนิยาม (Biological Laws ) คือ กฎธรรมชาติที่ครอบคลุมความเป็นไปของสิ่งมีชีวิตทั้งพืช และสัตว์ กฎธรรมชาตินี้ทำให้ เมื่อเรานำเมล็ดข้าวเปลือกไปเพาะ ต้นที่งอกออกมาจะต้องเป็นต้นข้าวเสมอ  หรือช้างเมื่อออกลูกมาแล้วย่อมเป็นลูกช้างเสมอ ความเป็นระเบียบนี้ พระพุทธศาสนาค้นพบว่าเป็นผลมาจากการควบคุมของพีชนิยาม

          3. จิตนิยาม ( Phychic Laws) คือ กฎธรรมชาติที่เกี่ยวกับกลไกการทำงานของจิต พระพุทธศาสนาค้นพบว่า คนเราประกอบด้วยส่วนที่สำคัญ 2 ส่วน คือ ร่างกายและจิตใจ จิตมีกฎเกณฑ์ในการทำงานเปลี่ยนแปลงและแสดงพฤติกรรม เป็นแบบฉบับเฉพาะตัว ซึ่งเป็นผลมาจากจิตนิยาม

          4. กรรมนิยาม ( Karmic Laws) คือ กฎการให้ผลของกรรม กรรมคือ การกระทำที่ประกอบด้วย ความตั้งใจ แบ่งออกเป็น 2 อย่าง คือ กรรมดีและกรรมชั่ว กรรมดีย่อมตอบสนองในทางดี กรรมชั่วย่อมตอบสนองในทางชั่ว นี่คือ กฎแห่งกรรม

          5. ธรรมนิยาม ( General Laws ) คือ กฎธรรมชาติเกี่ยวกับความเป็นเหตุเป็นผลของสิ่งทั้งหลาย เป็นกฎสากลที่ครอบคลุมความเป็นไปทั้งฝ่ายจิตและฝ่ายวัตถุ กฎข้อนี้มีขอบเขตครอบคลุมกว้างขวางที่สุด กฎ 4 ข้อข้างต้นสรุปรวมลงในข้อสุดท้ายนี้

          พระพุทธเจ้าทรงรู้แจ้งเรื่องทั้งปวง แสดงว่าทรงค้นพบนิยามหรือกฎธรรมชาติทั้ง 5 เหล่านี้ พระองค์ทรงสอนธรรมนิยาม เน้นในส่วนที่เกี่ยวกับจิตนิยามและกรรมนิยาม พระองค์ทรงสอนเรื่อง อุตุนิยาม และ พีชนิยามเพียงเล็กน้อย ในทางกลับกัน นักวิทยาศาสตร์ศึกษาธรรมนิยาม เน้นในส่วนที่เกี่ยวกับอุตุนิยาม และ พีชนิยาม ไม่สนใจ กรรมนิยามและสนใจในจิตนิยามเล็กน้อย นี่คือจุดเน้นที่ต่างกัน ระหว่างพระพุทธศาสนากับวิทยาศาสตร์ พระพุทธศาสนามองภาพรวมของโลกและชีวิตได้กว้างขวางมากกว่า

          ประเด็นสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ ธรรมนิยามเป็นกฎธรรมชาติสากลที่ครอบคลุม 4 กฎย่อยดังที่กล่าวมาแล้ว แม้พระพุทธศาสนาจะศึกษาเน้นเรื่องกรรมนิยาม และจิตนิยามก็จริง ถึงกระนั้น พระพุทธศาสนาก็ไม่ปฏิเสธเรื่อง อุตุนิยามและพีชนิยาม ที่เป็นจุดเน้นของวิทยาศาสตร์ เพราะเหตุนี้เอง พระพุทธศาสนาจึงไม่ขัดแย้งกับวิทยาศาสตร์

          จากการค้นพบธรรมะดังกล่าวนี้ ทำให้เราทราบว่า ความรู้เรื่องจักรวาลวิทยาเป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของธรรมะที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงค้นพบเท่านั้น ยังมีเรื่องราวอีกมากมายที่พระองค์ทรงค้นพบแล้ว มิได้นำมาตรัสให้ฟัง และเรื่องที่นำมาตรัสเล่านั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ฟังได้ข้อคิดแนวทางในการปฏิบัติธรรมอันนำไปสู่ความพ้นทุกข์ซึ่งเป็นเรื่องหลักในชีวิต

 

 

จากหนังสือ DOU

วิชา GL 101 จักรวาลวิทยา

กลุ่มวิชาเป้าหมายชีวิต

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0013088504473368 Mins