การทำหน้าที่กัลยาณมิตรด้วยวิธีการสัมมนา

วันที่ 07 มิย. พ.ศ.2557

 

การทำหน้าที่กัลยาณมิตรด้วยวิธีการสัมมนา


             กล่าวตามลักษณะของการสัมมนาแล้วส่วนใหญ่จะแบ่งลักษณะออกเป็น 2 ประการ คือ การสัมมาเพื่อการประชุม แสดงความคิดเห็นและการสัมมนา เพื่อมุ่งการสอนหรือการให้การอบรม ซึ่งการสัมมนาโดย ทั้ง 2 อย่าง จะมีลักษณะเป็นการประชุม โดยมีรูปแบบของการจัดกิจกรรมที่ต่างจากแบบในชั้นเรียน เพราะสามารถจัดให้มีบรรยากาศที่ยืดหยุ่น จัดสัมมนาในหัวข้อที่เหมาะสมกับสถานการณ์และวัตถุประสงค์ การสัมมนาเป็นกระบวนการสร้างกัลยาณมิตรแบบกลุ่ม ที่เราสามารถรวมผู้สนใจ ที่มีความรู้ความสนใจที่ ใกล้เคียงกันมาแสดงความคิดเห็น อภิปราย พูดคุยสร้างสรรค์ทัศนะแนวทางใหม่ๆ ซึ่ง
สามารถนำแนวคิดนั้นๆ ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้


              1. การสัมมนาแบบประชุม เป็นหน่วยงานหรือองค์กร เพื่อนำผลที่ได้ไปพัฒนาบุคคลและงานในองค์กร ผู้เข้าร่วมสัมมนาจะเป็นกลุ่มผู้รู้หรือผู้ที่ทำงานในหน่วยงานส่วนมากผู้ที่เข้าร่วมสัมมนา ควรจะเป็นผู้ที่ทำงานในลักษณะเดียวกัน หรือมีประสบการณ์ใกล้เคียงกันมาร่วมสัมมนา มีพิธีในการประชุม


              2. การสัมมนาแบบสอน เพื่อการเรียนรู้ การศึกษาค้นคว้า โดยมีวิธีการต่างๆ การฝึกทักษะเรื่อง
ของการคิด การวิเคราะห์ปัญหา การเสนอแนวทางแก้ไข การแสดงออกของความคิดเห็น ซึ่งอาจแสดงออกโดยการพูดสนทนา ฯลฯ ที่เกี่ยวกับเนื้อหาวิชานั้นๆ เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่มีความเป็นไปได้ ซึ่ง
สามารถนำความรู้ไปใช้จริงได้ มีความรู้ทักษะ โดยกลุ่มผู้เรียนจะต้องมีพื้นฐานความรู้เดียวกัน

 

    วัตถุประสงค์การสัมมนา

 

               การจัดสัมมนาโดยทั่วไป มีวัตถุประสงค์ และมีความมุ่งหมายเพื่อก่อให้เกิดผลที่จะได้รับดังนี้


              1. เพื่ออบรม ฝึกฝน ชี้แจง แนะนำสั่งสอน ปลูกฝังทัศนคติและให้คำปรึกษา ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่เกี่ยวข้อง


              2. เพื่อพิจารณาสำรวจ ตรวจสอบปัญหา หรือประเด็นต่างๆ ที่หยิบยกขึ้นมา เพื่อทำความเข้าใจในเรื่องที่ต้องการรู้


              3. เพื่อนำเสนอสาระที่น่ารู้ น่าสนใจที่ทันสมัย และเหมาะสมกับสถานการณ์


              4. เพื่อแสวงหาข้อตกลง ด้วยวิธีการอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างเสรีซักถามถกเถียงปรึกษาหารือ ภายใต้หัวข้อที่กำหนด


              5. เพื่อการตัดสินใจหรือกำหนดนโยบาย หรือแนวทางสำหรับนำไปปฏิบัติ


              6. เพื่อให้ได้ข้อสรุปผลของการนำเสนอหัวข้อ หรือ การวิจัย

การวางแผนการจัดสัมมนา


              ผู้จัดสัมมนาจะต้องวางแผนกำหนดและจัดทำ เพราะจะได้ทราบช่วงเวลาของการดำเนินการของการสัมมนา โดยมีรายละเอียดบางประการ ดังต่อไปนี้


- ชื่อเรื่องสัมมนา


- ชื่อหน่วยงาน หรือกลุ่มบุคคลผู้ดำเนินการจัดสัมมนา


- วัน เดือน ปี ที่จัดสัมมนา


- กำหนดการ หรือลำดับการดำเนินงาน


- วิทยากร


- สถานที่


              การทำกำหนดการสัมมนาอย่างชัดเจน จะช่วยให้ผู้เข้าร่วมสัมมนา และผู้จัดการสัมมนาได้ วางแผน และเตรียมตัวการสัมมนา ทั้งเรื่องของความคิดที่ต้องการจะได้จากการสัมมนา การเตรียมเอกสารที่เกี่ยวข้องตลอดจนการเตรียมคำถาม คำตอบ จัดเวลาสำหรับการร่วมสัมมนาและในการจัดสัมมนานั้น ผลที่ได้ที่จะทำให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาได้รับประโยชน์อะไรบ้างนั้น ย่อมเป็นเรื่องที่ผู้จัดสัมมนาต้องตั้งเป้าหมาย และคาดหวังถึงผลที่จะได้จากการสัมมนาด้วย และการสัมมนานั้นจะบรรลุเป้าหมาย ควรเลือกวิทยากรที่น่าสนใจมีความสามารถในการพูด ถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ แต่สำหรับผู้มีประสบการณ์ มีความรู้ความสามารถ แต่ศิลปะการพูดไม่ถนัดนัก ก็ให้ใช้วิธีการสัมภาษณ์แทน เช่น บันทึกเป็นภาพยนตร์วิดีโอเป็นตอนสั้นๆ นำมาฉายในที่สัมมนา เป็นต้น และนอกจากนี้ต้องคำนึงถึงการสร้างบรรยากาศให้ทุกคนอยากมีส่วนในงานสัมมนาด้วย

 

 

 

จากหนังสือ DOU

วิชา DF 202 ทักษะการทำหน้าที่กัลยาณมิตร

กลุ่มวิชาการทำหน้าที่กัลยาณมิตร

 
 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0083457350730896 Mins