คบคนพาล พาลพาไปหาผิด คบกัลยาณมิตรชีวิตสดใส

วันที่ 27 พค. พ.ศ.2557

 

 

คบคนพาล พาลพาไปหาผิด คบกัลยาณมิตรชีวิตสดใส


             เราทุกคนที่เกิดมาในโลกนี้ ต่างปรารถนาความสุขความเจริญสิ่งที่ดีงาม ที่เป็นมงคลเกิดขึ้นแก่
ชีวิตของตนด้วยกันทั้งนั้น เส้นทางสู่ความรุ่งโรจน์ของชีวิตอย่างหนึ่งคือการได้คบหากัลยาณมิตร ผู้จะมา
คอยชี้แนะเส้นทางที่ถูกต้อง ดังธรรมภาษิตบทหนึ่งที่กล่าวว่า

             บุคคลปรารถนาความสุขอันแน่นอน พึงเว้นมิตรชั่ว พึงคบหากัลยาณมิตร และพึงตั้งอยู่ในโอวาท
ของกัลยาณมิตรนั้น เต่าตาบอดเกาะขอนไม้เล็กๆ จมอยู่ในห้วงน้ำใหญ่ ฉันใด กุลบุตรอาศัยคนเกียจคร้าน
เป็นอยู่ ย่อมจมลงในสังสารวัฏ ฉันนั้น เพราะฉะนั้น บุคคลพึงเว้นคนเกียจคร้าน มีความเพียรเลวทราม ควร
อยู่ร่วมกับบัณฑิตทั้งหลายผู้ สงัดเป็นอริยะ มีใจเด็ดเดี่ยว เพ่งฌาน ปรารภความเพียรเป็นนิตย์ 1

             ความดีขั้นแรกที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบอกให้ทำ คือต้องไม่คบคนพาล จากนั้นให้คบหา
บัณฑิตผู้จะมาเป็นกัลยาณมิตร ชี้ทางสวรรค์นิพพานให้กับตัวเรา

             คนพาล คือคนที่มีใจขุ่นมัวเป็นปกติ มีความคิดเห็นต่อสิ่งต่างๆ ผิดจากความเป็นจริง ชอบคิดชั่ว
พูดชั่ว แล้วทำชั่ว ไม่ยอมรับรู้ระเบียบวินัย นำแต่ความเดือดร้อนมาให้ ใครไปคบหาสมาคมด้วย มีแต่
ความเสื่อมเสีย ตั้งแต่เสียชื่อเสียง ทรัพย์สินเงินทอง งานการ ญาติมิตร และคุณงามความดีของตัวเอง
พลอยติดเชื้อพาล จากที่เคยเป็นคนดี กลายเป็นคนพาลไปด้วย

           ดังเช่นเรื่องในอดีตกาล1 ที่กรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์เป็นปุโรหิต คืออำมาตย์ที่ปรึกษาของ
พระราชาพระนามว่าพระเจ้าพรหมทัต มีช้างมงคลอยู่เชือกหนึ่ง ชื่อมหิลามุข เป็นช้างใจดี ไม่เกะกะเกเร
ไม่เคยทำร้ายใคร

            อยู่มาวันหนึ่ง มีโจรกลุ่มใหญ่ หลังจากปล้นชิงทรัพย์สินของชาวบ้านแล้ว ตกกลางคืนก็มา
ชุมนุมกัน ที่ข้างโรงช้างของพระราชา เพื่อปรึกษาหารือ นัดแนะกันว่า พรุ่งนี้ จะไปทำการตัดช่องย่องเบา
ที่ไหน ปล้นชิงอย่างไร ขุดอุโมงค์ตรงไหน จะทำร้ายเจ้าทรัพย์ด้วยวิธีใดจึงจะไม่มีใครต่อสู้ได้ และสอนวิชา
โจรให้กันว่า เราเป็นโจร ไม่ต้องมีมารยาท ไม่ต้องมีความเมตตา ต้องทำใจให้แข็งกระด้างเข้าไว้ ไม่ต้อง
สงสารใคร ต้องดุร้าย หยาบคาย ถึงจะทำงานในอาชีพโจรได้สำเร็จ

            พวกโจรมาปรึกษาหารือกันแบบนี้ทุกคืน ช้างมหิลามุขได้ยินบ่อยจนเข้าใจว่าเขา สอนให้ตนเองทำ
แบบนั้น คือ สอนให้เป็นโจร ให้ดุร้าย ให้ทำร้ายผู้อื่น เลยอาละวาด คนเลี้ยงช้างมาที่โรงช้างแต่เช้าตรู่
ก็เอางวงจับเขาฟาดพื้นจนตาย เห็นใครผ่านมาฆ่าเขาตายหมด จนใครๆ เข้าใจว่า ช้างมหิลามุขเป็นบ้าไป
แล้ว พากันไปกราบทูลพระราชา

             พระราชาส่งพระโพธิสัตว์ไปดู หาต้นสายปลายเหตุของการเปลี่ยนแปลง ว่าทำไมช้างมงคลถึง
กลายเป็นช้างดุร้ายไปได้ ปรากฏว่า ช้างไม่ได้เป็นอะไรเลย

              พระโพธิสัตว์ท่านเป็นบัณฑิต มีปัญญา ตรึกตรองดูแล้วสันนิษฐานว่า คงจะมีใครมาพูดอะไรให้
ช้างได้ยินเป็นแน่ จึงถามคนเลี้ยงช้างว่า ตอนกลางคืน เคยเห็นใครมา สนทนาหรือมาปรึกษาหารืออะไรกัน
ให้ช้างได้ยินบ้างไหม ได้รับคำตอบว่า มีพวกโจรมาปรึกษาหารือกันอยู่ใกล้ๆ โรงช้างหลายคืนติดต่อกันนาน
แล้ว พระโพธิสัตว์ฟังแล้ว เข้าใจทันทีว่า ช้างมงคลกลายเป็นช้างดุร้ายไป เพราะได้ฟังพวกโจรแล้วเข้าใจผิด
คิดว่าเขา สอนให้ตนเองทำตัวดุร้ายแบบนั้น

               พระโพธิสัตว์จึงไปกราบทูลพระราชา ว่าช้างไม่ได้เป็นบ้า ไม่ได้ป่วยเป็นอะไร แต่ที่เป็นอย่างนี้ เพราะ
ฟังถ้อยคำของพวกโจร ท่านแนะนำว่า ถ้าจะแก้ไขให้เป็นช้างใจดีเหมือนเดิม ต้องนิมนต์ สมณพราหมณ์
ผู้มีศีล มาพูดธรรมะ พูดเรื่องศีล เรื่องมารยาทให้ช้างฟัง พระราชาทรงเห็นด้วย รับสั่งให้ทำตามนั้น
พระโพธิสัตว์นิมนต์ สมณพราหมณ์ผู้มีศีลทั้งหลาย ให้มานั่งสนทนาเรื่องศีลกันในโรงช้าง ให้ช้างได้ยิน

                สมณพราหมณ์เหล่านั้น สนทนากันว่า "คนดี จะต้องมีศีล มีมารยาทดีงาม อ่อนโยน ไม่ควรด่าใคร
ไม่ควรทำร้ายใคร จะต้องมีขันติ มีความเมตตา เอื้อเฟอเอ็นดูเพื่อนมนุษย์และ สรรพสัตว์ทั้งหลาย" ช้างฟังดังนั้น
ก็เข้าใจว่า " สมณพราหมณ์เหล่านี้ สอนเรา ต่อแต่นี้ไป เราควรเป็นช้างที่มีศีล" ตั้งแต่นั้นมา ช้างมหิลามุข
กลับเป็นช้างใจดีสุภาพอ่อนโยนเหมือนเดิม พระราชาทราบเข้าทรงโสมนัส และชื่นชมพระโพธิสัตว์ว่าเป็น
บัณฑิต มีปัญญามาก เข้าใจแม้กระทั่งอัธยาศัยของสัตว์เดียรัจฉาน จึงได้พระราชทานยศใหญ่ให้แก่พระโพธิสัตว์

 

 

 
 
 
 

จากหนังสือ DOU

วิชา DF 101 การทำหน้าที่กัลยาณมิตรเบื้องต้น

กลุ่มวิชาการทำหน้าที่กัลยาณมิตร

 
 
 
 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.003779399394989 Mins